มหากาพย์ ไตรภาค โดย นริศ จิระวงศ์ประภา 04

บทเรียนแนวคิดเรื่องที่สาม....เรื่องธรรมะกับการลงทุน

• ผมยอมรับโดยดุษฎีว่า ทุกๆวันนี้ที่ผมเอาตัวรอดในตลาดหุ้นได้อย่างภาคภูมิใจนั้น แนวคิดส่วนมากของผมนั้น เอามาจากหลักคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็น การพิจารณาทุกๆอย่างเป็นเหตุและผล(อิทัปปัจจยตา) เรื่องจะเราทำสิ่งต่างๆให้ประสบความสำเร็จควรทำอย่างไร (อิทธิบาท4 และ พละ5) หรือแม้กระทั่งเรื่อง จิตวิทยาการลงทุน ผมก็นำคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้เช่นเดียวกัน

• เรื่องธรรมะนั้นไม่เป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ จึงค่อนข้างจะเข้าใจได้ยาก 
• แต่ส่วนตัวผมคิดว่าในบทนี้ค่อนข้างเป็นหัวใจสำคัญในการเปลี่ยนแนวความคิดสำหรับการลงทุนแนวเน้นคุณค่าของผมเอง จึงอยากให้ทุกๆท่านที่อ่าน ค่อยๆอ่านอย่างช้าๆ และนำมาพิจารณากับความเป็นจริงที่เกิดกับประสบการณ์ของท่านเอง เพื่อความ “เข้าใจ” ในหลักการ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าครับ


• อิทัปปัจจยตา คำๆนี้เป็นแก่นหลักคำสอนของพุทธศาสนา ซึ่งผมนำมาเป็นแกนกลางโครงสร้างการลงทุนของผมเช่นเดียวกันครับ คำๆนี้แปลได้ว่า 

• “เมื่อมีเหตุ ย่อมมีผล เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อดับเหตุ ผลก็ย่อมดับตาม” 

• คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตทุกคน ล้วนมีเป้าหมาย(ผล) ในชีวิตทั้งสิ้น 
• และที่สำคัญคนเหล่านี้พอเห็นเป้าหมาย(ผล) ที่จะไปคว้ามา เขาจะค้นหาเส้นทางที่เขาจะต้องเดิน(มองหาเหตุที่ทำให้เกิดผล) และเดินตามทาง(สร้างเหตุให้เกิด) 
• นั้นๆ โดยไม่ลดละความพยายาม เพื่อให้ได้ผลตามที่เขาต้องการ 

• ในเรื่องนี้ คุณหมอทั้งหลายค่อนข้างจะได้เปรียบวิชาชีพอื่นๆ ที่เขาจะเข้าใจกฎในข้อนี้อย่างชัดเจน เพราะทุกๆครั้งที่เขาได้วินิจฉัยโรค เขาได้มองข้ามผล
• (อาการของโรค) มองทะลุไปหาเหตุ(วินิจฉัยหาโรคที่กำลังเป็นอยู่) และคุณหมอที่เก่งๆ เขายังสอบถามพฤติกรรมต่างๆ เพื่อหาต้นเหตุจริงๆที่ทำให้เกิดโรคนั้นๆ จะเห็นว่า “โรค”คราวนี้กลายเป็นผลที่เกิดขึ้น ส่วนต้นเหตุจริงๆ กลายเป็นที่มาของการเกิดโรค....ซึ่งถ้าคุณหมอรู้ถึงต้นเหตุที่สร้างโรค เขาอาจจะแนะนำวิธีป้องกันโรคไม่ให้โรคนั้นกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

• ในเรื่องการลงทุน คงจะปฎิเสธไม่ได้ว่าเราต้องการผลคือการได้กำไรจากการลงทุน....หรือพูดง่ายๆชาวบ้านๆคือ ถ้าเราซื้อหุ้น1บาท เราก็อยากให้มันขึ้นไป2บาท5บาท10บาทใช่ไหมครับ....ตอนนี้เรารู้แล้วว่าราคาหุ้นคือผล เราก็ต้องมองย้อนไปหาเหตุกันดีกว่า เพื่อที่จะได้เดินตามเหตุนั้นๆ..... 

• เท่าที่ผมสังเกตุ แนวทางการลงทุนใหญ่ๆในตลาดบ้านเรานั้น มีสามแนวทาง ให้นักลงทุนเลือกหยิบจับมาใช้ และมักจะถกกันว่าแนวทางแบบใดเหมาะสมกับตลาดบ้านเราที่สุด วันนี้ในเมื่อผมเป็นวีไอ ผมจึงขอมองสไตล์ของผมที่ใช้หลักเหตุและผลมาอธิบาย เพื่อหาต้นเหตุแห่งความรวย ถ้าจะไปขัดใจนักลงทุนกลุ่มอื่น ก็ขออภัยด้วยนะครับ 


• 1 แนวทางทางเทคนิค(ว่าด้วยเรื่องการอ่านกราฟ)

• แนวทางนี้จะสอนหลักการ เรื่องความเป็นไปได้ของราคาหุ้นในอนาคต จากค่าสัญญาณต่างๆที่ผ่านมาแล้วในอดีต ซึ่งคนส่วนมากในตลาด ได้นิยมชมชอบในแนวทางนี้ จึงทำให้หุ้นหลายๆตัว ที่คนกลุ่มนี้กระทำการซื้อขาย มีแนวรับ แนวต้าน เป็นไปอย่างที่พวกเขาคิด(ในระยะสั้น) 

• หัวใจบทสรุปบรรทัดสุดท้าย ของคนกลุ่มนี้คือ “สัญญาณซื้อ และ สัญญาณขาย” หลายๆครั้งที่ผมได้ฟังแนวทางนี้ตามสื่อต่างๆดูเหมือนจะทำได้ง่ายและดูดี (โดยเฉพาะเวลาที่นำมาสอน หรืออบรมวิธีดูกราฟ เขามักจะเลือกเอากราฟตรงที่มันใช่ มาให้ดู) แต่เวลาที่ผมจะนำไปปฎิบัติจริงกลับเจอจุดอ่อนตรงที่ค่าต่างๆในอดีต(ที่โชว์ให้เห็นเป็นกราฟและสัญญาณต่างๆ)มันเพียงเป็นแค่ “ผล” ของสิ่งที่มันได้ผ่านมาแล้ว เราไม่สามารถเชื่อมั่นต่อผลนั้นได้ในระยะยาว เพราะ “ผล” ของกราฟ จะแปรเปลี่ยนได้ค่อนข้างเร็ว เช่น มีการสอนไว้ว่า ถ้าชนแนวต้าน ไม่สามารถทะลุได้ เราควรจะขายหุ้น เพื่อกลับมารับหุ้นใหม่ตรงแนวรับ แต่ถ้ามันทะลุแนวต้าน(ตรงที่เราเพิ่งจะขายนั่นแหล่ะ) ให้ซื้อตาม เพราะแนวต้านจะกลับไปเป็นแนวรับ โดยปริยาย แต่ปัญหาที่ผมได้เจอ คือมันมักจะวกกลับ สลับขาหลอกเราให้ซื้อๆขายๆอยู่เสมอๆ 

• ทำให้คนบางคน ศึกษาเรื่องกราฟแล้ว ก็ยังคลางแคลงใจในเรื่องนี้อยู่ เพราะเขาคิดว่ากราฟสามารถจัดแต่งได้ จากคนบางกลุ่มที่มีกำลังเงินมากพอ บางคนจึงเริ่มมองหา ต้นเหตุ ต้นตอของกราฟ นั่นก็คือ แหล่งที่มาของเงินที่จะไหลเข้ามากระทำต่อรูปของกราฟให้เป็นไปอย่างที่ “เจ้ามือ” ต้องการให้เป็น เรามาดูกันต่อครับว่า “เหตุ” ของกราฟคือ “เจ้ามือ” นั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร

• 2แนวทางทางฟันโฟลว์(ว่าด้วยเรื่องการไหลของเงิน)

• แนวทางการไหลของเงินนี้ ค่อนข้างเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนพอสมควร มีหลักการและทฤษฎีค่อนข้างจับต้องได้ ได้มากกว่าการอ่านกราฟ หัวใจของคนกลุ่มนี้คือ “การไหลของเงินที่จะไหลจากทรัพย์สินที่ผลตอบแทนต่ำไปหาทรัพย์สินที่มีผลตอบแทนสูง” แนวทางนี้มีกูรูระดับโลกเช่น จอร์จ โซรอส ผมไม่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ แต่ผมก็มีมุมมองในแบบฉบับไทยๆ ขอแบ่งหุ้นออกมาเป็น3กลุ่ม 
• ตามประเภทของ “เจ้ามือ” (ฟันโฟลว์) นะครับ

• 2.1 หัวหน้าใหญ่ของตลาดบ้านเราคงจะหนีไม่พ้น กองทุน และ ต่างชาติ เจ้ามือสองกลุ่มนี้ค่อนข้างมีหน้าตักที่ใหญ่ จึงเลือกที่จะเล่นหุ้นที่มีสภาพคล่องสูง และ ตัวใหญ่ๆในตลาด มีหลายๆท่านที่ชอบคาดเดาการซื้อขายหุ้นของเจ้ามือกลุ่มนี้ โดยดูจาก

• -การซื้อขายของnvdr 
• -ดูสรุปการซื้อขายรายวันของกลุ่มต่างๆ 
• -ดูอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของแหล่งต่างๆ 
• -ดูจากสัญญาณของค่าเงิน 
• -ดูช่วงจังหวะของพันธบัตรต่างๆที่จะหมดอายุ 
• -ดูราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลักๆในตลาด 

• โดยคนกลุ่มนี้มีหลักการว่า กระแสเงินจะต้องไหลไปหาทรัพย์สินที่พวกเขาคิดว่าความเสี่ยงต่ำที่สุด และได้ผลตอบแทนสูงสุด ในช่วงเวลานั้นๆ 

• ตลาดหุ้นในเมืองไทยก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะมีเงินกระจายเข้ามาเป็นรอบๆ จากการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินของชาวต่างชาติ ถ้าใครบางคนพอจะมองทิศทางของเงินที่จะไหลเข้าจากต่างชาติได้......โดยซื้อดัก ในหุ้นตัวใหญ่ๆ สภาพคล่องสูงๆที่กลุ่มนี้นิยมชมชอบ และ ขายตามน้ำ ถ้ามีสัญญาณว่าต่างชาติจะออกของ......นักลงทุนกลุ่มนี้ก็มีโอกาสที่จะทำกำไรได้เช่นเดียวกัน 

• แต่ผมว่าการพึ่งจมูกคนอื่นหายใจนี่มันคงทรมานน่าดู แถมเดี๋ยวนี้ธุรกรรมยิ่งซับซ้อนมีทั้งช๊อตเซลรายตัว รายกลุ่ม มีทั้งฟิวเจอร์ มีทั้งอนุพันธ์ทวีคูณความโลภ เอากันให้นัวเนีย ยิ่งดูยิ่งปวดหัว ยิ่งดูยิ่งอ่านไม่ขาด แต่พอหวยออกที ก็รู้งี๊....ยั๊วเยี๊ยะ เต็มตลาด คนที่มีความสามารถรอบรู้และมีข้อมูลที่ครบครันในเรื่องนี้ผมว่าน้อยเต็มที ความรอบรู้และไอคิวแบบผมคงจะไม่สามารถในเรื่องนี้ ผมจึงคิดว่า เราควรทำในสิ่งที่ง่ายกว่าคือ ไปหาต้นเหตุของราคาหุ้นจริงๆจะดีกว่ามาเสียเวลาเดาผลที่จะเกิดขึ้นจากเจ้ามือกลุ่มนี้ครับ 

• 2.2 เจ้ามือของสายนี้ค่อนข้างโหด แนวคิดของคนกลุ่มนี้ คิดว่าตลาดคือ.............
• “zero sum game” หมายความว่าการที่เขาจะทำกำไรจากตลาดหุ้นได้ เขาต้องล้วงเงินนั้นมาจากกระเป๋าของคนอื่นเท่านั้น หมายความว่าเขาต้องเป็นคุมเกมในหุ้นตัวนั้นๆ เป็นเจ้ามือทุบ/ปั่นหุ้น โดยการทุ่มเงินเข้ามาพร้อมกับปล่อยข่าวเพื่อที่จะให้เกิดแรงโมเมนตั้มตามมาภายหลัง............สายนี้ถ้าใครรู้ข่าวต้นตอก่อน ก็รวยไป ใครเข้ามาทีหลังก็ได้เที่ยวยอดดอย หรือ ขายก้นเหวเป็นประจำ แต่การควบคุมเกมของคนกลุ่มนี้ ผมคิดว่า ถ้าเจ้ามือไม่ใช่คนที่สามารถควบคุมตกแต่งบัญชีงบการเงินได้ เขาก็จะสามารถควบคุมราคาหุ้นได้เพียงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เพราะในที่สุด ผลประกอบการในระยะยาวก็จะเป็นตัวชี้วัดว่ามูลค่าของกิจการว่า ควรอยู่ที่เท่าไหร่ ทำให้เจ้ามือก็ไม่กล้าฝืนกระแสของมวลชนเช่นกัน...

• 2.3 หุ้นส่วนมากในตลาดจะเข้าข่ายในข้อนี้ คือมี “นายตลาด” เป็นเจ้ามือ ราคาหุ้นที่ขยับขึ้น/ลง เกิดจากนายตลาดในขณะนั้น กำหนด ดีมานต์/ซัพพลาย ขึ้นมา มีบ่อยครั้งที่ราคาหุ้นขยับขึ้น/ลงอย่างรวดเร็ว ก็เกิดมาจากคนกลุ่มนี้มีการซื้อ/ขายพร้อมกัน จากข่าวสารที่ได้รับ เสมือนหนูเรมมิ่งที่ไปไหนไปด้วยกัน..........บางครั้งก็ทำให้หลายๆท่านไปยืนหนาวเหน็บอยู่บนยอดดอยได้ แต่บางครั้งเมื่อเวลาผ่านไป.....ยอดดอยบางแห่งก็กลับกลายไปเป็นหุบเขาก็มี หรือ หุบเขาที่ถูกนายตลาดเทกระหน่ำซัมเมอร์เซล ชนิด เสมือนบริษัทใกล้จะเจ๊ง ก็กลับดีดตัวขึ้นไปอยู่ปลายฟ้าก็เจอมาแล้ว.....ทั้งหมดที่ควบคุมราคาหุ้นให้อยู่ในจุดที่เหมาะสมในระยะยาว ก็ไปอยู่กับคำตอบต้นเหตุเหมือนเดิมคือ มูลค่าของกิจการที่มันควรจะอยู่นั่นเอง

• 3แนวทางการเลือกหุ้นเน้นคุณค่า(ว่าด้วยหลักการเปรียบเทียบมูลค่าของกิจการกับจำนวนเงินที่จ่ายออกไป)
• “เหตุ” ที่อยู่เหนือการควบคุมของเจ้ามือทั้งสาม คือ “มูลค่าของกิจการ” เราในฐานะเป็นนักลงทุน จะต้องพิจารณาปัจจัยทั้งสองด้านประกอบการซื้อขายหุ้นคือ 

• 1.มูลค่าของกิจการที่ควรเป็นอยู่ 
• 2.ราคาซื้อขายของนายตลาดขณะนั้น 

• ในเรื่องแนวทางการคัดเลือกกิจการ และการประเมินมูลค่าของกิจการ ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญ และเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ผมขอยกยอดไปคุยกันในภาคที่สองนะครับ ในบทนี้อยากจะสื่อถึงแนวคิดในเรื่องอะไรคือเหตุ อะไรคือผล ของราคาหุ้น ซึ่งก็คงจะสรุปได้ว่า คุณค่าของกิจการทั้งหมด เป็นต้นเหตุส่งผลให้บ.มีกำไรมากหรือน้อยระยะยาวจะส่งผลให้การไหลของเงินเข้าหรือออกในกิจการนั้นๆและสุดท้ายก็ส่งผลเป็นกราฟให้พวกเราเห็นอดีตที่ผ่านมาครับ

• ถ้าเราต้องการหาเหตุในเรื่องนี้(เพื่อจะรวย)ก็เพียงศึกษากิจการที่เราลงทุนให้มากที่สุด ประเมินมูลค่าของกิจการออกมา เอาไปเปรียบเทียบกับราคาที่นายตลาดเสนอให้ เพื่อคำนวณผลตอบแทนที่เราจะได้รับ.....จริงอยู่ว่าการประเมินมูลค่าของกิจการไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มันก็เป็นหนทางเดียวที่เราจะรู้ว่าราคาหุ้นที่เหมาะสมในตอนนี้ มันควรอยู่ที่เท่าไหร่ 


• จุดอ่อนเดียวที่ผมเห็นในการสร้างกรรมรวยทางนี้คือ “เราคิดผิด ประเมินมูลค่าของกิจการไม่ถูกต้อง” ซึ่งหมายความว่า ทุกๆอย่างที่เราตัดสินใจไปนั้น มีเหตุมาจากตัวเราทั้งสิ้น และถ้าเรารู้ว่าเราคิดถูกหรือคิดผิดตรงไหน เราก็สามารถพัฒนาความคิดของเรา ให้ “หาปลาเป็นเอง” และ “จับปลาเก่งขึ้น” ในอนาคตครับ และในบทต่อๆไปผมจะเล่าให้ฟังถึงวิธีลัดในการจับปลาให้ฟังครับ 

• สตีฟ จ๊อบ เคยกล่าวในงานปัจฉิมนิเทศน์ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งว่า “ขอให้ท่าน เลือกงานที่ตนเองรัก แล้วท่านจะประสบความสำเร็จในชีวิต” คำกล่าวนี้มีคนวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมาย ว่านำไปปฎิบัติจริงกับวิถีชีวิตอย่างเช่นปัจจุบันได้ยาก แต่ผมกลับเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ ผมคิดว่าที่สตีฟ จ๊อบ กล่าวนั้นคล้ายๆกับสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้กล่าวไว้เมื่อสองพันห้าร้อยปีที่แล้ว ซึ่งสรุปได้เป็นสามประเด็นดังนี้คือ

• 1.การที่เราจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ได้ดี เราต้องเริ่มจากความชอบในสิ่งที่เรากำลังจะทำอยู่ก่อน เช่น คนที่จะมาเล่นหุ้น เขาก็ต้องคิดเป็นบวกในการลงทุนในหุ้น โดยอาจจะคิดว่าหุ้นทำให้เขารวยหรือเป็นอิสระภาพทางการเงินได้ เขาจึงเล่น(ลงทุน)หุ้น แต่สำหรับคนที่เขาไม่ชอบเรื่องหุ้น หรือคิดว่ามันคงจะทำให้เขาขาดทุน เขาก็คงจะเอาเงินไปลงทุนทางอื่นที่เขาเชื่อว่ามันใช่ หรือถ้าพูดถึงแนวทางการลงทุน เราก็ต้องเปิดใจ เชื่อในหลักเหตุและผล เชื่อในหลักการการลงทุนเน้นหุ้นคุณค่า

• 2.ถ้าเราได้ชอบในแนวทางใดๆแล้ว ความพยายามจะตามมาส่วนหนึ่งโดยอัตโนมัติ หน้าที่ของเราคือ เราต้องขับดันความพยายามที่จะศึกษาและค้นคว้าหาแนวคิดของนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จให้มีอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะได้ตกผลึกเป็นแนวความคิดของเราเอง สำหรับประมวลผลในขั้นต่อไป

• 3.เมื่อเราได้ข้อมูล แนวคิด แนวทางต่างๆเข้ามาเป็นดาต้าเบส เราต้องฝึก ประมวลผล ดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ลองคาดเดาหาคำตอบที่น่าจะเป็น และติดตามเฝ้าดูผลที่เกิดขึ้น ว่าตรงหรือไม่ตรงกับที่เราคาดคิดไว้หรือไม่ การกระทำบ่อยๆ ซ้ำแล้ว ซ้ำอีก เราจะเกิดทักษะ เกิดความรอบรู้(ปัญญา)ในเรื่องนั้นๆขึ้นมาโดยอัตโนมัติ
เช่น ถ้าเราติดตามการเคลื่อนไหวของหุ้น10-20ตัวโดยกระจายทั้งหุ้นโตเร็ว หุ้นพื้นฐาน หุ้นวัฎจักร หุ้นฟื้นตัว หรือ หุ้นปั่น ติดตามพื้นฐานของกิจการเปรียบเทียบกับการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นทั้งระยะสั้น-ระยะกลาง-ระยะยาว......การคิดและประมวลผลระยะแรกอาจใช้เวลามากพอควร แต่ถ้าเราหมั่นฝึกฝนลับสมองเราอยู่บ่อยๆก็การคิดรวบยอดของเราก็จะเร็วขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ เช่น เมื่อเราขับรถยนต์(รุ่นโบราณ ที่ใช้ครัช)ใหม่ๆ สมองเราต้องสั่งการ ก่อนสตาร์ท เขย่ากระปุกเกียร์ให้อยู่ตรงเกียร์ว่าง ให้เท้าซ้ายเหยียบครัช เท้าขวาเหยียบเบรก ต้องค่อยๆปล่อยครัชพร้อมกับเร่งคันเร่ง กว่าจะขับเป็น คนฝึกสอนเหงื่อตกไปหลายลิตรทีเดียว แต่ถ้าเราฝึกฝนจนชำนาญแล้ว หนังก็เป็นคนละม้วน สมองเราจะสั่งการโดยอัตโนมัติ โดยที่เราไม่รู้ตัว หรือบางท่านอาจบอกว่ามันคือsix senseอธิบายไม่ได้ แต่ผมว่ามันคือ จิตใต้สำนึก ที่เกิดจากการฝึกฝน ประมวลผล และสั่งการอยู่ในรูปของ “ปัญญา” มากกว่าครับ

• สิ่งที่ผมพูดไปทั้งหมดนี้คือหลัก “อิทธิบาท4”.....อิทธิแปลว่าความสำเร็จ บาท แปลว่า ทาง อิทธิบาท4จึงแปลว่า ทางแห่งความสำเร็จ4ประการ คือ ฉันทะ(ความรักในสิ่งนั้นๆ) วิริยะ(ความเพียรพยายาม) จิตตะ(ความเอาใจใส่) และวิมังสา(ความไตร่ตรองจนเกิดปัญญา)

• พระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากจะได้บอกถึงหนทางเดินแห่งความสำเร็จไว้แล้ว ท่านยังได้กล่าวถึง “พละ5” แปลเป็นภาษาบ้านๆง่ายๆอย่างที่ผมเข้าใจ คือ การทำให้จิตมีพลัง5ประการ อย่างที่เราทราบๆกันอยู่ว่า วิชาพละศึกษา เป็นวิชาที่สอนและแนะนำให้เราออกกำลัง “กาย” ให้แข็งแรง ส่วนพละ5ที่พระพุทธเจ้าได้กล่าวถึงนั้น ท่านก็ทรงชี้แนะการออกกำลังของจิตใจ ท่านทรงแนะว่าทำอย่างไรจิตจึงจะมีพลัง เช่นถ้ามีคนสองคน คนหนึ่งเขามองอะไรได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ครบทุกแง่ทุกมุม กับอีกคนหนึ่ง มองอะไรก็เป็นลางๆ ไม่รู้ว่าตนเองคิดถูกคิดผิด ท่านคิดว่าสองคนนี้ ใครจะประสบความสำเร็จในชีวิตการลงทุนครับ....เรามาดู วิธีการฝึกจิตให้แข็งแรงตามแนวทางพระพุทธศาสนากันนะครับ

• พละ5 มีองค์ประกอบ5อย่างดังนี้

• 1.ศรัทธา เราจะทำอะไรให้สำเร็จ เราต้องเริ่มต้นด้วยความศรัทธา เราต้องเชื่อมั่นในสิ่งนั้นๆ เพื่อให้มีกำลังใจในการกระทำสิ่งต่างๆ เช่นถ้าเราจะลงทุนในแนวทางของดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร หรือ วอเรน บัฟเฟตต์ เราก็ต้องเริ่มจากความศรัทธาในตัวของท่าน เชื่อแนวทางคำสอนของท่านว่าทำให้เราเป็นอิสระภาพทางการเงินได้ เราจึงจะพยายามศึกษาแนวทางของท่านทั้งหลายเหล่านั้น

• 2.ปัญญา เราต้องมีการคิด-ไตร่ตรอง ค้นหาความเป็นจริงในสิ่งต่างๆที่ผ่านเข้ามา และพยายามทำความเข้าใจในสิ่งที่เรากำลังศึกษาอยู่ให้ถ่องแท้ ในแนวทางที่เราศรัทธา เช่นถ้าเราลงทุนในบริษัทหนึ่ง เราก็ควรจะศึกษาบริษัทนั้นๆในทุกแง่ทุกมุม ไตร่ตรองให้ครบทุกด้าน หาเหตุ หาผล เพื่อให้เห็นความเป็นจริงตามเหตุตามผล

• 3.วิริยะ เราต้องมีความเพียรพยายาม มุ่งมั่นที่จะค้นหาข้อมูลและสิ่งที่ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกิจการที่เรากำลังศึกษาอย่างมุมานะ ไม่ย่อท้อ หรือ ศึกษาแนวทางการประเมินกิจการในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้มีความรอบรู้ในเรื่องการประเมินมูลค่าของกิจการนั้นๆ

• 4.สมาธิ ความนิ่ง การจดจ่อ แน่วแน่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อย่างมุ่งมั่นนั้น จะทำให้เกิดพลังในความคิด และ ข้อดีของความนิ่ง มีสมาธิอีกอย่างคือ ทำให้เราไม่ตัดสินใจอะไรบุ่มบ่ามจนเกินไป

• 5.สติ คือความระลึกได้ รู้ว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่ ไม่เผลอจิตไปจากสิ่งที่กำลังปฎิบัติ

• เราจะสังเกตุเห็นว่า ศรัทธา กับ ปัญญา ทั้งสองสิ่งนี้มีความตรงกันข้ามกัน 
• ถ้าใครมีศรัทธาสูงแต่ปัญญาต่ำ เราก็จะอยู่ในขอบเขตของความงมงาย 
• ถ้าใครมีศรัทธาต่ำ ปัญญาสูง ก็เป็นพวกเชื่อมั่นในตนเองสูง ไม่ค่อยรับฟังใคร
ส่วนอีกคู่ วิริยะ กับ สมาธิ ก็จะค่อนข้างตรงกันข้ามกันอย่างชัดเจนเช่นกัน 
• ถ้าใครมีวิริยะสูง แต่ สมาธิต่ำ ก็จะกลายเป็นพวกไฮเปอร์แอกทีฟ 
• ถ้าใครมีวิริยะต่ำ สมาธิสูง ก็จะเข้าข่ายเป็นคนเฉื่อยชา

• การที่เราจะทำให้4ข้อนี้สมดุลย์และสมบูรณ์นั้น เราต้องมีสติเป็นตัวควบคุมครับ ผมขอสรุปคำสั้นๆไว้ให้เป็นแนวคิดในเรื่องนี้ว่า 

• -อย่างมงาย ให้คิดทุกอย่างให้เป็นเหตุเป็นผล อย่างเป็นกลาง ไม่เอนเอียง
-อย่าเชื่อมั่นในตนเองสูงเกินไป ควรฟังแนวคิดของคนอื่นมาพิจารณาอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะคนที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วยิ่งต้องระวังให้มากในความคิดของตนเอง
-อย่าคิดเร็วทำเร็ว ไม่ควรตื่นตูมในข่าว ควรไตร่ตรองในแต่ละเรื่องด้วยเหตุและผลอย่างมีสติ
-อย่าตัดสินใจช้า อย่าหลอกตนเอง และไม่ควรเฉยชาจากความจริงที่เกิดขึ้น ถ้าปัจจัยพื้นฐานของเหตุและผลเปลี่ยนแปลงไปจริงๆ

• ในเรื่อง “ธรรมะกับการลงทุน” ยังมีอีกหลายเรื่องที่ผมใช้เป็นหลักยึดเหนี่ยว แต่กลัวท่านจะเบื่อไปเสียก่อน ผมจึงขอพูดถึงเรื่อง “จิตวิทยาการลงทุน” เป็นเรื่องสุดท้ายนะครับ เรื่องนี้ค่อนข้างเป็นนามธรรม จึงไม่สามารถอธิบายรายละเอียดให้เห็นตัวตนอย่างชัดเจนได้ แต่ถ้าใครหมั่นดูจิต ดูความคิด ดูอารมณ์ ของเราเองบ่อยๆ ผมว่ามันก็ไม่ยากเกินไปที่จะเห็นอารมณ์ของเราและของนายตลาดครับ

• มีบางคนกล่าวไว้ว่า การควบคุมอารมณ์ในการลงทุน มีความสำคัญมากกว่า การประเมินมูลค่าของกิจการ เพราะการวิเคราะห์มูลค่าของกิจการนั่นสามารถเรียนรู้และถ่ายทอดให้แก่กันได้ง่ายกว่าการพัฒนาทางด้านอารมณ์ ความเห็นผมก็คิดว่าน่าจะจริง เพราะผมเห็นนักทุนบางท่านที่เก่งมากๆ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร อาจจะเป็นเพราะจิตใจเขาไม่นิ่งพอ หรือ เขาอาจจะมีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องในการตัดสินใจอยู่เสมอๆ ในบทนี้ผมจึงขอกล่าวถึงประเด็นของ กิเลส และ อารมณ์ที่แฝงมาในรูปแบบต่างๆ เพื่อที่จะได้รู้จักตัวตนของมัน เผื่อเวลาที่มันโผล่ออกมาให้เราเห็น เราจะได้ “ไม่หลง” และถูกมันจูงจมูกอยู่เรื่อยๆ กิเลสที่ผมจะกล่าวถึงที่เกี่ยวกับการลงทุนในวันนี้จะมีอยู่สามตัวครับ คือ.......

• “ความกลัว” “ความโลภ” “ความหลง” 


• “ความกลัว” 
• มนุษย์เดินดิน ย่อมมีความกลัวอยู่ในจิตใจเหมือนๆกัน แต่ความกลัวของแต่ละคนนั้นย่อมไม่เหมือนและไม่เท่ากัน ความกลัวของเรานั้นเกิดจากประสบการณ์ในอดีตทั้งที่จำได้และจำไม่ได้มาปรุงแต่งเป็นแรงผลักดันให้เรารู้สึกกลัว แสดงว่า เวลาที่เราทำอะไรแล้วเจ็บหรือพลาดในเรื่องนั้นๆ จิตใจเราอาจจะไปจดจำ และอาจจะรู้สึกกลัวเรื่องนั้นโดยอัตโนมัติ เช่นถ้าเรามักจะขาดทุนจากข่าวลือ ข่าวอินไซด์ ซื้อเมื่อไหร่ ก็ยอดดอยทุกที เราก็คงจะเบื่อจากข่าวประเภทนี้ พอเราไม่มีความชอบในเรื่องนี้ เราก็จะเริ่มสังเกตุและใส่ใจพิจารณาในเรื่องนี้อย่างเป็นกลาง สักวันหนึ่งเราก็จะเกิดปัญญา เลิกแสวงหาและฟังข่าวประเภทนี้ แต่ถ้าใครแสวงหาเพื่อที่จะอยู่วงใน เผอิญเจอสายข่าวดี เจอข้อมูลที่ถูกมากกว่าผิด ในระยะยาวผมคิดว่าน่าเป็นห่วง เพราะเขาจะไม่กลัวข้อมูลในประเภทนี้(ไม่มี snake bite effect ในเรื่องนี้) ทำให้เขาจะแสวงหาหลักการอินไซด์ มากกว่าหาหลักการที่แท้จริงคือมูลค่าของกิจการ วันนี้เขาอาจจะได้แต่ไม่มีหลักประกันในวันหน้าเลย และยิ่งนานวันไป เขาก็ยิ่งจะเขวจากหลักการที่มี เพราะมัวแต่คอยจ้องมองหาข่าวภายใน เมื่อถึงเวลานั้น กิเลสอีกตัวคือ “ความหลง”จะเข้ามาครอบงำเขาคนนั้นครับ

• ความกลัวที่ผมเห็นอยู่บ่อยๆอีกเรื่องคือ ความกลัวที่ราคาหุ้นมันลดลง ความกลัวในเรื่องนี้ ผมคิดว่าคงจะเกิดจากความไม่รู้ว่ามูลค่าของกิจการควรอยู่ที่เท่าไหร่ วิธีแก้ในเรื่องนี้ต้องอาศัยระยะเวลาในการเรียนรู้ คือ เราต้องหมั่นศึกษาเรียนรู้ และติดตามกิจการที่เราลงทุน ต้องลองประเมินมูลค่าของกิจการในรูปแบบต่างๆ ว่ามูลค่ามันควรอยู่ที่เท่าไหร่ ช่วงแรกๆอาจจะประเมินคร่าวๆจากภาพใหญ่ๆที่เรามองเห็น พอประสบการณ์เรามากขึ้น เรียนรู้ธุรกิจนั้นๆได้รอบรู้มากขึ้น ขอบเขตมูลค่าของกิจการก็จะชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ.......การประเมินมูลค่าของกิจการนั้นไม่ได้หมายความว่า ให้เอาราคาหุ้นในตลาดมาเป็นเกณฑ์ตัดสินว่าเราคิดผิดหรือถูก แต่เราควรเอาผลวิเคราะห์ในเรื่องธุรกิจของเขาที่เราประเมินไว้ คอยเปรียบเทียบกับผลการดำเนินงานจริงของเขาว่าใกล้เคียงกันไหม มีอะไรแตกต่างจากที่เราคิดไว้บ้าง ถ้าเราสามารถวิเคราะห์กิจการได้ค่อนข้างใกล้เคียงในระยะยาว อ่านทิศทางที่บริษัทกำลังจะก้าวไปได้ถูกต้อง แสดงว่าท่านได้เข้าใจรูปแบบธุรกิจของเขาแล้ว และเราก็น่าจะประเมินจุดซื้อหรือขายหุ้นของเราได้อย่างสบายใจ และคงไม่ต้องไปกังวลใจในเวลาราคาหุ้นที่ในตลาดมีราคาลดต่ำลงจากความเป็นจริง

• อีกเรื่องสำหรับความกลัว ผมเห็นคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีความไว้วางใจในตัวหุ้น 100 เปอร์เซนต์ หรือเขาเป็นคนระแวดระวังโดยนิสัย ชอบกระจายความเสี่ยงในการลงทุน คนกลุ่มนี้ผมแนะนำให้ท่าน ยึดหลักการความสบายใจในการลงทุน ให้จินตนาการก่อนที่จะลงทุนในหุ้นตัวนั้นๆว่า เราถือไม่เกินเท่าไหร่จึงจะไม่เครียด และ ถ้าหุ้นตัวนี้ราคาซื้อขายลดลงไปในระดับครึ่งหนึ่งของที่เราซื้อ เราจะทำอะไรไหม ถ้าคิดว่าทนไม่ได้ ก็จงลดสัดส่วนการลงทุนหุ้นตัวนั้นในสัดส่วนที่ถือแล้วจะสบายใจ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมาเป็นแรงบีบเค้น ให้เครียด และกลัว จนกระทั่งต้องจนมุม ขายหุ้นตัวนั้นออกไป ทั้งๆที่ ณ ราคาหุ้นในขณะนั้น ต้องใช้กลยุทธ์ ถือหรือซื้อเพิ่ม เท่านั้น

• “ความโลภ” 
• ผมยึดหลักคำสอนคำหนึ่งของเฮียคลายเครียด ตั้งแต่สมัยเล่นหุ้นใหม่ๆมาถึงปัจจุบันนี้ เฮียท่านสั่งสอนไว้ว่า “อย่าโลภเกินความรู้” เฮียเขาสอนไม่ให้ประมาทในการลงทุน แต่ก็ไม่ได้ปฎิเสทให้เราไม่โลภ เฮียเขาไม่ได้ห้ามให้เราโลภ เพราะใครทำธุรกิจ ก็ต้องหวังผลที่กำไร เป็นเรื่องปรกติ เวลาที่เราลงทุนซื้อหุ้น เราก็หวังผลอยากได้ที่มันกำไรสูงๆ เป็นเรื่องธรรมดา ความโลภคล้ายๆกับคันเร่งรถยนต์ อยากถึงที่หมายเร็วก็เร่งให้เร็วขึ้น แต่โอกาสที่จะไปจูบบั้นท้ายคนอื่น หรือซวยๆหน่อย ขับลงข้างทาง ทำให้ไม่มีโอกาสถึงที่หมายเลยก็มี สิ่งยึดเหนี่ยวที่เป็นเบรกไม่ให้เราขับลงข้างทาง หรือ ถูกความโลภครอบงำจนกลายเป็นความหลง นั่นคือ “ปัญญา”

• เราลองนึกถึงกระดานหกที่เด็กๆเล่นกัน ถ้าผมเอาความโลภอยู่ฝั่งหนึ่งของกระดานหก ผมก็จะเอาปัญญาหรือความรอบรู้ในหุ้นตัวนั้นๆมาไว้อีกฝั่งของกระดานให้สมดุลย์กัน ถ้าผมรอบรู้ในตัวนั้นน้อยก็ซื้อน้อยตามความรอบรู้ แต่ถ้าผมรู้มาก น่าจะตีแตกได้ ก็อาจจะทุ่มหมดหน้าตักได้ แต่......เราต้องรอบคอบ กันไม่ให้กิเลสอีกตัวมาตีหัวเราทีหลัง ต้องไม่ลืมหันไปถามพี่ๆทั้งสองก่อนนะครับ ให้ถามพี่ความกลัวว่า ถ้าผมซื้อแล้ว ราคาหุ้นมันลงไปครึ่ง พี่จะบังคับให้ผมขายหรือเปล่า และหันไปถามพี่ความหลงว่า.....ข้อมูลที่เรามี เราคิดไปนั้น เราหลอกตัวเองว่า “รู้” หรือเปล่า ถ้าพี่ๆทั้งสองเคลียร์ก็โอเคครับ.....ลุยโลด

• “ความหลง” 
• ส่วนตัวผมคิดว่า ความหลงนี่เป็นกิเลสที่ร้ายกาจที่สุดในบรรดากิเลสทั้งสาม เพราะคนโดยทั่วไป หลังจากตั้งสติได้แล้ว ก็พอจะมองเห็นความกลัวและความโลภของตนเองในอดีต แต่ความหลงมันซับซ้อนและละเอียดกว่า ถ้าเรายังไม่มีปัญญา โอกาสที่เราจะเห็นก็แทบไม่มี เพราะ... “เราก็คิดของเราเองว่า เราคิดถูก คุณนั่นแหล่ะคิดผิด” ความหลงในการลงทุนผมแบ่งเป็นสองระดับดังนี้

• ระดับแรก หลงเพราะไม่รู้จริงๆ มองไม่ออกจริงๆ ไอ้หลงแบบนี้ผมว่าแก้ไม่ยาก วิธีแก้ ก็เริ่มจาก เราต้องมีแผนที่ในใจและเข็มทิศที่ชี้ทางให้ถูกต้องเสียก่อน อย่างที่ผมได้เกริ่นแนวคิดทั้งหลาย ก็เพื่อจะให้เรามีแผนที่และเข็มทิศที่ชี้ทางอย่างถูกต้อง และถ้าเราเดินตามทางของท่านทั้งหลายที่ประสบความสำเร็จ โอกาสที่เราจะหลงก็คงแทบไม่มีทีเดียว

• อย่างที่สอง หลงเพราะมีแนวคิดของตนเองอย่างเต็มเหนี่ยว(แต่เป็นแนวคิดที่ผิดทาง....คนที่คิดถูกทางไม่เกี่ยวนะครับ) ไอ้อย่างนี้แก้ยากครับ ต้องให้เขาวางแผนที่ ที่เขาถือไว้ในมือก่อน เขาถึงจะไปหยิบแผนที่ชิ้นใหม่มาได้ คนกลุ่มนี้ที่ผ่านมาเขาอาจจะประสบความสำเร็จ ในชีวิตด้านใดด้านหนึ่งมา ทำให้เขาค่อนข้างมั่นใจในแนวคิดของตนเอง ถ้าใครมีนิสัยเป็นผู้นำ มั่นใจในตนเองสูง ก็แสดงว่าท่านจะเข้าข่าย หลงตัวเองเช่นผม ฮา. 

• พระอาจารย์ผม มีวิธีแก้ความหลงข้อนี้ให้หายขาดคือ ต้องฆ่าทิฐิในตัวเราเองเสียก่อน โดยการยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นให้มากๆ และแสร้งโง่บ่อยๆ นำสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง นำมาคิดไตร่ตรองจนเกิดปัญญา มันก็จะช่วยลดมิจฉาทิฐิที่เรามีให้น้อยลง ความหลงก็จะหายไปครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘