ประวัติความเป็นมา "ฤาษีดัดตน "


ฤาษี หรือฤษี ความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 หมายถึง นักบวชพวกหนึ่ง มีมาก่อนพุทธกาล สละบ้านเรือนออกไปบำเพ็ญพรตแสวงหาความสงบ
              ปรากฏหลักฐานครั้งแรกในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ใน พ.ศ.2331 เมื่อทรงปฏิสังขรณ์วัดโพธาราม (ปัจจุบัน คือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือวัดโพธิ์ ) และข้อมูลของโรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพน ระบุว่า มีเขาฤาษีดัดตน ซึ่งก็คือ สวนสุขภาพแห่งหนึ่ง อยู่ใกล้พระวิหารทิศใต้ เป็นพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 1 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รวบรวมการแพทย์แผนโบราณและศิลปะวิทยาการครั้งกรุงศรีอยุธยาไว้ ทรงพระราชดำรินำเอาท่าดัดตนอันเป็นการพักผ่อนอิริยาบถแก้เมื่อยตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย และประยุกต์กับคติไทยที่ยกย่องฤษีเป็นครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิทยาการต่างๆ เป็นรูปฤาษีดัดตน แสดงท่าไว้ที่วัดเพื่อให้ราษฎรทั่วไปได้ศึกษาเล่าเรียนและรักษาโรคได้ อย่างกว้างขวาง สมัยแรกสร้างนั้นปั้นด้วยดิน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ในปี พ.ศ.2379 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งวัด และโปรดเกล้าฯให้กรมหมื่นณรงค์หริรักษ์ (พระราชโอรสในรัชกาล ที่ 1 พระนามเดิม พระองค์เจ้าดวงจักร) เป็นแม่กอง กำกับช่าง หล่อรูปฤาษีแสดงท่าดัดตน ด้วยสังกะสีผสมดีบุก (เรียกว่า ชิน) จำนวน 80 ท่า เสร็จแล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์เสนาอำมาตย์ และนักปราชญ์ราชบัณฑิต ร่วมกันแต่งโคลงประกอบรูปฤาษีดัดตน โดยพระองค์เองก็ทรงพระราชนิพนธ์ด้วย และจารึกโคลงเหล่านั้นลงบนแผ่นศาลาติดไว้ตามผนังศาลารายรอบวัด (ก่องแก้ว
วีระประจักษ์ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร)

               และยังมีหลักฐานการจารึกในโคลงบานพับแผนก บนแผ่นศิลารายรอบผนังวัดโพธิ์ กล่าวถึงความเป็นมาของ
ฤาษีดัดตน ว่า
   
             ลุศักราชพ้น                      พันมี เศษเฮย
ร้อยกับเก้าสิบแปดปี                       วอกตั้ง
นักษัตรอัฐศกรวี                             วารกดิก มาศแฮ
สุกรปักษ์ห้าค่ำครั้ง                          เมื่อไท้บรรหาร
            ให้พระประยุรราชผู้             เป็นกรม หมื่นแฮ
ณรงค์หริรักษ์รัตน์                           ช่างใช้
สังกสีดิบุกผสม                               หล่อรูป
นักสิทธิ์แปดสิบให้                          เทิดถ้าดัดตน
            เสร็จเขียนเคลือบภาพพื้น   ผิวกาย
ตั้งทุกศาลาราย                             รอบล้อม
อาวาสเชตวันถวาย                        นามทั่ว องค์เอย
จารึกแผ่นผาพร้อม                       โรคแก้หลายกล
   
               และปรากฏข้อความในโคลงบทต่อมาจากข้างต้นที่แสดงให้ถึงพระราชประสงค์ของพระองค์ไว้อย่างชัดเจนว่า เพื่อ
ให้เป็นตำราวิชาการที่จัดไว้ในที่สาธารณะเปิดโอกาสให้ทุกเพศทุกวัยเข้าถึงและศึกษาจดจำนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อ
ตนเองและครอบครัวได้ตามความประสงค์อย่างกว้างขวางทั่วถึงทุกเวลา
                    เป็นประโยชน์นรชาติสิ้น        สบสถาน
เฉกเช่นโอสถทาน                              ท่านให้
พูนเพิ่มพุทธสมภาร                            สมโพธิ์ พระนา
ประกาศพระเกียรติยศไว้                     ตราบฟ้าดินศูนย์            
     
             ฤาษีดัดตน ยังปรากฏอยู่ในโคลงประกอบรูปฤาษีดัดตนด้วย ตัวอย่างเช่น โคลงพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 3
ดัดตนแก้เอวขดขัดขา
ความว่า
     
             ชฎิลดัดตนนี้น่า                  นึกเอะ ใจเอย
ชี้ชื่อสังปติเหงะ                               หง่อมง้อม
กวัดเท้าท่ามวยเตะ                         ตึงเมื่อย หายฮา
แก้สะเอวขดค้อม                            เข่าคู้โขยกโขยง


      โคลงสุพรรณหงส์นิพนธ์ ความว่า


             ชฎิลฤาษีไร้                         โรคร้าย
อายุยืนอื่นใคร                                เทียบนา
ขัดสมาธิไขว้แขนไพล่                    ยกตน ขึ้นอา
วิธีนี้ท่านสอนท่า                             ก่อนช้านานปี

                    นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาโบราณ สำนักหอสมุดแห่งชาติ  กรมศิลปากร ได้ให้ความเห็นว่า  “ หากนับ
เวลาจากปีที่สร้างรูปฤาษีดัดตนเป็นลำดับมาจนถึงปัจจุบันจะเห็นว่ายาวนานถึง 170 ปีแล้ว จึงกล่าวได้ว่า ฤาษีดัดตน เป็น
มรดกวัฒนธรรมของคนไทยทั้งชาติที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว     รัชกาลที่ 3      แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้าฯ
พระราชทานแก่ประชาชนทั้งประเทศไม่เจาะจงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ”   

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘