กายคตา


บัดนี้บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายได้พากันสมาทานศีลและสมาทานพระกรรมฐานแล้ว ต่อไปนี้ก็เป็นโอกาสที่บรรดาที่ท่านจะได้เจริญสมาธิจิตและวิปัสสนาญาณ วันนี้ก็จะขอพูดเรื่อง สมถะ คือ กายคตานุสสติกรรมฐาน กับวิปัสสนาญาณควบคู่กันไป แต่ก่อนที่บรรดาท่านทั้งหลาย จะพิจารณาอย่างอื่น อันดับแรกให้กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกอยู่เป็นปกติ เวลาหายใจเข้ารู้อยู่ว่าหายใจเข้า เวลาหายใจออกรู้อยู่ว่าหายใจออก เป็นการทรงอารมณ์เข้าไว้ และก็พร้อมกันนั้นก็ใช้หูฟังเสียงอารมณ์จิตคิดตามเสียง ถ้าหูได้ยินเสียงอยู่ จิตคิดตามเสียงอยู่ก็ไม่ต้องกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ขณะใดหูยังฟังเสียง จิตคิดตามเสียงรู้เรื่อง แสดงว่าสติสัมปชัญญะของเราดีมีสมาธิ ถ้าหากว่าจิตของเราพิจารณาตามเสียงไปด้วย มีความเข้าใจตามเสียงเกิดนิพพิทาญาณปรากฏก็จัดว่าเกิดปัญญาเป็นวิปัสสนาญาณ นี่เป็นการศึกษาพระกรรมฐานต้องศึกษาแบบถูกต้อง เป็นของไม่ยาก เพราะกรรมฐานขององค์พระผู้มีพระภาคไม่ได้สอนให้ยาก สอนแบบง่ายๆ แต่ที่ทำกันไม่ได้เพราะไม่สนใจจริงเท่านั้น ถ้าเป็นของยากจริงๆละก็ จะไม่มีใครได้กันเลย เวลานี้หรือกาลต่อมาตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดพุทธบริษัทจนกระทั่งถึงสมัยปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่เคยขาดพระอริยเจ้า ก็แสดงว่ากรรมฐานขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ยาก แต่ที่ยากก็เพราะว่าเราไม่ต้องการ

การเจริญพระกรรมฐานอันดับแรกต้องกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกอันนี้เป็นการป้องกันความฟุ้งซ่านของจิต แล้วต่อมาก็มาคิดถึงเรื่องกาย เพราะกรรมฐานนี่สอนเฉพาะในร่างกายเท่านั้น ให้มีความเบื่อหน่ายในร่างกายว่าความเกิดมันเป็นทุกข์ ถ้าเกิดแล้วมีแก่มีเจ็บ มีป่วยไข้ไม่สบาย มีการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ มีความปรารถนาไม่สมหวังมีความตายไปในที่สุด ถ้าเอาจิตมันก็เป็นทุกข์ เอาจิตเข้าไปเกาะอยู่ในร่างกายก็แสดงว่าเราไม่พ้นจากโลกธรรม ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏะ ก็แสดงว่าเรายังรักโง่เกลียดดี ถ้าเรารักดีเกลียดโง่เราก็ต้องทิ้งวัฏฏะ การทิ้งวัฏฏะก็คือการทิ้งขันข์ห้า คือร่างกายเท่านั้น นี่การพิจารณาร่างกายนั้นพระอรหันต์ทุกองค์จะต้องผ่าน หมายความว่าท่านที่เป็นพระอรหันต์จะต้องผ่านกรรมฐานกองนี้ ถ้าไม่ผ่านกองนี้ทั้งหมดจะเป็นพระอริยเจ้าไม่ได้ กรรมฐานกองสำคัญนี้ก็คือกองที่ชื่อว่า กายคตานุสสติกรรมฐาน มีการพิจารณากายร่วมกับอสุภกรรมฐาน สองอย่างควบกัน การที่พระพุทธเจ้าพิจารณากายว่ามี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ ตับ ไต ไส้ ปอด อาหารใหม่ อาหารเก่า อุจจาระ ไส้ใหญ่ ไส้เล็กและน้ำเลือด น้ำหนองที่มันมีอยู่ในกาย นั่งนึกไปด้วยนะ นึกไปด้วยว่าในกายของเรามีอะไร อย่างนี้ ความจริงร่างกายไม่ใช่เป็นสภาพแท่งทึบ มันเป็นโครง ภายในเต็มไปด้วยจักรกล

อาการที่เห็นว่าร่างกายเต็มไปด้วยจักรกลนี่เป็นเรื่องสำคัญ ที่องค์สมเด็จพระภควันต์ ให้พิจารณาว่าร่างกายนี่มันมีสภาพเที่ยงหรือไม่เที่ยง ถ้าเที่ยงจริง มันย่อมมีการทรงตัวไม่มีการเปลี่ยนแปลง ร่างกายของเราเที่ยงไหม นึกดู ถ้าเราเที่ยงจริง เมื่อเกิดมาร่างกายเราเป็นเด็กมันก็ต้องไม่รู้จักโต เรายังพูดภาษาที่ชาวบ้านไม่รู้เรื่องมันก็ต้องยังพูดไม่ได้ เกิดวันแรกเป็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น เวลานี้เรากับเด็กมีสภาพเหมือนกันไหม มันไม่เหมือนแล้ว มันโตกว่า พูดรู้เรื่อง ทำงานได้ทุกอย่างรับผิดชอบ ดีไม่ดีก็ไม่ใช่ตัวคนเดียว มีสามี มีภรรยา มีบุตรธิดา แสดงว่าร่างกายมันมีสภาพไม่เที่ยง สภาพความเป็นเด็กหายไป ความเป็นผู้ใหญ่เข้ามาถึง นี่มันไม่เที่ยง แล้วไม่เที่ยงมันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ นั่งนึกให้ถึงนี่เป็นอริยสัจ มันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ถ้าอาการเที่ยง ถ้ากินข้าวอิ่มเดียวมันก็ต้องอิ่มไม่มีการหิว กินแล้ว เดี๋ยวก็หิวใหม่ อาการหิวมันเป็นความทุกข์ กินข้าวแล้วก็มีอาการปวดอุจจาระปัสสาวะ การปวดอุจจาระปัสสาวะมันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ นี่ถ้าตอบกันแบบธรรมดา การปวดปัสสาวะมันก็เป็นทุกข์ ท่านก็ต้องเห็นว่ามันเป็นทุกข์ นี่เราเกิดขึ้นมาแล้ว ความปรารถนาไม่สมหวัง อยากได้อะไรไม่ได้ตามใจนึก แสวงหาธรรมะทุกอย่างไม่ได้ตามปรารถนา อาการอย่างนี้มันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ นึกเอา ถ้ายังเห็นว่าเป็นสุขก็เกิดต่อไปก็แล้วกัน มันก็ทุกข์ ถ้าเราเกาะอยู่มันก็ไม่ทุกข์ ถ้าชีวิตเราใกล้จะตายมันเป็นสุขหรือทุกข์ มันก็เป็นอาการของความทุกข์ ร่างกายของเรามีขึ้นมาก็เพราะอาศัยเหตุ คือปัจจัยให้เกิดความทุกข์ ไม่ใช่เป็นปัจจัยให้เกิดความสุข ร่างกายเป็นทุกข์

ร่างกายก็มีอะไรอีก ร่างกายก็เต็มไปด้วยความสกปรกโสโครก น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง อุจจาระ ปัสสาวะ เป็นต้น เราเห็นว่ามันสกปรกหรือเห็นว่ามันสะอาด เห็นจะไม่ต้องตอบกัน จะเห็นว่าสะอาดก็ตามใจ ฝืนความจริงใจ ใจก็พ้นจากร่างกายไปไม่ได้ พ้นจากโลกไปไม่ได้ เป็นอันว่ามันสกปรก เมื่ออาหารใหม่เก่าน้ำเลือดน้ำเหลืองน้ำหนองในร่างกาย เราจะเห็นว่าร่างกายมันสะอาดได้อย่างไร ที่นี้สิ่งทั้งหลายภายนอก เช่นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ อย่างนี้เป็นต้น เอาเฉพาะหนังไม่ต้องถึงเนื้อ มันอยู่ภายนอกที่เราเห็นความสวยสดงดงามมันก็แค่หนังกำพร้าที่มันหลอกตาเรา เราชอบหลอกตัวเอง ร่างกายของเราเต็มไปด้วยความสกปรก เวลาที่จะโชว์ก็อาบน้ำอาบท่า ชำระร่างกายขัดสีฉวีวรรณ เอาโน่นมาแต้มนิดเอานี่มาแต้มหน่อย ทาโน่นนิดทานี่หน่อย หวีผมเสียให้เรียบร้อย เอาผ้าที่สีสวยๆ เข้ามาแต่งร่างกาย แล้วก็ไปส่องกระจกแล้วก็มาชมตัวเองว่าสวยนี่เราก็นั่งโกหกตัวเอง โกหกชาวบ้าน มันจะสวยที่ไหน ในเมื่อร่างกายของเรามีสภาพเหมือนกับส้วมเดินได้ ภายในเหมือนส้วม แล้วท่านเห็นว่าส้วมสะอาดหรือส้วมสกปรก นี่เป็นอันว่าร่างกายของเราเต็มไปด้วยความสกปรก กายคตานุสสติกรรมฐาน เห็นว่าร่างกายเป็นชิ้นเป็นท่อนเป็นอันไม่เป็นแท่งทึบ อสุภกรรมฐานบวกเข้ามาเห็นว่าร่างกายเต็มไปด้วยความสกปรกโสมม นี่เป็นของจริง ต้องพิจารณาสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ให้เป็น เอกัคตารมณ์ คำว่าเอกัคตารมณ์ แปลว่าอารมณ์เดียว นั่งอยู่ นอนอยู่ เดินอยู่ ยืนอยู่ จะเป็นเวลาไหนก็ตาม จิตใจเห็นอยู่เสมอว่าร่างกายเป็นแต่เพียงเต็มไปด้วยความทุกข์ ร่างกายเต็มไปด้วยความสกปรก คนอื่นเดินผ่านมาเราอย่าเอาตาไปติดแค่ผ้าหรือแค่หนัง มองเลยหนังทะลุเนื้อเข้ามาถึงตับ ไต ไส้ ปอด ปรากฏอยู่ แล้วก็ดูให้ดี เห็นคนเดินมานึกว่านี่ส้วมเคลื่อนที่มาแล้ว นี่ส้วมมันเป็นของสกปรก เราต้องการส้วมเข้ามาประคับประคองหรืออย่างไร

นี่ใจของเรานี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้หาความจริงจากกายให้พบอันนี้แหละเป็นกรรมฐาน ถ้าเราปฏิบัติกองนี้กองเดียวจนจิตเป็นเอกัคตารมณ์ เรื่องการเป็นพระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ มันก็เป็นของไม่ยาก มันจบแค่กองนี้กองเดียวเท่านั้น ถ้าเราเอาจริงๆ สำคัญจะลืมซิ พระวินัยฟังทุกวัน ธรรมะฟังทุกวันยังลืม ถ้าลองฟังทุกวันลืมละก็ตั้งใจไว้เลยว่าจะนรกขุมไหน อย่าไปนั่งนึกเลยว่าจะไปเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทวดาหรือว่าเป็นพรหม เลือกไว้ให้ดีเชียวว่าจะเอานรกขุมไหนจะได้ตั้งใจไปให้มันตรง ไม่ต้องไปผ่านสำนักของพญายม ถ้าหูยังสัมผัสอยู่กับธรรมะเราก็ยังเลว หูสัมผัสกับพระวินัยเราก็ลืม นี่แสดงว่าเราลืมดี ถ้าไปไหนเราลืมสตางค์ก็กลายเป็นคนไม่มีสตางค์ คนที่ไม่มีทรัพย์ ไปไหนก็มีแต่ความลำบาก มีธรรมะขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นทรัพย์เป็นอริยทรัพย์ คือ ทรัพย์อันประเสริฐ การที่จิตออกจากร่างกายนำทรัพย์สินไปไม่ได้ นำอริยทรัพย์ไปได้ ถ้าหากว่าเวลาเรามีชีวิตอยู่เราลืมอริยทรัพย์ ตายมันก็ลืม ไม่มีโอกาสจะเอาไป การที่องค์สมเด็จพระจอมไตรสอนให้เราภาวนาหรือว่าพิจารณาเป็นปกติก็เพื่อให้จิตมันชิน จิตมันจะได้เกาะ จะมีอารมณ์เป็นฌาน คือทรงอารมณ์ไว้ไปไหนก็ตาม ข้อนี้ถ้าอารมณ์เป็นฌานนะ เห็นคนเห็นสัตว์เดินมา เห็นร่างกายของเรามันเป็นของสกปรกอยู่ตลอดเวลา มันมีความรังเกียจร่างกาย ร่างกายของเราเองมันก็แสนที่จะรังเกียจ แล้วร่างกายคนอื่นล่ะ ถ้าเรารังเกียจร่างกายของเราเอง แล้วไปรักร่างกายของคนอื่น ก็น่ากลัวจะสติไม่ดี คนสติสัมปชัญญะดีเขาไม่ทำแบบนั้น นี่ในเราพิจารณาร่างกายของเราเป็นของสกปรก แล้วก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ไม่มีอะไรเป็นที่น่ารัก ถ้าเอาจิตของเราเข้าถึงฌานจริงๆมันจะเกิดความรังเกียจกายว่ามันสกปรกเต็มไปด้วยความทุกข์ หาความสุขไม่ได้ นี่ทำอย่างไรมันรังเกียจเสียแล้วนี่ ก็ไม่อยากจะมีมันอีกร่างกาย คือขันธ์ห้า ความรังเกียจร่างกายปรากฏ พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่านิพพิทาญาณ เป็นวิปัสสนาญาณตัวที่ ๖ นี่ใกล้จะจบวิปัสสนาญาณอยู่แล้ว

เห็นร่างกายไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตามีความสกปรกโสมมเป็นที่สุด จิตของเราจะมีความรู้สึกอย่างไรกับร่างกาย ร่างกายมันหิว ร่างกายมันร้อน ร่างกายมันหนาว จิตของเราจะมันก็ตั้งอยู่ในสังขารุเบกขาญาน ถือว่าอาการทั้งหมดเป็นเรื่องธรรมดาของร่างกาย มันจะประสบใจของเราไม่เดือดร้อน ถ้ามันร้อนเกินไปก็หาเครื่องเย็นให้มัน มันหิวก็หาอาหารให้มัน เพราะว่าเราต้องอาศัยมัน มันหนาวก็หาความอบอุ่นให้ แต่ก็ใจคิดไว้เสมอว่าร่างกายกับเรานี่มันสกปรก เราอาศัยมันอยู่เราก็ปฏิบัติตามหน้าที่ ถ้ามันสลายตัวเมื่อไร เรากับมันก็เลิกกัน ขึ้นชื่อว่าร่างกายจะไม่มีกับเราต่อไปอีก จะมีกันได้อย่างไร ร่างกายมันสกปรกอย่างเดียวยังไม่พอ เต็มไปด้วยความทุกข์ สร้างความทุกข์ความยากให้เกิดขึ้น นี่เมื่อสังขารุเบกขาญาณเกิดขึ้นแล้ว เราไม่เมาในร่างกาย นึกว่าร่างกายไม่ดี มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มักสกปรกและเต็มไปด้วยความทุกข์ มันจะแก่ก็ใจสบาย เรารู้แล้วว่ามันจะแก่ อย่างนี้เรียกว่าสังขารุเบกขาญาณ ถ้าป่วยไข้ไม่สบาย เราก็ไม่เดือดร้อน เพราะว่าธรรมดาของมันต้องป่วยไข้ไม่สบาย อย่างนี้เรียกว่าสังขารุเบกขาญาณ การรักตัวเป็นการระงับเวทนาเป็นเรื่องธรรมดา แต่คิดไว้เสมอว่าถ้าจะพังเมื่อไรก็เชิญพัง พังเมื่อไรก็เลิกกันเมื่อนั้น ที่นี้เมื่อจิตใจเราทรงได้อย่างนี้แล้ว การกระทบกระทั่งกับอารมณ์ภายนอก การนินทา ความสรรเสริญ ความมีลาภ ได้ลาภ ความมียศ อะไรก็ตามที่บังเกิดขึ้นกับใจเรา ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา มีอารมณ์ไม่หวั่นไหว เห็นว่าเป็นเรื่องปกติ เป็นอาการของร่างกายที่รงอยู่ในโลกมันต้องเป็นอย่างนั้น ให้เป็นปกติไม่เดือดร้อน อย่างนี้เรียกว่าสังขารุเบกชาญาณ ถึงเวลาที่มันจะตายเข้ามาจริงๆ เราก็ถือว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา เกิดมาแล้วมันต้องตาย เราหนีความตายไม่ได้ ใจปกติ จะตายก็เชิญตาย เราพร้อมแล้ว กิจที่จะถึงทำเราทำครบถ้วนแล้ว ทางใดที่จะไปสวรรค์เราสร้างแล้ว ทางที่จะไปพรหมโลกเราสร้างแล้ว ทางใดที่จะไปพระนิพพานเราทำแล้ว เมื่อสิ่งทั้ง ๓ ประการครบถ้วน ความตายเป็นของปกติ ตายจากความเป็นมนุษย์ดีกว่า ไปเป็นเทวดาสบายกว่ามนุษย์มาก ถ้าเป็นพรหมก็สบายกว่าเทวดา ถ้าไปนิพพานสบายที่สุดไม่กลับถอยหลังลงมาอีก นี่อารมณ์ใจของเราที่มีเป็นปกติอยู่อย่างนี้ ก็ชื่อว่าจิตใจเราเข้าถึงธรรมะขององค์สมเด็จพระชินสีห์แน่นอน องค์สมเด็จพระชินวรได้กล่าวว่าสิ่งที่ท่านจะต้องทำได้ทำแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำไม่มีอีก นั่นคือความเป็นพระอรหันต์

นี่กล่าวโดยย่อการเจริญพระกรรมฐานความมุ่งหายมีเท่านี้ แล้วก็ทำกันจริงๆแค่นี้มันก็เป็นพระอรหันต์ แต่ขอให้เรารักจริงๆเท่านั้น อย่าหลอกตัวเอง อย่าหลอกชาวบ้าน อย่าเมาในความชั่ว คิดว่าเป็นของดี จงเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ สตินึกไว้สัมปชัญญะรู้ตัว สิ่งใดที่ควรไม่ควรมันต้องรู้ ไม่ใช่จะไปนึกว่าควรไม่ควรตามอัธยาศัย พระวินัยมีอยู่ ศีลมีอยู่ คำสอนของพระพุทธเจ้ามีอยู่ ศึกษาคำสอนขององค์สมเด็จพระบรมครูให้ครบถ้วน แล้วปฏิบัติตามนั้นให้มันตรงตามจุดที่พระพุทธเจ้าทรงสอน คำว่าดีมันจึงจะปรากฏ ถ้าจิตใจของเรามันยังไม่เคารพในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คือไม่ยึดถือเป็นกำลัง ไม่ค้นคว้า ไม่สนใจ แล้วปฏิบัติตามอัธยาศัย สิ่งที่ไม่ควรว่าควรสิ่งที่ควรคิดว่าไม่ควร ไปคว้าอารมณ์ผิดเข้ามาปฏิบัติ แทนที่จะมีผลตามที่องค์สมเด็จพระทรงสวัสดีโสภาคย์ทรงแนะนำ ว่าเราจะไปสวรรค์ พรหมโลก หรือว่านิพพาน ก็ไม่ต้องไปกันแล้ว กลับไปเหลียวหลังตั้งต้นจากนรกขึ้นมาใหม่ เราเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระจอมไตรจริงๆ ถ้าเราไม่หลอกลวงชาวบ้านเขา ทั้งบรรดาภิกษุสามเณรและพุทธบริษัททั้งชายและหญิง เรื่องการเป็นอริยเจ้านี่มันเป็นของไม่ยาก ที่ยากก็เพราะมันเลวเกินไป ถ้าเราไม่ชอบเลวเสียอย่าง ถ้าเราชอบดีมันก็ได้ดีมา นี่จิตใจของเราบางทีปากก็พูดอยากจะดีอย่างนั้นอย่างนี้ แต่อารมณ์ของความดีเราไม่บูชาเราบูชาความเลว แล้วมันจะเอาดีมาจากไหน

ต่อแต่นี้ไปขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายจงพยายามตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยจนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘