โทษของกาม


นี่เป็นอันว่าการสมาทานพระกรรมฐานจบลง ต่อแต่นี้ไปก็ขอทุกท่านพากันสำรวมใจทำจิตให้เป็นสมาธิ คือทรงสติสัมปชัญญะ กำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออกเป็นพื้นฐาน หายใจเข้าหายใจออกนี่เป็นพื้นฐานใหญ่ พร้อมกันนั้นก็ใช้คำภาวนาตามอัธยาศัยว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ หรือว่าอรหัง หรือว่าอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ตามถนัด แต่ทว่าขอให้จิตใจนอบน้อมต่อองค์สมเด็จพระทรงสวัสดิโสภาคย์เป็นสำคัญ ว่าเราเข้ามาในเขตพระพุทธศาสนานี้นั้นก็เพราะว่ามีความเชื่อในพระองค์ ไม่มีความสงสัยในคำสั่งสอนของพระองค์ และอธิษฐานความตั้งใจของเราไว้ว่าเราจะยอมรับนับถือในพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และพระอริยสงฆ์ ว่าเป็นผู้นำเราไปสู่ความสุขทั้งในชาติปัจจุบันและสัมปรายภพ

เมื่อน้อมใจนึกถึงความดีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็นำเอาพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระประทีปแก้วที่ทรงสั่งสอนเราว่าโลกนี้เป็นอนิจจัง หาความเที่ยงไม่ได้ ทุกขัง มีแต่ความทุกข์ อนัตตา ทุกสิ่งทุกอย่างมีการสลายตัวไปในที่สุด การเกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นเทวดา เกิดเป็นพรหม เกิดเป็นสัตว์ก็ตาม ย่อมเต็มไปด้วยความทุกข์ เราต้องบริหารประกอบกิจการงานเพื่อความเป็นอยู่ของตน ในงานทุกประเภทนี้ไม่มีที่สิ้นสุด ทำแล้วมันก็ต้องทำอีก ทำแล้วก็ต้องทำอีกอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา ทำไปจนจะตายเราก็ยังไม่ว่าง ตายแล้วถ้าหากว่ายังไม่หมดกิเลสเพียงใดเราก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ ก้าวลงไปเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เราก็ชื่อว่าเราขาดทุน ถ้าหากว่าเราวนมาแค่มนุษย์อีกก็ชื่อว่าขาดทุนเหมือนกัน เพราะว่าถ้าเราเป็นมนุษย์แล้วเรากลับเกิดเป็นมนุษย์อีกก็ชื่อว่าเราไม่มีอะไรดีขึ้น เรายังเป็นทาสกิเลส ตัณหา อุปาทานและอกุศลกรรมอยู่ เราก็จะขอยึดถือคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระบรมครู อย่างเลวที่สุด เมื่อตายแล้วชาตินี้เราก็จะเป็นเทวดา หรือว่าเราจะทำความดีอย่างกลางเราก็จะเกิดเป็นพรหมหรือมิฉะนั้นสิ่งที่เราต้องการที่สุดนั่นก็คือพระนิพพาน นี่เพราะพระนิพพานเป็นที่แห่งเดียวเท่านั้นเป็นที่เสร็จกิจไม่ต้องทำอะไรต่อไป กิจอื่นที่จะต้องทำไม่มีอีกแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วทรงเทศน์ไว้ในธรรมจักกัปปวัตนสูตรก็ดี อาทิตตปริยายสูตรก็ดี อนัตตลักขณสูตรก็ดี ลงท้ายองค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเทศน์แบบนี้ว่าสิ่งที่เราจะต้องทำเราทำเสร็จแล้ว กิจอื่นที่เราจะต้องทำไม่มี นี่หมายความว่าเราเป็นพระอรหันต์ ถ้ายังไม่ถึงพระอรหันต์เพียงใดเราก็ยังคงต้องทำต่อไป กิจประเภทนี้ก็คือกิจที่ต้องทำต้องปฏิบัติบริหารเพื่อตัวเอง เพื่อครอบครัว เพื่อเพื่อนฝูง เพื่อหมู่คณะ หรือเพื่อประเทศชาติ เป็นต้น มันก็เป็นกิจเหน็ดเหนื่อย

การเบื่อกิจที่ทำแล้วทำอีกอย่างนี้มีตัวอย่างในพระธรรมบท ขุททกนิกาย สมัยเมื่อองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วประมาณ ๑๐ ปี ในระยะนี้ไม่เกิน ๑๐ ปี ในระหว่างนั้นในบรรดาศากยราชก็ดี เทวทหะก็ดี ศากยราช คือ พระญาติขององค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เทวทหะเป็นญาติขิงทางฝ่ายพระนางพิมพาราชเทวี ตระกูลทั้ง ๒ นี้เป็นพระญาติในเครือเดียวกัน ต่างคนต่างก็ออกบวชในพระพุทธศาสนากันมาก ทีนี้สมัยนั้น ท้าวมหานามเป็นกษัตริย์ทางศากยราชที่กบิลพัสด์ ท่านท้าวมหานามทรงมีพี่น้องอยู่ ๒ คน คือ ท่านท้าวมหานาม พระอนุรุทธและพระนางโหริณี สำหรับพระนางโหริณีนี้เห็นจะไม่ต้องเกี่ยวเพราะเธอเป็นผู้หญิง ท้าวมหานามจึงเรียกพระอนุรุทธเข้ามาว่า ศากยะก็ดี เทวทหะนครก็ดี ต่างคนต่างบวชตามองค์สมเด็จพระชินสีห์กันหมด เหลือแต่ตระกูลเรา ๒ คนนี่เท่านั้นที่ยังไม่มีคนบวช ก็จะกลายเป็นคนหมันไป ถ้ากระไรก็ดีพี่จะขอบวช ขอน้องจงอยู่ครองสมบัติขึ้นเป็นพระราชา พระอนุรุทธก็นิ่งฟัง แล้วท่านท้าวมหานามก็กล่าวว่าถ้าเจ้าจะเป็นพระราชาปกครองคน จงเรียนถึงกิจของพระราชาหรือของประชาชนทั่วไปที่มีความต้องการ สมัยนั้นพระราชามีงานมาก ต้องทำนา แต่พระอนุรุทธเป็นพระอนุชาไม่เคยลำบากต้องทำงานกับเขา จึงถามว่าวิธีทำนาเป็นอย่างไร

ท่านท้าวมหานามก็กล่าวว่าเวลาที่จะทำระยะแรกก็นำวัวควายออกไป นำไถออกไป นำอุปกรณ์ออกไป ไถให้เป็นรอย แล้วก็เอาข้าวหว่านลงไป แล้วก็ไถกลบ เอาคราดคราดแล้วก็เก็บขี้หญ้า

พระอนุรุทธถามว่าเสร็จหรือยัง ท้าวมหานามก็บอกว่ายังไม่เสร็จ ต่อนี้ไปก็ดูน้ำ พืชข้าวว่าจะเกิดขึ้นดีหรือไม่ ถ้าปรากฏว่ามีวัชชพืช คือพืชที่จะเป็นอันตรายแก่ต้นข้าวก็ต้องถากต้องถางต้องถอน เป็นการรักษาต้นข้าว ถ้ามีตัวเพลี้ยตัวหนอนก็ต้องหาวิธีไล่เพลี้ยหนอนที่กินกอข้าว

พระอนุรุทธถามว่าเสร็จหรือยัง ท้าวมหานามก็บอกว่ายังไม่เสร็จ ต่อไปเมื่อข้าวโตขึ้นมาก็เป็นรวง เมื่อเป็นรวงแล้วก็มีเมล็ดแก่เต็มที่ก็ต้องเก็บเกี่ยว เกี่ยวเสร็จแล้วก็มานวด นวดเสร็จแล้วก็เก็บมาไว้ในยุ้งในฉาง

ท่านพระอนุรุทธถามว่าเสร็จหรือยัง ท่านมหานามก็บอกว่ายัง ก็บอกต่อไปว่าต่อไปก็ต้องนำข้าวมาสะสางมาสีให้พร้อมเป็นข้าวสารแล้วนำมา

ท่านพระอนุรุทธถามว่าเสร็จหรือยัง ท่านท้าวมหานามก็บอกว่ายัง กินข้าวป่าเก่าเข้าไปแล้ว เมื่อถึงฤดูทำนาใหม่ก็ต้องนำเอาข้าวเก่าไปทำพันธุ์ข้าวปลูกมาใหม่ แล้วทำมันอย่างนี้เรื่อยไป ถึงปีก็ต้องทำใหม่ ได้ข้าวก็เกี่ยวอย่างนี้ตลอดชีวิต

ท่านพระอนุรุทธถามว่า กิจของการทำนาทำมาหากินนี่มันไม่มีการหยุดกันหรือ ท่านท้าวมหานามก็บอกว่า หยุดไม่ได้เพราะเราต้องกิน ญาติผู้ใหญ่ของเราทุกระดับชั้นก็ทำแบบนี้ ถึงแม้ว่าจนกระทั่งตายท่านก็ไม่มีโอกาสหยุด เพราะเป็นกิจที่เราจะต้องทำ นี่พระอนุรุทธบอกว่าถ้าเช่นนั้นเราจะบวช ท่านเป็นพระราชาต่อไป

เป็นอันว่าท่านท้าวมหานามก็ตามใจ ความจริงเวลานั้นท่านท้าวมหานามเป็นกษัตริย์ก็จริง แต่ว่าปฏิบัติธรรมะได้ถึงพระอนาคามี เมื่อพระอนุรุทธได้รับคำอนุญาตจากพี่ชายแล้วก็ชวนเพื่อนอีก ๔ คนด้วยกัน มีพระเทวทัตร่วมไปด้วย และมีพระอุบาลีที่เป็นช่างตัดผมติดตามไปด้วย เวลาที่จะบวชก็ให้พระอุบาลีบวชก่อน ทั้งนี้ก็เพราะว่าในพระพุทธศาสนาถือว่าใครบวชก่อนเป็นผู้อาวุโส ผู้เป็นพี่ คนที่บวชทีหลังจะต้องเคารพเป็นลำดับกัน การที่ให้พระอุบาลีบวชก่อนในฐานะที่เป็นคนรับใช้ก็มีความอยู่ในใจว่าเราได้ตัดมานะไม่ถือตัวว่าเป็นเจ้าเป็นนาย ถือว่าเขาเป็นนายจะละมานะตัวนี้เป็นขั้นแรก ต่อมาท่านก็บวชในพระพุทธศาสนา อาศัยที่ได้ฟังธรรมจากท่านท้าวมหานามบอกว่าเกิดเป็นมนุษย์หาความหยุดไม่ได้ ต้องทำมาหากินกันต่อไป แล้วมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ก็ต้องหากินกันแบบนี้ไม่มีที่สิ้นสุด ท่านจึงไม่ต้องการหากินต่อไป เมื่อบวชแล้วก็ไปเฝ้าองค์สมเด็จพรจอมไตร องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคก็ตรัสพระนิพพานเป็นที่หมาย ว่าพระนิพพานเป็นเอกันตบรมสุข มีความสุขอย่างยิ่ง ขึ้นชื่อว่าความทุกข์นิดหนึ่งย่อมไม่มีในขันธ์ ๕ มีความสุขบริสุทธิ์เต็มไปด้วยความเบา

แต่ว่าคนที่จะถึงพระนิพพานได้ก็ต้องพยายามตัดโลภะ ความโลภ โทสะ ความโกรธ โมหะ ความหลง เห็นว่าร่างกายไม่เป็นสาระเป็นแก่นสาร เป็นอนิจจัง เกิดมาแล้วมันหาความเที่ยงไม่ได้ ทุกขัง เต็มไปด้วยความทุกข์ อนัตตา มีความสลายตัวไปในที่สุด ถ้าเรายังโง่รอความเกิดต่อไปก็ไม่มีประโยชน์ องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชี้โทษให้พระอนุรุทธและบรรดาพระทั้งหลายฟัง ว่าร่างกายเป็นโรคนิทธัง เป็นรังของโรค เกิดมาแล้วทุกวันมีแต่โรค ไม่มีมนุษย์ตนใดไม่มีโรคแม้แต่ ๑ วินาที อาการโรคอย่างอื่นไม่มีก็มีโรคอย่างหนึ่งขังอยู่ในกาย คือ ชิฆัจฺฉา ปรมา โรคา ซึ่งกล่าวว่าความหิวเป็นโรคอย่างหนึ่ง โรคเขาแปลว่าเสียดแทง เวลามันหิวขึ้นมามันหาความสบายไม่ได้ มันไม่มีความสบาย ถ้าหากว่าเราตัดความหิวเสียได้ โรคร้ายคือความยากเสียได้เราก็จะมีความสุข

พระอนุรุทธถามว่าทำอย่างไรพระพุทธเจ้าข้า สมเด็จพระบรมศาสดาก็บอกว่า พิจารณาเห็นว่าร่างกายมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเราเมื่อเราตัดร่างกายเสียได้แล้ว ไม่เห็นว่าร่างกายเป็นเราเป็นของเรา ก็ตัดทุกสิ่งทุกอย่างในโลกได้หมด เพราะว่าที่เราต้องการทรัพย์สินหรือต้องการมีครอบครัวก็เพราะถือว่าคำว่าร่างกายนี้เป็นสำคัญ ฉะนั้น ถ้าหากว่าตัดความเป็นของเราในร่างกายเสียได้ ก็ชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ ท่านฟังเทศน์จากองค์สมเด็จพระพิชิตมารแต่เพียงเท่านี้ก็เข้าป่าเจริญสมณธรรม คือ กรรมฐาน ทรงจิตให้เป็นสมาธิดีแล้วก็พิจารณาขันธ์ห้าว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ห้า ขันธ์ห้าไม่มีในเรา ร่างกายเป็นแต่เพียงธาตุสี่ คือ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุน้ำ ผสมกันเป็นกองชั่วขณะหนึ่ง และก็มีความตายไปในที่สุด ในระหว่างที่ยังไม่ตายร่างกายก็เป็นอนิจจัง หาความเที่ยงแท้แน่นนอนไม่ได้ ทุกขัง เต็มไปด้วยความทุกข์ โรคนิทธัง เป็นรังของโรค ปภังคุณัง มันจะต้องเปื่อยเน่าไปในที่สุด ร่างกายของเราก็ดีร่างกายของบุคคลอื่นก็ดีไม่มีสิ่งใดที่เป็นสาระแก่นสาร ไม่มีความสะอาด มีแต่ความสกปรกหาความเยือกเย็นไม่ได้ เต็มไปด้วยความเร่าร้อน ท่านพิจารณาตามกระแสพระสัทธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระชินวรเพียงเท่านี้ ปรากฏว่าได้บรรลุพระอรหัตผลเป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา

ฉะนั้น ต่อแต่นี้ไปขอภิกษุสามเณรโดยถ้วนหน้าตลอดจนบรรดาท่านญาติโยมพุทธบริษัทจงจั้งจิตกำหนดจิตของตนให้เป็นสมาธิ คือกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก และคำภาวนาและเมื่อจิตสบายแล้วก็พิจารณาเช่นเดียวกับพระอนุรุทธ ผลที่ท่านจะพึงได้ก็คือ ความสุขกายสุขใจในชาตินี้และในสัมปรายภพ เอาละต่อแต่นี้ไปขอบรรดาท่านทั้งหลายจงตั้งใจเจริญพระกรรมฐาน จะนั่งก็ได้ ยืนก็ได้ นอนก็ได้ เดินก็ได้ ตามอัธยาศัย และให้ทรงสติสัมปชัญญะไว้ว่าเราจะรู้ลมหายใจเข้าออก หรือว่าเราจะรู้คำภาวนา หรือว่าภาวนาไว้ตลอดเวลาที่เรากำลังปฏิบัติอยู่ การปฏิบัตินี้เวลาจะไม่แจ้งให้เป็นไปตามอัธยาศัย ถ้านอนอยู่ก็อาศัยการภาวนาหรือพิจารณาไปจนหลับได้ก็ยิ่งดี คือว่าถ้าภาวนาหรือพิจารณาแล้วหลับก็แสดงว่าจิตถึงปฐมฌานจัดเป็นความดี ทีนี้สำหรับการเจริญพระกรรมฐานของเรานี้ในด้านปัญญารู้สึกว่าบกพร่องกันอยู่มาก ขอให้ใช้ปัญญาใครครวญกันให้มากให้สติสัมปชัญญะควบคุม คือทำใจให้สบาย แล้วใช้ปัญญาพิจารณาขันธ์ห้าและอาการรอบๆกันไป ผลดีจะเกิดแก่ท่านทั้งหลาย เอาละต่อไปนี้ขอให้ท่านทั้งหลายตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะถึงเวลาที่ท่านต้องการจะเลิก

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘