อานาปานสติโดยย่อ


ต่อแต่นี้ไปเป็นวาระที่ท่านทั้งหลายจะเจริญสมาธิจิตและวิปัสสนาญาณ ขอได้โปรดทราบว่าการเจริญพระกรรมฐาน ไม่ว่าจะเป็นการเจริญสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนาก็ตามที อย่างนี้ท่านเรียกว่าเป็นปรมัตถปฏิบัติ ถ้าจัดเป็นบารมีก็เรียกว่าเป็นปรมัตถบารมี เป็นการสร้างกำลังใจในส่วนของกุศล

วันนี้จะขอพูดย่อพอเล็กน้อย การที่เราทำแบบนี้ก็เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำไว้ว่าความเกิดเป็นทุกข์ ชาติปิ ทุกขา ความเกิดเป็นทุกข์ เราก็จะเห็นได้ง่ายๆว่า การเกิดเป็นทุกข์ การเกิดนี่เราหยุดไม่ได้ ต้องทำงานทุกอย่างเพื่อความเป็นอยู่ของเราและความเป็นอยู่ของครอบครัว แม้ว่าเราจะประกอบกิจการงานใดก็ตาม มีทรัพย์สินมากเพียงใดก็ตาม ในที่สุดเราก็ต้องตาย ถ้าหากว่าเราตายไปแล้วและความชั่วมันเกาะใจ มันก็จะพาไปลงอบายภูมิ ไปเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรตอสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เป็นต้น ถ้าเรามีความดีเกาะจิตของเรา เราก็ไปเกิดอย่างเลวที่สุดก็เป็นมนุษย์ชั้นดี หรือเป็นเทวดาเป็นพรหม ถ้าบริสุทธิ์เต็มที่ก็ถึงพระนิพพาน

การที่จิตของเราจะเกาะความดีหรือว่าความดีจะเกาะจิตเราไปได้ก็ต้องอาศัย

๑. การให้ทาน

๒. การรักษาศีล

๓. การเจริญภาวนา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการภาวนานี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องการทำจิตให้ชินกับจิตที่เป็นกุศล เพราะว่าการเจริญพระกรรมฐานฝ่ายกรรมฐาน ๔๐ ก็ดี วิปัสสนาญาณก็ดี จัดว่าเป็นกุศลทั้งหมด ทีนี้องค์สมเด็จพระบรมสุคตทรงกล่าวว่าเป็นปัจจัยให้เข้าถึงพระนิพพาน เพราะฉะนั้น ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายโปรดทราบว่าการเจริญพระกรรมฐานอันดับแรกก็มีความประสงค์ให้ทรงสติสัมปชัญญะ คือให้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ไม่ลืมความดี มีการให้ทานรักษาศีล มีการเจริญภาวนา

การเจริญสมถภาวนานี่เราต้องการให้จิตสงบจากอกุศล และจิตน้อมอยู่ในส่วนของกุศลเป็นปกติ โดยปกติพระโบราณาจารย์ท่านแนะนำให้นึกถึงความดีของพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ โดยใช้คำภาวนาว่า พุทโธ แต่ว่าถ้าภาวนาเฉยๆ จิตก็จะลอยเกินไปไม่มีที่เกาะ เพราะจิตมีสภาพกวัดแกว่ง เพราะฉะนั้น ท่านจึงแนะนำให้จับอานาปานสติกรรมฐาน จับลมหายใจเข้าออก กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก เวลาหายใจเข้านึกว่า พุท เวลาหายใจออกนึกว่า โธ สำหรับอานาปานสติกรรมฐานหรือการกำหนดลมหายใจเข้าออกนี้เป็นกรรมฐานที่ลดความฟุ้งซ่านของจิต  อีกอย่างหนึ่งเรียกว่าเป็นกรรมฐานที่ระงับกายสังขาร เวลาที่เราป่วยไข้ไม่สบายอาการมันมาก มีอาการเครียดจัดให้ใช้อานาปานสติกรรมฐานเข้าระงับจับลมหายใจเข้าออกจนอารมณ์จิตเป็นฌาน หรืออุปจารสมาธิ อาการหรือว่าทุกขเวทนาจะบรรเทาลง ความจริงอาการมันไม่ได้ลดลง แต่ว่าจิตเราไม่ยอมรับความรู้สึกจากอาการทางกายก็ทำให้สบายได้ แล้วประการที่สอง สำหรับอานาปานสตินี้เป็นกรรมฐานระงับโมหจริตและวิตกจริต รวมความว่าตัดความโง่ของจิต โมหะก็คือความโง่ ทำให้จิตฉลาดขึ้น

สำหรับพุทธานุสสติกรรมฐานการนึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ ประเภทนี้ถ้าไปเกิดเป็นคนก็มีแต่ความรุ่งเรือง ไม่ถอยหลัง ไม่น้อยหน้ากว่าใคร ถ้าเป็นเทวดาหรือพรหมก็มีรัศมีกายมาก เทวดากับพรหมเขาวัดความดี บารมีกันด้วยรัศมีกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจริญพุทธานุสสติกรรมฐานนี่ท่านกล่าวว่า เข้าถึงพระนิพพานได้ง่ายที่สุด

เอาละต่อแต่นี้ไป ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายตั้งใจกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก เวลาหายใจเข้านึกว่า พุท เวลาหายใจออกนึกว่า โธ ขณะใดที่เรารู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก รู้คำภาวนา พุทโธ ขณะนั้นชื่อว่าจิตของเราเป็นสมาธิตามความต้องการ ถ้าหากว่าภาวนาไปๆ ใจมันเกิดความสบาย คำภาวนาหยุดไปเฉยๆ เป็นความสุขที่ยิ่งกว่า อย่างนี้ก็จงอย่าตกใจ อย่างนี้เป็นอาการของฌานที่ ๒ ซึ่งเป็นอารมณ์ดีขึ้น หากว่าทำไปความชุ่มชื่นหายไป มีอาการเครียด ลมหายใจเบาลง หูได้ยินเสียงภายนอกเบามาก จิตใจทรงตัวแนบสนิทอย่างนี้เป็นอาการของฌานที่ ๓ ถ้าบังเอิญภาวนาไป กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ปรากฏว่าไม่รู้ว่าลมหายใจเข้าออกมีหรือเปล่า มันมีอาการเฉยๆ มีอาการจิตใจสบาย อย่างนี้เป็นอาการของฌานที่ ๔ จัดว่าเป็นอารมณ์ฌานที่มีความสำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนา

ต่อจากนี้ไปขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายโดยถ้วนหน้าพยายามตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘