ทางของบุคคลคนเดียว


โอกาสนี้บรรดาท่านพุทธบริษัทได้พากันสมาทานศีลและสมาทานพระกรรมฐานแล้ว การเจริญพระกรรมฐานย่อมมีแนวปฏิบัติต่างๆ ๔๐ อย่างด้วยกัน ในด้านสมถภาวนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิปัสสนาภาวนาก็มีอย่างเดียว คือการพิจารณาขันธ์ห้า แต่ว่าสำนวนของพระพุทธเจ้าย่อมไม่ซ้ำกัน แสดงไว้หลายอย่างด้วยกัน ต่อแต่นี้ไปก่อนที่บรรดาท่านพุทธบริษัทจะทำอารมณ์เป็นอารมณ์ฌาน ในอันดับแรกต้องทำจิตให้เข้าถึงวิปัสสนาญาณเสียก่อน แต่ความจริงวิปัสสนาญาณนี้มีความสำคัญมาก แต่ก็ต้องอาศัยควบคุมกับสมถะ ถ้าปราศจากสมถะเสียแล้ววิปัสสนาภาวนาก็ไม่มีผล ท่านพระโบราณาจารย์ทั้งหลายก็พยายามสอนศิษยานุศิษย์ว่าก่อนที่จะภาวนาว่าอย่างไรก็ขอให้ท่านทั้งหลายพิจารณาเสียก่อนตามหลักของวิปัสสนาญาณ ถ้าพิจารณาไปตามแบบนี้จนกระทั่งท่านทั้งหลายตั้งอยู่ครบกำหนดเวลาที่นั่งอยู่โดยไม่ใช้คำภาวนาเลยก็ดี อย่างนี้องค์สมเด็จพระชินสีห์ถือว่าเป็นยอดของนักปฏิบัติ คือมีจิตเข้าถึงความเป็นธรรมจริงๆ การเจริญสมถะ ก็คือการฝึกใจเป็นภาคพื้นเท่านั้น แต่ตัวตัดกิเลสจริงๆ ก็คือ การพิจารณาตามแบบฉบับของวิปัสสนาญาณ

ตามแบบของวิปัสสนาญาณที่เราจะเห็นกันได้ง่ายๆ กล่าวคือ พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า เอกายโน อยัง ภิกขเว มัคโค สัตตานัง วิสุทธิยา เป็นต้น กล่าวเป็นใจความว่า ทางนี้เป็นทางเอกเป็นทางของบุคคลคนเดียว เมื่อปฏิบัติเข้าถึงแล้วก็จะพาสิ้นความทุกข์เข้าถึงที่สุดแห่งความทุกข์ คือพระนิพพาน นี่เป็นอารมณ์ของบุคคลที่เข้าถึงพระนิพพานได้ก็ต้องเป็นอารมณ์ที่ปล่อย มีจิตที่รู้เท่าทันสภาวะตามความเป็นจริง ยอมรับนับถือความเป็นจริงและไม่ยึดมั่นในสิ่งที่เป็นอุปาทาน คือสร้างอารมณ์จิตให้เข้าถึงความมัวหมองมีใจสบาย มีใจเป็นปกติ มีใจโปร่ง อย่างนี้เรียกว่าเป็นอารมณ์ของพระนิพพาน อารมณ์อย่างนี้ที่เราต้องการ อารมณ์อย่างนี้จะเกิดขึ้นมาได้ ก็ต้องอาศัยปัญญาพิจารณาว่า

ชาติปิ ทุกขา ความเกิดเป็นทุกข์

ชราปิ ทุกขา ความแก่เป็นทุกข์

มรณัมปิ ทุกขัง ความตายเป็นทุกข์

โสกปริเทวทุกขโทมนัสสุปายาส ความเศร้าโศกเสียใจก็เป็นทุกข์ ความพรัดพรากจากของรักของชอบใจก็เป็นทุกข์

อาการทั้งหลายเหล่านี้เป็นอาการปกติของคนและสัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาในโลก ชาติปิทุกขา พระพุทธเจ้าว่าความเกิดเป็นทุกข์ เราก็มานั่งพิจารณาดูว่าคนและสัตว์ที่เกิดมาในโลก มีทุกข์เป็นประจำ หาความสุขอะไรไม่ได้ ถ้าเราใช้ปัญญาพิจารณาจริงๆละก็เราจะไม่เห็นว่าความสุขมีเลยนับตั้งแต่วาระที่ลืมตาตืนนอนจนกระทั่งหลับลงไป เราจะไม่พบกับความสุข เราจะพบแต่ความทุกข์เท่านั้นเว้นไว้แต่เพียงว่า เราจะไร้สติสัมปชัญญะ เราจะขาดสติปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาเราก็จะมองเห็นความทุกข์ไม่ได้ มีความทุกข์ก็เพราะอาการเกิดของคน เราเห็นกันได้ง่ายๆ ตอนเด็กก็จะไม่พูด พูดกันแต่ปัจจุบันว่าชาติปิ ทุกขา ความเกิดเป็นทุกข์ คำว่าทุกข์ในที่นี้ก็หมายความว่ากิจที่จะต้องพึงทน อะไรก็ตามที่จำจะต้องทนทำ จำทีจะต้องทนคิด นี่มันเป็นเรื่องของความทุกข์ทั้งหมด กิจที่จำจะพึงทำคือ ความหิว เมื่อความหิวเกิดขึ้นพระพุทธเจ้ากล่าวว่า ชิฆัจฉา ปรมา โรคา ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง ความหิวนี่ก็แปลว่าเสียดแทงความไม่สบายกายไม่สบายใจก็เกิด ความไม่สบายกายไม่สบายใจนี่เองที่พระพุทธเจ้าเรียกว่าเป็นทุกข์ เมื่อความหิวมันบังคับเราก็ต้องทำมาหากินด้วยประการต่างๆ ประกอบกิจด้วยสัมมาอาชีวะ มิฉาชีวะบ้าง คำว่าสัมมาอาชีวะ หาเลี้ยงชีพโดยชอบบ้าง บางทีมีความจำเป็นบังคับก็เลยหาเลี้ยงชีพโดยไม่ชอบธรรม ถึงแม้ว่ามันจะผิดมันจะเสียด้วยประการใดก็ดี เราก็พร้อมที่จะปฏิบัติเพื่อความอยู่เป็นสุขของร่างกายแต่ใจก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ในเมื่อเราหากินด้วยสัมมาอาชีวะ ความเหนื่อยยากมันก็เกิดขึ้นกับเราก็เป็นอาการของความทุกข์ นี่เวลามันน้อยก็เอาใจความแต่ย่อๆ ให้พิจารณากันเอง การทำกิจการงานทุกอย่างเพื่อให้การบริโภคเข้าไปนี่มันเป็นความทุกข์ ที่เราเหนื่อยมากที่สุดก็เรื่องการบริโภคเป็นสำคัญ ผ้าผ่อนท่อนสไบเราซื้อมาคราวหนึ่งมันอยู่ได้นาน แต่ว่าจะกินนี่กินเข้าไปประเดี๋ยวเดียวมันบอกว่าอิ่ม แต่ว่าไม่นานนักไม่ช้านักมันก็บอกว่าหิวต้องหากินใหม่ กินเข้าไปแล้วถ้าไม่เตรียมอาหารไว้ต่อไปไม่เตรียมทรัพย์สินไว้ ต่อไปหิวก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ต้องเตรียมต่อไป เป็นอันว่าคนเราทำกิจการงานทุกอย่างได้มา หาเวลาพักผ่อนหย่อนใจไม่ได้ ก็เพราะอาศัยความหิวเป็นสำคัญ เราก็จะเห็นว่าความหิวนี่เป็นยอดของความทุกข์จริงๆ นี่เราต้องลำบากตรากตรำด้วยกิจการงานทั้งปวง ฟันฝ่าอุปสรรคเอาชีวิตเข้าแลกก็เพื่อความหิวเท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายมันหิว นี่เฉพาะความหิวตัวเดียวเราก็จะเห็นว่ามันเป็นทุกข์ตลอดชีวิต ไม่ว่าในขณะใดที่ทรงชีวิตอยู่ยังมีลมปราณอยู่เราก็ต้องลำบากกับความหิว เมื่อความหิวปรากฏขึ้นมาแล้วเราหาอาหารให้มันกินเข้าไปแล้วต้องการถ่ายอุจจาระปัสสาวะอีก นี่เขาเรียก นิพัทธทุกข์ อย่างนี้มันก็เป็นอาการของความทุกข์

ทีนี้ ชราปิ ทุกขา ความแก่เป็นทุกข์ แก่นี่หมายความว่าชีวิตเคลื่อนไปทุกวัน จากความเป็นเด็กถึงความเป็นหนุ่มสาว แต่ว่าแก่ตัวนี้เรากลับใช้คำว่าเจริญขึ้น ใหญ่โตขึ้น ดีขึ้น ความจริงร่างกายมันโตจริง แต่ทว่าในเมื่อร่างกายมันโตขึ้นท่านบอกว่าความแก่ ทุกข์มันก็เพิ่มมาเท่าๆกับร่างกายที่โตขึ้น ในขณะที่เราเป็นเด็ก ภาระที่เราจะต้องปฏิบัติก็คือหากินจากพ่อแม่ พ่อแม่ผู้บังคับบัญชาผู้ปกครองเป็นผู้หาให้ จะถ่ายอุจจาระปัสสาวะท่านก็ชำระให้ จะอาบน้ำอาบท่าท่านก็อาบน้ำอาบท่าให้ รวมความเด็กมีความทุกข์แค่ หนึ่งอยากกินขอให้ได้กินตามความประสงค์ สองอยากเล่นขอให้ได้เล่นตามความประสงค์ ทีนี้ความแก่มันเกิดขึ้น ร่างกายมันโตขึ้น ความทุกข์มันก็เพิ่มตามตัว เพราะว่าความปรารถนามันก้าวขึ้น จิตมีความปรารถนามากขึ้น อยากมีทรัพย์สินมากขึ้น เด็กๆละมันไม่อยากมี นี่ต้องการมีความต้องการอย่างเดียว หวังอยู่ที่พ่อแม่บิดามารดา หรือท่านผู้ปกครองเป็นผู้ให้พอโตขึ้นมาแล้วการได้เท่านั้นมันไม่พอ ต้องการได้มากกว่านั้นขึ้นไปอีก ความปรารถนามีความต้องการมากกว่าเด็ก ความปรารถนาความต้องการเมื่อไม่สมหวังขึ้นมาก็เกิดความกลุ้มใจ ความกลุ้มนี่มันเป็นความทุกข์ ทีนี้อารมณ์มันก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา มีความปรารถนาในการครองคู่มีขึ้น จิตใจมันก็ดิ้นรนทนไม่ไหว แต่พอแต่งงานเข้าเราก็จะพบกับความทุกข์อย่างมหันต์ ถ้าเราใช้ปัญญาพิจารณาว่าเราคนเดียว กินเมื่อไร นอนเมื่อไร ตื่นเมื่อไรก็ได้ ไม่อยากอาบน้ำสัก ๗ วัน ๘ วัน ก็ไม่เห็นจะเป็นอย่างไร ไม่บ่นเสียคนเดียวก็ไม่มีใครจะมาบ่น เพราะเราเป็นคนๆเดียว จะทำอะไรๆ ก็ได้ตามอัธยาศัย แต่ว่าพอแต่งงานเข้าไม่ใช่อย่างนั้น ต้องมานั่งเอาใจคู่ครอง เอาใจของคณะของคู่ครองทั้งหมด เพิ่มความหนักใจให้อีกไม่น้อย นี่ต้องใช้ปัญญาพิจารณาจะเห็นว่าการมีคู่เป็นทุกข์ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า เอกายโน อยัง ภิกขเว มัคโค สัตตานัง วิสุทธิยา ทางของบุคคลผู้เดียวเป็นทางอันเอกเป็นทางนำมาซึ่งความสิ้นทุกข์ ก็หมายความว่าถ้าเราเป็นบุคคลคนเดียว ถ้าไม่มีใครเข้ามาเกี่ยวข้องเข้ามาเป็นกังวล เราสามารถจะเข้าถึงความสิ้นทุกข์ได้ง่าย เพราะภาระอื่นใดไม่มีนอกจากภาระของตัวเราเท่านั้น มีความแก่ขึ้นมันก็ทุกข์ ความปรารถนามันมากขึ้น คนเป็นเด็กกับคนเป็นหนุ่มสาวมีความต้องการไม่เหมือนกันจิตใจดิ้นรนมากกว่ากัน ชราปิ ทุกขา เมื่อความเป็นหนุ่มเป็นสาวพ้นไป ความเป็นคนแก่จริงๆของร่างกายปรากฏ อันนี้มันก็สร้างความเป็นทุกข์ ตาเคยมีมันก็ไม่ดี มองอะไรไม่ค่อยจะเห็น หูเคยฟังได้ยินถนัด ก็ฟังได้ยินไม่ถนัด ของที่เคยใช้คล่องตัวมาแล้วก็เริ่มความทุกข์ความหนักใจมันเกิดขึ้น ต้องยืมจมูกคนอื่นเขาหายใจ ก็ไม่สะดวก นอกไปจากหูตาจะไม่ดีแล้ว ร่างกายมันก็ทรุดโทรม มันเกิดความกระปรกกระเปรี้ย เอาความดีอะไรไม่ได้ มันเต็มไปด้วยความทุกข์ เราเคยเดินคล่องทำอย่างนั้นได้อย่างนี้ได้ ใช้คนอื่นเขามันไม่ได้ตามความประสงค์ อารมณ์ความทุกข์หนักมันก็เกิด มันตัวทุกข์ที่เราเห็นได้ชัด

ทีนี้มรณัมปิ ทุกขัง ความตายเป็นทุกข์ แก่มันก็ทุกข์หนักอยู่แล้ว ความใกล้จะตายมันเข้ามา ความทุกข์มันก็เกิด มันเกิดอย่างไร คนที่จะตายนี่มันมีทุกขเวทนาอย่างสาหัส ทุกขเวทนามันบีบคั้น มันสร้างความไม่สบายกายสบายใจ มันปวดโน่นเสียดนี่แทงนั่นมีทั้งอารมณ์กลัดกลุ้ม เพราะว่าเราไม่ต้องการอาการอย่างนั้นมันก็จะมี ความตายจริงๆมันไม่น่าจะทุกข์ แต่ว่าเราทุกข์กันก่อนที่มันจะตาย ความไม่อยากตายมันทำให้เราเป็นทุกข์ ทำไมถึงจะต้องแก่ ทำไมถึงจะต้องตาย เพราะกปณธรรมดาของคนที่เกิดขึ้นมา ความเกิดมีขึ้นความเปลี่ยนแปลงย่อมปรากฏ ความสลายตัวย่อมปรากฏ นี่เป็นกฎธรรมดา สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ถ้าเรารู้ว่าเป็นธรรมดาเสียอย่างเดียว อารมณ์ที่มันเป็นความทุกข์มันก็ไม่เกิด ท่านที่เป็นพระอรหันต์ส่วนมากไม่ได้ศึกษาอะไรมาก เพียงแต่ยอมรับนับถือกฎของธรรมดาเท่านั้น ท่านเรียกว่าเป็นพระอรหันต์

แล้วต่อไปที่ท่านเรียกว่าเป็น โสกปริเทวทุกขโทมนัสสุปายาส คือความเศร้าโศกเสียใจ และการพลัดพรากจากของที่รัก ทำให้เกิดความทุกข์ นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงบอกว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมันเป็นอนิจจัง หาความเที่ยงไม่ได้ โลกมันเป็นอนิจจัง หาความเที่ยงไม่ได้ ทุกขัง เป็นอาการของความทุกข์ อนัตตา เราไม่สามารถบังคับใครได้แม้แต่ร่างกายของเรา เราก็บังคับมันไม่ได้ ถ้าหากว่ามันจะแก่ มันจะตาย มันจะพัง ทีนี้สิ่งของที่เรารักเราคิดอยู่เสมอว่ามันต้องอยู่กับเรา เราต้องอยู่กับมัน อาการอย่างนี้เป็นอาการของความยึดมั่นอุปาทาน เป็นยอดของกิเลส คืออวิชชาคือความไม่รู้ ถ้าหากว่าเราจะวางอวิชชา เอาอวิชชาเข้ามาใช้ เราจะเอาตัวรู้เข้าใช้ รู้ตามความเป็นจริง ที่พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพรากจากของที่รักของชอบใจย่อมมีแก่คนและสัตว์ที่เกิดมา นี่เราก็นั่งนึกดูว่าคนที่เกิดมาแล้วนี่มันจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไหม เราเองเราก็นั่งเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งร่างกาย เพราะว่าเติบใหญ่ขึ้นมาหรือว่าแก่ลง คนรุ่นราวคราวเดียวกันสมัยเมื่อเป็นเด็กนักเรียน เวลานั้นร่างกายยังมีความกระฉับกระเฉงยังมีความคล่องตัว เวลานี้เราไปพบเพื่อนสมัยนั้น แต่ว่าระยะเวลามันเป็นสมัยนี้เราจะไปดูว่ารูปร่างของเขานั้นเปลี่ยนไปมากไม่เหมือนกับเมื่อสมัยเราเป็นนักเรียนด้วยกัน เราเห็นเขาแก่เขาเปลี่ยนแปลงไปได้แล้วเราคิดหรือเปล่าว่าเราก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามนั้น นี่ความเป็นอนิจจังของร่างกายมันปรากฎ

ทีนี้ความเป็นอนิจจังของอารมณ์มันก็มีอีก อารมณ์ที่เรารักเรายึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านี้ว่ามันจะคงอยู่ไปกับเราตลอดกาลตลอดสมัย อารมณ์ประเภทนี้แหละบรรดาท่านพุทธบริษัทเป็นอารมณ์ที่สร้างความทุกข์ เพราะว่าตามกฎธรรมดาของโลก มีอะไรที่มันจะมีการทรงตัว คนหรือสัตว์ที่เรารัก มันจะอยู่กับเราตลอดกาลตลอดสมัยไม่พลัดพรากจากกันมันก็เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าความเป็นอนิจจัง ความไม่เที่ยงมันบังคับ อนัตตาการสลายตัวมันบังคับ คนและสัตว์ที่ปรากฏว่าอยู่กับเรามันก็มีอาการแก่ อาการเสื่อม มีการสลายตัว การสลายตัวมีอยู่ ๒ อย่าง สลายตัวเพราะการสิ้นลมปราณ ที่เราเรียกว่าตาย หรือว่าสลายไปจากใจของเรา เอาจิตห่างออกไปก็เรียกว่าสลายตัวไป ถ้าหากว่าเราเอาปัญญาพิจารณาไว้เสมอว่าสิ่งทั้งหลายในโลกไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเรา เราไม่มีในสิ่งนั้น สิ่งนั้นไม่มีในเรา ทุกสิ่งทุกอย่างเราเป็นแต่เพียงอาศัยอยู่ชั่วคราวเท่านั้น และไม่ช้ามันกับเราก็ต้องพลัดพรากจากกัน ทำใจให้สบายไว้แบบนี้ เวลาร่างกายที่ความแก่มันเกิดเราก็ไม่หนักใจ เรารู้ตัวว่ามันจะแก่ เวลาความป่วยไข้ไม่สบายเกิดขึ้นเราก็ไม่หนักใจเพราะว่าเรารู้ตัวว่ามันจะเกิด นี่รู้ตัวไว้ก่อน ทีนี้ความตายจะเข้ามาถึงเราก็ไม่หนักใจ เพราะรู้ว่ามันจะตาย รู้ว่าเกิดมาแล้วมันต้องตาย ทีนี้อาการอย่างหนึ่งอย่างใด อาการพลัดพรากจากของรักของชอบใจเกิดขึ้น เราก็ไม่หนักใจ เพราะเราคิดอยู่แล้วว่าคนก็ดีสัตว์ก็ดี วัตถุก็ดี สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันจะต้องพรัดพรากจากเรา เราจะต้องพลัดพรากจากมัน มันเป็นของธรรมดาของชาวโลก มันไม่เป็นของแปลกสำหรับเรา ถ้าเราใช้ปัญญาพิจารณาตัวนี้เข้า จิตใจของเราก็จะมีความสุข เหมือนอย่างพระอรหันต์ เราจะเห็นว่าพระอรหันต์ทั้งหลายท่านไม่มีอารมณ์ความทุกข์ แต่ว่าท่านรู้ว่าร่างกายหรือขันธ์ห้าหรือวัตถุเป็นปัจจัยของความทุกข์ ท่านไม่หนักใจ ขันธ์ห้ามันจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน ขันธ์ห้ามันจะป่วยก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาก็รู้ว่าจะป่วย เมื่อป่วยแล้วก็มีทางรักษาเพื่อเป็นการบรรเทาเวทนา หายก็หาย ไม่หายจะตายก็ช่าง นี่ก็เป็นเรื่องธรรมดา เมื่อร่างกายมันจะตายเราก็ไม่แปลกใจ รู้ตัวว่าเราจะตาย ถึงแม้ว่ารู้ตัวว่าเราจะตาย คิดไว้อยู่เสมอว่าเราจะตาย นี่จิตเราคิดไว้ตลอดเวลา ของรักของชอบใจที่มันมีไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ หรือวัตถุก็ตาม ต้องคิดไว้เสมอว่าวันหนึ่งข้างหน้ามันจะต้องพลัดพรากจากเราไป นี่จงมีความเข้าใจตามนี้ มีความรู้สึกอยู่เสมอว่า ถ้าสิ่งใดก็ตามที่เรารักแล้วพลัดพรากจากเราไปก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเรารู้ว่ามันไม่ใช่เรา เราไม่ใช่มัน ให้มันเป็นปกติวิสัย

แล้วถือไว้อย่างเดียวว่าเราเกิดมานี้เป็นบุคคลคนเดียว ถึงแม้จะมีคู่ครองมีพี่มีน้องมีพ่อมีแม่ แต่ทว่าความหิวเกิดกับเราเราหิวคนเดียว ชาวบ้านเขาไม่ได้มานั่งหิวกับเราด้วย ถ้าเราป่วยไข้ไม่สบายทุกขเวทนาเกิดกับเราผู้เดียว การพลัดพรากจากของรักของชอบใจการกระทบกระทั่งทางอารมณ์ใจมันก็มีกับเราผู้เดียว คนอื่นเขาไม่มายุ่งด้วยเวลาที่เราจะตายเข้ามาจริงๆ ไม่มีใครเขามาแบ่งเบาภาระทุกขเวทนาไปได้ เราผู้เดียวเท่านั้นเป็นผู้รับ ฉะนั้น เมื่อเราผู้เดียวจะต้องเป็นผู้รับอารมณ์ทั้งหมด องค์สมเด็จพระบรมสุคตจึงได้บอกว่า ก็ต้องใช้คำว่าเราผู้เดียวเท่านั้นที่ไม่ยอมรับนับถือกฎธรรมดาใดๆ ว่าเป็นเราเป็นของเรา เมื่อความเกิดปรากฏขึ้น ความแก่จะปรากฎก็เชิญฉันไม่ยุ่งกับนาย จะป่วยไข้ไม่สบาย ฉันไม่ยุ่งด้วย มันจะพลัดพรากจากของรักของชอบใจเราก็ยิ้มได้ว่าธรรมดา ฉันรู้แล้วว่านายจะต้องเป็นอย่างนั้น แก้วที่ชอบใจหล่นลงไปแตกแทนที่จะโมโหกลับชอบใจว่าฉันรู้แล้วว่ามันจะต้องแตก คนเป็นที่รัก สัตว์เป็นที่รักมันจะตายมันจะพลัดพรากจากกันไป เราก็ยิ้มได้ว่ามันเป็นกฎธรรมดา อย่าว่าแต่เขาเลย ไม่ช้าเราก็มีสภาพเป็นอย่างนั้น อารมณ์ของพระอรหันต์ท่านยอมรับนับถือกฎธรรมดา ท่านใช้กฎของธรรมดา ยิ้มให้กับอาการทั้งหมดที่ปรากฏกับตัว พระอรหันต์ดูเหมือนท่านไม่มีความทุกข์ แต่ความจริงท่านรู้ทุกข์ของขันธ์ห้า ขันธ์ห้าคือร่างกายมันแก่เดินไม่ค่อยจะไหวท่านก็รู้ว่ามันเป็นทุกข์ แต่ใจท่านมีความสุข เพราะรู้ว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา แก่ก็แก่ไป เกิดมาเพื่อแก่ ของที่รักของที่ชอบใจปรากฏ บังเกิดไปท่านก็ยิ้มให้ไม่รู้สึกหนักใจอะไร

ตัวอย่างของท่านอำมาตย์ชื่อพันธุลเสนา เป็นคู่การศึกษากับพระเจ้าปเสนทิโกศลและพระเจ้าพิมพิสาร มีกำลังมาก มีฤทธิ์มาก มีความรู้มาก ต่อมาพระราชาใช้ให้ไปปราบโจรพร้อมด้วยลูก แต่ปรากฎว่าถูกโจรฆ่าตายหมด มีคนเขามีใบบอกมาถึงภรรยา วันนั้นภรรยาของท่านพันธุลเสนากำลังทำบุญที่บ้านพอดี เมื่อได้รับอ่านจดหมายแล้วท่านก็เก็บไว้ในอกเสื้อ มานั่งบำเพ็ญกุศลรับศีลถวายของพระเป็นปกติ เมื่อสมาทานศีลแล้วพระกำลังฉันอาหารอยู่ก็ปรากฎว่ามีสาวใช้นำแก้วน้ำมาให้ มาไม่ถึงก็ปรากฏว่าแก้วน้ำหล่น แม่นั่นล้มลงมา แก้วแตกเสียหายหมด เป็นของดีทั้งนั้น พระจึงเตือนใจบอกว่า โยมสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นของนอกกาย แล้วก็ร่างกายเหมือนกันมันเป็นอนิจจัง หาความเที่ยงไม่ได้ ทุกขัง ประกอบไปด้วยความทุกข์ แล้วก็อนัตตามันก็ต้องสลายตัวไปในที่สุด โยมอย่าหนักใจเลยนะ คือวันนั้นเป็นวันทำบุญ พระเกรงว่าจิตของนางจะเศร้าหมอง พอพระเตือนเช่นนั้นนางก็ยิ้ม แต่ความจริงนางไม่แสดงความสลดใจเลย ที่รู้ข่าวว่าผัวกับลูกตายทั้งหมด นางก็หยิบจดหมายมาส่งให้กับพระ พระรับมาอ่านดูก็ตกใจถามว่า ภคินิ ดูกรน้องหญิง เมื่อข่าวนี้ปรากฏเธอมีความรู้สึกเป็นอย่างไร นางก็ตอบว่าเรื่องนี้ดิฉันทราบเมื่อพระคุณเจ้ามาถึงบ้านแล้ว แต่พระคุณเจ้าสังเกตบ้างหรือเปล่าว่าดิฉันมีความรู้สึกเป็นอย่างไร พระก็มองเห็นว่าท่านมีอาการเป็นปกติท่านไม่มีความรู้สึกเป็นอย่างไร พระก็ดีใจกล่าววาจาว่า คิดว่าโยมเพิ่งได้ยินข่าว ความจริงได้ยินข่าวมาก่อนหน้านั้นแล้ว นางจึงบอกว่าแก้วมันเป็นของนอกกายเจ้าข้า นี่สามีชื่อว่าเป็นที่รักยิ่งของข้าพเจ้า ลูกก็ถือว่าเป็นเลือดในอกตายพร้อมกันข้าพเจ้ายังไม่หนักใจ จะมาหนักใจอะไรกับแก้วแตกเพียงเท่านี้ มันเป็นเพียงของหาได้ง่าย พระทั้งหลายจึงได้รู้ว่าเมียของพันธุลเสนาเป็นพระอริยเจ้า นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัท ถ้าจะทำอารมณ์ของเราให้เป็นสุข ก็ต้องทำใจอย่างเมียของพันธุลเสนา ทำจิตเป็นปกติยอมรับนับถือกฎของธรรมดา คิดว่าอะไรที่มันมีมาได้มันก็ต้องหมดไปได้เป็นธรรมดา ช่างมัน จะเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม แต่ในเมื่อมันยังอยู่กับเรา เราก็หวงแหนรักษาไว้ให้ดีที่สุดที่จะทำได้ และเมื่อโอกาสที่จะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แทนที่จะเอาจิตไปเกาะเป็นห่วงก็ต้องถือว่าช่างมัน มันเป็นของธรรมดาที่มันจะเป็นเช่นนั้น มันเป็นกฎธรรมดาไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ แล้วก็ทำใจให้เป็นธรรมดาว่าสิ่งทั้งหลายที่เหล่านี้มันพลัดพรากจากเราไปแล้ว เหลือแต่เราเท่านั้นที่จะต้องพลัดพรากจากร่างกาย และก่อนที่จะพลัดพรากจากร่างกายเราจะไปไหนก็ต้องเลือกทางเอก

เมื่อวันก่อนพูดถึงฌาน ๒ วันนี้ก็จะพูดถึงฌาน ๓ ฌาน ๓ ก็คือการทรงสติสัมปชัญญะรู้ลมหายใจเข้าออกและคำภาวนา เวลาหายใจเข้านึกว่า พุท เวลาหายใจออกนึกว่า โธ เอาเท่านี้พอ เวลานึกใช้ลมหายใจเข้าออกคู่กับคำภาวนาว่า พุทโธ เท่านี้แหละมีอานิสงส์เหลือแหล่เหลือกินเหลือใช้ ทีนี้มาดูอารมณ์ใจถ้าจิตใจของเราสบาย หูได้ยินเสียงไม่รำคาญในเสียง เวลานั้นเป็นปฐมฌาน ถ้าภาวนาๆ คำภาวนาหายไปเอง มันหายไปเฉยๆโดยเราไม่ได้หยุดมันหยุดเอง และจิตใจชุ่มชื่นดีขึ้นอย่างนี้เป็นฌานที่ ๒ ถ้าเป็นอาการของฌานที่ ๓ คำภาวนามันจะไม่ปรากฏมันจะหายไป ลมหายใจแผ่วเบาลงไปมากร่างกายทรงตัวดีมีจิตใจทรงตัวไม่หวั่นไหว มีความรู้สึกทางกายคล้ายกับเรานั่งตรงเป๋ง หรือว่านอนตรงเป๋งคล้ายกับเชือกมัดไว้ มันมีความรู้สึกตรงแบบนั้นมันตรงแบบนั้น มันมีความรู้สึกว่าตั้งตัวตรงมาก เพราะทรงอารมณ์มาก หูได้ยินเสียงภายนอกเบาจัด ลมหายใจเบาจัด จิตไม่อยากจะเคลื่อนจากอารมณ์ ไม่อยากจะคุยกับใคร จิตมันนิ่งจากอารมณ์ต่างๆ มีความสบาย นี่เป็นอาการของฌาน ๓ ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายทรงอารมณ์ของฌาน ๓ ได้แล้ว ตายจากความเป็นมนุษย์ก็เป็นพรหมชั้นที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ สามชั้นด้วยกัน อย่างหยาบก็เป็นพรหมชั้นที่ ๗ อย่างกลางก็เป็นพรหมชั้นที่ ๘ อย่างละเอียดเป็นพรหมชั้นที่ ๙ แสดงว่าใกล้นิพพานเข้ามา ถ้ามีอารมณ์ถึงฌาน ๓ ด้วย แล้วก็พิจารณาตามวิปัสสนาญาณดังที่กล่าวมาแล้วเมื่อสักครู่นี้ การเป็นพระอรหันต์เป็นของไม่ยาก การวางภาระคือความโง่ อวิชชาเป็นของไม่หนักนัก เป็นไปได้ง่ายเพราะจิตทรงตัว

เอาละต่อแต่นี้ไปขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น กำหนดคำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยจนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘