พร้อมสัจจะ


โอกาสนี้บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ได้พากันสมาทานอุโบสถศีลและสมาทานพระกรรมฐานแล้ว คำสมาทานทั้งหมดขอให้บรรดาท่านพุทธบริษัทถือเป็นหัวใจของการปฏิบัติ

เราสมาทานศีลจงตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์ อย่าเพียงสักแต่ว่าสมาทาน แล้วการรักษาศีลให้บริสุทธิ์นี่ก็ไม่ใช่เฉพาะเวลานี้ ถือว่าการสมาทานศีลครั้งแรกในชีวิต เราก็ต้องรักษากันไปตลอดจนกว่าจะถึงวันตาย อย่างนี้จึงจะชื่อว่าใช้ได้ รวมทั้งพระทั้งเณรก็เหมือนกัน การเป็นผู้ทรงศีลบริสุทธิ์ย่อมเป็นปัจจัยตัดความเดือดร้อน เรามีศีลบริสุทธิ์นึกถึงศีลเป็นปกติ พระพุทธเจ้าเรียกว่าเป็นผู้เจริญสีลานุสสติกรรมฐาน นี่เป็นความดีอันหนึ่งที่จะทำให้เราเข้าถึงอย่างเลวก็กามาวจรสวรรค์ หรือมิฉะนั้นก็เป็นพรหม ถ้าศีลบริสุทธิ์จริง ๆ เราก็ไปพระนิพพานได้ ถ้ามีความเข้าใจในศีล

ประการที่สอง เมื่อเราสมาทานพระกรรมฐานว่า อิมาหัง ภควา อัตตภาวัง ตุมหากัง ปริจัชชามิ ซึ่งแปลเป็นใจความว่า ข้าพเจ้าขอมอบกายถวายชีวิต แด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำนี้เป็นถ้อยคำที่สำคัญที่สุด เราจงเป็นผู้ไม่ลืม ถ้าเราไม่ลืมคำนี้แล้วตั้งใจปฏิบัติตามคำนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้เอาความดีได้ไม่ยาก

คำว่า มอบกายถวายชีวิตแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็หมายความว่า เราจะปฏิบัติตามที่พระองค์ทรงสั่งสอนทุกอย่าง
พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนว่าอย่างไร ?
พระพุทธเจ้าบอกพยายามละความชั่ว ประพฤติความดี และทำใจให้ผ่องใส

การละความชั่วคือไม่ละเมิดในศีลห้า หรือศีลแปด

ประพฤติความดี คือประพฤติตามนัยของศีลที่กล่าวมาแล้วนั้น ไม่ละเมิดแล้วก็ปฏิบัติตามศีล

ทำจิตใจให้ผ่องใสก็ได้แก่การระงับจิตจากความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง
ทำไมพระพุทธเจ้าจึงสอนเราอย่างนั้น ?

ก็เพราะว่า พระองค์ทรงทราบดีว่า

    อัตภาพร่างกายนี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา
    ร่างกายเป็นแต่เพียงธาตุสี่ คือธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ ประกอบเข้าเป็นเรือนร่างชั่วคราว
    และเมื่อเกิดขึ้นในเบื้องต้นแล้ว มันก็มีความเสื่อมโทรมลงไปทุกขณะ ประกอบเข้าเป็นเรือนร่างชั่วคราว
    ถ้าหากว่าร่างกายมันเป็นเราจริง เป็นของเราจริง มันก็ต้องไม่แก่ ก็ต้องไม่ป่วย แล้วก็ต้องไม่ตาย เราไม่ต้องการให้มันเป็นอย่างนั้น เมื่อถึงจังหวะนั้น แล้วมันก็มีสภาพเป็นอย่างนั้น ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
    ทีนี้คำว่า "เรา" คือใคร ?
    คำว่าเรา คือจิตที่อาศัยอยู่ในร่างกาย ร่างกายมีสภาพเหมือนบ้านเช่าชั่วคราว เมื่อหมดอายุการเช่าแล้ว เขาก็ไล่เราไป บ้านนี่ก็พัง มันเป็นบ้านชั่วคราวเท่านั้น อาการพังอย่างนี้ เราเรียกกันตามภาษาชาวบ้านเขาเรียกว่าตาย
    ความตายนี่มันไม่มีนิมิต มันไม่มีเครื่องหมาย มันไม่มีเวลาแน่นอน ไม่ใช่ว่าเราเกิดมาแล้วจะต้องครบอายุขัย ๗๕ ปี หรือ ๑๐๐ ปีจึงจะตาย มันก็ไม่ใช่อย่างนั้น มันจะตายเมื่อไรก็ได้ คนเกิดทีหลังเราตายให้เราเห็นก็ตั้งเยอะ คนเกิดพร้อม ๆ มากับเรา เขาตายให้เราเห็นก็มีมาก คนที่เขาเกิดก่อนแล้วตายก็มี นี่ขึ้นชื่อว่าความตายเป็นของเที่ยง ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง

ฉะนั้นขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายจงอย่าเมาในชีวิต อย่าเมาในร่างกายที่เรามาปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอน เราต้องการเอาดีกัน จงนึกไว้เสมอว่า

เราต้องตายแน่ คิดไว้

แล้วก็อย่าไปหลงในความสวยสดงาม

อย่าไปหลงในความอ้วนพีของร่างกาย

อย่าไปหลงในความผ่องใสของผิวพรรณ

จงคิดเห็นตามความเป็นจริงว่า

ร่างกายของเรานี้นั้นมันเต็มไปด้วยความสกปรก มันมีอุจจาระปัสสาวะ น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง อยู่ภายในร่างกาย สิ่งที่ปิดตาเราไว้ก็คือหนังกำพร้านิดเดียวเท่านั้น คนที่ถูกน้ำร้อนลวก หรือไฟลวกหนังกำพร้าถลอกปอกเปิก เราก็จะไม่เห็นความสวยงามของร่างกายของบุคคลนั้นเลย

การทรงอยู่ของร่างกายมันก็ไม่แน่ มันแก่ลงไปทุกวัน มันทรุดโทรมลงไปทุกวัน แล้วในที่สุดมันก็ตาย เราจะไปหวังอะไรกับมัน ความโง่เท่านั้นที่หลงร่างกายว่ามันยังทรงตัวอยู่ มันจะไม่ตาย การเมากายนี้เป็นเหตุให้เกิด เป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์

ฉะนั้น ถ้าเราไม่มีความเมาในร่างกาย ในเบื้องต้นคิดว่าเราจะต้องตายอยู่เสมอ จงคิดไว้ตามแบบของพระ พระคิดว่า

ตื่นขึ้นมาเวลาเช้านี่ เราจะได้กินข้าวเช้าหรือไม่ก็ไม่ทราบ

กินข้าวเช้าแล้ว เราก็จะได้กินข้าวกลางวันหรือไม่ก็ไม่แน่ อาจจะตายเสียก่อนก็ได้

กินข้าวกลางวันแล้ว อาจจะได้กินข้าวเย็นหรือไม่ ก็ไม่แน่

กินข้าวเย็นแล้ว เราก็ไม่แน่ใจว่า เราจะได้เห็นพระอาทิตย์ในวันรุ่งขึ้น

นี่คนที่นึกถึงความตายอยู่อย่างนี้ เราก็ต้องเลือกปฏิบัติว่าเวลาที่เราจะตาย เราจะไปไหน เราจะไปนรก หรือเป็นเปรต อสุรกาย หรือสัตว์เดรัจฉาน เราจะเกิดเป็นคนจะเป็นคนชั้นดีหรือคนชั้นเลว หรือว่าเราจะเป็นเทวดา จะเกิดเป็นพรหม จะไปพระนิพพานหมดความทุกข์ นี่เราเลือกกันเอาได้

ถ้าเราต้องการเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เราก็ไม่ต้องเคารพในศีลห้าหรือศีลแปด เราทำลายมันเสียให้หมดทุกอย่าง แล้วก็ไปนรกได้แบบสบายเลือกเอา

ถ้าเราต้องการเกิดเป็นคน ถ้าเป็นคนชั้นดี เราก็เป็นคนมีศีลบริสุทธิ์ เมื่อมีศีลบริสุทธิ์แล้วเราก็ให้ทานการบริจาค เจริญภาวนาไว้เป็นปกติ เกิดขึ้นมาแล้วก็จะมีรูปร่างหน้าตาสวย มีทรัพย์สินไม่ถูกโจรกรรม โจรภัย อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย มีคนในบังคับบัญชา มีสามีภรรยามีบุตรธิดา คนใช้ก็เป็นคนว่านอนสอนง่ายอยู่ในโอวาท จะกล่าววาจากับใครก็เป็นวาจาศักดิ์สิทธิ์ มีคนยอมรับฟัง ชอบฟัง แล้วก็เป็นคนไม่ไร้สติสัมปชัญญะ จะมีทรัพย์สินบริบูรณ์สมบูรณ์ด้วยประการทั้งปวง นี่ถ้าเราต้องการเกิดเป็นคนชั้นดี

ถ้าหากว่าเราเห็นว่าความเป็นมนุษย์ไม่พ้นความแก่ ไม่พ้นความตาย ไปพักความดีหนีทุกข์ อยู่แค่เทวดาก็ได้ การไปพักความทุกข์อยู่แค่เทวดาก็มีว่า ถ้าศีลของเราบริสุทธิ์ การบริจาคทานเป็นปกติ การเจริญภาวนาไว้เสมอ การเจริญภาวนานี่เป็นตัวดึงจิตให้ขึ้นสูงกันลืมความดี ทำจิตของเราเข้าสู่ขณิกสมาธิ หรืออุปจารสมาธิเราก็ไปเป็นเทวดาได้ ถ้าจะปฏิบัติแบบธรรมดา เราก็มีหิริและโอตตัปปะคืออายความชั่วเกรงกลัวความชั่ว ขึ้นชื่อว่าความชั่วเราไม่ทำทั้งในที่ลับและที่แจ้ง เราไม่ยอมละเมิดศีล ทั้งในที่ลับและในที่แจ้ง อารมณ์ใดที่เป็นไปเพื่อความโลภ ความโกรธ ความหลงจะไม่มีเกิดขึ้นมาในใจ เพราะอารมณ์อย่างนี้เป็นอารมณ์ของความชั่ว ชื่อว่าเป็นความชั่วเกิดในที่ลับ คนอื่นเห็นไม่ได้แต่เราเห็น เมื่อเราระงับอารมณ์อย่างนี้ได้ไว้เป็นปกติ ตายเราก็เกิดเป็นเทวดา

ถ้าเราต้องการเกิดเป็นพรหม เราก็เจริญสมาธิจิตให้ได้ถึงฌานสมาบัติ อย่างนี้เราก็เกิดเป็นพรหม

ถ้าเราต้องการนิพพาน เราก็วางขันธ์ห้าคือร่างกาย เห็นว่าร่างกายนี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา จนกระทั่งเราไม่ยึดถือในร่างกายและทรัพย์สมบัติภายนอกว่ามันเป็นเรา เป็นของเราทุกสิ่งทุกอย่างถือว่าเป็นกฎธรรมดา โลกทั้งโลกเราเห็นว่าเป็นความทุกข์ เราไม่ปรารถนาความเกิดอีก มีใจชุ่มชื่น มีอารมณ์เบิกบาน มีจิตจับเฉพาะพระนิพพานเป็นอารมณ์ อย่างนี้เราก็ถึงพระนิพพาน นี่กล่าวโดยย่อ

ให้ตั้งใจไว้โดยเฉพาะว่า เราเกิดมาแล้วเป็นคน ถ้ากลับลงไปนรกใหม่ก็รู้สึกว่าซวยเต็มที แทนที่เราจะปฏิบัติดีกลับปฏิบัติเลว นี่เราสว่างมาแล้วกลับมืดไป มันก็ไม่เกิดประโยชน์ นี่พูดถึงความหมายในการที่เราต้องเจริญความดีในฐานะที่เราเป็นมนุษย์

ต่อนี้ไป เราก็จะพูดถึงการปฏิบัติทรงสมาธิให้มีประโยชน์

การเจริญความดีในพระพุทธศาสนา เราต้องทรงอารมณ์เป็นผู้ชนะไว้เสมอ ไม่ทำตนเป็นบุคคลผู้แพ้ เราต้องมีสัจจะคือความจริง มีวิริยะคือความเพียร มีสติการทรงระลึกนึกขึ้นมาได้ มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาว่า อะไรมันดีอะไรมันชั่ว อะไรมันควรอะไรมันไม่ควร มีขันติความอดทนเป็นเครื่องประจำใจ มีอธิษฐานทรงเจตนาเข้าไว้ว่า เราจะทำความดี สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เราทิ้งไม่ได้ เราต้องมีไว้เป็นประจำ

การที่พวกเราทั้งหลายปฏิบัติเพื่อความดี อันดับแรกต้องทรงจิตให้เป็นสมาธิ สมาธินี้มีความสำคัญมากเป็นกำลังใหญ่

สมาธิอันดับแรกที่บอกให้รับฟัง นั่นก็คือการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ตัวนี้เป็นตัวสำคัญมาก กรรมฐานกองนี้เป็นกรรมฐานกองใหญ่ และแนะนำต่อไปว่า เวลาหายใจเข้านึกว่า พุท เวลาหายใจออกนึกว่า โธ นี่ก็มีความสำคัญ คำว่า พุทโธ เป็นพระนามความดีของพระพุทธเจ้า ชื่อว่าเราเกาะพระพุทธเจ้าด้วยการทรงสติสัมปชัญญะไว้พร้อมกัน นี่เป็นความดีใหญ่ที่เราจะชนะความชั่วของใจได้เพราะอะไร ข้อสำคัญที่สุดคืออารมณ์ฟุ้งซ่านของจิต อาการฟุ้งซ่านของจิตนี้ถ้าเรามีความเข้าใจก็ไม่เห็นมีอะไรจะหนักใจ ถ้าจิตมันฟุ้งซ่าน สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้จับอานาปานุสสติกรรมฐานอย่างเดียว คือลมหายใจเข้าออก กำหนดรู้อยู่ว่า นี่เราหายใจเข้า นี่เราหายใจออก รู้มันอยู่เสมอ บังคับจิต ถ้ามันจะซ่านจริง ๆ มันคุมนานไม่ได้ เราบังคับจิตไว้ว่า ชั่วระยะเวลา ๕ นาทีหรือ ๑๐ นาทีนี้เราจะไม่ยอมให้อารมณ์จิตของเราไปสู่อารมณ์อื่น เราจะรู้เฉพาะลมหายใจเข้าออกหรือว่าคำภาวนา เวลาหายใจเข้านึกว่า พุท เวลาหายใจออกนึกว่า โธ จับมันอยู่จุดนี้ชั่วระยะเวลาสั้น ๆ พอถึง ๕ นาที ๑๐ นาทีเราก็เลิก ผ่อนมันเพราะว่าตามธรรมดาจิตเรามีสภาพท่องเที่ยวอยู่นานแล้วเป็นหลายแสนกัป อยู่ ๆ เราจะมาบังคับให้มันอยู่ในอำนาจนิ่ง ๆ นาน ๆ มันย่อมเป็นไปไม่ได้ เมื่อมีอารมณ์ใจสบายมีความปลอดโปร่ง เราก็เริ่มทำใหม่ การปฏิบัติแบบนี้จะเป็นกลางวันจะเป็นกลางคืน เวลาไหนมันก็ได้ทั้งนั้น จะนั่งขัดสมาธิ จะนั่งพับเพียบ นั่งห้อยขา จะลงนอนตะแคงซ้าย นอนตะแคงขวา นอนหงาย นั่งเก้าอี้ เดินไปเดินมา หรือยืนก็ทำได้ทุกอย่าง คือไม่จำเป็นอยู่ว่าเฉพาะจะมานั่งสมาธิรวมกัน ถ้าเราคิดว่าจะให้อารมณ์ของเราคุมสติสัมปชัญญะ การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก และคำภาวนาเฉพาะเวลานี้เวลาเดียวต่อหนึ่งวัน นั่นแสดงว่าเรายังห่างจากความดีอยู่มาก จงอย่าเป็นผู้แพ้ต่ออารมณ์ของความชั่ว เราจงเป็นผู้ชนะ วันหนึ่งเราชนะไม่ได้ เราก็ชนะเป็นพัก ๆ ตลอดวันไม่ได้ ไม่ช้าไม่นานเท่าไรจิตก็เกิดความเคยชิน เวลาปฏิบัติเอาดีได้จริง ๆ เป็นการวัดจิตของเรา มีจุดหนึ่งจะเป็นวิปัสสนาญาณก็ดี สำหรับผู้ปฏิบัติเก่า เราก็รู้กันอยู่แล้วอะไรเป็นสมถะ อะไรเป็นวิปัสสนา พอใจกองไหนใน ๔๐ กองหรือในมหาสติปัฏฐานกองไหน ถ้าเราชอบใจทำได้เลย แต่ว่าอันดับแรกอย่าลืมกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกไว้ก่อน จะเป็นผู้ใหม่ก็ดี ผู้เก่าก็ดี ถ้าเราตั้งใจว่าจะเป็นผู้ทรงฌานตามปกติทุกวัน แต่ละวันเราจะเป็นผู้ไม่ขาดจากฌาน ถึงอย่างไรก็จะทรงฌานให้ได้ ทั้งเวลาหัวค่ำและเช้ามืด หมายถึงว่าถ้าเวลามันน้อย

เวลาหัวค่ำทำใจสบาย สวดมนต์สวดพรสมาทานพระกรรมฐานทำกรรมฐานร่วมกับเพื่อนแล้ว กลับไปถึงสถานที่อยู่ นอน เวลานอนจิตใจก็จับถึงอารมณ์ของพระเข้าไว้ ตั้งใจคิดว่าเราต้องการพระนิพพาน อารมณ์นี้จงอย่าทิ้ง คิดไว้เสมอว่าเราต้องการพระนิพพาน จำไว้ให้ดี ถ้าเราต้องการพระนิพพานเราทำอย่างไร ? เราจะต้องเกาะองค์สมเด็จพระสัมสัมพุทธเจ้าไว้ นั่นคือคำภาวนาว่า พุทโธ เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านอยู่นิพพานนี่ ถ้าหากว่าเราต้องการจะไปนิพพาน เราก็นั่งนึกถึงความดีของพระพุทธเจ้า เมื่อจิตเกาะพระพุทธเจ้าอยู่ มันจะไปไหน ตายก็ไปตามพระพุทธเจ้า

เวลานอนลงไปก็ภาวนาจับลมหายใจเข้าออก ภาวนาว่า พุทโธ ภาวนาไปจนกว่าจะหลับ ถ้าใหม่ ๆ มันไม่หลับมันเกิดความรำคาญก็เลิกเสียก็ได้ นอนนะ แล้วนอนให้หลับ ต่อไปถ้าอารมณ์มันชินภาวนาไปภาวนาไปไม่ช้าก็หลับ หรือบางทีมีการคล่องเข้า พอพุทแล้วไม่ทันจะโธ มันจะหลับ ปล่อยเลยอย่าห้ามเพราะว่านี่เราต้องการจะหลับ แล้วจงมีความเข้าใจว่าถ้าจิตเราเข้าไม่ถึงปฐมฌานมันจะหลับไม่ได้ มันจะเกิดความรำคาญ

ถ้าภาวนาจนหลับไปพร้อมกับคำภาวนา ไม่รู้มันไปหลับอยู่ตรงไหน นั่นแหละคือจิตเราเข้าไปถึงปฐมฌาน คือฌานที่หนึ่ง เราเป็นพรหมได้สบาย แล้วในช่วงแห่งการหลับทั้งหมดตลอดเวลาหลับ ท่านถือว่าหลับอยู่ในระหว่างสมาธิ ถ้าบังเอิญเราเป็นอะไรจะต้องตายในระหว่างการหลับก็จะไปเป็นพรหมทันที

แต่ถ้าตื่นขึ้นมาแล้วยังไม่มีกิจสำคัญที่ต้องลุกไปก็นอนอยู่แบบนั้น จับลมหายใจเข้าออกกับภาวนาต่อไปให้จิตมันสบาย ถ้าหากจิตใจของท่านมีความชุ่มชื่นมากเท่าไร เวลาเช้ามืดจิตทรงตัวอยู่เท่าไร วันทั้งวันในวันนั้นก็จะมีแต่ความสุข นี่แสดงว่าเราเป็นผู้ทรงฌานตั้งแต่หัวค่ำยันเช้ามืด ถ้าทำได้เป็นปกติอย่างนี้คำว่านรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ไม่มีสำหรับท่าน ถ้าตายไปแล้วเราก็จะเป็นพรหมทันทีใกล้พระนิพพาน

เอาละการพูดตักเตือนบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่านก็ขอให้เราจำไว้ว่า เราจะต้องเป็นผู้ชนะ คือว่าชนะจุดใดจุดหนึ่งตามกฎของพระกรรมฐาน ๔๐ อะไรก็ได้ ให้เป็นไปตามอัธยาศัย ถ้ายังไม่เข้าใจก็ไปเอาคู่มือปฏิบัติพระกรรมฐานมาอ่าน หรือไปเอามหาสติปัฏฐานสูตรมาอ่าน ชอบใจตรงไหนภาวนาตรงนั้น ชอบตรงไหนพิจารณาตรงนั้น เพื่อให้ถูกอัธยาศัยของเรา แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือกำหนดรู้ลมหายใจกับคำภาวนาว่าพุทโธ พุทโธนี้อย่าทิ้ง ให้ทรงเข้าไว้ เมื่อใจสบายเราก็พิจารณาตามพระกรรมฐานที่เขากล่าวไว้ในตำรา นี่จะไม่ผิด แล้วจะมีประโยชน์สำหรับท่าน

เอาละต่อแต่นี้ไป ขอให้บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่านพยายามตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยจนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘