การฝึกญาณ ๘ โดย พรนุช คืนคงดี (ต่อ)


ฝึกอตีตังสญาณ
ครู : "ต่อไปนี้เป็น อตีตังสญาณ ดูเหตุการณ์ต่าง ๆ ในอดีตที่ผ่านมาแล้วจะกี่อสงไขยกัปก็ได้ เราก็สามารถรู้ได้ โดยอาศัยบารมีของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าช่วยให้กำลังทิพจักขุญาณของเรา แจ่มใส เราก็พบเหตุการณ์ต่าง ๆ แม้ประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของบุคคลหรือของสถานที่ ก็สามารถรู้ได้ ไหนลองบอกมาซิ อยากดูเหตุการณ์ตอนไหน เรื่องอะไรดีคะ หลวงพี่ว่ายังไงคะ อยากดูเหตุการณ์ตอนไหนดี...?"
ศิษย์ (พระ) : "อยุธยา"
ครู : "ตอนไหนดีคะ...?"
ศิษย์ : "ตอนพระนเรศวรรบกับพม่า"
ครู : "รู้สึกคนชอบดูตอนนี้กันมาก เพราะเป็นตอนที่ไทยเป็นเอกราช คนไทยมีอิสรภาพและมีความภาคภูมิใจมาก เอ้า ทุกคนทำอารมณ์ใจสบาย ๆ เห็นพระพุทธเจ้าชัดไหมคะ กราบนมัสการพระพุทธองค์"
ศิษย์ : "เห็นชัด กราบแล้ว เห็นตัวเราด้วย"
ครู : "ขอบารมีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าช่วยให้เห็นภาพเหตุการณ์ตอนที่พระนเรศวร กระทำยุทธหัตถีชนช้างกับพระมหาอุปราชกษัตริย์พม่า เหตุการณ์ตอนนั้นเป็นที่ประทับใจของคนไทยทั้งชาติ เป็นความภูมิใจที่ได้รับชัยชนะ ขอดูภาพเหตุการณ์ตอนนั้นพระพุทธเจ้าข้า"
ศิษย์ (แม่ชี) : "เห็นคนมากมาย มีช้างหลายเชือก"
ครู : "หลวงตาเห็นอะไรบ้างคะ...?"
ศิษย์ (พระ) : "เห็นพระนเรศวรอยู่บนคอช้าง"
ครู : "ขอดูรูปร่างหน้าตาท่านได้ไหมคะ ขอดูซิคะว่าท่านหน้าตาเป็นยังไง...?"
ศิษย์ : "หน้าหนุ่มอ่อน ๆ ผิวก็ไม่ดำนี่คะ รูปหน้ารี ๆ รูปไข่"
ศิษย์ (พระ) : "หน้าคล้ายผู้หญิง สวย"
ครู : "ขอดูภาพตอนชนช้างเลยทีเดียว"
ศิษย์ : "ช้างพม่าขาหน้ามันไม่ถึงดินนี่ครับ"
ครู : "ทำไมล่ะคะ..?"
ศิษย์ : "ถูกงัดให้ลอยขึ้นแล้วหันด้านข้างมาทางพระนเรศวรแล้ว พระนเรศวรก็ฟันซีครับ"
ครู : "เอาอะไรฟันคะ...?"
ศิษย์ : "ใช้มีดยาว ๆ ฟัน"
ครู : "เราเรียกง้าวนะคะ แล้วพระมหาอุปราชเป็นยังไง เมื่อถูกฟัน...?"
ศิษย์ : "ฟุบไปแล้ว คนฮือเข้ามาล้อม เลยตอนนี้เกิดชุลมุนกันใหญ่ มีช้างอีกเชือกหนึ่งเข้าไปช่วยกันเอาพระนเรศวรออกมา ทหารที่พื้นดินฟันกันใหญ่เลย พักใหญ่แหละครับ หลังจากนั้นก็ถอยทัพกลับไป"
ครู : "ดูพื้นที่ตอนที่รบกันซิคะ อยู่ตรงที่เขาทำอนุสาวรีย์พระนเรศวรที่ดอนเจดีย์ ตรงนั้นใช่ไหมคะ...?"
ศิษย์ : "ไม่ใช่ครับ มันเลยไปทางเขตแดนด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือเล็กน้อย บริเวณนั้นไม่มีบ้านคนเลย มีต้นไม้เป็นทิวแถวมีบริเวณกว้างขวาง"
ครู : "ถ้าเราจะใช้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ดูว่าเราเองเคยเกิดสมัยนั้นหรือไม่ ก็ดูได้ โดยขอบารมีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าช่วยให้เห็นภาพ"
ศิษย์ : "มีภาพคนผู้ชายครับ เป็นทหารรบกับเขาด้วย"
ครู : "ตัวคุณละนั่น คุณละคะ...?"
ศิษย์ : "ไม่มีภาพเลยค่ะ"
ครู : "ก็แสดงว่าไม่ลงมาเกิด"
ศิษย์ : "ครูครับ อยากดูภาพชาวบ้านบางระจันรบกับพม่า"
ครู : "เอาซิ ทุกคนทำในสบาย ๆ จับภาพสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าไว้ก่อน ดูท่านจนชัดเจนดีแล้ว ขอบารมีพระพุทธองค์ช่วยให้เห็นภาพ ชาวบ้านบางระจัน เริ่มตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาใกล้แตก อย่าลืมขอบารมีท่านปู่ ท่านย่า ท่านพ่อ ท่านแม่ช่วยด้วยนะคะ ขอเห็นภาพตามความเป็นจริง"
ศิษย์ : "มีคนเป็นกลุ่มย่อย ๆ หนีออกจากกรุงศรีอยุธยากลุ่มหนึ่งขี่ม้าออกมา ส่วนหนึ่งออกมาทางน้ำเห็นภาพลอยน้ำชัดเจนครับ"
ครู : "ขอดูภาพกลุ่มคนที่ลอยน้ำออกมาซิคะว่าเป็นกลุ่มของใครเป็นหัวหน้า"
ศิษย์ : "นายจันหนวดเขี้ยว"
ครู : "ขอดูหน้าท่านซิคะ หน้าตานายจันหนวดเขี้ยวเป็นยังไง...?"
ศิษย์ : "หน้าก็สวย ยิ้มนี่ กินหมากด้วย"
ศิษย์ (พระ) : "หน้าเหมือนรัชกาลที่ ๑ ครับ"
ครู : "ถามท่านซิคะว่า ท่านคือบุคคลคนเดียวกันหรือเปล่า...?"
ศิษย์ (พระ) : "ท่านยกมือ"
ครู : "ท่าน รับรองนะ เป็นอันว่า ที่ว่าชาวบ้านบางระจันนั้น ความจริงก็เป็นกลุ่มทหารหนีออกมาจากกรุงศรีอยุธยา เพราะเห็นท่าว่าเราต้องยับเยินแน่คราวนี้ ก็ออกมาสู้พม่าอยู่ภายนอก ก็ชักชวนชาวบ้านบางระจันร่วมด้วย แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นทหารโดยเฉพาะ หัวหน้าคือ นายจันหนวดเขี้ยว ขอดูภาพซิคะว่าท่านเป็นอะไรในกรุงศรีอยุธยา...?"
ศิษย์ : "นักรบ แต่งตัวนายทหารครับ"
ครู : "นั่นแหละ ไม่อย่างนั้นรวมคนไม่ได้ถึงขนาดนี้ ทุกท่านขอให้ใช้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณซิคะว่า เราเคยเกิดสมัยนี้ด้วยหรือไม่...?"
ศิษย์ : "โอ้โฮ รบอยู่ที่บางระจันแน่ะ มีภาพรบกันใหญ่เลย"
ครู : "ใช้อาวุธอะไรคะ...?"
ศิษย์ : "ดาบ ๒ มือ ดูฮึกเหิม ว่องไว"
ศิษย์ : "ครูครับ ผมตายในสนามรบครับ ถูกแทงตาย"
ครู : "นับเป็นวีรบุรุษแห่งค่ายบางระจันได้ เพราะคุณยอมสละชีวิตเพื่อดำรงความเป็นไทเอาไว้ น่าสรรเสริญ"
ศิษย์ : "เสียดายครับ"
ครู : "ทำไมคะ...?"
ศิษย์ : "ฆ่าพม่าได้ไม่กี่คน ตายซะได้"
ครู : "ก็ดีแล้วไม่บาปมากกว่านี้ ถ้าเราจะดูกันต่อไปก็จะเสียเวลามาก ขอตัดตอนแค่นี้นะคะ"

ฝึกปัจจุปันนังสญาณ
ครู : "ต่อไปเป็นปัจจุบังสญาณ ดูเหตุการณ์ปัจจุบัน ใครที่เรานึกถึงเขาอยู่ เขามีความสุข ความทุกข์ มีชีวิตอยู่หรือว่าตายไปแล้ว ก็ย่อมทราบได้ แม้จะดูอวัยวะต่างๆ ในร่างกายก็ได้ ท่านที่เป็นหมออาจจะขอดูภาพอวัยวะภายในร่างกายแต่ละส่วน ๆ ว่า ปกติของอวัยวะเป็นเช่นไร ถ้าเกิดผิดปกติขึ้นมา มีเชื้อโรค หรือทำงานผิดปกติจะมีสภาพเป็นเช่นไร และถ้าเกิดผิดปกติแล้วควรจะแก้ไขดำเนินการรักษาอย่างไร อารมณ์เราเป็นทิพย์อยู่แล้ว ถามท่านแม่ก็ได้ว่าควรจะแก้ไขรักษาอย่างไร
ตัวอย่าง คุณหมอท่านหนึ่งฝึกแบบนี้แหละที่วัดพุทธวราราม เมืองเดนเวอร์ รัฐโคโรลาโด อเมริกา ท่านดูทุกส่วนตั้งแต่ศีรษะมาถึงเท้า อวัยวะภายในแต่ละส่วนดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เร็วกว่าเอ๊กซเรย์ และแน่นอน เพราะจิตสะอาด ย่อมรู้ได้ตามความเป็นจริง แต่อย่าลืมว่า เราอาศัยบารมีพระพุทธเจ้าช่วย อาศัยบารมีท่านพ่อ ท่านแม่ ผู้มีพระคุณทั้งหมดช่วย
นอกจากนี้ เราอาจดูทรัพย์สินใต้แผ่นดินได้ทันที มีตัวอย่างนักธรณีวิทยา ๒-๓ ท่าน ต้องการรู้แหล่งแร่ยูเรเนียม และได้เดินทางไปวัดท่าซุง มีโอกาสคุยกับหลวงพ่อและถามเรื่องนี้ที่ต้องการหลวงพ่อท่านก็ให้ฝึกมโน มยิทธิดูเอาเอง จะได้มั่นใจ ท่านก็ตกลง ครั้งแรกของการฝึกก็สามารถไปได้ และก็ให้ดูแหล่งแร่ยูเรเนียมที่มีในเมืองไทย ดูสถานที่พบแล้วดูลักษณะ และปริมาณของแร่
รวมทั้งบริเวณที่มีอยู่มาก ตามภูเขา เชิงเขา แร่มีสีขาว และได้ดูที่หมาย คือต้นไม้เป็นที่สังเกต ครูก็แนะนำให้อยู่เพื่อฝึกอีกวันหนึ่งเพื่อให้มีความคล่องตัว แต่ปรากฏว่า พอวันรุ่งขึ้นก็ไปแล้ว ได้เค้าก็ไป เพราะแหล่งแร่ยูเนียมที่พบอยู่ในเขตจังหวัดอุทัยธานีนี่เอง คงไปดูสถานที่และวางแผน นี่เป็นปัจจุบันนังสญาณที่เราได้รับประโยชน์
นอก จากนี้ เราจะไปดาวดวงอื่น ๆ ได้ทุกแห่งหน ดาวดวงใดมีสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีก็ดูได้ หรือเราจะไปเที่ยวประเทศไหนก็ได้ ทุกประเทศในโลกไม่ต้องเสียเงินค่าพาหนะภายในโลกมนุษย์เราจะเห็นได้ชัดเจน กว่าเพราะเป็นของหยาบ จะดูภายในประเทศไทยเราก็ได้ น้ำมันดิบใต้แผ่นดินไทยมีแค่ไหนบริเวณใดบ้างเป็นเรื่องเล็ก
ตัวอย่าง หลวงน้าที่มาจากจังหวัดกำแพงเพชรท่านฝึกได้แล้วและใช้กำลังทิพจักขุญาณได้พอ สมควร ก็ให้ดูน้ำมับดิบที่จังหวัดของท่านมีสักแค่ไหน
ศิษย์ (พระ) : "มีมากครับเป็นแอ่งลึกลงไป มีปริมาณมหาศาล สีน้ำตาลเข้ม"
ครู : "ที่เขาเจาะเวลานี้ ตรงจุดใหญ่ไหม...?"
ศิษย์ : "ก็ตรงครับ แต่เจาะลึกไม่มาก ก็ดูดขึ้นมาได้ โอ้โฮข้างล่างเป็นบริเวณกว้างมาก เราถ้าจะรวยใหญ่แล้วนี่"
ครู : "นี่แหละค่ะ ความรู้ทางด้านทิพจักขุญาณมีประโยชน์มาก ไม่เพียงแต่ไปดูสวรรค์ นิพพาน นรกเท่านั้น การทำมาหากินก็จะคล่องตัวไปด้วย สมองก็แจ่มใส ถ้าเป็นนักเรียน นักศึกษาสบายมาก จำแม่น สอบไม่ตก ถ้าคนไทยทำได้สัก ๑ ใน ๑๐ เท่านั้น ประเทศไทยจะร่มเย็นเป็นสุขกว่านี้มาก เพราะคนที่เขาทำได้เขามีศีล ๕ บริสุทธิ์ ไม่มีการเบียดเบียนกัน ความรัก ความเมตตาก็มี เพราะมีความเข้าใจตามความเป็นจริง"

ฝึกอนาคตังสญาณ
ครู : "ต่อไปเป็นอนาคตังสญาณ เป็นการใช้ทิพจักขุญาณไปรู้เรื่องราวที่ยังไม่เกิดขึ้น ไม่ว่าของตัวเราเอง หรือของบุคคลอื่น หรือของสถานที่ หรือความเป็นไปของชาติของโลก ของบุคคลตายแล้วจะไปไหนดูได้เลย เวลานี้ขอทุกคนตั้งใจอาราธนาบารมีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านพ่อ ท่านแม่ ท่านผู้มีพระคุณทั้งหมดช่วย ขอดูสภาพของประเทศไทยในอีก ๑๐-๒๐ ปี ข้างหน้าจะเป็นเช่นไร ขอองค์สมเด็จพระจอมไตรช่วยให้เห็นภาพตามความเป็นจริงพระพุทธเจ้าข้า มีภาพเกิดขึ้นหรือยังคะ...?"
ศิษย์ : "มีแล้ว เจริญมากกว่านี้มากค่ะ"
ครู : "ขอดูกรุงเทพมหานคร อันเป็นเมืองหลวง ดูความเจริญของประเทศ"
ศิษย์ : "โอ้โฮ ตึกรามบ้านช่องสูง ๆ เต็มไปหมด"
ครู : "สะพานลอยเกลื่อน ยังกะในหนังญี่ปุ่น ไขว่ไปหมด ถนนหนทางดี ผู้คนมากมาย มีวัดมากไหมคะ...?"
ศิษย์ : "มากครับ"
ครู : "แสดงว่าพระพุทธศาสนาเราทรงอยู่ได้แน่นอน ประเทศไทยก็เป็นเอกราชต่อไป"
(ครูถามเด็กชายอายุ ๙ ขวบ และ ๑๑ ขวบ)
ครู : "เอ้าหนู หนูขอบารมีพระพุทธเจ้าช่วยให้เห็นภาพอาชีพของหนูเมื่อโตขึ้นควรจะประกอบ อาชีพอะไรดี จึงจะมีความคล่องตัว ร่ำรวย ขอท่านดูภาพนะจ๊ะ เห็นอะไรบอกมา"
ศิษย์ (อายุ ๙ ขวบ) :  "เห็นเป็นหมอทำฟันครับ"
ศิษย์ (อายุ ๑๑ ขวบ) : "เห็นภาพนั่งโต๊ะทำงานเป็นบริษัทครับ"
ครู : "หนูก็ต้องเลือกเรียนอาชีพที่เหมาะสมกับหนูตามที่เห็นในภาพนะจ๊ะ หนูชอบอาชีพที่ปรากฏในภาพไหมจ๊ะ...?"
ศิษย์ : "ชอบครับ"
ครู : "ตั้งใจเรียนนะจ๊ะ ถ้าขัดข้องขึ้นมากราบขอพระจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอให้หนูตัดสินใจถูกแล้วทุกอย่างจะราบรื่น คล่องตัวดี หรือถามท่านพ่อ ท่านแม่ก็ได้ แต่อย่าถามท่านองค์อื่น ๆ พร่ำเพรื่อนะจ๊ะ องค์ไหนเป็นองค์นั้น ท่านพ่อ ท่านแม่ ท่านไม่หลอกลูกนะจ๊ะ ท่านจะช่วยหนู
บั้น ปลายของชีวิตทุกคน เราตายแน่ ฉะนั้นเวลานี้ขอบารมีพระพุทธเจ้าท่านช่วยให้เห็นภาพตามความเป็นจริงว่าข้า พระพุทธเจ้าจะตายเมื่ออายุเท่าไร เป็นโรคอะไรตาย ก่อนตายมีอารมณ์ใจเป็นอย่างไร ขอองค์สมเด็จพระจอมไตรช่วยให้เห็นภาพชัด ๆ พระพุทธเจ้าข้า เอ้า..ต่างคนต่างดูของตัวเองนะคะ จะถามทีละคนไป ของคุณมีภาพหรือยังคะ...?"
ศิษย์ : "มีแล้วครับ นอนอยู่"
ครู : "ถามพระท่านซิคะว่า เป็นโรคอะไรตาย...?"
ศิษย์ : "เอามือจับท้อง คงเป็นทางท้อง"
ครู : "ความรู้สึกของใจโรคอะไรคะ...?"
ศิษย์ : "โรคกระเพาะครับ"
ครู : "อายุเท่าไร...?"
ศิษย์ :  "๗๐ ปีเศษ ครับ"
ครู : "สถานที่ตายที่บ้าน หรือโรงพยาบาล หรือที่อื่น ๆ คะ...?"
ศิษย์ : "บ้านครับ"
ครู : "เวลานี้ความรู้สึกเราเป็นทิพย์จะบอกได้ว่า อารมณ์ตอนใกล้ตายก่อนหมดลมหายใจเล็กน้อยนั่น เราตัดสินใจยังไงคะ..?
ศิษย์ : "ร่างกายเป็นทุกข์ โลกนี้ไม่มีอะไรดี ขอไปนิพพาน"
ครู : "เมื่อตัดสินใจอย่างนั้นได้แล้ว ดูรอบ ๆ ตัวเราซิคะ มีใครมาบ้างไหม ขอบารมีพระพุทธเจ้าช่วยให้เห็นภาพชัด ๆ"
ศิษย์ : "มากันมากมายเต็มสถานที่"
ครู : "ดูในภาพซิคะ ท่านผู้ใดที่อยู่ใกล้ตัวเราที่สุด...?"
ศิษย์ : "พระพุทธเจ้าประทับยืนอยู่เหนือหัว ท่านแม่ หลวงพ่อมารับ พ่อแม่ข้างบน พรหม เทวดา มารับกันมากครับ"
ครู : "เมื่อคุณเห็นท่านมา คุณออกไปกราบท่านได้ไหมคะ...?"
ศิษย์ : "ออกไปได้แล้วครับ ก็ไปกราบท่าน"
ครู : "เมื่ออกไปแล้ว กราบพระท่านแล้ว เหลียวมาดูร่างกายเราที่นอนอยู่ซิคะ มันน่ารักไหม อยากจะอยู่ในร่างกายอย่างนี้อีกไหม...?"
ศิษย์ : "ไม่เอาแล้ว"
ครู : "ก็น่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะร่างกายที่นอนตายอยู่นั่นแก่ก็เท่านั้น เหี่ยวก็เท่านั้น ทรุดโทรม ไม่มีอะไรน่ารักตรงไหนเลย คุณดูภาพต่อไปเลยค่ะว่าเมื่ออทิสสมานกายออกไปแล้วไปไหนต่อ...?"
ศิษย์ : "ตามพระพุทธเจ้าไป พอเคลื่อนขบวน ก็มีรถทิพย์มารับเป็นแก้วขาวสวย มีเทวดาล้อมรถ ไปนิพพาน"
ครู : "ดีใจไหมคะ ถ้าคุณทรงกำลังใจอย่างวันนี้ได้เรื่อย ๆ ไม่ทิ้งอารมณ์พระนิพพาน ภาพที่เกิดวันนี้ก็เป็นที่พอใจใช่ไหมคะ คนอื่น ๆ เป็นยังไงคะ ขณะที่ถามคนหนึ่งคุณดูภาพของคุณไปด้วยหรือเปล่าคะ...?"
ศิษย์ : "ดูค่ะแต่ดิฉันเป็นโรคลม เป็นลมตาย"
ครู : "ของใครก่อนตายทรมานมาก ๆ มีไหมคะ...?"
ศิษย์ : "มีค่ะ"
ครู : "ถ้าอย่างนั้น ให้ขอบารมีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าช่วย ขอท่านปู่ ท่านย่า ท่านพญายมราชช่วย ท่านพ่อ ท่านแม่ ขออย่าให้มีความทุกขเวทนาตอนใกล้จะตาย เพื่อจะได้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ จะได้นึกถึงพระนิพพาน และนึกถึงพระพุทธเจ้าได้ เมื่อขอท่านแล้ว ดูภาพซิคะว่าก่อนตายภาพที่เคยทรมาน บัดนี้มีการเปลี่ยนแปลงหรือยัง...?"
ศิษย์ : "เปลี่ยนไปแล้วครับ ไม่ทรมานมาก จะมีก็นิดหน่อย พอทนได้"
ครู : "ก็ดี กราบขอบพระคุณสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กราบท่านปู่ ท่านย่า ท่านพ่อ ท่านแม่ และท่านพญายมราช ที่ท่านสงเคราะห์เราในครั้งนี้"

ฝึกยถากรรมมุตาญาณ
ครู : "ต่อไปเป็นยถากรรมมุตาญาณ ดูกฎของกรรมที่ทำให้เราได้รับผลเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ จากคราวที่แล้วเราทราบว่า เราทำความดีอย่างไรจึงไปเกิดเป็นเทวดา เป็นพรหมได้ และในการเกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน นั่นเพราะเราทำความชั่วอะไรไว้
โดยเฉพาะที่เราเกิดเป็นคนแต่ละชาติก็ ไม่เหมือนกันบางชาติเราเกิดเป็นคนรวย เพราะผลของท่าน และบางชาติ เราก็ยากจนเพราะความขี้เหนียว บางชาติเราก็เกิดเป็นคนมียศใหญ่ บางชาติก็เกิดเป็นคนสวย เพราะอานิสงส์ของศีล มีเมตตา แต่บางชาติเราก็เกิดเป็นคนขี้ริ้วขี้เหร่ ไม่สวย เพราะมีใจโหดร้าย ไม่รักษาศีล ขาดเมตตา นี่แตกต่างกันไปแล้วแต่ผลของกรรมที่เราทำไว้ส่วนไหนจะให้ผล ชาตินี้เราเกิดเป็นคนตั้งแต่เล็กจนจำความได้มาจนโตเราก็ต้องพบกับความทุกข์ จากการมีร่างกาย เช่น ความป่วยไข้ไม่สบาย นี้เป็นเพราะผลของกรรมอะไร ขอบารมีพระพุทธเจ้าช่วยให้เห็นภาพตามความเป็นจริงพระพุทธเจ้าข้า"
ศิษย์ : "ฆ่าสัตว์"
ครู : "ใช่แล้ว ฆ่าสัตว์ ฆ่าคน ทรมานสัตว์ กรรมประเภทนี้ต้องไปใช้หนี้กันในนรกก่อน พ้นมาก็เป็นเปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน มาถึงคนก็รับผลเป็นเศษเล็กน้อยแล้ว ในบางขณะเคยบ้างไหมที่เราถูกคนเขาด่า เขานินทาว่าร้าย ทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้ด่าเขา บางทีไม่มีเรื่องอะไรกันด้วยซ้ำไป ก็ถูกกล่าวหาว่าร้าย"
ศิษย์ : "เคยค่ะ"
ครู : "ขอดูภาพซิคะว่า เป็นเพราะผลของกรรมเรื่องอะไร...?"
ศิษย์ : "เราเคยด่าเขาไว้ก่อน"
ครู : "นั่น ดูภาพซิคะ ทำปากยุบยิบ ๆ เราด่าเขาไว้ก่อน พอเขามาด่าเราบ้างเป็นการใช้หนี้ คิดว่าใช้หนี้กันไป ดังนั้นถ้าเราถูกเขาด่า เขานินทา ก็อย่าเพิ่งรีบไปด่าตอบเขา รวบรวมกำลังใจไปหาพระพุทธเจ้า ขอดูภาพในอดีตว่าเราเคยด่าเขาไว้หรือเปล่า ถ้าเคยก็ใช้หนี้กันไป ใจเราก็สบาย ถ้าไม่เคยก็คิดว่า คนที่เขาด่าเรา นินทาว่าร้ายเราโดยไม่มีเหตุผลไม่มีผลอย่างนี้ ตายแล้วเขาจะไปไหน ถ้าเขาต้องไปนรก คุณจะไปโกรธเขาไหมคะ...?"
ศิษย์ : "ไม่โกรธค่ะ"
ครู : "ดีแล้ว เพราะถ้าเราโกรธเขา ก็ไปนรกกับเขาด้วยเอาไหมล่ะ...?"
ศิษย์ : "ไม่เอา"
ครู : "ต่อไปดูภาพของกรรมส่วนดีบ้าง เรามีปัญญามองเห็นผิดชอบชั่วดี และรู้ว่าการให้ทานดี รักษาศีลดี เจริญพระกรรมฐานดี เราฝึกมโนมยิทธิได้ เราไปนิพพานได้โดยเฉพาะเราต้องการนิพพาน ซึ่งเป็นอารมณ์ที่ยากมาก คนทั่ว ๆ ไปน้อยคนที่จะตัดสินใจอย่างเราได้ การตัดสินใจได้อย่างนี้ แวดงว่ามีความดีมาในกาลก่อนจึงให้ผลดลจิตใจให้ใฝ่ธรรมะขององค์สมเด็จพระ สัมมาสัมพุทธเจ้า ความดีที่ส่งผลในโอกาสนี้นั้นเป็นความดีในด้านใดพระพุทธเจ้าข้า ขอดูภาพนะคะ"
ศิษย์ : "มีภาพการให้ทาน สร้างโบสถ์ วิหาร"
ศิษย์ : "สร้างพระ"
ศิษย์ : "ถือศีล เจริญภาวนา"
ศิษย์ : "สงเคราะห์บุคคลยากจน"
ครู : "ขอดูภาพต่อไปเลยนะคะว่าการทำความดีดังกล่าวแล้วแต่ละชาติ จะเป็นการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาก็ดี เราได้เคยตั้งใจไว้เป็นคำอธิษฐานบ้างไหมว่าการทำบุญคราวนี้ต้องการอะไร ขอบารมีพระพุทธเจ้าช่วยให้เห็นภาพ"
ศิษย์ : "เคยค่ะ อธิษฐานขอไปนิพพาน"
ครู : "นี่แหละ ความตั้งใจว่าเราทำความดีอย่างนี้ ๆ เราต้องการนิพพาน เป็นกำลังส่งผลให้เราต้องการพระนิพพานในชาตินี้ ขอดูภาพอีกทีว่าเคยอธิษฐานแบบนี้มากี่ชาติแล้ว...?"
ศิษย์ : "มากมายนับไม่ถ้วยค่ะ"
ครู : "เห็นไหมว่า การทำความดีมีการสะสมกันมาทุกชาติจนกว่ากำลังใจของเราจะเต็ม ก็ถึงพระนิพพานได้ เป็นอันว่าถ้าอะไรก็ตามมันเกิดขึ้นกับเราก็อย่ากังวลใจ ดูต้นเหตุว่าเป็นผลของกรรมด้านใดที่เราทำเอาไว้ ยามนี้เรามีชีวิตอยู่เราต้องรับผลของกรรมทั้งดี และเลว ยามที่เราสบายใจจิตเป็นสุข นั่นแสดงว่าผลกรรมดีในกาลก่อน กำลังให้ผล
เวลา ไหนที่เราเกิดกลุ้ม อึดอัด จิตใจไม่สบายทรมาน ความรู้สึกบางครั้งทนแทบไม่ไหวในการทรงชีวิตอยู่ นั่นแสดงว่าขณะนั้นกรรมชั่วในการก่อนกำลังให้ผลอยู่ ตราบใดที่เรายังมีร่างกายอยู่ มันหนีกฎของกรรมไม่พ้นแน่นอน ก็ต้องถือว่า ช่างมัน ให้ผลประเดี๋ยวเดียวก็สลายตัวไป กรรมดีบ้าง ชั่วบ้าง แล้วแต่จังหวะของกรรมที่เราทำมาใจเราก็สบาย ถ้าเรายอมรับความสุข ความทุกข์ว่าเป็นธรรมดาได้ จิตใจก็สบาย
เป็นอันว่าญาณ ๘ ประการ ก็จบเท่านี้ อย่าลืมว่า เราอาศัยทิพจักขุญาณตัวเดียวเท่านั้นในการรู้เรื่องราวต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้วโดยสังเขป และท่านที่ฝึกได้แล้วก็จงจำไว้ว่า เรารู้อดีต ปัจจุบัน อนาคตของเรา และของบุคคลอื่นได้นี้ พระท่านห้ามนำไปเป็นหมอดูนะคะ ท่านให้ไว้เพื่อเป็นเครื่องช่วยในการตัดกิเลสเท่านั้น นอกจากเราจะซ้อมอารมณ์ทิพจักขุญาณกับเพื่อนนักปฏิบัติด้วยกันเพื่อความถูก ต้องเท่านั้น สำหรับการฝึกญาณ ๘ ก็ขอจบแต่เพียงเท่านี้นะคะ

(จบคำแนะนำในการฝึกญาณ ๘)

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘