ปฐมฌาน


วันนี้ก่อนที่จะศึกษาอย่างอื่น ก็ให้นึกถึงกฎธรรมดาไว้เป็นสำคัญ กฎธรรมดาที่จะมีสำหรับเรานั้นก็คือ ชาติปิ ทุกฺขา ความเกิดเป็นทุกข์ ชราปิ ทุกฺขา ความแก่เป็นทุกข์ มรณมปิ ทุกฺขํ ความตายเป็นทุกข์ โสกปริเทวทุกขโสมนัสเป็นต้น ความเศร้าโศกเสียใจเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นทุกข์ มีอาราณ์ขัดข้องหรือความปรารถนาไม่สมหวังเป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า เราเกิดมาเพื่อมาประสบกับความทุกข์ คนที่เกิดมาแล้วทุกคนที่จะไม่มีทุกข์ ไม่มี ถ้าหากว่าเรายังยึดถือว่า ร่างกายเป็นของเรา ทรัพย์สินเป็นของเรา ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงเป็นของเรา อารมณ์ทุกข์มันก็เกิด เกิดเพราะว่าเราเกาะ ที่เรียกว่าอุปาทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกธรรมทั้ง ๘ ประการ คือ มีลาภดีใจ ลาภสลายตัวไป เสียใจ มียศ ดีใจ ยศสลายตัวไป เสียใจ มีความสุขในกามสุข ดีใจ ความทุกข์หมดไป ร้อนใจ ได้รับคำนินทา เดือดร้อน ได้รับคำสรรเสริญ มีสุข นี่ก็ถือว่าเป็นอารมณ์ของอุปาทาน สร้างความทุกข์ สร้างความหวั่นไหวให้เกิดขึ้นกับเรา

ทำอย่างไร เราจึงจะพ้นทุกข์

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แนะนำให้พวกเราถือว่าใช้อารมณ์คิดอยู่เสมอว่า กฎนี้เป็นกฎธรรมดาของโลกที่เราไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงมันไปได้ ถ้ามันเกิดขึ้นกับเราก็ถือว่า ช่างมัน ตามศัพท์ภาษาบาลีท่านเรียกว่า ขันติ ความอดทน ถ้าใช้คำว่าอดทนมันเข้าใจยาก ใช้ภาษาไทยธรรมดาดีกว่า ว่ามันจะเกิดขึ้นมาประเภทไหนก็ช่างมัน

เกิดเป็นทุกข์ ทุกข์เพราะการแสวงหา การเลี้ยงชีวิต การประกอบอาชีพ การบริหารร่างกาย การบริหารหมู่คณะ กิจที่จะต้องทำมันเหนื่อยยาก ได้รับความขัดข้องใจ เราคือว่าเราทำตามหน้าที่ เราทำไว้เต็มความสามารถแล้วใครจะติว่าดีหรือไม่ดี ไม่ถือ ไม่ปรารภว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะองค์สมเด็จพระทรงธรรม์กล่าวว่า นตฺถิ โลเก อนินฺทิโต คนที่ไม่ถูกนินทาเลยไม่มีในโลก ฉะนั้น การนินทาว่าร้ายอะไรก็ตาม ก็ถือว่าช่างมันเป็นธรรมดา ทุกอย่างเราทำงานตามหน้าที่

ถ้าความเกิดมันเป็นทุกข์อย่างนี้ เราก็ถือว่านี่เพราะว่าอาศัยเราโง่เราจึงเกิด โง่เพราะอะไร ? โง่เพราะยึดมั่นว่า ร่างกายมันเป็นเรา เป็นของเรา เรามีในร่างกาย ร่างกายมันมีในเรา เมื่อยึดร่างกายเสียอย่างเดียว ก็เลยยึดทรัพย์สินภายนอกไปด้วย แต่ความจริงสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ถ้ามันเป็นเราจริง มันต้องไม่แก่ มันต้องไม่ป่วย มันต้องไม่ตาย ที่เกิดมาแล้ว มันต้องแก มันต้องป่วย มันต้องตาย ทำไมจิตใจเราจะต้องไปทุกข์มันด้วย ถ้าเราคิดไว้เสมอว่า เราเกิดเพื่อแก่ เกิดมาเพื่อป่วยไข้ไม่สบาย เกิดมาเพื่อกระทบกระทั่งกับอารมณ์ที่เราไม่ชอบใจ เกิดมาเพื่อความพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ซึ่งมีความตายไปในที่สุด รวมความว่าเราเกิดมาเพื่อตาย ในเมื่อหน้าที่ของเราเกิดมาต้องประสบด้วยเหตุอย่างนี้ เราจะไปทุกข์มันทำไมเมื่ออาการทั้งหลายเหล่านั้นมันเกิด ถือว่านี่มันเป็นเรื่องธรรมดา ภายในไม่ช้าเราก็จะสิ้นทุกข์

วิธีสิ้นทุกข์ทำยังไง ?

เราก็มีการให้ทานเป็นปกติ ถ้าอารมณ์เราพร้อมเพรียงในทาน ก็ชื่อว่าเป็นการตัดโลภะ ความโลภ เรามีเมตตาเป็นปกติ อารมณ์ของเมตตาที่เราทรงอยู่คือรักษาศีลได้ ถ้ามีเมตตาอยู่ศีลมันก็ไม่ขาด ถ้ามีเมตตาอยู่เป็นปกติ นอกจากมีเมตตาอยู่แล้วศีลไม่ขาดแล้ว เมตตามันยังเป็นตัวทำลายโลภะ เราก็มาพิจารณาหาความจริงว่า ชาติปิ ทุกฺขา ความเกิดเป็นทุกข์ เจ้าอยากเกิดนี่ มันจะทุกข์อย่างไรก็ช่างมัน ใจเราก็วางเฉยไว้ ชราปิ ทุกฺขา ความแก่เป็นทุกข์ อาการงกๆ เงิ่นๆ ร่างกายไม่แข็งแรง ไม่กระปรี้กระเปร่า มีความปรารถนาไม่สมหวัง เพราะทำเองไม่ได้ แล้วเราก็เลยมีทุกข์ ถือว่านี่เป็นเรื่องธรรมดาของคนแก่ เกิดมาเพื่อแก่ มรณมฺปิ ทุกฺขํ ความตายเป็นทุกข์ เรื่องของชาวบ้านธรรมดาเราไม่ทุกข์ ถือว่าเป็นกฎธรรมดา ตายเสียได้ก็ดี เพระามันจะได้หมดเรื่องยุ่ง แล้วเราเห็นว่าขันธ์ห้าเป็นโทษ เป็นทุกข์สำหรับเรา เราก็เลยคิดต่อไปว่า ขึ้นชื่อว่าขันธ์ห้า ความเกิดมามีร่างกายขันธ์ห้า แบบนี้จะไม่มีสำหรับเราอีก เราจะไม่โง่ยอมรับนับถือให้มีร่างกายต่อไป ถ้าอารมณ์ใจของเราคิดไว้อย่างนี้เป็นปกติ เราก็จะหมดความทุกข์ มันค่อยๆ เข้าใจไปเอง

นี่เป็นบทที่บรรดาพุทธบริษัทควรจะคิดให้เป็นปกติ เพื่อความเข้าถึงซึ่งพระนิพพาน นี่เป็นวิปัสสนาญาณตัวสุดท้าย

ต่อแต่นี้ไป ก็จะขอพูดต่อเมื่อวานนี้ เมื่อวานเรามาพูดกันถึงจบอุปจารสมาธิ วันนี้ก็จะขอพูดเข้าถึงจุดของฌาน การรักษาลมหายใจเข้าออกและคำภาวนาว่าพุทโธ ความจริงการภาวนานี่ไม่ได้จำกัด ท่านจะภาวนาอย่างใดก็ได้ตามอัธยาศัย การภาวนาใดๆ ก็ตามให้กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกไปด้วย เวลาหายใจเข้านึกว่าพุธ เวลาหายใจออกนึกว่าโธ ขณะใดที่จิตใจเรายังมีความรู้สึก จิตยังอยู่ในขอบเขตคำว่าพุทโธ หรือลมหายใจเข้าออก พึงทราบว่าขณะนั้นจิตของเราตั้งอยู่ในอารมณ์ของสมาธิ

การทรงสมาธิวันละนิดหนึ่ง องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวว่า ท่านผู้นั้นเป็นผู้ไม่ว่างจากฌาน คือมีคุณธรรมสูงพอที่จะเอาตัวรอดได้ ถ้าเราทรงสมาธิได้ดีกว่านั้น หมายความว่าขณะที่ท่านทั้งหลายกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกแล้วก็กำหนดคำภาวนา ภาวนาไปด้วยจิตใจมีอารมณ์สบาย หูได้ยินเสียงภายนอกชัดเจนดี สุนัขเห่า สุนัขหอน คนพูดเสียงร้องเพลงร้องละคร เสียงชาวบ้านทะเลาะกัน เขานินทากัน หรือแม้ว่านินทาว่าร้ายเรา เราได้ยินหมด แล้วก็ปรากฏว่าใจของเราไม่รำคาญ เราไม่มีความรำคาญในเสียง สามารถกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกและคำภาวนาได้แบบสบาย อารมณ์อย่างนี้ถ้าทรงไว้ได้ ๒, ๓ นาที ๕ นาที ๑๐ นาทีก็ตาม ท่านถือว่าอารมณ์อย่างนี้เป็นอารมณ์ของปฐมฌาน จิตเราเข้าถึงปฐมฌาน เป็นฌานที่ ๑

ฌานที่ ๑ นี่เรามีกฏสังเกตไว้อย่างนี้ คือว่า เราไม่รำคาญในเสียง เพราะเสียงนี่เป็นศัตรูของปฐมฌาน ให้สังเกตไว้ แต่การเข้าถึงปฐมฌานกับการทรงปฐมฌานมันต่างกัน การทรงหมายความว่าเราบังคับจิตให้ทรงอยู่ในอารมณ์นั้นๆ เวลาเท่าใดก็ได้ตามที่เราตั้งใจไว้ อย่างนี้ชื่อว่าเป็นผู้ทรงฌาน ถ้าอารมณ์จิตเข้าถึงปฐมฌาน มันก็ลดตัวตัดลงมา ลดลงมาต่ำ เมื่อลดลงมาต่ำแล้ว เราก็ตั้งใจจะก้าวขึ้นไปอีก มันขึ้นไปได้หรือไม่ได้ก็ตามใจ

การที่จะเข้าถึงปฐมฌานในตอนต้น มันมีเรื่องอยู่ที่เป็นเรื่องน่าสงสัย นั้นคืออารมณ์เบื้องต้น ถ้าอารมณ์ของเราหยาบ มันจะมีอาการมืดตื้อ เคลิ้มคล้ายหลับ จะมีอารมณ์มืด บางทีเรามีความรู้สึกตัวเหมือนจะหลับไป ถ้าจิตมันตกจากอารมณ์นั้นลงมา จิตใจจะมีอารมณ์สว่าง เราก็คิดว่าเราเผลอหลับไปหรือไงก็ไม่ทราบ เราจะสังเกตได้ว่าเราหลับหรือไม่หลับ หรือว่าจิตเข้าสู่อารมณ์ฌานหยาบ ถ้าเราหลับหลับมันต้องโงกไปข้างหน้า หรือหงายไปข้างหลังเป็นอาการของคนหลับ ถ้าร่างกายมันนั่งอยู่เฉยๆ แล้วมีอาการเคลิ้มอย่างนั้น เกือบจะหมดความรู้สึกตัวเผลอไปแล้วก็รู้สึกขึ้นมาใหม่ อย่างนี้แสดงว่าจิตของท่านเข้าถึงปฐมฌาน แต่มันหยาบ มันทรงไม่ได้นาน ต่อไปจิตมันก็จะละเอียดเอง นี่เป็นลักษณะหนึ่งที่บรรดานักปฏิบัติทั้งหลายมีความสงสัย

อีกลักษณะหนึ่งนั่นคือว่า เวลานั่งๆ ไป มีอาการหวิวคล้ายกับตกจากที่สูง ทำให้ตกใจเสียวขึ้นมาทันที บางทีก็มีการใจเต้นแรงเหมือนเราตกจากที่สูง เมื่อมีความรู้สึกเป็นเช่นนี้ อารมณ์ดิ่งจะไม่มี เราจับได้ต่อไปก็จะมีแต่อารมณ์สบาย อาการอย่างนี้ขอบรรดาท่านทั้งหลายพึงเข้าใจ ว่านั่นจิตมันเข้าไปสู่ปฐมฌานแล้ว แต่ว่าจิตมันทรงอยู่ไม่ได้นาน มันพลัดตกจากฌาน คือมันพลัดแรงเกินไป ตกเข้าสู่สภาวะภวังค์ที่เรียกว่าจิตปกติ

ถ้าเป็นปฐมฌานอย่างละเอียด มันจะมีอารมณ์สบาย เฉยๆ มีความสว่างของจิต จิตจะมีอารมณ์สงบสงัด หูจะได้ยินเสียงทั้งหมด แต่ก็มีใจสบายไม่รำคาญในเสียง นี่เป็นปฐมฌานละเอียด

ถ้ามีอารมณ์อย่างนี้ทั้งสองประการ ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่านก็ควรจะภูมิใจว่าจิตเราเข้าสู่ปฐมฌาน วันหนึ่งขณะหนึ่งก็ดี นาทีหนึ่ง ๒ นาที ๓ นาทีก็ดี ถ้าจิตทรงได้อย่างนี้ทุกๆ วันก็ชื่อว่าเราเป็นผู้ไม่ว่างจากฌาน เวลาที่ตายไปแล้วเราก็จะกลายเป็นพรหม เวลาที่เราป่วยหนัก อารมณ์ของสมาธิจิตจะเข้ามารวมตัว เมื่ออารมณ์จิตเข้ามารวมตัวแล้วเราก็จะมีความสุข นี่เราจะไปรู้กันเวลาที่ป่วยหนักๆ ว่ามันณขนาดไหน ถ้าจิตรวมตัวได้จิตทรงปฐมฌานอยู่ เวลาป่วยนี่มันได้ผลจริงๆ มันจะทรงตัวได้ดีมาก เมื่อจิตทรงตัวได้ดีมากเวลาตาย ตายในระหว่างปฐมฌาน ถ้าหากว่าเราได้ฌานอย่างหยาบ เราก็เกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๑ ถ้าเป็นฌานอย่างกลางเราก็เป็นพรหมชั้นที่ ๒ ถ้าเป็นฌานอย่างละเอียดก็เป็นพรหมชั้นที่ ๓ ีนี่พูดกันถึงด้านโลกียวิสัย เป็นฌานโลกีย์

ถ้าอารมณ์เข้าถึงปฐมฌานแบบนี้ ถ้าเราพิจารณาอย่างตอนต้นแบบง่ายๆ ถึงอัตภาพร่างกายนี้ มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา เราไม่ยึดมั่นถือมั่นในร่างกาย มันจะป่วยมันจะแก่ มันจะตายก็ช่างมัน ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ใครจะนินทาใครจะสรรเสริญเราไม่สนใจ ความร่ำรวยมีเท่าใด มันยากจนอย่างไร ก็ช่างมันหากินไปตามหน้าที่ มีมากกินมาก มีน้อยกินน้อย ถือว่ามีมากก็ตาย มีน้อยก็ตาย มีมากก็แก่ มีน้อยก็แก่ มีมากก็ป่วย มีน้อยก็ป่วย มีมากก็กลุ้ม มีน้อยก็กลุ้ม มันก็ไอ้กลุ้มเหมือนกัน สิ่งทั้งหลายเหล่านี้นั้น มันเป็นของธรรมดา เราทำใจให้สบาย

ถ้าจิตใจของเราไม่ยึดมั่นถือมั่นในร่างกาย เห็นว่าร่างกายมีความเกิด มีความแก่เจ็บตายไปในที่สุด เป็นของธรรมดา มีอารมณ์แรงกล้า คือยอมรับนับถือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างมั่นคงมีศีลบริสุทธิ์ มีอารมณ์รักพระนิพพานเป็นอารมณ์ นี่แค่ปฐมฌานทำได้แล้วขนาดนี้ เพราะกำลังของปฐมฌานมีกำลังพอที่จะตัดกิเลส อย่างนี้องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์เรียกว่าพระโสดาปัตติผล ถ้าอารมร์ใจของเราเข้าถึงความเป็นพระโสดาบันหรือโสดาปัตติผลนั่นเอง อารมณ์จิตมันก็จะไม่ตกต่ำ ไม่เคลื่อนไปอบายภูมิ ถ้าเราตายจากความเป็นมนุษย์ มีเกิดเป็นมนุษย์บ้างเป็นเทวดาบ้างสลับกันไป ถ้าได้พระโสดาอย่างหยาบ ก็เกิดเป็นมนุษย์อีก ๗ ชาติแล้วไปนิพพาน เป็นพระโสดาบันอย่างกลางก็เกิดเป็นมนุษย์อีก ๓ ชาติ เป็นพระโสดาบันอย่างละเอียดก็เป็นมนุษย์อีก ๑ ชาติ นี่พูดกันถึงตามหลักการที่เราจะได้พระโสดาบันหรือจะไม่ได้พบพระพุทธเจ้า อย่าลืมว่าพระโสดาบันทรงคุณธรรมเพียงสามประการเท่านั้น คือนึกอยู่เสมอว่าเราจะต้องตายเป็นปกติ เห็นความเกิด ความแก่ ความกลัดกลุ้มใดๆ ก็ตามมันเป็นของธรรมดา แต่ความโลภอยากรวยยังมีอยู่ ความอยากสวยยังมีอยู่ ความโกรธยังมีอยู่ ความหลงยังมีอยู่ แล้วความอยากสวยอยากรวยอยากโกรธอยากหลงมันอยู่ในขอบเขตของศีล อยากสวยก็สวยโดยไม่ผิดศีล อยากรวยได้มาโดยไม่ผิดศีล ไม่คดไม่โกงใคร โกรธได้แต่ทำร้ายใครเขาไม่ได้กลัวศีลขาด ยังหลงในร่างกายว่าเป็นเรา เป็นของเรา มีอยู่แต่ว่ารู้อยู่เสมอว่าเราจะต้องตาย จิตใจมันปล่อยได้ งานทุกอย่างทำตามหน้าที่แล้วมีอารมณ์ยอมรับนับถือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มีศีลห้าบริสุทธิ์ มีอารมณ์รักพระนิพพานเป็นปกติ นี่แค่นี้เองพระโสดาบัน

ถ้าจะพูดย่อให้สั้นลงมา องค์พระโสดาบันก็คือ

๑) มีความเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อย่างแน่นอน

๒) มีศีลห้าเป็นปกติ ศีลห้าไม่ขาด

อาการของพระโสดาบันก็คือชาวบ้านชั้นดี การปฏิบัติแบบนี้เพื่อจะเข้าถึงพระโสดาบันมันเป็นของไม่ยาก

เอาละต่อแต่นี้ไปบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย พยายามตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่นกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘