อริยสัจโดยย่อ


ต่อไปนี้เป็นเวลาที่ท่านทั้งหลายจะเจริญสมาธิจิตและวิปัสสนาญาณ สำหรับวันนี้ก็จะขอพูดอริยสัจย่อเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ความจริงเรื่องใจนี่เราบอกให้เตือนกันมาทุกวัน แต่ทว่ายังมีบางท่านลืมเตือนตลอดจนกระทั่งลืมกาลลืมสมัยไม่รู้กาลอันใดควรอันใดไม่ควร อันนี้ก็เป็นที่น่าสลดใจอย่างยิ่ง คือว่าคำสอนตลอดพรรษาไม่มีประโยชน์ จงรู้ตัวไว้ด้วยว่าการทำอะไรไม่รู้กาลไม่รู้สมัย มันเป็นโทษสำหรับตัวเอง คือเป็นคนขาดเสน่ห์สำหรับตนเอง คือไปอยู่สังคมไหนเขาก็รังเกียจ ไม่ว่าไปอยู่กลุ่มไหนทั้งหมดไปอยู่ในกลุ่มบัณฑิตๆ ก็รังเกียจ ไปอยู่กลุ่มโจรๆ ก็รังเกียจ นี่เราจะดีได้อีกมุมหนึ่งก็คือ กาลัญญุตา รู้จักกาลรู้จักสมัย เมื่อเวลาใดควร เวลาไหนไม่ควร ปริสัญญุตา รู้จักบริษัท คือ คณะของบุคคล กิจที่เราจะทำ คำที่เราจะพูด ในบุคคลนั้น คณะนั้น เวลานั้น จะควรหรือไม่ควร อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ และจริยาที่เราพึงปฏิบัติก็เหมือนกัน ดูกาล ดูสมัย ดูบริษัท ดูคณะบุคคล ถ้าเราทำตนไม่เหมาะสมกับกาลสมัยก็กลายเป็นแกะดำในกลุ่มนั้นไป นี่บรรดาท่านทั้งหลายที่จะอยู่ต่อไปก็ดีหรือว่าจะสึกก็ดี จงใคร่ครวญเรื่องนี้ไว้เป็นเรื่องสำคัญและเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการปฏิบัติเพื่อการอยู่เป็นสุข ถ้าเรากลายเป็นคนที่ไม่รู้กาลไม่รู้สมัยไม่รู้บริษัท คือหมู่คณะหรือบุคคลว่ากาลใดมันควรหรือไม่ควร การใดที่ไม่ควรเราทำก็จะเป็นเป็นเครื่องแสลงใจของบุคคลบริษัทหรือหมู่คณะเหล่านั้น นี่ก็เป็นภัยใหญ่สำหรับเรา พอที่จะได้กินข้าวเลยไม่ได้กิน ถ้าจะไปอาศัยที่พักนอนเขาก็เลยไม่ให้พักไม่ให้นอน ไม่ให้อาศัยมันเป็นภัยใหญ่คือ ความเดือดร้อนของเราเอง คือการที่จะทรงตัวอยู่อย่างเป็นสุข ก็ต้องรู้จักระมัดระวัง รู้จักกาลรู้จักวาระ รู้จักเวลาที่เราจะต้องพูด ควรพูดหรือไม่ควรพูด กิจที่เราควรทำหรือไม่ควรทำ พระวินัยเราฟังกันมาทุกวันจะดีได้เหมือนกัน แต่ทว่าเข้าใจว่าฟังเข้าหูซ้ายแล้วก็ออกหูขวา บางทีก็เลยหัวไปเลย จำอะไรไม่ได้ นี่มันเป็นโทษใหญ่สำหรับเราเอง นี่เราจะพิสูจน์กันได้ว่าท่านทั้งหลายจะสนหรือไม่สนใจในธรรมวินัย กรรมฐานทำทุกคืน เช้ามืดก็มีกลางวันก็มี และตอนเย็นมีพระวินัย แต่ทว่าพวกเราก็ยังไม่สนใจ แต่จริยาที่ประพฤติปฏิบัติออกมามันเป็นการไม่สมควรนั่นเป็นอาการแสดงออกชัดว่า เราบวชเข้ามาในศาสนาขององค์สมเด็จพระทรงสวัสดิโสภาคย์นี่สักแต่ว่าบวชเท่านั้น ไม่ได้ตั้งใจบวชด้วยดี อย่างนี้บวชแล้วเอานรกไป ไม่ได้เกิดแม้แต่มนุษย์ เกิดมาอย่างไรเล่า ปฏิบัติตนไม่ครบถ้วนไม่มีใจสนใจในธรรมวินัย ความเป็นพระมันก็ไม่ปรากฏ ในเมื่อความเป็นพระไม่มี แต่แต่งกายอย่างพระมันก็มีอเวจีเป็นที่ไป ขอท่านทั้งหลายจงระวังใครที่มีจิตบกพร่องไม่สนใจในพระธรรมวินัย และยังปรารถนาจะอยู่ในเขตพระพุทธศาสนาต่อไปก็ตั้งใจปฏิบัติในพระธรรมวินัยให้มันครบถ้วน เวลากาลที่ผ่านมาเป็นเวลา ๓ เดือน นี่มันควรแล้ว สำหรับเก่ายิ่งกว่านั้นก็ยิ่งร้ายไปใหญ่ คือเป็นเวลาสมควร คอเวลาปฏิบัติกัน ๓ เดือน นี่ตามปกตินี่มันเลยฌาน ๔ กันไปไหนๆ ว่ากันถึงด้านสมถภาวนา สำหรับผู้ทรงฌานโดยมากเขาไม่เผลอ ในด้านจริยาที่เป็นกุศลและอกุศล แต่ความบกพร่องก็ยังมีอยู่บ้างสำหรับผู้ทรงฌานแต่ก็น้อยเต็มที่

ต่อแต่นี่ไปเรามาพูดกันถึงเรื่องอริยสัจย่อ พระอัสสชิ แสดงกับพระสารีบุตรว่า ธัมมา เหตุปัปภวา เตสัง เหตุง ตถาคโต เต สัญจะโย นิโรโธจ เอวัง วาที มหาสมโณ ซึ่งแปลเป็นใจความว่า ธรรมใดเกิดแต่เหตุ พระพุทธเจ้าตรัสเหตุแห่งธรรม และความดับแห่งธรรมนั้น พระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้ นี่เพียงธรรมะหัวข้อย่อเพียงเท่านี้ พระสารีบุตรเมื่อเป็นปริพาชกฟังจบก็ได้พระโสดาบัน จึงกลับไปหาพระโมคคัลลานะที่เป็นปริพาชกร่วมกัน บอกว่าเวลานี้เราได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว พระโมคคัลน์จึงว่าได้อย่างไรจงว่าให้ฟังซิ ท่านเลยว่า ธรรมใดเกิดแต่เหตุ พระพุทธเจ้าตรัสแห่งธรรมนั้น และความดับของธรรมนั้น พระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้ พอฟังเพียงเท่านี้พระโมคคัลน์ก็ได้พระโสดาบัน ง่ายไหมบรรดาท่านทั้งหลาย รู้สึกว่าเขาได้กันง่าย เพราะท่านทั้งหลายเหล่านั้นเป็นผู้สนใจเป็นปกติ การบวชของท่านมุ่งหวังอย่างเดียว คือ โมกขธรรม ธรรมอันเป็นเครื่องหลุดพ้น หลุดพ้นจากความเกิด

เหตุที่ท่านทั้งหลาย จะบวชก็เพราะว่าวันหนึ่งท่านไปดูมหรสพ ความจริงท่านดูทุกวันเสมอมา องค์หนึ่งมีบริวาร ๒๕๐ คนเป็นลูกมหาเศรษฐีด้วยกันทั้งคู่ รวมสององค์มีบริวาร ๕๐๐ เวลาไปดูมหรสพชอบใจก็ให้รางวัล มีอาการรื่นเริงหรรษา แต่ว่าวันนั้นเป็นประหลาด ท่านทั้ง ๒ นั่งดูมหรสพทั้งวัน เขาก็แสดงดี แต่ว่าทั้งสององค์ปรากฏว่ามีจิตสลดอยู่ตลอดเวลา เมื่อมหรสพจบแล้ว การแสดงเลิกแล้ว ท่านอุปติสสะ คือ พระสารีบุตร จึงได้ถามท่าน โกลิตะ คือพระโมคคัลลาน์ว่า ทำไมเวลานี้หงอยเหงา ไม่รื่นเริงเหมือนวันก่อน ท่านโกลิตะ จึงถามท่านอุปติสสะ คือ พระสารีบุตรว่า ท่านก็เหมือนกันวันนี้ทำไมจึงไม่รื่นเริง เรานั่งดูมหรสพทุกวันจิตใจเรารื่นเริง แต่วันนี้จิตใจมันประหลาด มานั่งดูไปดูมาว่า นักแสดงเหล่านี้นี่ไม่ช้าก็ตายหมด คนที่มาดูมหรสพนี่ไม่ช้าก็ตายทั้งหมด เรานี่ไม่ช้าก็ตายเหมือนกัน เพราะชีวิตมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปแก่ลงไปในชั้นกลางและมีความตายในที่สุด ที่นี้เมื่อคนเราเกิดแล้วตายเหมือนกันหมด ที่นี้เมื่อความตายมีอยู่ ธรรมที่ทำให้บุคคลเกิดแล้วตายมี ธรรมที่ทำให้บุคคลเกิดแล้วไม่ตายก็ต้องมีอยู่ เราทั้งสองไปแสวงหาธรรมที่ทำให้บุคคลเกิดแล้วไม่ตายดีไหม เลยท่านขี้เกียจตายกัน เพราะว่าตายแล้วมันก็เกิดใหม่ เกิดแล้วมันก็ลำบากลำบนแล้วก็ตาย เวลานั้นท่านยังไม่พบพระพุทธเจ้า ธรรมะก็เกิดขึ้นกับใจ นี่เป็นเรื่องของคนมีปัญญา คนมีปัญญาเขาคิดอย่างนี้ เขาคิดหาความเป็นจริง วิปัสสนาญาณหรือว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ได้อยู่ในตำรา อยู่กับความเป็นจริง ถ้าจิตใจของเราเข้าถึงความเป็นจริง ก็ชื่อว่าจิตของเราเข้าถึงธรรมะของพระพุทธเจ้า นี่เมื่อท่านทั้งสองตกลงกันแล้วก็กลับบ้านมาจะมาบอกพ่อแม่ ทั้ง ๒ ฝ่าย บอกว่าจะแสวงหาธรรมที่จะให้ไม่ตาย พ่อแม่ก็ดีใจหายอนุญาต ท่านก็พาบริวารของท่านองค์ละ ๒๕๐ เป็น ๕๐๐ ด้วยกัน รวมแล้ว ๕๐๒ ท่านออกจากสำนักไปหาธรรมที่ไม่ตาย คือโมกขธรรมเป็นเครื่องพ้น พ้นจากความตาย ก็ไปพบพระอาจารย์ใหญ่เขาองค์หนึ่ง คือ สัญชัยปริพาชก ท่านเป็นคณาจารย์ใหญ่ สอนลูกศิษย์ลูกหามาก ท่านพระโมคคัลลาน์และพระสารีบุตร คือท่านอุปติสสะและท่านโกลิตะ ทั้ง ๒ ท่านนี้ก็เข้าไปอยู่ในสำนักนั้นพร้อมด้วยบริวาร ๕๐๐ ท่านเป็นลูกมหาเศรษฐี เมื่อทั้ง ๒ ท่านมาอยู่พวกพ้องบริวารคนที่เขาเคารพนับถือบูชาสำนักนี้มาก ทำให้เจ้าของสำนักร่ำรวยไปด้วยลาภสักการะ เป็นที่ชอบใจของคณาจารย์ ต่อมาเมื่อท่านเรียนจบในสำนักของท่านสัญชัยปริพาชกแล้วก็พิจารณาดูว่า นี่ไม่ใช่ธรรมเป็นเครื่องพ้นจากความตาย คนที่เขามีปัญญาเขาทำกันแบบนี้ เขาคิดกันแบบนี้ ไม่ใช่ฟังส่งเดช ฟังไปฟังมาฟังจนชินจนไม่ได้ฟัง ฟังแล้วก็ไม่ได้สนใจ ในที่สุดสามเดือนแล้วก็เอาดีอะไรไม่ได้ แต่ที่ดีก็มีเยอะก็ไม่รู้กาลรู้สมัยก็มี นี่น่าสลดใจอย่างยิ่ง

นี่ท่านใช้ปัญญาพิจารณาว่าสัญชัยปริพาชกบอกว่าจบแล้วอย่างนี้เป็นพระอรหันต์ แต่ว่าท่านทั้ง ๒ บอกว่าไม่ใช่อย่างนี้ไม่ใช่พระอรหันต์ เราแสวงหาต่อไปกันดีกว่า ท่านทั้งสองจึงนัดหมายกันว่าถ้าใครพบธรรมที่เป็นเครื่องพ้นจากความตายนี่ต้องมาบอกกัน ก็พอดีพระสารีบุตรเดินออกไปหลังบ้าน ไปในระหว่างทาง เวลานั้นพระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลกใหม่ๆ เทศน์สอนปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ มีท่านอัญญาโกญทัญญะ ท่านวัปปะ ท่านมหานามะ ท่านภัททิยะ และท่านอัสสชิ เป็นพระอรหันต์ ๕ องค์ ๖ องค์ทั้งพระพุทธเจ้าเมื่อเป็นพระอรหันต์แล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วก็ทรงส่งท่านทั้ง ๕ นี่ไปประกาศพระศาสนา แต่ไปคนเดียว สายหนึ่งคนเดียว ไม่ให้ไปด้วยกันเพราะมีบริษัทน้อย พอดีพระอัสสชิเดินไปทางนั้น ไปบิณฑบาต ท่านอุปติสสะหรือท่านสารีบุตรเห็นพระอัสสชิเดินสงบเสงี่ยมมีความสำรวมทอดจักษุแค่ชั่วแอก มีลีลาแห่งการเดินสำรวมจึงคิดว่าสมณะ องค์นี่น่าเคารพ น่าเลื่อมใส น่าบูชา น่าไหว้ เราอยากจะทราบว่าท่านเป็นสาวกของใคร ถ้าจะถามเวลาเดินไปบิณฑบาตก็เห็นจะเป็นการไม่สมควร นี่คนที่มีปัญญาเป็นคนรู้กาลรู้สมัย ไม่ใช่นึกว่าอยากจะทำอะไรก็ทำส่ง ก็รอเวลาท่านกลับ นั่งคอยอยู่ทางนั้นนึกว่า ถ้าท่านมาทางนี้ก็ต้องกลับทางนี้ พอพระอัสสชิท่านกลับก็กลับทางนั้น ท่านพระสารีบุตรก็เข้าไปไหว้ ยกมือไหว้ว่าท่านพระคุณเจ้าข้า ท่านเป็นสาวกของใคร ท่านชอบใจธรรมของใคร พระศาสดาของท่านสอนว่าอย่างไร

พระอัสสชิท่านเป็นพระอรหันต์รุ่นแรกมีความสำคัญ มองหน้าอุปติสสะปริพานหรือพระสารีบุตรทราบชัดได้ทันที ว่าปริพาชกคนมีความฉลาดมาก ถ้าเราพูดมากไปถ้าจะไม่สมควร เราจะต้องพูดคำโดยย่อ ท่านก็กล่าวว่า เราเป็นสาวกของพระสมณโคดม พระพุทธเจ้าทรงเป็นศาสดาสอนเราๆเป็นผู้ใหม่ในศาสนา เราจะกล่าวเนื้อความยาก็เป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นเนื้อความโดยย่อละก็พอได้ ความจริงท่านถ่อมตัว พระอรหันต์พูดยาวไม่ได้ ไม่มี พระสารีบุตรก็กล่าวว่าท่านจะกล่าวเนื้อความยาวเพื่อประโยชน์อะไร เราต้องการเนื้อความย่อ พระอัสสชิท่านจึงกล่าวว่า เย ธัมมา เหตุปัปภวา เตสํ เหตุง ตถาคโต เตสญจ โย นิโรโธ จ เอวังวาที มหาสมโณ ว่าธรรมใดเกิดแต่เหตุ พระพุทธเจ้าตรัสเหตุของธรรมนั้น และความดับของธรรมนั้น พระพุทธเจ้าทรงตรัสอย่างนี้ พอท่านฟังจบท่านก็เป็นพระโสดาบัน ธรรมปิติก็เกิด จึงถามว่าเวลานี้พระศาสดาของเราอยู่ที่ไหน พระอัสสชิก็บอกว่าพระองค์เสด็จอยู่ที่เวฬุวันมหาวิหาร ฉะนั้น พระอัสสชิก็หลีกไป

พระสารีบุตรก็ลากลับ จึงนำพระโมคคัลลาน์ และบริษัทอีก ๕๐๐ ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พอพระพุทธเจ้าเห็นเข้าเท่านั้นก็ประกาศกับพระสงฆ์ทั้งหลายว่า อัครสาวกทั้ง ๒ ของเรามาแล้ว พอเข้าไปพระพุทธเจ้าก็เทศน์อริยสัจย่อตามเดิม ตามนิสัยเดิม แต่คราวนี้เห็นจะเทศน์พิสดารกว่าปกติอยู่สักหน่อย คือว่าเวลาที่พระองค์เทศน์ก็บอกว่า เย ธัมมา เหตุปัปภวาเหมือนกัน ธรรมใดเกิดแต่เหตุ ทรงตรัสเหตุของธรรมนั้น และความดับของธรรมนั้น ก็หมายความว่าอาการเกิดของเราทุกคนมาจากกิเลส ความเศร้าหมองของใจ ความอยาก ตัณหาความทยานอยาก ความอยากทุกอย่าง อยากได้โน่นอยากได้นี่ อยากเป็นอย่างนั้นอยากเป็นอย่างนี้ อยากเกลือกกลั้วอยู่กับกามารมณ์ คำว่ากามารมณ์ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าคลุกคลีระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายเสมอไป อยากรวยอยากจน อยากมียศฐานบรรดาศักดิ์ อยากมีศักดิ์ศรีใหญ่ เขาเรียกว่ากามารมณ์ทั้งนั้น คืออารมณ์ที่ประกอบไปด้วยกามความใคร่มีอารมณ์ไม่รู้จักหยุด และอุปาทานตัวยึดมั่นว่านั่นเป็นของเรา ร่างกายเป็นเราเป็นของเรา นั่นลูกเราเมียเราผัวเรา ข้าทาสบริวารหญิงชายของเรา บ้านของเราและอกุศลกรรม เมื่อจิตมันเลวเสียแล้วก็ทำในกรรมที่เป็นอกุศล อกุศลนี่แปลว่าบาป กุศลแปลว่าฉลาด อกุศลก็แปลว่าโง่ ไม่ฉลาด ก็ประกอบกรรมที่เป็นอกุศล คือ โง่ๆ กอบโกยทุกสิ่งทุกอย่าง ปรารภตนเป็นสำคัญ ไม่ได้ปรารภการปลดเปลื้องความทุกข์ ความทุกข์ก็มาหาตัว

ความจริงในพระพุทธศาสนานี่ก็สอนให้เข้ามาหาตัวอย่างเดียว ตัดภายนอกออกไปให้หมดเหลือแต่กาย เอกายโน อยัง ภิกขเว มัคโค สัตตานัง ทางเป็นทางสายเดียวเป็นทางเอก เป็นทางหมดทุกข์ เป็นทางที่เข้าถึงซึ่งพระนิพพาน หมายความว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนว่าเราคนเดียวนี่เราไม่มีใคร ในโลกนี้ถ้าเราบอกว่า มีพ่อมีแม่ มีพี่มีน้อง มีผัวมีเมีย มีลูกมีหลาน มันจริงตามสมมติ แต่เนื้อแท้จริงๆเราคนเดียว เราหิว หิวคนเดียว ไม่มีใครเขาหิวด้วย บางทีเราหิวเกือบตายชาวบ้านเขายังไม่หิว เขานั่งคุยหัวเราะกัน ฮาๆ เราไปไม่ไหวแล้ว หิวจัด นี่แสดงว่าโลกนี้มีเราคนเดียว ป่วยก็ป่วยคนเดียว พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ญาติพี่น้อง ข้าทาสหญิงชาย เพื่อนฝูงมาเยี่ยมกันเป็นกลุ่มเขาไม่ยอมป่วยกับเราด้วย นี่เราเป็นผู้เดียว ป่วยเราก็ป่วยคนเดียว เวลาตายเราก็ตายคนเดียว คนที่เรารักหรือหวงแหนถือว่าเป็นเราเป็นของเราก็ไม่ยอมมาป่วยด้วย ไม่ยอมมาตายพร้อมกับเรา ที่นี้เราจะตกนรกเราจะขึ้นสวรรค์เราก็เป็นบุคคลคนเดียว ถ้าเราทำความชั่วเราก็ตกนรกคนเดียว ทำความดีไปสวรรค์ไปพรหมโลกไปนิพพานคนเดียว คำว่าคนเดียวในที่นี้เราเป็นแต่เพียงตัวคนเดียว พระพุทธเจ้าว่า ร่างกายนี้ผู้เดียวสำหรับเรา ยังสอนตัดเข้าไปอีกว่าร่างกายนี้ก็ไม่ใช่ของเรา มันเป็นเรือนร่างที่เราอาศัยอยู่ชั่วคราวเป็นบ้านเช่าเท่านั้น กิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม สร้างขึ้นมาให้เราเช่าชั่วคราว และมันก็อยู่ได้ไม่นาน ไม่มีการทรงตัว ทรุดโทรมอยู่ตลอดเวลา ไม่ช้ามันก็พัง ถึงเวลาแล้วมันก็ไล่เราออกจากบ้านไป ปล่อยเอาไฟเผาบ้านเสียอีก หรือไม่งั้นก็เอาบ้านไปฝังดิน นี่พูดถึงตาย

เราคือใคร เราคือจิตที่ติดอยู่ในบ้านหลังนี้ คือร่างกาย พระพุทธศาสนาท่านสอน ให้ตัดภายนอกมาเหลือแค่กาย ตัดกายออกไปเหลือแค่ใจเราคือใจเท่านั้น ในเมื่อร่างกายของเราจะดีขึ้นมาได้มันก็ต้องอาศัยเหตุเป็นปัจจัย ธรรมใดเกิดแต่เหตุพระพุทธเจ้าตรัสเหตุของธรรมนั้น การเกิดที่มันจะปรากฏ เราไม่ต้องการความเกิดอีก เพราะความเกิดมันปรากฏขึ้นมาได้ก็เพราะอาศัยกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม อันนี้ฟังยากนิด จะให้ง่ายขึ้นมาอีกหน่อยก็เกิดจากความโลภ ความโกรธ ความหลง โลภอยากเกิดใหม่ก็โลภอยากมีผัวอยากมีเมีย อยากมีลูก อยากมีทรัพย์สินทั้งหลาย อยากอะไรต่ออะไรจิปาถะอย่างชาวโลก เรียกว่าโลภะ แปลว่าอยากได้

ที่นี่อยากได้ในส่วนที่สร้างความเกิดให้ปรากฏ ปัจจัยใดมันเป็นปัจจัยแห่งความทุกข์ใจเราชอบแบบนั้น อยู่คนเดียวสบายๆไม่ไหวมันเหงา ต้องหาคู่ครอง พอได้คู่ครองมาก็แสนลำเค็ญละที่นี่ พ่อเทวดาแม่นางฟ้าถ้าดีก็ดี ถ้าไม่ดีก็กลุ้มใจตาย เขาบอกว่าปลูกเรือนผิดคิดจนเรือนทลาย มีผัวมีเมียผิดคิดจนผัวตายหรือไม่ต้องหาใหม่ มีความช้ำใจความลำบากใจมันเกิดขึ้นในระหว่างการครองคู่ มีผัวมีเมียแล้วยังไม่พอ ยังอยากมีลูกกันต่อไป พ่อเทวดาแม่นางฟ้าเล็กๆ โผล่ขึ้นมาเจ้าพ่อเจ้าแม่ก็นอนไม่ค่อยได้แล้ว ดีไม่ดีตอนดึกๆ นอนกำลังสบายๆ พ่อเทวดาแม่นางฟ้าโผล่ขึ้นมาแล้ว ขี้แตกไม่สบายขึ้นมาเจ้าแม่ก็ต้องลุกขึ้นมา เจ้าแม่ก็ต้องลุกจากตื่น ง่วงเหงาหาวนอนเพียงใดก็ตามที เพราะความรักลูกมันจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน ยอมลำบากทุกอย่าง นี่เพราะความรักลูกเป็นสำคัญนี่เราต้องการแบบนี้ มันเป็นตัณหาหรือว่าโลภะความโลภมันเป็นตัวอยาก ถ้าอยู่คนเดียวมันจะมีหรือ มันก็ไม่มี คนเดียวจะกินเมื่อไรจะนอนเมื่อไรก็ไม่มีใครว่า

แต่ว่าคนเดียวนี่มันก็ยังไม่ดีมันก็ยังมีความทุกข์ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงกล่าวว่า ความทุกข์เกิดจากตัณหา คือความอยาก อยากรวย อยากมีคู่ครอง อยากมีทรัพย์สิน มีบ้าน มีช่อง อยากโกรธพิฆาตเข่นฆ่า อยากเหมือนกันหมด ถ้าหากว่าเราจะตัดความเกิดให้ได้ ความอยากตัวนี้มันทำให้เกิด ธรรมใดเกิดแต่เหตุพระพุทธเจ้าตรัสเหตุของธรรมนั้น แลความดับของธรรมนั้น ก็ต้องตัดตัวอยากเสีย ให้เข้าถึงความดับความโลภเสีย หากินโดยสัมมาอาชีวะ แต่คิดอยู่เสมอว่าทรัพย์สินทั้งหลายหามาได้นี่มันเป็นเครื่องพยุงกายเท่านั้น แต่มันก็พยุงไม่ได้ดี มันถึงแค่บรรเทาทุกขเวทนา เวลามาถึงมันก็ห้ามความตายของเราไม่ได้ เมื่อความตายมันเข้ามาถึง ความป่วยไข้ไม่สบายมันจะเข้ามาถึง ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจมาถึง ทุกข์ต่างๆ จะเข้ามาถึง ทรัพย์สินต่างๆ ช่วยเราไม่ได้เลย เวลาตายไปนี่ หนวดเส้นหนึ่งก็เอาไปไม่ได้ เราก็คิดไว้เสมอว่าเวลาเรามีชีวิตอยู่สัตว์ทั้งหลายต้องการอาหารเลี้ยงชีพ นี่เราก็ต้องหาทรัพย์สินมาเพื่อเป็นการใช้ประโยชน์ในการพยุงตัว เป็นการระงับเวทนา แต่เราจะไม่ยึดว่าทรัพย์สินทั้งหลายเหล่านี้ทั้งหมดที่ปรากฏเราหามาได้เป็นเราเป็นของเรา ว่าเราจะอาศัยมันได้เมื่อร่างกายทรงอยู่เท่านั้นตายแล้วก็เลิกกัน มีทรัพย์กี่ล้านกี่โกฏิก็ตามทีตายแล้วใช้ไม่ได้ ที่สำนักพญายมจะไปเสียแป๊ะเจี๊ยะเขาก็ไม่เอา แล้วเราก็แบกไปไม่ได้ด้วย ธรรมแบบนี้มันทำให้เราเกิดแล้วก็ตาย

การพ้นจากความตายเราก็ละความอยากไปเสีย อะไรก็ตามถือว่าทำตามหน้าที่เป็นพ่อบ้านแม่เรือนต้องหาทรัพย์สินมาเพื่อเป็นการประคับประคองการทรงตัวเราก็ต้องหาไม่ใช่ไม่หา พระพุทธเจ้าไม่เคยห้ามหา หามาแล้วจงอย่ายึดถือเป็นสำคัญ เราต้องเก็บรักษาเป็นที่อาศัยในขณะที่มีชีวิตอยู่ ตายแล้วก็เลิกกัน นั่งนึกอยู่เสมอว่าเจ้าทรัพย์สินกับเรานี่ไม่ช้ามันก็เลิกกัน เลิกคบกันต่อไป เราตายแล้วมันไม่ไปกับเรา ทำใจให้สบายไม่ติดอยู่กับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ไม่เมาในชีวิต คิดว่าเราจะตาย คิดไว้อยู่เสมอว่าร่างกายนี้ไม่ช้ามันก็พัง มันทรงอยู่ด้วยอาการของความเป็นทุกข์ เมื่อตายแล้วจิตเรายังเกาะในกิเลส ตัณหา อุปทาน และอกุศลกรรม กิเลสคือความเศร้าหมองของจิต มีความโลภ เป็นต้น ตัณหามีความทะยานอยากตามที่กล่าวมา อุปทานยึดมั่นว่าเรากับมันจะทรงตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่จากกัน และอกุศลกรรมเป็นการทำแบบโง่ๆ เป็นการสร้างกิเลส ตัณหาอุปาทาน เราตัดโยนทิ้งไป ในเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วมันต้องตายมันมีความลำบาก เราก็เชื่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ธรรมคือตัณหานี่มันเป็นตัวแห่งความทุกข์ เราไม่เอามันต่อไป ถ้าเราละตัณหาได้ทุกข์ก็ไม่มีสำหรับเราต่อไปทั้งในชีวิตปัจจุบันและสัมปรายภพ เมื่อตัณหาความอยากความทะเยอทะยานได้เสียแล้ว ใจมันก็สบาย อะไรจะมาในรูปไหนก็ถือเป็นกฎธรรมดา มีความเข้าใจทุกอย่าง ใช้ปัญญาพิจารณาหาความจริง สิ่งที่ประสบมันมีอยู่ทุกวันสำหรับเรา เห็นเด็ก เห็นคนหนุ่มคนสาว เห็นคนวัยกลางคน เห็นคนแก่เห็นคนตายอยู่ตลอดเวลา ให้ถือว่าร่างกายนี้มันไม่ดี มันเป็นทุกข์ มีการเสื่อมโทรม มีการตายไปในที่สุด เราไม่เอากับมันต่อไป เลิก

วิธีเลิกทำอย่างไร ก็ให้ทานเป็นการตัดความโลภ รักษาศีลเป็นการตัดโทสะ เจริญภาวนาเป็นการค้นคว้าหาความจริงในการวางขันธ์ห้าเสีย คิดว่าร่างกายนี้เราไม่ต้องการมันเป็นโทษ ขึ้นชื่อว่าร่างกายอย่างนี้ ต่อไปภายหน้าจะไม่มีสำหรับเรา เราไม่สนใจในมัน มันจะแก่ก็เชิญแก่ รู้ตัวอยู่แก่ก็ดี มันจะป่วยก็เชิญป่วย ป่วยก็ดี ภาวะมันเป็นอย่างนี้ห้ามมันไม่ได้ ก็ดีมันเสียส่งไปเลย ใจมันจะได้สบาย นี่พระอรหันต์ท่านคิดอย่างนี้ มันป่วยก็ธรรมดาของการป่วย แต่ว่าท่านก็นึกว่ามันจะป่วยก็ป่วยไปซิ เราใช้เวลาไม่ถึงร้อยปี เราก็พ้นมันไปแล้วนี่ ไปนิพพาน ถ้ามันจะตายก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา มันจะหายก็หายไป มันพังก็พังไป มันเกิดมาเพื่อพัง มันมีอยู่เพื่อพัง เราหามาได้เมื่อหายหกตกหล่น มันจะหายไปก็ช่างมัน ใจมันก็สบาย พอใจสบายอย่างนี้แบบนี้ในวัตถุภายนอกเข้ามาถึงกาย ว่ากายนี่มันแก่แบบนี้ มันป่วยแบบนี้ไม่เอามันอีกแล้ว ไม่ช้ามันก็ตาย ถ้ามันตายแล้วเราเลิกไม่ต้องการมันอีก ขึ้นชื่อว่าขันธ์ห้าที่มันประกอบไปด้วยธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ จะไม่มีสำหรับเรา ไม่ว่าเป็นขันธ์ห้าที่มันประกอบไปด้วยธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ จะไม่มีสำหรับเรา ไม่ว่าจะเป็นขันธ์ประเภทไหนก็ตาม แม้แต่ทรงกายอยู่ในขั้นทิพย์อย่างต่ำ คือพรหมหรือเทวดาอย่างนี้เราไม่ต้องการ เพราะไม่เป็นแดนของความพ้นทุกข์ แดนที่มีความพ้นทุกข์ มีความสุขอย่างยิ่งมีแดนเดียว คือแดนของพระนิพพาน

เราก็ตั้งใจให้ทาน เป็นจาคานุสสติกรรมฐาน เป็นอารมณ์ คิดจะสงเคราะห์เมตตา แผ่ความดีให้กับคนและสัตว์ที่มีความทุกข์ให้มีความสุขเท่าเทียมเท่าที่จะทำได้

กรุณา มีความสงสารเอื้อเฟื้อตลอดเวลา

มีศีลบริสุทธิ์ผ่องใส

มีกำลังใจแจ่มใสทรงฌานสมาบัติ มีอารมณ์นิ่ง มีอารมณ์ทรงตัว ฟังอะไรครั้งเดียวจำได้ เพราะนึกอยู่ การทรงฌานนี่จิตทรงนี่เขาไม่ต้องเกณฑ์กันหรอก ฟังคราวเดียวกี่ร้อยปีจิตมันก็จำได้จิตมันก็ทรงตัว นึกได้อยู่เสมอ

และมีสติสัมปชัญญะ รู้กาลที่ควรหรือไม่ควร นี่ลักษณะของผู้ทรงฌาน คือจิตใจมันไม่รุ่มร่ามมันไม่ฟุ้งมันไม่เฟ้อ จิตใจมันอยู่ในขอบเขตของสมาธิจิต คือ สติสัมปชัญญะ

เมื่อจิตทรงอารมณ์ฌาน มีอารมณ์แจ่มใส มีอารมณ์เข้มแข็ง มันก็เห็นอริสัจ ว่าเกิดเป็นทุกข์ แก่เป็นทุกข์ ตายเป็นทุกข์ การพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นทุกข์ อยากโลภ อยากโกรธ อยากหลง ไม่อยากเสียอย่างเดียว ตัวโลภ ตัวโกรธ ตัวหลงมันก็ไม่มา มันก็ไม่มี

เราก็ตัดความโลภเสียด้วยการให้ทาน

ตัดความโกรธเสียด้วยการรักษาศีล

ตัดโมหะความหลง คือความโง่ด้วยการเจริญภาวนา เจริญภาวนาไม่ใช่ว่านั่งว่าอย่างนกแก้วนกขุนทอง มองดูอะไรก็ดี กลางวันก็ดีกลางคืนก็ดี ลืมตาอยู่ เห็นตึกใหม่ๆ นี่ไม่ช้ามันก็เก่าแล้วมันก็พัง ถนนหนทางเราสร้างดีๆ ไม่ช้าก็ต้องซ่อม รู้ ก็ดูร่างกายเรานี่ไม่ช้าก็พัง มันทรุดโทรมทุกวัน เห็นชาวบ้านเขาป่วย ไม่ช้าเราก็ป่วย เตรียมพร้อมเข้าไว้ไม่ใช่เตรียมพร้อมหนีป่วย เตรียมพร้อมว่าเวลาเราป่วยนี่เราจะวางอารมณ์เป็นอย่างไร อารมณ์ที่เราจะวางก็ช่างมันสิ ก็ธรรมดาของมัน การรักษาถือว่าเป็นการบรรเทาความเวทนา ไม่ใช่ตัดป่วยให้หายไป มันจะไหวก็ไหว ไม่ไหวจะพังก็ช่างมัน พังเมื่อไรก็นิพพานเมื่อนั้น เราไม่สนใจในขันธ์ห้าต่อไป

เพียงเท่านี้แหละ ท่านที่ปฏิบัติอย่างนี้ละก็ไม่ใช่ได้ดวงตาเห็นธรรม ไม่ใช่พระโสดาบันอย่างพระสารีบุตรพระโมคคัลลาน์ คือเป็นพระอรหันต์ นี่อริยสัจโดยย่อ ถ้าเราพิจารณากัน พิจารณากันแค่นี้ ไม่ต้องไปนั่งเปิดตำรากันให้เมื่อยลูกตา ของดูอยู่ตลอดเวลา ที่นั่งกันอยู่นี่อายุเท่ากันที่ไหน เดิมทีเดียวก็ออกมาจากท้องพ่อท้องแม่เป็นเด็กเหมือนกัน โตขึ้นมาเป็นหนุ่มเหมือนกัน แต่ว่าแก่ไม่เท่ากัน เกิดไม่เท่ากันนี่ ในที่สุดคนที่เคยมาคุยกับเรานี่ตายไปกี่คนแล้ว แล้วเราล่ะ จะไม่เป็นอย่างนั้นหรือ การเกิดมามีสภาพอย่างนี้มันดีหรือมันเลว มันเลวไม่ใช่ดี เมื่อมันไม่ดีแล้วจะเกิดขึ้นมาทำไมต่อไป เราไม่เกิด เราเกิดเพราะความโลภ ความโกรธ ความหลง เราไม่ต้องการความเกิด เราต้องไม่คบความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็หมดกันเท่านั้น นี่เรื่องของอริยสัจ ถ้าเราพิจารณากันจริงๆ ก็ง่ายจะตายไป

ความเป็นพระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ ไม่ใช่ของยาก ถ้าใจของเราดีพอเว้นไว้แต่อารมณ์ใจของเราจะไม่ยอมรับนับถือความดีที่องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสนาสมัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ เห็นว่าพระธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาเป็นของที่เราจะเกาะไว้หากินเท่านั้น จิตเราคิดอย่างนี้ละก็มันถึงไม่ได้พระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ เพราะว่าพระธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระจอมไตรเป็นสิ่งที่เราจะต้องปฏิบัติตามสร้างความสุข ให้จิตเราตั้งกันจริงๆ อย่างนี้ไม่เห็นใครเขาเกิน ๓ เดือน เขาเป็นพระโสดาบันกันทั้งนั้น นี่พูดถึงเอาจิตตั้งกันจริงๆ

นี่เราจะพูดถึงพระโสดาบันเรารู้ได้อย่างไร พระวินัยทุกสิกขาบท ระมัดระวังไว้เต็มที่ ถ้ามีอารมณ์เคยชิน สติของเราทรงสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา ที่นี้เราก็ดู ว่าเราจะดีตามนั้นหรือยัง ก็ดูกิจการงานที่เราทำแม้แต่ของหยาบ รู้ว่าอะไรบ้างที่จะวางแรง อะไรที่จะวางเบา อะไรจะวางที่ไหน จะยืนที่ไหน จะนอนที่ไหน จะนั่งที่ไหนถึงจะเป็นสุข ไม่ใช่นอนหลบงานนะ เวลานอนเวลาไหนควรจะนอน เวลายืนควรจะยืนตรงไหนจะเหมาะต่อหน้าผู้ใหญ่เขาห้ามยืนข้างหน้าผู้ใหญ่ห้ามยืนข้างผู้ใหญ่เกินไป และห้ามยืนข้างหลังเพราะเวลาผู้ใหญ่พูดด้วยไม่ได้ยิน ยืนเฉียงหน้าไปทงซ้ายหรือทางขวานิดหน่อยพอไม่บังทานไม่ต้องเหลียวไปหาลำบาก นี่คนมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ กิจเล็กๆน้อยๆเท่านี้ก็พึงระวัง มีความละเอียดในจิต และอารมณ์เราก็คิดรักษาเป็นปกติ ธรรมวินัยของพรสะพุทธองค์ทั้ง ๒ ประการ คือ ทั้ง ธรรมะ และวินัย ไม่ยอมข้ามแม้แต่ ๑ สิกขาบท เอาจิตกำหนดไว้แล้วด้วยดีทุกอย่างไม่ยอมให้บกพร่อง ขึ้นชื่อว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วไม่ยอมข้าม ไม่มีการแก้ไข ปกตินึกถึงความตายเป็นธรรมดา มีอารมณ์รักพระนิพพานเป็นอารมณ์ เพียงเท่านี้ก็เป็นพระโสดาบัน ไม่เห็นจะยากตรงไหน แต่ที่ยากก็เพราะเราไม่สนใจ ชินกับพระศาสนาเกินไป บวชเข้ามาแล้วไม่ได้อะไร สักแต่ว่าบวช ใครเขาพูดอะไรบ้างเรื่องเล็กฉันไม่ฟังเสียอย่างก็หมดเรื่อง ฟังแล้วฉันไม่สนใจเสียอย่างก็ไม่เป็นไร ความจริงไม่เป็นไรสำหรับผู้บอกเขาก็ไม่เป็นไร เราผู้รับมันก็ไม่เป็นไร เวลาตายแล้วถึงแน่ คือ อเวจีมหานรกสำหรับพระเป็นที่ไป พระนี่ไม่ไปไหน ไปอเวจีแน่นอน ถ้าเราอยู่ในศาสนาขององค์สมเด็จพระชินวร ถ้าเราไม่ไปปฏิบัติตาม ไม่ต้องเป็นห่วงไม่ต้องเป็นกังวลว่าเราจะไม่ได้ไปอเวจีมหานรก เพราะว่าเราเอาเพศเข้ามาหลอกชาวบ้านเขา ให้ชาวบ้านเขามาไหว้บูชา เอาของมาถวาย ท่านทั้งหลายเหล่านี้เขาถวายแก่พระรัตนตรัยเท่านั้น ไม่ใช่ถวายแก่ลูกชายบ้านที่บวชเข้ามาไม่มีศีล มีศีลไม่ครบ ไม่สนใจในพระธรรมวินัย นี่ที่เราบกพร่องขาดความเป็นอริยเจ้ากัน เราเป็นไม่ได้เพราะบกพร่องตรงนี้ คือว่าบวชสักแต่ว่าบวช คือ อุปสมชีวิกา อาศัยศาสนาเลี้ยงชีวิต นี่ขอท่านทั้งหลายจงกำหนดจิตไว้ให้ดีว่าเราบวชเพื่อมรรคผล บวชเข้ามาในศาสนาขององค์พระสมเด็จพระทศพลไม่ใช่สักแต่ว่าบวชเป็นประเพณี เราตั้งใจไว้ในเรื่องนี้ ตั้งใจไว้เสมอว่า เราจะเป็นผู้ทรงศีลบริสุทธิ์ เราจะเป็นผู้มีสมาธิตั้งมั่น คือมีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ ทำงานทำอะไรก็เหมือนกัน ไม่สักแต่ว่าทำ การปฏิบัติตามพระธรรมวินัยก็เหมือนกันไม่สักแต่ว่าทำ ถ้าหากว่าธรรมวินัยดีการงานหยาบๆที่เราทำมันก็ดีด้วย ดูได้เลยสังเกตเห็นได้เวลาทำงานนี่ ถ้าหยาบๆชุ่ยๆและก็อีกนานนัก จะได้พระโสดาน่ะ แต่ว่าอเวจีนี่ได้แน่ เพราะจิตละเอียดไม่พอนี่เป็นเครื่องสังเกตในการปฏิบัติ อะไรที่เป็นประเพณีตามคำสั่ง พอรับคำสั่งเขาจะต้องจำเวลาตามกำหนดทันที ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ไม่ใช่รับคำสั่งแล้วทำเฉย ไม่รู้ไม่ชี้เสียอย่างนี้ เราก็สังเกตได้ว่านี่เราลงอเวจีไปแค่ไหนแล้วไม่รู้ เมื่อไรเราจะขึ้นเสียที เราจะขึ้นจากอเวจีก็โดยสติสัมปชัญญะเราดี ระมัดระวังไม่ให้ความชั่วปรากฏ โลกไม่ให้ช้ำธรรมไม่ให้เสีย ประเพณีของโลกเราไม่ขัด ถ้าจิตของเราไม่ยืดถือ ไม่สงสัย คือไม่ฝ่าฝืนในคำสั่งสอนนของพระพุทธเจ้า มีศีลบริสุทธิ์ นึกถึงความตายเป็นอารมณ์ ว่าเราต้องตายแน่ไม่เสียดายในชีวิตในขณะที่เราจะตาย ใจนึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์ เท่านี้เราก็เป็นพระโสดาบัน

นี่เราพูดกันมานานแล้ว เช้ามืดเราก็พุดกันถ้าหากว่าท่านทั้งหลายสามสี่เดือนยังไม่ได้พระโสดาบันละก็น่าสลดใจอย่างยิ่ง เพราะว่าเราจ้ำจี้จ้ำไชกันอย่างบอกไม่ถูก ที่จริงที่เขาได้กันเขาไม่ได้เรียนกันแบบนี้นะ ผมก็ไม่ได้เรียนแบบนี้ ผมฟังจากหลวงพ่อปาน วันหนึ่งผมก็เข้าป่าไปแปดวันสิบวัน โผล่หน้ามาถามท่านเสียที อะไรที่เราสงสัยก็มาถามท่านเฉพาะจุดแล้วเราก็เข้าป่าไปอีก เราก็ไปฝึกใจของเราในป่า พระที่ท่านได้ดีท่านทำกันอย่างนี้ ไม่ต้องมานั่งสอนกันอยู่ทุกวันเขานั่งสอนเขาเองกันอยู่ตลอดเวลา อัตตนาโจทยัตตานัง จงเตือนตนด้วยตนเอง นี่พระพุทธเจ้าทรงสั่งอย่างนี้ นี่เราสอนกันเฟ้อเกินไป ผมรู้ตัวเหมือนกันว่าคำสอนนี่มันเฟ้อเกินไป แต่ว่าผมก็ถือว่าผมทำตามหน้าที่ในฐานะที่เป็นสาวกขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครรักดีก็รับเอาไป ใครไม่รักดีก็ปฏิบัติเอาตามชั่ว ใครอยากเอาแค่สวรรค์ก็เอาสวรรค์ไป ใครอยากไปพรหมก็เอาพรหมไป ใครอยากไปนิพพานก็เอานิพพานไป สอนกันทุกระดับ ใครอยากจะลงนรกก็เอานรกไปไม่ได้ว่าอะไรใคร

ต่อแต่นี้ไปให้ทุกท่านตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น พยายามกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก และคำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยจนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘