ศีลานุสสติโดยพิสดาร


ต่อแต่นี้ไปบรรดาท่านทั้งหลายได้สมาทานศีลและสมาทานพระกรรมฐานแล้ว ก็ตั้งใจเจริญสมาธิจิตและวิปัสสนาญาณ การเจริญสมาธิจิตวันนี้ก็จะขอพูดต้นยันปลาย และเป็นการพูดแต่เพียงโดยย่อ การเจริญสมาธิจิตนี่ตามแบบขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่แบ่งออกเป็น สองสายด้วยกัน คือตามแบบของกรรมฐาน ๔๐ นี่สายหนึ่ง และตามหลักสูตรของมหาสติปัฏฐานอีกสายหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของมหาสติปัฏฐานสูตรเป็นการเจริญพระกรรมฐานเพื่อสุก ขวิปัสสโกแต่อย่างเดียว สำหรับในกรรมฐาน ๔๐ เป็นสูตรสำหรับเจริญพระกรรมฐานรวมทั้งสุกขวิปัสสโก เตวิชโช ฉฬภิญโญ และปฏิสัมภิทัปปัตโต การปฏิบัติก็ขอให้บรรดาพุทธบริษัทเลือกปฏิบัติกันตามอัธยาศัย การที่จะปฏิบัติแบบไหนก็ตาม ก็ขึ้นกับอารมณ์จิตอย่างเดียว
อันดับ แรก ให้มีสัจธรรมประจำใจเข้าไว้ สัจจะแปลว่าความจริงใจ ทรงความจริงเข้าไว้ว่า เราตั้งใจจะทรงสมาธิจิต ขอให้จิตมันทรงอยู่ในขั้นของสมาธิ คำว่าสมาธินี่ไม่ใช่แปลว่านอนหลับ หมายถึงว่าจิตทรงอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งไว้โดยเฉพาะ เช่นเราจะทรงอานาปานสติกรรมฐาน คือกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ก็ให้จิตจับอยู่เฉพาะลมหายใจเข้าออก ไม่ปล่อยให้จิตซ่านไปสู่อารมณ์อื่น หรือว่าเราจะเจริญพุทธานุสสติกรรมฐานในด้านอนุสสติ ๑๐ ก็ดี อสุภ ๑๐ ก็ดี กสิณ ๑๐ ก็ดี อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุธาตุววัฏฐาน ๔ หรือพรหมวิหาร ๔ ก็ตาม อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ให้จิตจับเฉพาะอยู่อย่างนั้นโดยเฉพาะ อารมณ์ที่ทรงอยู่ตามที่เราปรารถนานั่นเรียกกันว่าจิตเป็นสมาธิ
นี่ การที่เราจะได้ดีหรือไม่ได้ดี มันก็อยู่ที่ความจริงใจของเราเท่านั้น การเจริญพระกรรมฐาน ที่บอกว่าทำแล้วไม่ได้ดีก็เพราะคนเราหาความจริงไม่ได้นั่นเอง ไม่ใช่มีอะไรยากลำบากอะไรที่ไหน เป็นของธรรมดา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ทรงหาอะไรมาสอนเรา นอกจากนำกฎธรรมดาที่เรามีอยู่ให้เรามาใช้มาปฏิบัติให้ถูกทางเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาธิจิตเราก็ใช้กันอยู่เป็นปกติ เช่นเรารู้อยู่ว่าเวลานี้เรานั่งอยู่ เราคุยกันอยู่ด้วยเรื่องอะไร เราคุยตามเรื่องตามนั้น ได้เป็นไปตามปกติไม่ผิดพลาด เราทำกิจการงานอะไรอยู่เราก็ทำกิจการอย่างนั้นโดยไม่ผิดพลาด อย่างนี้ชื่อว่าจิตเป็นสมาธิ เราอ่านหนังสืออยู่เราก็รู้ว่าอ่านหนังสือ เราทำงานอย่างใดอยู่เราก็รู้ว่าทำงานอย่างนั้น รวมความว่าสมาธิจิตของเรามันมี
แต่ว่าองค์สมเด็จพระชินสีห์เห็น ว่า สมาธิแบบนั้นเป็นโลกียสมาธิ ไม่เป็นทางหมดทุกข์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องการให้เรามีความสุข จึงให้ใช้สมาธิในด้านกุศลจิตคิดหากุศลเข้าใส่ไว้เป็นประจำ ให้จิตมันจำไว้เฉพาะด้านกุศลอย่างเดียว ถ้าจิตจำไว้ได้เฉพาะกุศลอย่างเดียวจนเป็นเอกัคตารมณ์ อย่างน้อยที่สุดถ้าเราตายจากความเป็นมนุษย์ก็เป็นเทวดาหรือว่าเป็นพรหม
เมื่อ จิตทรงสมาธิได้ดีแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วก็สอนวิปัสสนาญาณมีอริยสัจ เป็นต้น ให้พิจารณาเห็นทุกข์ที่มันเกิดขึ้นแก่ร่างกายและจิตใจ เพราะอาศัยความเกิดเป็นปัจจัย พิจารณาไปให้รู้ ให้ปัญญาพิจารณาให้เห็น เรื่องที่จะให้ใครเขามาชี้ว่าอะไรมันเป็นทุกข์ นี่มันไม่ใช่ภาระ ก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาว่าอะไรมันเป็นทุกข์ สิ่งใดก็ตามที่เราจำจะต้องทน สิ่งนั้นเป็นอาการของความทุกข์ทั้งหมด
ความหิวเป็นทุกข์ ความกระหายเป็นทุกข์ ความร้อนเป็นทุกข์ ความหนาวเกินไปเป็นทุกข์ การป่วยไข้ไม่สบายเป็นทุกข์ ความปรารถนาไม่สมหวังเป็นทุกข์ ร่างกายมีสภาวะเคลื่อนไปมีการแก่การเฒ่า ร่างการไม่สมประกอบก็เป็นทุกข์ อาการที่เราจะตายเป็นทุกข์ ทุกข์ทั้งหลายเหล่านี้มันมีอยู่เป็นประจำ แต่ว่าเราไม่พยายามจะคิดถึงกัน ฉะนั้น องค์สมเด็จพระภควันต์เห็นว่าพวกเราโง่เกินไป สมเด็จพระจอมไตรจึงได้สอนให้เรารู้ว่าการเกิดมันเป็นทุกข์ ตามพระบาลีว่า ชาติปิ ทุกขา ความเกิดเป็นทุกข์ ชราปิ ทุกขา ความแก่เป็นทุกข์ มรณัมปิ ทุกขัง ความตายเป็นทุกข์ โสกปริเทวทุกขโทมนัสสุปายาส เป็นต้น เป็นอันว่าความเศร้าโศกเสียใจเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นทุกข์ นี่เป็นอันว่าเราเกิดมาแล้วเราก็พบแต่ความทุกข์ เราไม่มีความสุข แต่ว่าความทุกข์นั่นมีอยู่ บุคคลใดใครเห็นทุกข์บ้าง นี่เราชินต่อความทุกข์เสียจนชินจนไม่รู้ว่าเราเป็นทุกข์ อาการที่เราไม่รู้ว่าเราเป็นทุกข์ก็เพราะอาศัยความโง่เป็นปัจจัย ตามพระบาลีที่เรียกกันว่า อวิชชา
ความทุกข์ที่มันจะเกิดขึ้นมันก็ ต้องมีเหตุ พระพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าทรงสอนแสดงเหตุกับผลเป็นปกติ ไม่มีอะไรไร้เหตุไร้ผล ทุกข์ที่มันจะเกิดขึ้นกับเราเพราะอาศัยใจเราคบกับตัณหา คือความทะยานอยาก
ตัณหา ที่เราจะคิดว่ามันเป็นตัณหาด้านกิเลสก็ต้องคิดกันดู พิจารณาดูว่า ถ้าความต้องการของร่างกายคือความหิวก็ดี ความกระหายก็ดี อาการหนาวก็ดี อาการร้อนก็ดี ถ้าความหนาวเกิดขึ้น เราต้องการเครื่องอบอุ่น ความร้อนเกิดขึ้น เราต้องการความเย็น ความหิวปรากฏขึ้น เราต้องการอาหาร ทรัพย์ศฤงคารไม่มีจะใช้จะสอยหามาพอดีพอใช้สอย ความปรารถนาอย่างนี้ไม่เรียกว่าตัณหา เพราะว่าเป็นอาการที่เป็นไปตามปกติที่เราจะต้องปรนเปรอหล่อเลี้ยงร่างกาย
ความ ทะยานอยากเกินไป อันนี้เป็นตัณหา ที่เรามีการพอกินพอใช้แล้วก็ยังตะเกียกตะกายหาความพอมิได้ ความไม่พอมีความปรารถนาสูงเกินกว่าความพอดี นี่เป็นอาการของตัณหา คือ เป็นการแสวงหาให้เป็นการลำบากเปล่า ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า ถ้าบุคคลใดต้องการจะให้พ้นทุกข์ ก็พยายามละตัณหาเสีย คือสร้างความพอให้มันเกิด ทำความพอในใจให้ทรงอยู่ พอตรงไหนกัน การแสวงหาอาชีพพอแก่การอาศัยถือว่าเป็นการพอ คำว่าพอจะถือว่ามีปริมาณเท่าใดนั้นก็แล้วแต่ฐานะและความจำเป็น ไม่ตะเกียกตะกายเกินพอดี อย่างนี้ก็เรียกว่าพอ เมื่อความพอปรากฏ ความสุขใจมันก็เกิดขึ้น
การที่จะตัดตัณหาได้จริง ๆ จะมานึกเอาแค่พอ แค่พอตามกฎธรรมดามันก็เป็นไปไม่ได้ องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาจึงสอนต่อไปว่า ถ้าเราจะต้องการความพอของชีวิตก็ให้จิตเกาะอยู่ในคุณธรรมทั้ง ๓ ประการ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เราเรียกกันว่า อริยมรรค ๘ อริยมรรค ๘ นี่เราย่นลงมาแล้วเหลือ ๓ เหลือ ศีล สมาธิ ปัญญา
ศีล รักษากายวาจาใจของเราให้บริสุทธิ์ เราจะไม่ทำลายศีลด้วยตนเอง จะไม่ยุยงส่งเสริมให้บุคคลอื่นเขาทำลายศีล เมื่อเห็นบุคคลอื่นทำลายศีลแล้วเราไม่ยินดีด้วย นี่แบบนี้เป็นจริยาอารมณ์จิตของพระอริยเจ้า เราต้องทำตามนั้น ให้มีอารมณ์ทรงอยู่ในศีลเป็นปกติ ระมัดระวังศีลเป็นปกติ จนกระทั่งเราไม่ต้องระวัง ให้จิตเป็นอัตโนมัติ จิตทรงศีลอยู่ตลอดเวลา ขึ้นชื่อว่าความพลาดพลั้งของศีลนิดหนึ่งย่อมไม่มีแก่ใจ อย่างนี้องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาเรียกว่าศีลานุสสติกรรมฐาน ถ้าเรามีศีลบริสุทธิ์ เราก็ปิดอบายภูมิได้ เป็นปัจจัยส่วนหนึ่งของพระโสดาบัน
การที่เราจะทรงศีลให้บริสุทธิ์ ก็ต้องอาศัยอารมณ์สมาธิจิตเป็นเครื่องควบคุม เป็นอันว่าถ้าอารมณ์ของเราทรงศีลได้ตลอดเวลา ระมัดระวังศีลได้เป็นปกติ อย่างนั้นแสดงว่าจิตของเรามีสมาธิอยู่แล้ว สมาธิแปลว่าการตั้งใจ (ถ้าพูดกันตามภาษาไทย) เพราะตั้งใจรักษาศีลให้เป็นปกติ
ศีล เรารักษากันเวลาไหน? การสมาทานศีลนี่เป็นแต่เพียงการศึกษาศีลเท่านั้น
ถ้าเราไม่มีโอกาสสมาทานศีลมันจะเป็นศีลได้หรือไม่ ?
ข้อ นี้ ถ้าบรรดาท่านพุทธบริษัทสงสัยก็พึงทราบว่า ศีลนี้เราจะสมาทานหรือไม่สมาทานก็ไม่ได้มีความหมายอะไร ความสำคัญอยู่ที่การงดเว้นเท่านั้นมันจึงจะเป็นศีล ถ้าเราไม่มีโอกาสสมาทาน แต่ทว่าสิกขาบททั้ง ๘ ประการก็ดี หรือว่าสิกขาบท ๕ ประการก็ดี เราระงับได้อย่างครบถ้วน อย่างนี้เราไม่สมาทานเลยมันก็เป็นศีล แล้วก็มีอานิสงส์เท่ากับที่สมาทาน นี่หากว่าเราจะสมาทานศีลสักวันละพันครั้ง แต่ว่าจิตใจของเราไม่ได้ผูกพันอยู่ในศีลก็ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร ศีลไม่ได้มีกับใจของเรา
ฉะนั้น การที่เราจะระงับตัณหาได้ ในอันดับแรก ต้องเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ คือมีอารมณ์ทรงศีลเป็นปกติธรรมดา ไม่ใช่แต่เฉพาะมานั่งขัดสมาธิหลับตา หรือว่านั่งสมาธิจึงจะมีศีลบริสุทธิ์ ถ้าเราต้องการศีลบริสุทธิ์เพียงเท่านี้ก็มีหวังตายลงนรกแน่นอน วันหนึ่งมี ๒๔ ชั่วโมง เราทำจิตบริสุทธิ์กี่นาที นี่ต้องวัดวันเวลาที่มันผ่านไป เราขาดทุนเท่าไร แล้วได้กำไรเท่าไร นับเวลาที่เราปฏิบัติ ถ้าเราใช้จิตของเราปฏิบัติในความดี ใช้เวลาน้อยแต่ขาดทุนมาก มันก็ไม่มีทางไปสวรรค์หรือเกิดเป็นมนุษย์ได้ ฉะนั้น องค์สมเด็จพระจอมไตรจึงสอนให้ทรงสมาธิในด้านศีลานุสสติกรรมฐาน คือให้จิตใจของเราทรงศีลเป็นอารมณ์ เป็นปกติ ไอ้เรื่องการนั่งหลับตาวันละ ๙ ชั่วโมง ๑๐ ชั่วโมงไม่มีความหมาย ความสำคัญก็มีอยู่ว่า ทุกลมหายใจเข้าออก จิตของเราทรงอยู่ในศีล อันนี้จึงจะชื่อว่าเป็นสมาธิที่มีผลแน่นอน เรียกว่าศีลานุสสติกรรมฐาน นี่ ว่ากันถึงด้านศีลเพื่อระงับ กาย วาจา ใจ เป็นเหตุปิดอบายภูมิ เป็นด้านของกามาวจรสวรรค์ ถ้าเราทรงศีลได้บริสุทธิ์เราก็เป็นเทวดาในกามาวจรสวรรค์ได้
ต่อไป ความดีที่มียิ่งไปกว่านั้นก็คือ มีพรหมโลกเป็นที่ไป ถ้าเราจะไปพรหมโลก เราก็เอาศีลนี่แหละเป็นสมาธิไปพรหมโลกให้ได้ ก็ตั้งใจทรงศีลให้เป็นสมาธิ ให้ทรงฌาน ศีลของเราจะเป็นสมาธิจิตในด้านของศีลานุสสติกรรมฐานให้เข้าถึงระดับฌาน ทำอย่างไร ? และทำอย่างไร เราจึงจะรู้ว่าศีลของเราเข้าถึงระดับฌาน ?
อัน นี้ เราก็จะสังเกตได้ว่า วันทั้งวัน จิตของเราใคร่ครวญอยู่ในศีลเป็นปกติ มีการระมัดระวังศีลเป็นปกติ ปัญจเวร ๕ ประการ คือการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตหรือทำร้ายสัตว์ การลักขโมยของ การยื้อแย่งความรัก การโกหกมดเท็จ การดื่มสุราเมรัย เป็นต้น เรียกว่า ปัญจเวร ๕ ประการ อย่างนี้เราทรงได้แบบสบาย ใครจะนินทาว่าร้าย ส่งเสียงรบกวนเพียงใดก็ตาม จิตใจของเราไม่รำคาญเสียงของบุคคลนั้น ไม่สะทกสะท้านกับคำนินทาว่าร้ายหรือไม่ยินดีต่อคำสรรเสริญใด ๆ มีจิตใจอารมณ์สบายเป็นศีล อย่างนี้ชื่อว่า สมาธิจิตของท่านเข้าสู่สภาพของฌาน ฌานนี่ เขาต้องการแบบนี้นะ ไม่ใช่ต้องการนั่งฌานหรือนั่งขัดสมาธิกันหามรุ่งหามค่ำ แล้วพอลืมตาขึ้นมาแล้วก็ด่าโวย โวย โวย แบบนี้ทำไปสักแสนปีมันก็ไม่เกิดประโยชน์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโปรดให้จิตทรงสมาธิเป็นอารมณ์เป็นประจำวัน คือจิตใจของเรามั่นอยู่ในอาการของศีล ไม่ไปยุ่งกับสิ่งที่เป็นอกุศล จนกระทั่งจิตของตนเป็นเอกัคตารมณ์ คือมีอารมณ์เป็นหนึ่ง อยู่ในศีลโดยเฉพาะ ใครจะชวนไปไหน จะแนะอะไรก็ตาม ถ้าเป็นเครื่องทำลายศีล เราไม่ยินดีด้วย ไม่คล้อยใจไปตาม อย่างนี้ชื่อว่าศีลของเราทรงเป็นฌาน นี่เอาศีลเข้ามาเป็นฌาน ก็ไม่เห็นมันยากลำบากอะไรนี่ ของง่ายๆ การทรงสมาธิจิต ถ้าเรารู้จักใช้เสียแล้ว แม้แต่ศีล เราทำศีลข้อเดียวก็ไปนิพพานได้
เมื่อสมาธิจิตของเราทรงศีลเป็นฌาน มีจิตใจผูกมั่นอยู่ในศีลเป็นปกติ จะไปทางไหนก็ตามอยู่ในสถานที่ใดก็ตามอยู่ในสังคมใดก็ตาม เราจะไม่ยอมละเมิดศีลอย่างเด็ดขาด ไม่ยุยงส่งเสริมให้ใครละเมิดศีล ไม่ยินดีเมื่อบุคคลอื่นทำลายศีลแล้ว จิตใจของเรามีความชุ่มชื่นในศีลอย่างนี้เป็นฌาน ถ้าอารมณ์จิตเป็นฌาน เราตายไปจากความเป็นมนุษย์ เราก็เกิดเป็นพรหม นี่เป็นความดีระดับที่สอง
ทีนี้ เราก็เอาศีลานุสสติกรรมฐานนี่แหละเป็นวิปัสนาญาณต่อไป
เราก็มาพิจารณาร่างกายของเราว่า
    เวลานี้ เราเป็นผู้ทรงศีล
    แล้วให้รู้จักคำว่า “เรา” เราคือใคร ?
    เลือดเนื้อ ร่างกายของเรานี่มันเป็นเรา หรือว่าเราคือใคร ?
เมื่อ พิจารณากันไปจริง ๆ แล้วก็เห็นว่า เลือดเนื้อร่างกายนี้ มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในเลือดเนื้อร่างกาย และเลือดเนื้อร่างกายไม่ใช่เรา เราจริง ๆ ก็คือ “จิต” ที่มาสถิตอาศัยอยู่ในกายชั่วคราว ร่างกายมีสภาพเหมือนบ้านเช่าชั่วคราวเท่านั้น เราไม่สามารถจะทรงร่างกายอยู่ตลอดกาลตลอดสมัย ร่างกายมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความเสื่อมไปในท่ามกลาง มีการสลายตัวไปในที่สุด
การทรงศีล อะไรมันทรงศีล ? กายทรงศีล หรือว่าจิตทรงศีล ?
เมื่อ เราพิจารณากันจริง ๆ แล้ว เราก็จะเห็นว่า ศีลที่มันทรงอยู่ได้ ก็เพราะอาศัยจิตเท่านั้นเป็นตัวสั่ง กายมันมีสภาพเหมือนหุ่น มันไม่มีการรู้สึกรับผิดชอบใด ๆ ทั้งหมด ความรู้สึกรับผิดชอบใด ๆ ความดีหรือว่าความชั่วจะปรากฏกับกายก็อาศัยใจเป็นผู้สั่ง คำว่า “เรา” ในที่นี้ก็ได้แก่จิต คือ จิตใจ คือ อารมณ์ที่สั่งกาย
เรามาดูกันซิว่า เรารักษาศีลบริสุทธิ์ มีจิตสบาย แต่กายมันมีความสบายไหม ?
คน ที่มีศีลบริสุทธิ์ ใจสบาย ไม่มีความเดือดร้อน คนที่มีความเดือดร้อนก็เพราะอาศัยจิตมันทุศีล หาศีลไม่ได้ มันถึงมีแต่ความเดือดร้อน มีกายไม่อยู่สุข ชอบเอากายไปสร้างความทุกข์ ไปเบียดเบียนบุคคลอื่น เอากายไปยื้อแย่งสินสมบัติของบุคคลอื่น เอากายไปยื้อแย่งความรักของบุคคลอื่น แล้วก็มีปากไม่ดี ชอบพูดปด พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อเหลวไหลหาสารประโยชน์ไม่ได้ ไม่รู้จักเหตุของความทุกข์ และเอากายไปดื่มสุราเมรัย
นี่ บุคคลที่ไม่เคารพในศีลก็มีความทุกข์ คนเลวประเภทนี้มักจะไม่เห็นตัวของตัวเองว่าได้สร้างความชั่ว ทั้ง ๆ ที่เลวแสนเลวก็ไม่มีความรู้สึกนึกว่าตัวดีอยู่เสมอ นี่จงเข้าใจไว้ว่าศีลนี่ ถ้าเราทรงไว้ได้ เราก็มีความสุข มันไม่มีความทุกข์เข้ามาเจือปน ฉะนั้น ขอบรรดาท่านพุทธศาสนิกชนผู้อยากปรารถนาทรงความสุขก็ขอให้รักษาศีลเป็นปกติ
การ ที่จะรักษาศีลเป็นปกติ ก็อาศัยกำลังใจเป็นสำคัญ ไม่ใช่กายรักษาศีล ใจรักษาศีล ที่พระเทศน์บอกว่า การทรงศีล ศีลรักษากายวาจาให้เรียบร้อยเป็นสองประการอันนี้ไม่ใช่ความจริง ตัวจริง ๆ แล้ว ศีลก็รักษาจิตให้มันเรียบร้อยนั่นเอง จิตมันเรียบร้อยแล้ว กายก็เรียบร้อย ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “มโนปุพพังคมา ธัมมา มโนเสฏฐา มโนมยา ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐสุด สำเร็จด้วยใจ” นี่แสดงว่าใจของเราถ้าบริสุทธิ์ กายวาจามันก็บริสุทธิ์ ความเลวที่เกิดจากกายและวาจาก็เพราะอาศัยใจของเราเลว ถ้าเราเอาศีลเข้ามาควบคุมใจไว้เสียแล้ว ใจมันก็มีความดี กายวาจามันก็ดีด้วย คนที่มีปากเสีย มีวาจาเสีย มีร่างกายเสียก็เพราะอาศัยใจเสีย อยู่ที่ไหนมันก็มีแต่ความทุกข์ หาความสุขไม่ได้
เราก็มาพิจารณา กันไปว่า ร่างกายของเรานี่มันเป็นเราหรือ มันเป็นของเราหรือ มันไม่เป็นเรา ไม่ใช่ของเรา ตามที่พระพุทธเจ้ากล่าวว่า อัตภาพร่างกายนี้มันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา เราคือจิต นี่องค์สมเด็จพระธรรมสามิสร์พระองค์ทรงสอนแบบนี้ เราใช้ปัญญาพิจารณาตาม ท่านกล่าวว่า คนเราถ้าสร้างความดีไว้ ทำอารมณ์ให้ดี ตายจากความเป็นคนก็ไปเกิดบนสวรรค์บ้าง เป็นพรหมบ้าง ไปพระนิพพานบ้าง ถ้าสร้างความชั่วไว้ เมื่อตายจากความเป็นคน ก็ไปเกิดเป็นสัตว์นรกบ้าง เป็นเปรตบ้าง เป็นอสุรกายบ้าง สัตว์เดรัจฉานบ้าง ถ้าเป็นมนุษย์ ก็เป็นมนุษย์ที่มีความชั่วเลวทราม มีแต่ความเดือดร้อน
เราก็มา นั่งดู เวลาที่เราไปนรกก็ดี ไปสวรรค์ก็ดี ไปพรหมก็ดี เราเอากายไปด้วยหรือเปล่า ? เวลาตายแล้ว ไม่มีใครแบกกายไปด้วย นี่ เราจะเห็นได้ว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา เราก็ทำศีลของเราให้บริสุทธิ์ ทรงสมาธิจิตเข้าในอำนาจของศีล คุมศีลให้เป็นฌาน แล้วก็มาพิจารณาตามพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระพิชิตมารว่า
    เหตุแห่งความทุกข์ที่มันจะพึงมีขึ้นมาได้
    ก็เพราะอาศัยตัณหามีความผูกพันในร่างกายซึ่งมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
    เราไปยึดถือว่ามันเป็นเราเป็นของเรา
    เราก็วางร่างกายเสียเพื่อพระนิพพาน
การ ไปพระนิพพานนี่ตัดเฉพาะสักกายทิฏฐิตัวเดียวเท่านั้น ในสังโยชน์ ๑๐ ประการ องค์สมเด็จพระพิชิตมารไม่ได้ทรงตัดที่ไหน สั่งตัดตัวเดียวคือสักกายทิฏฐิ คือสังโยชน์ตัวแรก เมื่อจิตใจไม่ผูกพันในร่างกายเสียแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างเราก็ไม่ผูกพัน เพราะสมบัติในโลกทั้งหมดนี้นั้น อะไรที่เราจะรักยิ่งไปกว่าร่างกายของเราไม่มี นี่องค์สมเด็จพระชินสีห์ชี้เหตุผลให้ทราบ ถ้าร่างกายของเราไม่ทรงอยู่ บ้านช่องเรือนโรงทรัพย์สินทั้งหลายมันจะมีคุณประโยชน์อะไรสำหรับเรา มันจะมีคุณอยู่บ้างก็แต่เฉพาะในขณะที่เราทรงร่างกายเท่านั้น เราตายไปแล้วมันก็หมดเรื่องกันไป ทรัพย์สินทั้งหลายก็ตกทอดเป็นของบุคคลอื่น ฉะนั้น ถ้าเราตัดร่างกายเสียได้แล้ว เราก็ตัดทุกสิ่งทุกอย่างได้หมด
วิธีพิจารณาตัดร่างกาย
เรา ต้องอาศัยกายคตาสติกรรมฐาน อสุภกรรมฐาน มรณัสสติกรรมฐาน อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุธาตุววัฏฐาน ๔ เป็นต้น และก็มีมรณัสสติกรรมฐานเป็นพื้นฐาน
จิตใจคิดไว้เสมอว่า
เราจะต้องตาย
ความตายเป็นของธรรมดา เรามีความเกิดขึ้นในเบื้องต้นแล้ว เราก็มีความตายไปในที่สุด
การที่เราทรงชีวิตอยู่นี้ เราไม่ได้ทรงชีวิตหนีความตาย
แต่เราทรงไว้เพื่อเดินเข้าไปหาความตาย

พิจารณาให้เห็นว่า
ความตายนี้มันเป็นของธรรมดาที่เราจะต้องเข้าถึง
ในขณะที่เราทรงชีวิตอยู่ ก็เต็มไปด้วยความทุกข์
ถ้าเราต้องการความเกิดอีก มันก็ต้องทุกข์แบบนี้
จะเกิดอีกเพื่อประโยชน์อะไร
เราต้องการตัดความเกิด คือตัดชีวิตและร่างกาย
ไม่มัวเมาในชีวิต คิดเสียว่าร่างกายประกอบไปด้วยธาตุ ๔ คือ
    ดินน้ำลมไฟ เป็นเรือนร่างที่อาศัยชั่วคราว
    เป็นแดนของความทุกข์
    เป็นโรคนิทธัง คือเป็นรังของโรค
    ปภังคุณัง มันจะต้องเปื่อยเน่าเป็นของธรรมดา
แต่ถ้าเราเกิดมามันก็มีสภาพแบบนี้อีก เราจะเกิดมาทำไม
ดินแดนที่เราจะไม่ต้องเกิดต่อไปก็มีอยู่ คือพระนิพพาน
ทำอย่างไร เราจะถึงพระนิพพานได้ ?
เราก็ตัดขันธ์ ๕ คือร่างกายโยนทิ้งไป คำว่า “ตัด” ในที่นี้ไม่ใช่ฆ่าขันธ์ ๕ คือคิดไว้เสมอว่า
ร่างกายนี้มันเป็นอนิจจัง เป็นของไม่เที่ยง
    ทุกขัง เต็มไปด้วยความทุกข์
    อนัตตา มันสลายไปในที่สุด
เราเกิดมาเพราะอำนาจของความโง่เป็นปัจจัย
เวลานี้เรามาพบศาสนาของสมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาผู้ทรงความฉลาด
องค์สมเด็จพระบรมโลกนาถ สอนให้เรารู้เหตุรู้ผล
ว่าการเกิดนี่องค์สมเด็จพระทศพลถือว่ามันเป็นทุกข์
เราจะแสวงหาความสุขได้ก็ตัดเหตุและตัดปัจจัยเสีย คือตัดความเกิดเสียให้ได้
เราจะไม่เกิดได้เพราะอาศัยอะไรเป็นปัจจัย
ก็คือ หนึ่งกิเลส หาทางกำจัดกิเลสให้สิ้นไป
กิเลส มี ๓ ประการ คือ โลภะ โทสะ โมหะ ได้แก่ความโลภเกินพอดี การทรงอารมณ์โทสะเกินพอดี มีโมหะความหลง คิดว่านั่นเป็นเรา นี่เป็นของเรา ความโลภเรา
ก็ตัดด้วยการให้ทาน โทสะเราก็ตัดด้วยการทรงพรหมวิหาร ๔ โมหะตัวนี้ เรายอมรับนับถือกฎของธรรมดา
อะไรมันเป็นธรรมดา ?
    ความเกิดขึ้น มันเป็นธรรมดา
    ความแก่ เป็นธรรมดา
    ความป่วยไข้ไม่สบายเป็นของธรรมดา
    ความตายเป็นของธรรมดา
ยอมรับนับถือมันเสีย อาการอย่างใดมันเกิดขึ้นเราไม่หวั่นไหว ถือว่า นี่มันเป็นเรื่องธรรมดา
แล้ว ก็คิดไว้ว่า ธรรมดานี่มันเป็นอาการของความทุกข์ ไม่ใช่อาการของความสุข เราไม่คบมันต่อไป เมื่อจิตใจของเราทรงไว้ได้ เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นของธรรมดา การกระทบกระทั่งกับวาจา การเสียดสีหรือกลั่นแกล้งของบุคคลอื่น มีอารมณ์ใจไม่หวั่นไหว คิดว่าเราทรงกายไม่เท่าไร ถ้าร่างกายของเราพังเมื่อใด เราก็ถึงซึ่งพระนิพพานเมื่อนั้น จิตใจของเราไม่ผูกพันในขันธ์ ๕ คือร่างกาย เพียงเท่านี้แหละบรรดาพุทธบริษัท
เพราะอาศัยพื้นฐานเดิมของเรามี ศีลบริสุทธิ์อยู่แล้ว จิตใจของเรามีความเคารพในองค์สมเด็จพระประทีปแก้ว มีปัญญาเห็นแล้วว่า ร่างกายมันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา ร่างกายเป็นปัจจัยของความทุกข์ ร่างกายเป็นบ่อเกิดของความทุกข์ เราไม่ต้องการร่างกายอันนี้อีก เรามีความมั่นคงในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเราไม่ยอมพลัดจากศีล เราไม่ยอมละเมิดศีล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศีลนี้มีวาจาเป็นสำคัญ วาจาที่กล่าวออกไปนั้นจะต้องระมัดระวัง การกระทำทางกายก็ต้องระมัดระวัง นิสสัมมะกะระณัง เสยโย สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า ก่อนจะทำก่อนจะพูดน่ะใคร่ครวญเสียก่อน อย่าไปคิดเห็นบุคคลอื่นว่าเขาเลว การเห็นคนอื่นเลวนี่ก็กลายเป็นการสร้างความเลวให้เกิดขึ้นแก่ใจของเรา อัตตะนา โจทะยัตตานัง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้กล่าวโทษโจทก์ตัวเองว่ามันเลวไว้เสมอ หาจุดความเลวของกาย หาจุดความเลวของใจ อย่าไปหาจุดของความดี ถ้าพบความเลวจุดไหนทำลายความเลวจุดนั้นให้หมดไป แล้วความดีมันก็ปรากฏเอง
ถ้าจิตใจของเรามีความระมัดระวังอยู่อย่างนี้ แล้วก็เชื่อองค์สมเด็จพระชินสีห์ว่า
    ร่างกายเป็นอนิจจังไม่เที่ยง ทุกขังเป็นทุกข์ อนัตตามันสลายตัว
    และจิตใจไม่ผูกพันในร่างกาย
    เรามีศีลบริสุทธิ์
    มีจิตใจรักพระนิพพานเป็นอารมณ์
อย่าง นี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเรียกว่า พระโสดาบัน นี่ก็ไม่เห็นจะมีอะไรยาก คำว่าพระโสดาบันก็มีสภาวะเป็นชาวบ้านชั้นดีเท่านั้น ความเป็นพระโสดาบันมีความดีแค่ดาตุ่ม ถ้าเราทำไม่ได้มันก็เลวเต็มที หวังว่าบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายที่ได้รับสดับฟังนี้คงจะเข้าใจดี ว่าความเป็นพระโสดาบันเป็นธรรมะเล็กน้อย เป็นผู้เข้าถึงกระแสพระสัทธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพิ่งจะเข้าถึงกระแสพระนิพพานแต่ยังไกลอยู่เท่านั้น แต่ว่าพระโสดาบันนี่จะถือว่าไกลพระนิพพานเกินไปก็ยังไม่ได้ ถ้าอารมณ์จิตของเราเบาบางเกินไปจิตใจยังไม่แนบแน่นนัก ก็ยังเกิดเป็นมนุษย์อีก ๗ ชาติ เราจึงจะได้อรหัตผล ถ้าจิตใจของบรรดาท่านพุทธศาสนิกชนมีความมั่นปานกลาง เราก็เกิดอีก ๓ ชาติได้อรหัตผล ถ้าจิตใจของบรรดาท่านพุทธศาสนิกชนมีความมั่นคงแนบสนิท เราก็เกิดเป็นมนุษย์อีกชาติเดียวได้อรหัตผลเข้าถึงพระนิพพาน
นี่ เป็นอันว่าขอบรรดาพุทธบริษัททุกท่านที่มีกำลังใจยังหย่อนอยู่ ยังเข้าไม่ถึงธรรมขององค์สมเด็จพระบรมครู คือพระโสดาบัน ก็จงตั้งใจกำหนดจิตของเรานั้นทรงความเป็นพระโสดาบันให้ได้ ถ้าเราไม่สามารถจะทรงความเป็นพระโสดาบันได้ ก็ชื่อว่าเกิดมาเสียชาติเกิดที่พบกับพระพุทธศาสนา ไม่สามารถจะทรงความดีขั้นเล็กน้อยที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทานไว้ได้ก็เป็นที่น่าเสียดายความดีของเรา
เอาละบรรดาพุทธ บริษัททุกท่าน กาลเวลาที่จะพูดเวลานี้ก็พูดนานเกินไป ต่อแต่นี้ไปขอบรรดาพุทธบริษัททั้งหลายพยายามตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก เวลาหายใจเข้ารู้อยู่ว่าหายใจเข้า เวลาหายใจออกรู้อยู่ว่าหายใจออก แล้วใช้คำภาวนาควบคู่กันไป หายใจเข้านึกว่า พุท หายใจออกนึกว่า โธ พอใจสบายแล้วท่านทั้งหลายจะพิจารณากรรมฐานกองใดกองหนึ่ง ก็ให้เป็นไปได้ตามอัธยาศัยจนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘