มรณัสสติ


สำหรับวันนี้จะขอพูดถึงเรื่องสมถะและวิปัสสนาควบกัน เพราะว่าสมถะและวิปัสสนานี้ถ้าเราจะปฏิบัติให้ได้ผลจริงๆก็ต้องควบกันอยู่เสมอๆ เมื่อวานนี้เราพูดกันถึงกายคตาสติ และอสุภกรรมฐานบวกกับวิปัสสนาญาณ คำว่ามรณัสสติกรรมฐานคือการนึกถึงความตายเป็นอารมณ์ กรรมฐานกองนี้เป็นกรรมฐานที่มีความสำคัญกองหนึ่ง คือบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลายแม้กระทั่งพระพุทธเจ้าก็ดี ไม่ยอมละ แม้แต่พระองค์เป็นพระพุทธเจ้าแล้วเป็นพระอรหันต์แล้วก็ตามก็ไม่ทรงยอมละกรรมฐานกองนี้เหมือนกัน

เราจะเห็นได้ว่าการที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเรียกพระอานนท์เข้ามาหาแล้วองค์สมเด็จพระศาสดาทรงถามว่า อานันทะ ดูก่อน อานนท์ เธอนึกถึงความตายวันละกี่ครั้ง พระอานนท์ทรงตอบว่า ข้าพระพุทธเจ้านึกถึงความตายวันละเจ็ดครั้ง สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า อานันทะ ดูก่อน อานนท์ ยังห่างมากนัก ความจริงท่านเป็นพระโสดาบัน ท่านนึกถึงความตายวันละประมาณ ๗ ครั้ง พระพุทธเจ้าท่านทรงบอกว่าห่างมากเกินไป ตถาคตนี่นึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก การนึกถึงความตายนี่เป็นสมถภาวนา ถ้าใครเขาว่าสมถภาวนาไม่มีความสำคัญ ไม่ใช่จุดหมายปลายทางของการบรรลุมรรคผล ก็อย่าไปเชื่อเขา เพราะสมถภาวนาถ้าไม่ดีจริงๆ พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงสอนให้เราปฏิบัติ และพระพุทธเจ้าก็จะไม่ยึดสมถภาวนาไว้เป็นอารมณ์ ทั้งที่พระองค์ทรงเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว นี่จงอย่าลืมว่าพระอรหันต์ทุกท่าน แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ดี ใช้กรรมฐาน ๔๐ กอง ควบกับวิปัสสนาญาณเพื่อความอยู่เป็นสุข ไม่ใช่ว่าเป็นพระอรหันต์แล้วเลิกกัน อย่างนั้นเข้าใจผิด พระอรหันต์นี่เขากลับขยันกว่าเราทั้งหมด เพราะเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ คำว่ามีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ก็หมายถึงว่าการเห็นสภาวะตามความเป็นจริงของขันธ์ห้า ท่านเห็นเป็นปกติ ท่านไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมละ เพราะการทรงขันธ์ห้าเป็นอาการของความทุกข์ ถ้าเราละสมถะภาวนาทั้ง ๒ประการเสียแล้ว อารมณ์มันปล่อย มันไม่ยอมรับความเป็นจริง อาการความทุกข์มันเกิด ถ้าอารมณ์จิตของเราทรงสติสัมปชัญญะเป็นปกติ นึกถึงสมถภาวนาเป็นอารมณ์จิตใจมันก็สบาย ปล่อย ยอมรับนับถือกฏของธรรมดา นี่การนึกถึงความตายเป็นอารมณ์เป็นของดีเพราะเราจะได้ไม่ประมาท และจงอย่าคิดว่าอายุของเรายังน้อย ยังไม่ตาย คิดอย่างนี้ก็ผิด การคิดถึงความตายต้องคิดอยู่ทุกขณะจิตว่าเราจะตายเมื่อไรก็ได้ ทีนี้ก่อนที่เราจะนึกว่าเราจะตาย เราก็ต้องหาทางไปให้มันเหมาะสม เวลานี้ การเกิดมาเวลานี้นับว่าเป็นโชคดีมาก พระศาสนาขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ายังมีความสมบูรณ์บริบูรณ์ดีอยู่ เว้นไว้แต่เพียงว่าเราจะไม่ยอมรับนับถือคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระบรมครู กลายเป็นแกะดำในพระพุทธศาสนา นั่นแหละความทุกข์มันจะเข้ามาถึงใจ

เมื่อเรารู้ว่าเราจะตาย เราก็ตั้งใจไว้ มันเป็นของไม่ยาก ถ้าเราไม่อยากไปอบายภูมิเราก็รักษาศีลห้าให้บริสุทธิ์ อันนี้ถ้าเรารักษาศีลห้าให้บริสุทธิ์แล้ว เราก็ไม่ไปอบายภูมิ เรามีการเกิดเป็นมนุษย์เป็นส่วนใหญ่ ถ้าเราอยากจะเกิดเป็นเทวดาก็ทรงหิริโอตตัปปะ หิริแปลว่าความละอาย ละอายต่อความชั่ว โอตตัปปะเกรงกลังผลของความชั่วจะให้ผลเป็นทุกข์ นี่คนที่นึกถึงความตายเป็นอารมณ์ต้องหาทางเลือกแบบนี้ อาการที่เราจะเลือกก็เลือกอยู่ทุกวัน หิริ ความละอายต่อความชั่ว ขึ้นชื่อว่าความชั่วคนอย่างเราไม่ทำ โอตตัปปะความเกรงต่อความชั่วจะให้ผลเป็นความทุกข์ เราก็ไม่ทำ เพราะกลัวเสียแล้ว จะทำได้อย่างไร ความชั่วมี ๒ ฝ่าย ได้แก่ฝ่ายวินัย คือ ศีล และฝ่ายธรรมะ ธรรมะส่วนใดที่องค์สมเด็จพระจอมไตรทรงกล่าวว่าเป็นอธรรม เป็นธรรมที่ทำให้เกิดเป็นความทุกข์ ตัวอย่างเช่น นิวรณ์ห้าประการ ถ้าเราไปพบนิวรณ์ห้าประการเข้าถึงแม้ว่าเราไม่ขาดศีล เราก็ไปอบายภูมิได้ เพราะจิตมันมัวหมอง นี่การนึกถึงความตายเป็นอารมณ์มันดีอย่างนี้

ถ้าเราต้องการเป็นพรหมก็ทรงสมาธิจิตให้เข้าถึงอารมณ์ฌาน ถ้าทรงฌานไว้ตลอดเวลา ทีนี้ถ้าหากว่าเราคิดว่าการเกิดเป็นมนุษย์ก็ดี เทวดาก็ดี หรือพรหมก็ดี ย่อมไม่ยังประโยชน์ให้สำเร็จ กล่าวคือไม่สามารถจะทรงความสุขได้ตลอดกาลตลอดสมัย มันสุขชั่วขณะแล้วก็กลับมาแสวงหาทุกข์ใหม่ในเมื่อหมดบุญวาสนาบารมี เราไม่เอา เราก็ตั้งใจไปพระนิพพาน

การที่จะตั้งใจไปพระนิพพานก็ตั้งใจเอามรณานุสสติกรรมฐานเป็นเครื่องนำทาง การนึกถึงความตายเป็นอารมณ์ นึกถึงตัวเราจะต้องตาย ถ้าเราหวังจะอาศัยใครเขาเป็นที่พึ่งเราก็ต้องนึกว่าที่พึ่งของเราคนนั้น ไม่ช้าท่านก็ต้องตายเหมือนกัน ถ้าเราหวังจะเอาวัตถุใดเป็นที่พึ่งก็จงรู้ว่า วัตถุส่วนนั้นก็สลายเช่นกัน ไม่มีอะไรทรงตัว นี่การที่เราจะเข้าถึงที่พึ่งได้จริงๆ ก็ต้องเข้าถึงตัวเองเป็นสำคัญ การที่พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า อัตตาหิ อัตตโนนาโถ โต หิ นาโถ ปโรสิยา อัตตาหิ สุทันเตนะ นาถัง ลภติ ทุลภัง แปลเป็นใจความว่า ตนแลย่อมเป็นที่พึ่งแห่งตน บุคคลอื่นใดใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้ เมื่อเราฝึกฝนตนเองดีแล้วเราจะได้ที่พึ่ง อันบุคคลอื่นจะได้โดยยาก นี่เป็นพุทธภาษิตที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเตือน อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ตนแลย่อมเป็นที่พึ่งแห่งตน คำนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะละพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และความดีทั้งหมด เราจะเข้าถึงความดีได้ก็เพราะอาศัยการฝึกฝนตนเอง คือ จิต คำว่าตนในที่นี้ได้แก่จิต ไม่ใช่ร่างกาย คือเอาจิตของเราเข้าไปเกาะความดีเข้าไว้ ธรรมส่วนใดที่สามารถจะทำให้เราเข้าถึงพระนิพพานได้เราทำส่วนนั้น ธรรมที่มีความสำคัญที่เราเห็นได้ง่าย คือตัดรากเหง้าของกิเลส ได้แก่

โลภะ ความโลภ เราตัดด้วยการให้ทาน ทำจิตอยู่เสมอว่า เราจะให้ทานเพื่อทำลายโลภะ ความโลภ แล้วความโลภจะได้ไม่เกาะใจ

ทีนี้อีกประการหนึ่งรากเหง้าของกิเลส ได้แก่ความโกรธ เมื่อจิตเราทรงพรหมวิหารสี่ เป็นปกติ เพื่อเป็นการหักล้างความโกรธ เมื่อจิตเราทรงพรหมวิหารสี่ ความโกรธความพยาบาทมันก็ไม่มี

ประการที่ ๓ โมหะ ความหลง ตัวนี้เป็นตัวสำคัญ เป็นรากเหง้าใหญ่ เป็นตัวบัญชาการให้เกิดความรัก ความโลภ ความโกรธ ถ้าหลงไม่มีเสียอย่างเดียว ถ้าเราตัดความหลงได้เสียอย่างเดียวละก็ เราตัดได้หมด ทีนี้การตัดตัวหลงเป็นอย่างไร ตัดตรงมรณานุสสติกรรมฐาน ก็คิดเสียว่าคนเราและสัตว์ทั้งหมดเกิดมาแล้วก็มีความตายเป็นที่สุด วัตถุต่างๆที่เป็นสมบัติของโลก มันมีการเกิด มีการก่อตัวเป็นเบื้องต้น และก็สลายตัวไปในที่สุดเหมือนกัน พัง วัตถุเรียกว่า พัง คนและสัตว์เรียกว่าตาย นี่เป็นอันว่าความแน่นอนของชีวิตที่ทรงอยู่มันไม่มี หาความแน่นอนอะไรไม่ได้ มันมีความสลายตัวไปในที่สุด เราก็มาหวนกลับจับเอาวิปัสสนาญาณ จะแลเห็นว่ามันเกิด มันตายน่ะเป็นสมถะ ถ้าหันมาจับตัวตายนี่ก็เป็นสักกายทิฏฐิเป็นวิปัสสนาญาณไปว่าทำไมมันถึงต้องตาย ร่างกายนี่มันเป็นของเราหรือเปล่า ถ้าร่างกายเป็นเราเป็นของเราจริงมันจะตายได้อย่างไร เราคือจิต คิดอยู่เสมอว่าเราประคบประหงมร่างกายของเราให้เป็นปกติ สร้างสรรค์ความเจริญขึ้นให้เกิดกับร่างกาย อาหารประเภทไหนที่เขากล่าวว่ามีประโยชน์ เราพยายามหามากินถึงว่ามันจะแพงมันจะเหนื่อยมันจะยากอย่างไรก็ตาม ก็หามาบำรุงบำเรอร่างกายให้มันทรงตัว แต่แล้วในที่สุดร่างกายของเรามันทรงตัวหรือเปล่า มันหาความทรงตัวไม่ได้ มันเดินเข้าไปหาความตายทุกวัน ทรุดโทรมไปตลอดเวลา ทุกวันเวลาเรากินอาหารเข้าไป ถ้ามันเป็นเราจริงเป็นของเราจริง เราไม่ต้องการให้มันหิว กินแล้วให้มันอิ่มตลอดกาลมันก็ไม่ยอม เราไม่ต้องการให้มันแก่มันก็จะแก่ เราไม่ต้องการให้มันป่วยมันก็จะป่วย เราไม่ต้องการให้มันตายเราก็จะตาย นี่เราไม่ต้องการให้มันทุกข์ แต่เราห้ามไม่ได้ ห้ามแก่ไม่ได้ ห้ามป่วยไม่ได้ ห้ามทรุดโทรมไม่ได้ ห้ามตายไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร แต่ว่าป้องกันความทุกข์ไม่ให้เกิดแก่มัน หมอชั้นดีที่ไหนมีอยู่ นักวิชาการที่ไหนปรากฏอยู่ เข้าไปพยายามทำทุกอย่างให้ร่างกายมันมีความสุข เราหาความสุขจากร่างกายได้หรือเปล่า มันก็เปล่า ร่างกายมันมีแต่ความทุกข์ทุกลมหายใจเข้าออก

ในเมื่อมีร่างกายอยู่ ทุกข์จากความหิวมันก็เกิด ทุกข์จากความหนาวความร้อนมันก็เกิด ทุกข์จากความปวดอุจจาระปัสสาวะมันก็เกิด ทุกข์เพราะความไม่สบายกายไม่สบายใจ ไม่สบายกายได้แก่โรคภัยไข้เจ็บรบกวนมันก็เกิด ทุกข์จากความไม่สบายใจได้แก่ ความปรารถนาไม่สมหวัง กระทบกับอารมณ์ที่เราไม่ต้องการมันก็เกิด เป็นอันว่าตลอด ๒๔ ชั่วโมง เราหาความดีจากร่างกายไม่ได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชิฆจฺฉา ปรมา โรคา โรคที่ประจำกายอย่างยิ่งนั้น ก็คือ โรคหิว หิวในอาหารมันก็หิว มันก็สร้างความทุกข์ให้เกิดแต่ความหิวในอาหาร เราไม่มีโอกาสบริโภคอาหารได้ ความทุรนทุรายมันก็เกิด อาการเสียดแทงทางร่างกายมันก็เกิด เสียดแทงจิตใจ มันจะเป็นความสุขได้อย่างไร มันก็เป็นความทุกข์ หิวมันก็ไม่ใช่หิวแค่อาหาร หิวอยากจะได้อย่างโน้น หิวอยากจะได้อย่างนี้ มันหิวทางใจ ความปรารถนาทางใจมันเกิดขึ้นมา และความต้องการความปรารถนามันเกิดขึ้นมันก็มีความทุกข์อีก ถ้าความปรารถนาไม่สมหวัง คือว่าความปรารถนาจะสมหวังได้ก็ต้องตั้งใจตะเกียกตะกายประกอบกิจการงาน รวบรวมทรัพย์เพื่อจะได้ของสิ่งนั้นมาเป็นสมบัติของเรา นี่ก็เป็นภัยใหญ่ คือความเหน็ดเหนื่อยของร่างกาย เป็นการทรมานร่างกาย แล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่เราปรารถนาได้มาสมหวังแล้ว ถ้าตายเราเอาไปได้หรือเปล่า มันก็ไม่ได้ ไม่มีอะไรเอาไปได้เลย

เป็นอันว่าร่างกายนี้ไม่มีประโยชน์ การเกิดมามีร่างกายมีแต่โทษ มีแต่ความทุกข์มีแต่ความเดือดร้อน มันหาประโยชน์อะไรไม่ได้ นี่เราจะมานั่งเมาร่างกายเพื่อประโยชน์อะไร ทีนี้เรามาตัดตัวหลงกัน ในเมื่อเรามาหลงตัวเป็นสำคัญ ที่เราต้องมีความเหน็ดเหนื่อยด้วยประการทั้งปวงก็เพราะเราหลงตัวเรา การทำทุกอย่าง แสวงหาของทุกอย่างก็เพื่อประโยชน์แก่ร่างกายอย่างเดียว สำหรับจิตใจเป็นแต่แค่ความปรารถนาเท่านั้น ถ้าหากว่าตายไปแล้วทุกสิ่งทุกอย่างมันก็ไม่มีประโยชน์ แต่ว่าการหากิน การแสวงทรัพย์ถือว่าเป็นหน้าที่ของการทรงอยู่ แต่ว่าทำใจของเราปลดไปเสีย อย่าไปเมาในทรัพย์สิน ที่คิดว่าจะอยู่กับเราตลอดกาลตลอดสมัยทำใจให้สบาย เหมือนกับในสมัยที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ายังอยู่ มีพระองค์หนึ่งท่านเคยเป็นพระราชามาก่อน ท่านจำพรรษาอยู่ในป่าซึ่งไม่ห่างไกลจากบ้านเมืองนัก วันหนึ่งเขามีงานนักขัตฤกษ์ประจำปี เห็นโคมไฟสว่างไสวทั้งเมือง เรียกว่ามีความสวยสดตระการตาอย่างยิ่งในเวลาราตรี แสงไฟทำให้สว่างทำให้สวย ตัวท่านเองยืนอยู่ในป่า นั่งอยู่ในป่าอยู่ผู้เดียว มองไปดูแสงไฟก็มานั่งนึกอยู่ในใจ อจิรัง วต ยัง กาโย ปฐวิง อธิเสสะติ ฉุฑโฑ อเปตวิญญาโณ นิรัตถังวะ กลิงครัง แปลเป็นใจความโดยย่อว่า ตัวเรานี้เวลานี้มีอุปมาเหมือนท่อนไม้ที่เขาทิ้งอยู่ในป่า ย่อมไม่มีใครมีความสนใจ ร่างกายของเรานี่หาสาระประโยชน์อะไรไม่ได้ เวลานี้ไม่มีประโยชน์ ไม่ต่างอะไรกับท่อนไม้ที่เคลื่อนที่ได้ ในไม่ช้าความดับจะเข้ามาถึง นี่ท่านคิดเพียงเท่านี้ พออารมณ์จับเข้าจริงๆ ท่านก็ได้สำเร็จอรหัตผล ที่การจะนึกว่าร่างกายมันไม่ดี เราไม่ยึดถือร่างกายเป็นสรณะ แต่ว่าการบริหารร่างกายก็มีความจำเป็น ในเมื่อมันยังไม่ตาย ถ้าเราไม่บริหารร่างกาย ไม่หาอาหารให้กิน ไม่ประคบประหงมมัน ทุกขเวทนามันก็บีบคั้นหนัก ในการที่เราจะหาอาหารให้มันกิน หาเครื่องนุ่งห่ม หายารักษาโรคให้ หาเครื่องทำความเย็นความร้อนให้ ก็คิดว่าเราหามาเพื่อทุกขเวทนาชั่วขณะเท่านั้น ไม่ใช่ว่าจะหามาให้ทรงกายตลอดกาลตลอดสมัย และก็จำไว้เสมอว่าร่างกายมันจะต้องตาย ร่างกายเต็มไปด้วยความทุกข์ ร่างกายไม่ใช่แดนแห่งความสุข เป็นปัจจัยสร้างความทุกข์ให้เกิด เราเกิดชาติใดก็ดีต่อไป ในชาติต่อๆไป ชาตินี้มีภาระเป็นอย่างไรชาติต่อไปก็มีภาระเป็นอย่างนั้น คือ มันจะเต็มไปด้วยความทุกข์ เราก็ไม่ต้องการขันธ์ห้า และตั้งจิตใจไว้ว่า นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปขึ้นชื่อว่าขันธ์ห้าคือร่างกายจะไม่มีสำหรับเรา เราไม่ต้องการการเกิดที่มีร่างกายต่อไป สิ่งที่เราต้องการคือพระนิพพาน

แต่เราคิดเฉยๆ มันก็นิพพานไม่ได้ ก็ต้องหันเข้ามา

ตัดความรักในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ด้วยอำนาจอสุภสัญญา ก็เรียนกันมาแล้ว

มาตัดการโลภด้วยการให้ทาน สักกายทิฏฐิ คือ ร่างกายของเรานี้ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกายร่างกายไม่มีในเรา

เดินไปเดินมาคิดอยู่เสมอว่าร่างกายมันจะพังเมื่อไรก็ได้ ร่างกายเต็มไปด้วยความทุกข์ ร่างกายเต็มไปด้วยความโสโครก คือความสกปรกโสมม มันเป็นดินแดนนำมาซึ่งความทุกข์ ร่างกาย คือ โรคนิทธัง มันเป็นรังของโรค ปภังคุณัง มันต้องมีความเปื่อยเน่าเป็นธรรมดา เราไม่ต้องการมันอีก ชาตินี้ถือเป็นชาติสุดท้ายสำหรับเรา เราไม่ต้องการร่างกายอีก การเป็นพระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ หมดเพียงแค่นี้เท่านั้น แล้วจงพยายามรักษาศีลให้บริสุทธิ์ มีสติสัมปชัญญะควบคุมไว้ เรื่องของศีล เรื่องของทาน เรื่องของการเจริญภาวนา ถ้าบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายโดยถ้วนหน้ามีจิตแบบนี้เป็นเอกัคตารมณ์ คืออารมณ์อันเดียว หมายความว่าเห็นว่าร่างกายเป็นแดนแห่งความทุกข์ ร่างกายเป็นอนิจจัง หาความเที่ยงไม่ได้ ทุกขัง เป็นทุกข์ อนัตตา มันจะสลายตัวไปในที่สุด เราไม่ต้องการร่างกายอีก ทรงสติสัมปชัญญะให้ดี ทรงอสุภสัญญาเป็นปกติ มีจาคะ จาคานุสสติกรรมฐาน จิตใจต้องการให้ทานเป็นปกติ มีศีลานุสสติกรรมฐาน มีการทรงศีลเป็นปกติ มีพรหมวิหารสี่เป็นปกติ เห็นว่าร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันจะพังเมื่อไรก็ช่างมัน ยอมรับนับถือกฎธรรมดาเป็นปกติ อย่างนี้เราก็เข้าอริยมรรค อริยผลได้โดยไม่ยากนัก ธรรมะขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ามีความสำคัญอยู่เพียงเท่านี้ ในการเข้าถึงอริยมรรคอริยผล ไม่ใช่จะมาศึกษากัน ฟังแล้วก็ลืม ฟังแล้วก็จำ จำแล้วก็คิด คิดตลอดกาลตลอดสมัย ทำใจให้สบาย ไม่มีอารมณ์หวั่นไหวเมื่อร่างกายเกิดทุกขเวทนา เพียงเท่านี้จิตใจของทุกท่านโดยถ้วนหน้าก็จะเข้าถึงความสุข คือ อริยมรรค อริยผล ตามที่ตนพึงปรารถนา

ต่อจากนี้ไปขอทุกท่านตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก เวลาหายใจเข้ารู้อยู่ว่าหายใจเข้า หายใจออกรู้อยู่ว่าหายใจออก เมื่อจิตสบายแล้วก็พิจารณาตามที่กล่าวมาแล้ว จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘