ปีติ


วันก่อนเราได้พูดกันถึงอารมณ์ของสมาธิ พูดมาได้เล็กน้อยเวลาก้อหมดไป ก่อนที่บรรดท่านพุทธบริษัททั้งหลายจะนึกถึงอะไรทั้งหมด อันดับแรกให้นึกถึงความตายเป็นอารมณ์เสียก่อน เพราะว่าชีวิตเป็นของไม่เที่ยง แต่ความตายเป็นของเที่ยง เรามาสร้างความดีกันก็เพื่อว่าจะได้เป็นทุนไว้ในเวลาที่เราจะตาย นี่การนึกถึงความตายเป็นอารมณ์ พระพุทธเจ้ากล่าวว่าเป็นมรณัสสติกรรมฐาน และจัดว่าเป็นความไม่ประมาทในชีวิต เพราะเราจะคิดอยู่เสมอว่า ถ้าเราตายแล้ว ถ้าเรายังไม่เป็นพระอรหันต์เพียงใด เราก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฎฎะ ก่อนจะตายเราก็แสวงหาความดีเข้าไว้

ความดีที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำเบื้องต้น นั่นก็คือการให้ทาน ทานเป็นปัจจัยแห่งความรัก ทานเป็ฯปัจจัยแห่งการผูกมิตร คนที่ให้ย่อมมีจิตเป็นสุข  หมายความว่าจะไปในที่ไหนก็ตาม บุคคลผู้รับทานจากเราย่อมแสดงความเป็นมิตรกับเรา เว้นไว้แต่คนบางเหล่าเท่านั้นที่ไม่รู้คุณคน อันนี้เราก็ยกให้ด้วยอำนาจของเมตตาบารมี ตายจากความเป็นมนุษย์ไปแล้ว คนที่ให้ทานไว้ก็จะไม่พบกับความยากจนเข็ญใจ ถ้าเรายังไม่ถึงพระนิพพานเพียงใด เราก็จะมีความสุขในการเสวยทรัพย์สมบัติ นี่เป็นผลของทานที่เราพึงได้

อีกประการหนึ่งความดีเบื้องต้นของการเตรียมตัวเพื่อตาย ก็คือการมีศีลบริสุทธิ์คนที่มีศีลบริสุทธิ์ตายไปแล้วมีอายุยืนนาน มีรูปร่างหน้าตาสะสวย ถ้าเกิดเป็นมนุษย์มีทรัพย์สมบัติไม่ถูกอัคคีภัย โจรภัย อุทกภัย วาตภัยทำอันตรายเพราะอำนาจของศีลเป็ฯขอบเขต มีคนในปกครองก็รู้สึกว่าอยู่ในโอวาท ไม่มีใครฝ่าฝืน วาจาเป็นที่รักของบุคคลอื่น สติสัมปชัญญะสมบูรณ์ นี่เป็นความดีอันดับที่สองที่เราจะเตรียมตัวเพื่อตาย

อันดับที่สาม องค์สมเด็จพระจอมไตรให้ภาวนานึกถึงความดีที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปฏิบัติมาเป็นต้น อันนี้องค์สมเด็จพระทศพลให้ทรงยึดไว้เพื่อกันลืมสติสัมปชัญญะเป็นการทรงสติสัมปชัญญะ ไม่ให้เราลืมในขณะที่เราจะตาย เพราะว่าเวลาเราจะตายถ้าเราฝึกภาวนาเข้าไว้ อารมณ์จิตจะชินในด้านของกุศล ถ้าในขณะนั้นจิตของเรานึกถึงกุศลส่วนใดส่วนหนึ่ง หรืคำภาวนาว่าพุทโธ ธัมโม สังโฆ เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วก้อตาย อบายภูมิไม่มีสำหรับเรา มีที่ไปอย่างเลวเราก็เป็นมนุษย์ชั้นดี หรือมิฉะนั้นก็เป็นเทวดา หรือมิฉะนั้นก็เป็นพรหม บทใดที่เราภาวนาไว้จนขึ้นใจ ต่อไปถ้าไปพบองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ ท่านจะเทศน์อานิสงส์ของบทนั้น เราฟังเพียงจบเดียวก็ได้บรรลุอรหัตผลเข้าถึงพระนิพพาน

นี่ก่อนที่เราจะตายตั้งใจไว้ว่า เราตายแล้วจะไม่เป็นผู้ลำบาก เราตายแล้วจะเป้นผู้ไม่มีทุกข์ เราจะมีความสุขพอสมควรแม้ว่าจะยังไม่เข้าถึงพระนิพพานเพียงใดก็ตามที นี่คุณธรรมแบบนี้ที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำ ขอบรรดาท่านพุทธบริษัทจดจำแล้วปฏิบัติไว้เป็นปกติ จึงจะชื่อว่าเราไม่เสียทีในการเกิด เพราะถ้าเราเกิดเป็นมนุษย์แล้วตายไปแล้วต้องไปเกิดในอบายภูมิเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็ชื่อว่าเราก็แย่มาก เป็นการขาดทุน การสร้างความดีที่เรียกกันว่าทำบุญเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรามีความสุขดียิ่งๆ ขึ้นไป อันนี้ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายเตรียมไว้ทุกขณะจิต

ต่อแต่นี้ไปก็จะขอพูดถึงอารมณ์ของสมาธิ ที่เราจะพึงเข้าถึง เมื่อคืนนี้พูดถึงอานาปานสติไว้หน่อยหนึ่ง ว่าจะต่อมันก็หมดเวลาที่จะพูด การฝึกอารมณ์ การข่มใจเนื่องเพราะจิตฟุ้งซ่านเราก็ทราบแล้ว ที่กล่าวมาแล้วเมื่อคืนนี้ ไม่ต้องย้อมกลับไป

คราวนี้เราก็มาดูกำลังใจคือผลที่เราจะพึงได้จากการเจริญสมาธิ การเจริญสมาธินี้ เราต้องมีอารมณ์รู้จักฝึก รู้จักกำหนดจิต รู้กิจที่เราทำว่าผลมันได้แค่ไหน ไม่ใช่ว่าเราจะมานั่งทำประเภทดำน้ำกันเรื่อยไป อย่างนี้มันก็ไม่มีผล ดีไม่ดีเราพบของดีเข้าแล้วก็ทิ้งไป บางคราวเรามาพบเหตุเป็นศัตรูกับอารมณ์ของสมาธิในด้านสมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนาเป็นเครื่องคุณธรรมทำลายความดี เราก็เข้าใจว่าของดีไปยึดถือเอาเข้าไว้ เป็นอันว่า เราเหนื่อยเปล่าในปฏิบัติ ฉะนั้น ในฐานะที่บรรดาท่านพุทธบริษัทมีความเคารพในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็จงตั้งใจกำหนดไว้เพื่อความรู้

การทรงอานาปานสติกรรมฐานหรือว่าพุทธานุสสติกรรมฐาน หรือว่ากรรมฐานกองใดกองหนึ่งก็ดี ถ้าเราสามารถทรงความดีนี้ได้แล้ว แล้วต่อไปก็จงกำหนดใจคิดถึงอารมณ์ที่เราพึงได้ ถ้าเราทรงความดี คือทั้งระงับความฟุ้งซ่าน ระงับความโกรธ ความพยาบาท ระงับความรู้สึกพอใจในกามารมณ์หรือระงับความสงสัยในความดีขององค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา ครั้งหนึ่งได้ชั่วขณะเดียว ได้เพียงนาทีสองนาที อารมณ์จิตก็ซ่านคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ไป แล้วสักประเดี๋ยวหนึ่งเราก็รู้ตัวดึงเข้ามาใหม่ สลับกันมาสลับกันไปอย่างนี้ ท่านเรียกว่าขณิกสมาธิ อาการที่สงสัยยังไม่มี

ผลเพียงแค่ขณิกสมาธิแบบนี้ ถ้าบรรดาท่านพุทธบริษัททรงไว้ได้ทุกๆ วัน ผลที่เราจะพึ่งได้ ยิ่งไปกว่านั้นก็คือเวลาที่ท่านจะตายท่านจะไม่หลงตาย เวลาที่ป่วยหนักมากๆ อารมณ์ใจมันก็เข้ามารวมตัว จะทรงจิตเป็นฌานได้ หรือมิฉะนั้นจะทรงจิตเป็นสมาธิ สูงขึ้นไปกว่านั้นถึงขั้นอุปจารสมาธิ เพราะคนถ้ารู้ตัวว่าจะตายก็จะรวบรวมกำลังกายกำลังใจไว้เพื่อช่วยตัวเองเสมอ นี่เป็นกฏธรรมดา ผลที่ได้มาจากขณิกสมาธิ ส่วนมากเขาไม่เกิดเป็นคนแล้ว เขาไม่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสูรกาย เป็นสัตว์นรก ขณิกสมาธิส่งผลให้บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เทวโลก

ตัวอย่างในพระพุทธศาสนามีมาก เช่นท่านมัฎฐกุลฑลีเทพบุตร เป็นคนที่ไม่เคยทำบุญมาเลยในกาลก่อน เพราะพ่อเป็นคนขี้เหนียว นามของพ่อก็คือ อทินนปุพพกพราหมณ์ แปลว่าพราหมณ์ผู้ไม่เคยให้อะไรมาเลยในกาลก่อน ขี้เหนี้ยวมาก บุญก็ไม่เคยทำ กรรมดีก็ไม่เคยสร้าง เพราะความเหนียวแน่นเสียดายทรัพย์ ท่านมัฎฐกุลฑลีเทพบุตรตอนที่เป็นลูกชายป่วยไข้ไม่สบายลง พ่อก็ไม่หาหมอมารักษา เพราะความขี้เหนียวเก็บยามารักษาอย่างเดียว ในที่สุดลูกก็ตาย เมื่อลูกชายใกล้จะตายคิดว่าพ่อแม่ก็ดีทรัพย์สินทั้งหลายที่มีมากถึง ๘๐ โกฎิ ไม่มีประโยชน์สำหรับตน คิดว่าองค์สมเด็จพระทศพลคงจะมีพระมหากรุณาโปรดให้มีความสุข จึงนึกถึงความดีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างที่พวกเราภาวนาว่า พุทโธ  ท่านคำนึงถึงความดีของพระพุทธเจ้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้นจิตก็ออกไปจากร่างกายที่เราเรียกกันว่าตาย ผลความดีเล็กน้อยที่คิดถึงคุณความดีขององค์สมเด็จพระจอมไตรเรียกว่าขณิกสมาธิ ท่านก็ได้ไปเกิดบนดาวดึงส์เทวโลกมีวิมานทองคำ มีต่างหูเกลี้ยง มีนางฟ้า ๕๐๐ เป็นบริวาร จัดว่ามีความสุขพอสมควร ทั้งๆ ที่ท่านไม่เคยทำบุญมาในกาลก่อนเลย ถ้าพวกเราทำอย่างงั้น ได้กำไรกว่ามัฎฐกุลฑลีเทพบุตรมาก เพราะเราทำบุญในศาสนาขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ามานับไม่ถ้วน แล้วเราก็ให้ทานภายนอกเขตของพระพุทธศาสนามานับไม่ถ้วน เช่นให้ทานแก่คนขอทาน ให้ทานแกคนรับความลำบาก ให้ทานแก่สัตว์เดรัจฉาน อย่างนี้ก็มีอานิสงส์ใหญ่ อานิสงส์ทั้งหลายจะรวมตัว เราก็จะมีความดียิ่งกว่ามัฎฐกุลฑลีเทพบุตร มีความสุขกว่า มีอำนาจวาสนาบารมีดีกว่า

สำหรับสมาธิที่น่ากลัวก็คืออุปจารสมาธิ อุปจารสมาธินี่ทำลายความดีคนลงไปเสียมาก อาการของอุปจารสมาธิมีความอิ่มอกอิ่มใจ มีความปลื้มปีติยินดี มีความขยันในการสุขกายสุขใจเพราะอำนาจสมาธิเป็นเครื่องส่งเสริม เป็นเหตุให้เราไม่อิ่มไม่เบื่อในการเจริญสมาธิ หรือว่าในการเจริญวิปัสสนาญาณ นักปฏิบัติพระกรรมฐาน พอเข้าถึงปีติ คืออุปจารสมาธิ มีปีติเต็มที่ พวกนี้ได้ดีทุกคน เว้นไว้แต่คนที่หลงเท่านั้น

อาการของอุปจารสมาธิที่จะเกิดขึ้น ในอันดับหนึ่งจะมีการขนลุกซู่ซ่า เรียกว่าขนพองสยองเกล้า นั่งๆ อยู่ก็มีอาการขนลุกชันขึ้นมาเป็นปกติ ซึ่งในกาลก่อนความหนาวไม่มี การสัมผัสกับลมไม่มี แต่มันขนลุกขึ้นมาเฉยๆ อย่างนี้จัดว่าเป็นปีติเบื้องต้น ไม่ต้องแก้ไข ถ้ากำลังใจของเราตกกว่านั้นอาการอย่างนั้นมันก็ไม่เกิด ถ้ากำลังใจสูงขึ้นไปอีกหน่อย อาการอย่างนั้นมันก็หายไป อาการที่เกิดทางกายนี่ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายจงอย่าเอาจิตเข้าไปยุ่ง มันจะเป็นยังไงก็ช่างมัน เรารวบรวมกำลังใจไว้อย่างเดียวดีกว่า ทรงอารมณ์จิตให้เป็นสมาธิ บางท่านก็เอาใจเข้าไปยุ่งจนเสียผล มีเยอะแยะไป แล้วมีบางรายอธิบายให้ฟังอยู่อย่างนี้แล้วก็ยังไม่หายความสงสัย ย้อนไปย้อนมาถึงอาการที่เกิดทางกาย ถ้าอารมณ์ใจเป็นอย่างนี้ล่ะก็ อารมณ์จิตมันละเอียดลงไปก็ปรากฎทางกายขึ้นมาบ้าง มันจะเป็นยังไงก็ปล่อยมัน อย่าไปสนใจ รักษาใจเป็นสมาธิแล้วเป็นพอ

อาการที่ ๒ เมื่อขนพองสยองเกล้าผ่านไป คราวนี้เกิดน้ำตาไหล นั่งไป นั่งพอใจสบาย น้ำตามันไหล ดีไม่ดีมันก็ไหลเอามากๆ แล้วก็ไม่ไหลแต่เวลาที่นั่งเจริญสมาธิ บางทีไปพบอะไรสะดุดใจเข้า ใครเขาพูดอะไรสะดุดใจเข้า จิตมันทรงปีติอยู่แล้วนี่ เราไม่รู้มัน เพราะเราไม่ได้ระวัง ไอ้ปีติตัวนี้มันขังอยู่ในใจ แล้วไม่มีเหตุไม่มีผล นี่อาการอย่างนี้มันเกิดขึ้นแก่บรรดาท่านพุทธ ศาสนิกชน จงคิดว่ากำลังใจของเราก้าวขึ้นไปแล้ว มีสมาธิสูงขึ้นเข้าถึงระดับปีติที่ ๒ ปีตินี่แปลว่าอิ่มใจ อาการอย่างนี้ความชุ่มชื่นในการที่บำเพ็ญกุศลมักจะมากขึ้นตามลำดับ มีความเชื่นมั่นในความดีของพระพุทธศาสนา คนประเภทนี้ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าห้ามขอวัตถุใดๆ เพราะว่าขอแล้ว ท่านมีกำลังใจสูง ท่านก็ให้ ถ้าพระขอพระก็เป็นโทษเป็นอาบัติ นอกจากแต่เพียงว่าเราขาดอะไร ท่านเห็นใจ ท่านถวายพระ อันนี้ไม่เป็นไร ถ้าพระองค์ไหนไปอ้าปากขอก็มีหวังลงนรกทันที อาการอย่างนี้เป็นอันดับที่ ๒ ถ้าจิตมีกำลังใจสูงขึ้นไป อาการน้ำตาไหลมันก็จะหายไป

คราวนี้อาการมาใหม่ คือร่างกายโยกไปโยกมาโยกข้างหน้าโยกข้างหลัง บางทีก็หมุนไปทั่วตัว บางทีก็แสดงอาการตึงตังตึงตังคล้ายปลุกพระ อาการอย่างนี้เขาเรียกว่าโอตกันติกาปีติ เป็นปีติที่ ๓ อาการเคลื่อนไหวของกายมันจะแรงมันจะเบาประการใดก็ตามที่จะรู้สึกว่ากำลังใจของเราตั้งมั่นอยู๋ในอารมณ์สมาธิไม่เสื่อมคลาย นี่อาการกายอย่างนี้ถ้าปรากฏก็ต้องใช้ศัพท์ว่าช่างมัน มันจะแสดงเป็นยังไงก็ช่างหัวมัน เมื่อใจเราสบายแล้วก็แล้วกัน เรื่องทางกายเราไม่เกี่ยว อันนี้ต้องจำไว้ให้ดี อาการประเภทนี้ปรากฏมีคนเป็นจำนวนมากมาถามกันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเข้าไปในกรุงเทพฯ เขาถามกัน อธิบายให้ฟังแล้วแกก็ไม่ได้ดี เพราะอาการที่เกิดขึ้นแก่ตัว ตัวไม่รู้ คนที่เขาผ่านมาแล้วบอกก็ยังไม่รับฟัง ยังนั่งตั้งหน้าตั้งตาสงสัย ไอ้ตัวสงสัยมันเข้ามาข้องอยู่เมื่อไร เราก็บรรลัยเมื่อนั้นผลแห่งการปฏิบัติมันก็ไม่ปรากฏ นี่อาการอย่างนี้ปรากฏเราจะรู้สึกว่าจิตใจของเราตั้งมั่นมากขึ้น เราต้องการอย่างเดียวให้จิตใจตั้งมั่น ร่างกายมันจะเป็นยังไงก็ช่างมัน

ต่อมาเป็นปีติที่ ๔ เรียกว่า อุพเพงคาปีติ ปีติอันดับนี้จะมีตัวลอยขึ้นไปบนอากาศ แต่ว่าใจเราก็สบาย ไอ้ตัวลอยขึ้นไปนี่มันไม่ใช่เหาะ เมื่อใจเข้าถึงระดับ ปีติตัวนี้มันลอยของมันขึ้นไปเอง ถ้ากำลังจิตจะคลายนิดหนึ่งมันก็จะเลื่อนมานั่งที่เดิมตามปกติ ไม่ต้องกลัวว่าจะลอยไปแล้วก็กลับไม่ได้ อารมณ์ใจจะมีความชุ่มชื่น มีความชื่นบานมากกว่าปีติที่แล้วมา

ถ้ากำลังใจของเราสูงขึ้นไปอีกนิดหนึ่ง อาการอย่างนั้นมันก็หายไป จะมีอาการซาบซ่าเหมือนกับกายเบา กายโปร่งคล้ายกับกายไม่มีอะไร จะมีเพียงหนังบางๆ ผสมอยู่ เนื้อกระดูกภายในมันจะไม่ปรากฏ มีความรู้สึกยังงั้น นั่งอยู่อย่างนี้ดูอาการมันเหมือนกะว่าตัวเราโตขึ้นบ้าง หน้าใหญ่บ้าง ร่างกายสูงขึ้นไปบ้าง แต่มีอารมณ์ใจชุ่มชื่น มีจิตเป็นปกติมีอารมณ์ตั้งมั่นในสมาธิ อาการนี้ท่านเรียกว่า ผรณาปีติ เป็นปีติตัวสุดท้าย แล้วก็มันมีอาการใกล้กับความสุข เมื่อปีติตัวนี้ปรากฏขึ้นแล้วพอระงับหายไป ความสุขก็ปรากฏ คำว่าความสุขปรากฏนี่มันสุขจริงๆ เราจะนั่งสัก ๒๐-๓๐ วันโดยไม่ลุกเลยก็ได้ ความปวดความเมื่อย ความไม่สบายกายไม่สบายใจมันจะไม่มี มีแต่ความสดใสชุ่มชื่น บรรยายกันไม่ถูก

นี่พอจิตเข้าสู่ระหว่างปีติก็ดี เข้าถึงสุขก็ดี เรียกว่าเป็นอุปจารสมาธิ ถ้าถึงตัวสุขจัดว่าเป็นอุปจารสมาธิเต็มที่ เริ่มตั้งแต่ปีติแรกก็เรียกว่าอุปจารสมาธิเบื้องต้น อาการของปีติที่กล่าวมาแล้วถึงห้าขั้นนั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องผ่านเหมือนกันทุกคน บางคนก็ผ่านเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง บางคนที่มีอารมณ์สูงกว่าไม่ผ่านเลย คือผ่านอย่างไม่มีความรู้สึก เข้าไปถึงปฐมฌานเลยทันที นี่ถ้าเคยได้ฌานมาในกาลก่อน

แล้วตอนที่มีอารมณ์จิตเข้าถึงอุปจารสมาธิตัวนี้ตั้งแต่ปีติเป็นต้นไปต้องระมัดระวังแสงสีภาพต่างๆ มันจะปรากฏ ตอนนี้พระคณาจารย์ทั้งหลายกำหนดไว้บอกว่าจงอย่าสนใจกับภาพแสงสีใดๆ ทั้งหมด ถ้าไปสนใจกับภาพแสงสีใดๆ เข้า จิตใจของเราจะเคลื่อนจากสมาธิ เราตั้งใจไว้อย่างเดียวว่าอะไรจะมาก็เชิญมา อะไรจะไปก็เชิญไป เราไม่สนใจ เราสนใจอย่างเดียวคือสมาธิที่ทรงไว้ รักษากำลังใจให้ตั้งมั่นไว้ตามเดิม เช่นเรากำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก คำภาวนาว่ายังไงก็ตาม ทรงอาการอย่างนั้นไว้ให้เป็นปกติ จิตก็จะได้เข้าถึงปฐมฌานได้รวดเร็ว ถ้าเราลงไปหลงในภาพแสงสีแล้วความดีมันก็จะสลายตัวลงไป

สำหรับท่านทั้งหลายที่มีจิตใจเข้าถึงอุปจารสมาธิแบบนี้ เมื่อตายจากความเป็นมนุษย์ส่วนใหญ่ไปเป็นเทวดาชั้นยามา คือว่าเป็นเทวดาที่ต่อวาสนาบารมี

เอาละบรรดาท่านพุทธบริษัท สำหรับวันนี้ กาลเวลาที่จะพูดก็หมดแล้ว ต่อแต่นี้ไปขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายพยายามตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยจนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘