การทรงฌาน


โอกาสนี้บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ได้พากันสมาทานพระกรรมฐานและสมาทานอุโบสถศีลแล้ว ต่อแต่นี้ไปก็เป็นโอกาสที่ท่านทั้งหลายจะพากันเจริญสมาธิจิตในอันดับแรกของการเจริญสมาธิจิต สิ่งที่ต้องตั้งไว้เป็นอารมณ์รักษาไว้ด้วยดี นั่นก็คือลมหายใจเข้าออก พยายามรักษากำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก เวลาหายใจเข้ารู้อยู่ว่าหายใจเข้า หายใจออกรู้อยู่ว่าหายใจออก เวลาหายใจเข้านึกว่าพุท เวลาหายใจออกนึกว่าโธ อาราณ์นี้อย่าทิ้งเป็นอันขาด ให้มันทรงอยู่เป็นปกติ ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะการฝึกสมาธิการรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ความรู้คำว่าพุทโธ นี้เป็นอาการของสมาธิ แล้วก็จงอย่าสนใจกับภาพและแสงสีต่างๆ ที่ปรากฏขึ้นแก่จิต ถ้าภาพแสงสีใดๆ ปรากฏขึ้นแกจิตเพิกเฉยต่ออาการของภาพนั้นเสีย รักษาอารมณ์เดิมให้เป็นปกติ อย่างนี้จึงจะชื่อว่าเป็นไปตามความมุ่งหมายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อาการอย่างนี้ขอทุกท่านจงทรงไว้ตลอดชีวิต

แล้วอีกประการหนึ่งสำหรับการที่เราเจริญพระกรรมฐาน ก็ต้องใคร่ครวญอยู่เสมอว่า เราเจริญพระกรรมฐานเพื่อต้องการความรู้เป็นเครื่องพ้น พ้นจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เพราะความเกิดเป็นทุกข์ มรณัมปิ ทุกขัง ความตายเป็นทุกข์ ถ้าเรายังต้อง เกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่แบบนี้ เราก็มีแต่ความทุกข์ เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏะ การเจริญสมถกรรมฐานวิปัสสนากรรมฐาน เราทำเพื่อสิ้นความเกิด เพราะเราไม่ต้องการความทุกข์ต่อไป จงพิจารณาหาทุกข์ให้พบในอริยสัจ

ต่อแต่นี้ไปก็จะขอพูดต่อเมื่อคืนที่แล้ว เมื่อคืนที่แล้วได้พูดถึงอารมณ์ปฐมฌานโดยย่อ ก็ให้สังเกตอารมณ์หรือว่าเท่าที่เราภาวนาว่าพุทโธ หรือกำหนดรู้ลมหายเข้าออก ถ้าอารมณ์จิตของเราได้ยินเสียงภายนอกชัดเจนแจ่มใส รู้เรื่องทุกอย่าง แต่เราไม่รำคาญในเสียง สามารถจะควบคุมอารมณ์ใจของเราให้เป็นปกติ หรือรู้ลมหายใจเข้าออก รู้คำภาวนาได้เสียงจะสอดแทรกเข้ามาเพียงใดก็ตามที่ เราไม่รำคาญ จิตใจไม่กระสับกระส่ายไปตามเสียง อาการอย่างนี้เป็นอาการของปฐมฌาน

การที่เราจะควบคุมอารมณ์ให้ทรงอยู่ตลอดได้นานหรือไม่ได้นานนั้นก็เป็นเรื่องของการฝึกจิต ฝึกวิธีทรงสมาธิ วิธีที่ฝึกทรงสมาธินั่นนะ ในอันดับแรก พระพุทธเจ้าใช้การนับเป็นสำคัญ คือนับตั้งแต่ ๑ ถึง ๑๐ ของลมหายใจเข้าออก นับเป็นคู่ เราจะบังคับให้อารมณ์ของเราทรงอยู่ตามนี้ ว่าในขณะที่ ๑ ถึง ๑๐ นี่ เราจะไม่ยอมให้อารมณ์อื่นเข้ามาแทรกเป็นอันขาด แล้วจิตก็ทรงอยู่ใดอย่างนั้นจริงๆ พอมาถึง 10 แล้วเราก็ปล่อยเลยหรือเริ่มต้นใหม่ ถ้าจิตยังสบาย คือเราจะทรงอารมณ์ให้ได้ ๑ ถึง ๑๐ อีก ถ้าถึง ๑๐ แล้วก็ยังทรงได้ อย่างนี้เรียกว่าเป็นการฝึกจิตทรงสมาธิ เมื่อฝึกอาการอย่างนี้จนคล่องแล้วเราก็สามารถจะใช้วิธีนับ ๑ ถึง ๒๐ หรือกำหนดให้นับ ๑ ถึง ๓๐ ถึง ๕๐ ถึง ๑๐๐ ก็ได้

วิธีการฝึกการทรงฌานทรงสมาธิที่ทรงได้แน่นอน สมัยโบราณท่านทำแบบนี้ ท่านใช้เทียนปักเข้าข้างหน้า วิธีใช้เทียนนี่ต้องปักในขันหรือว่าปักในสถานที่อย่างใดอย่างหนึ่งกันเทียนล้มไปไหม้บ้านไหม้วัด นี่ต้องเป็นคนที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ มีความฉลาด ไม่ใช่ทำอะไรแบบโง่ๆ ปล่อยให้อันตรายเกิดขึ้นอย่างนี้ ไม่สรรเสริญ แล้วไม่ใช่ทางดีดีไม่ดีมันจะไหลลงนรกไป การทำอะไรต้องมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ นิสสัมมะ กรณัง เสยโย ใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทำดีกว่า การทำอะไรไม่ใคร่ครวญไม่พิจารณา ไม่ใช่หนทางแห่งความดี มันเป็นหนทางแห่งความเลว ก่อนการเจริญกสิณ เตโชกสิณ เป็นต้น ถือว่าการทรงสมาธิจิต หัดวิธีทรงอารมณ์ เราต้องใช้ความระมัดระวังไม่ใช่สักแต่ว่าทำส่งเดช จุดธูปจุดเทียนบูชาพระก็เหมือนกัน จุดแล้วก็ต้องระมัดระวังว่าธูปเทียนจะไปไหม้อะไรหรือเปล่า เสร็จแล้วก็เอาก้านธูปขี้เทียนทิ้งไป ไม่ให้เป็นเชื้อสายอันตรายแก่ทรัพย์สิน

การทดลองการทรงสมาธิ การฝึกทรงสมาธิของพระโบราณ ท่านใช้เทียนขี้ผึ้ง แล้วก็เอาสตางค์หรือเหรียญบาทไปติดเข้าไว้จุดใดจุดหนึ่ง โดยคิดว่าถ้าจิตเรายังไม่ถึงจุดนี้เพียงใด เราจะไม่ยอมให้จิตเคลื่อนไปสู่อารมณ์อื่น เวลานั่งภาวนาไปก็ตั้งใจเฉพาะภาวนาอย่างเดียว พอเทียนไหม้ลงไปถึงสตางค์หรือเหรียญบาทที่ติดไว้ สตางค์ก็หล่นเป้งลงไป แสดงว่าเราควบคุมจิตเราได้แบบสบายโดยจิตไม่เคลื่อน จิตของเราทรงฌานถึงระดับนั้น ทรงสมาธิทรงเวลาได้ตามที่เราต้องการ

การฝึกสมาธิจิตหรือการฝึกอารมณ์ให้ทรงตัวนี้มีความสำคัญมาก มิฉะนั้นอารมณ์จิตของเราจะไม่สามารถควบคุมได้เป็นปกติ นี่เป็นวิธีการคุมอารมณ์ให้ทรงตัวอยู่ เรียกว่า ทรงฌาน แบบนี้บรรดท่านทั้งหลายต้องฝึกให้เป็นปกติ ถ้ามานั่งอยู่ตรงนี้ (บนหอพระกรรมฐาน)ไม่แน่นัก เพราะเราใช้เวลาจำกัดเพียง ๓๐ นาที แล้วควรจะไปฝึกที่กุฏิด้วย การทรงสมาธิอารมณ์มันถึงจะได้ดี ถ้าเราสักแต่เพียงว่าทำไปชั่วขณะที่มาทำที่นี่ กลับไปกุฏิก็ปล่อยไปตามอารมณ์ อันนี้แสดงว่าเรายังขาดทุนอยู่มาก การทรงสมาธิ ถ้าเราไม่สามารถจะทรงสมาธิได้นาน วิปัสสนาญาณมันก็แย่ การที่เราจะมีวิปัสสนาญาณดีเพียงไร ก็ดูจริยาที่เราปฏิบัติในงาน ฝึกในงาน ประกอบการงาน ถ้ามีความละเอียดลออเพียงไหนหรือไม่ ถ้าขาดการระมัดระวังนั่นก็แสดงว่า เรายังห่างจากอารมณ์ของสมาธิ คือ สติสัมปชัญญะอยู่มาก การทำกิจการงานทุกอย่างต้องใช้อารมณ์พระกรรมฐานเข้าไปช่วย ไม่ใช่สักแต่เพียงว่าทำ ทำด้วยการพินิจพิจารณา ทำด้วยการใคร่ครวญ ทำด้วยการใช้ปัญญาเอาเป็นเครื่องพิจารณาว่าอะไรมันจะดี อะไรมันจะเสียไม่เสีย อย่างนี้เขาเรียกว่าเราทำงานด้วยแล้วเอาจิตช่วยเป็นสมถะเป็นวิปัสสนาทุกฝีก้าว หรือทุกอิริยาบถที่เราขยับไปให้มันเป็นสมาธิแล้วเป็นวิปัสสนาควบไปทุกขณะ นี่ถ้าหากว่ากิจการงานใดๆ ถ้ามีการพลั้งพลาด ยังมีความหยาบก็จงรู้ถึงจิตใจของตัวว่ามันยังห่างจากมรรคผลมากนัก ยังห่างกว่าฌานสมาบัติ

ต่อนี้ไปก็จะขอพูดถึงฌานที่ ๒ เมื่อคืนนี้ได้พูดถึงฌานที่ ๑ ฌานที่ ๑ มีองค์ห้า คือ มีวิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคตา

คำว่า วิตก แปลว่า นึก นึกว่าเราจะหายใจ นึกว่าเราจะภาวนา

วิจารณ์ตัวนี้ก็รู้อยู่ ว่าการหายใจเราหายใจอยู่หรือเปล่า หายใจสั้นหรือหายใจยาว ภาวนาอยู่หรือเปล่า คำภาวนาถูกหรือผิด เรียกว่า วิจารณ์

ปีติ ก็ตามที่กล่าวมาแล้ว ปีติมีอาการห้าอย่าง

สุข มีอารมณ์สบาย ทรงจิตสบายมีความชื่นอกชื่นใจ

เอกัคตา คือมีอารมณ์เป็นอันเดียว มีการทรงอารมณ์ไว้ ภาวนาก็ภาวนาอยู่อย่างนั้น จับลมหายใจเข้าออก รู้แต่ว่าจับลมหายใจเข้าออกอยู่อย่างนั้น อาการอย่างนี้เรียกว่า ปฐมฌาน

สำหรับฌานที่ ๒ ตัดวิตกวิจารณ์ออกเสียได้ เหลือแต่ปีติ สุข เอกัคตา วิธีที่ตัดวิตกวิจารณ์นี่ ส่วนมากนักปฏิบัติมักจะเข้าใจพลาด เหมือนกันทุกคนนักปฏิบัติตอนใหม่ๆ คือว่าเวลาภาวนาหรือจับลมหายใจเข้าออกไป ภาวนาไป ภาวนาไป จิตใจมันสบายมีความชุ่มชื่นมากขึ้นไป ไป ไป คำภาวนามันหยุดลงมาเสียเฉยๆ แต่ลมหายใจยังคงอยู่ แต่ว่าลมหายใจเบาไปเล็กน้อย มีความชุ่มชื่น มีความเอิบอิ่ม มีจิตทรงสมาธิได้ดี คำภาวนาไม่มีอาการอย่างนี้เรียกว่า ทุติฌาน คือ ฌานที่ ๒

บางรายหรือทั่วๆ ไป เห็นจะเป็น ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เท่าที่ผ่านกันมาเองก็ดี พบกันมาเองก็ดี ขณะที่จิตอยู่ฌานที่ ๑ พอเข้าถึงฌานที่ ๒ พอรู้สึกตัวลงมา จิตตกจากฌานที่ ๒ มารู้สึกว่าเอ๊ะนี่ตายจริง เราลืมภาวนาไปเสียแล้วนี่ น่ากลัวจะหลับไปหรือจะเผลอไป แล้วก็เลยจับต้นชนปลายไม่ใคร่จะถูก คว้าคำภาวนาไม่ใคร่จะถูก ที่มีความรู้สึกเป็นอย่างนี้ก็เพราะว่า เราเข้าใจผิดคิดว่า เราทิ้งคำภาวนาลืมภาวนา เคลิ้มไปหรือหลับไป อาการอย่างนั้นเป็นการเข้าใจพลาด แต่มันก็เป็นเหมือนกันทุกคนนั่นแหละ ถ้าเคยผ่านมาแล้วก็โดนเหมือนกันทุกคน นี่เราก็จงเข้าใจว่า ถ้าบังเอิญอาการอย่างนั้นปรากฏ คือ ภาวนาไปภาวนาไปปรากฏว่าคำภาวนาหายไป มีจิตใจชุ่มชื่น มีอารมณ์ดิ่งสบาย ที่นี่เวลาจิตมันตกลงมา รู้สึกว่านี่เราลืมภาวนาไปแล้วนี่ ถ้าอย่างนี้ก็จงรู้ว่าขณะที่ตกมานึกว่าเราลืมภาวนาไขว่คว้าคำภาวนาเกือบจะไม่ถูก มันเป็นอาการของจิตที่ตกลงมาจากทุติยฌาน ฌานที่ ๒

ฌานที่ ๒ นี่ถ้าเราทรงได้ พอตายแล้วก็ไปเป็นพรหมชั้นที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ตามกำลังของฌาน ฌานอย่างหยาบก็เป็นพรหมชั้นที่ ๕ อย่างละเอียดเป็นพรหมชั้นที่ ๖

การทรงสมาธินี่มีความสำคัญ การเจริญสมาธิ ถ้าเราจะมีแต่สมาธิธรรมดา รู้สึกว่ากำลังใจของเราไม่มั่น เมื่อทรงสมาธิแบบสบายๆ สบายใจพอสมควร เราก็น้อมเข้าไปหาวิปัสสนาญาณ โดยใช้อย่างย่อ คือ พิจารณาร่างกายว่า อัตภาพร่างกายนี่มันไม่ใช่เรามันไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา เรามีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น แล้วก็มีการสลายตัวไปในที่สุดอย่างนี้ก็ชื่อว่า ร่างนี้มันไม่ใช่เรา มันเป็นเรือนร่างที่อาศัยชั่วคราวเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเราจะคิดกันให้สั้นๆ ก็เรียกว่า ร่างกายของเรานี่มันตายแน่ เมื่อเราจะตายเราก็คิดไว้ว่า ถ้ามันตายแล้วก็แล้วกันไป ขึ้นชื่อว่าความตายวาระต่อไปไม่มีสำหรับเรา เพราะร่างกายเต็มไปด้วยความทุกข์ ที่เรามามีทุกข์ต่างๆ ก็เพราะอาศัยร่างกายเป็นสำคัญ ในเมื่อร่างกายเต็มไปด้วยความทุกข์อย่างนี้นั้น ต่อไปเราไม่ต้องการความทุกข์อย่างนี้อีก คือไม่ต้องการร่างกาย นี่เป็นกำลังใจข้อที่ ๑ คิดเอาไว้

ประการที่ ๒ เราจะไม่สงสัยในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราแน่ใจในผลแห่งคำสอนที่พระพุทธเจ้าสอนแล้ว พระพุทธเจ้าเองก็ทรงเป็นพระอรหันต์ แล้วท่านผู้ปฏิบัติตามอย่างเรา ท่านก็เป็นอรหันต์มานับไม่ถ้วน ไม่มีอะไรเป็นเครื่องน่าสงสัย

ประการที่ ๓ ตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ฆราวาสก็มีศีล ๕ บริสุทธิ์ ให้มั่นคง ถึงพระเณร ก็รักษาศีลของตนให้บริสุทธิ์

ประการที่ ๔ จิตใจเรารักพระนิพพานเป็นอารมณ์

ถ้าอารมณ์จิตของเราคิดอยู่อย่างนี้ ปฏิบัติได้อย่างนี้เป็นอัตโนมัติโดยไม่ต้องมีการระมัดระวังอย่างนี้เขาเรียกว่า พระโสดาบัน

ถ้าอารมณ์ใจของเราก้าวขึ้นไปสูงมากกว่านี้อีกหน่อยหนึ่ง จะเป็นพระอนาคามี ก็ต้องพิจารณาสักกายทิฏฐิ หรือว่าอสุภกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง พิจารณาให้เห็นว่า ร่างกายของคนและสัตว์ทั้งหมดไม่ใช่แท่งทึบ มีอาการ ๓๒ ประกอบขึ้น มีตับ ไต ไส้ ปอด อาหารใหม่ อาหารเก่า อุจจาระปัสสาวะ ร่างกายเต็มไปด้วยความโสโครก เต็มไปด้วยความสกปรก ไม่มีอะไรที่น่ารักน่าปรารถนา ไม่มีความสะอาด เรารังเกียจร่างกาย จนกระทั่งจิตใจของเรามีความเบื่อหน่าย เห็นคนก็ดี เห็นสัตว์ก็ดี บุคคลอื่นก็ดี ตัวเราก็ดี รู้สึกว่ามันเต็มไปด้วยความสกปรก เห็นว่าร่างกายที่ประกอบไปด้วยธาตุสี่ของแต่ละบุคคคลสกปรกน่าเกลียด ไม่ถึงปรารถนาในการร่วมควบคู่อยู่ด้วย จนกระทั่งจิตใจของเรามีความสุขปราศจากความรักในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย การสัมผัสที่นิ่มนวล แล้วหลังจากนั้นไปก็เจริญเมตตาพรหมวิหารสี่เป็นเครื่องตัดความโกรธ ความพยาบาท จนกระทั่งเห็นใครเขาทำอะไรเคยไม่ชอบใจ ใจมันก็มีอารมณ์สบาย แทนที่จะโกรธ แทนที่จะพยาบาทประทุษร้ายเขา ก็กลับมีเมตตาความรัก กรุณามีความสงสาร ว่าคนที่ทำความชั่วอย่างนี้นั้นเป็นบุคคลที่น่าสงสารอย่างยิ่ง เพราะว่าเป็นการทำลายตัวเอง นี่ค่อยๆลูบคลำกันไป

สำหรับอารมณ์วิปัสสนาญาณจะพึงยกไว้เฉพาะในด้านอนาคามี เพราะเวลานี้ เวลากาลที่จะพูดก็มากเกินไปแล้ว เพราะสัญญาณบอกเวลาปรากฏแล้ว อันดับแรกก็ขอให้จับลมหายใจเข้าออกกับคำภาวนา พยายามตั้งอารมณ์เข้าไว้ว่า ต่อแต่นี้ไปเวลา ๓๐ นาที เราจะไม่ยอมให้อารมณ์อื่นเข้ามายุ่งกับใจของเราเป็นอันขาด นอกจากว่าเราจะทรงสติสัมปชัญญะรู้ลมหายใจเข้าออก รู้คำภาวนาว่า พุทโธ ไว้เป็นปกติ นี่ต้องทำใจให้เข้มแข็ง ทรงอารมณ์อยู่ให้ได้ ถ้าเผอิญพอใจสบายแล้ว เมื่อจิตมันกลับไปคิดก็คิดว่าร่างกายของเรานี่มันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เดี๋ยวมันก็พัง เดี๋ยวมันก็ตาย เราจะยึดถือมันไว้เพื่อประโยชน์อะไร เมื่อร่างกายของเราจะพัง ร่างกายของคนอื่นเราจะปรารถนาเพื่อประโยชน์อะไร แล้วในเมื่อนอกจากร่างแล้วทรัพย์สินทั้งหลายมันก็ไม่มีประโยชน์ แต่ว่าเราต้องทำต้องหาในเมื่อยังต้องกินต้องใช้ ถ้าหากว่าเราจะพึงต้องตายก็ตายไป ไม่เสียดายทรัพย์สิน ไม่เสียดายร่างกาย เราเชื่อองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา แล้วก็พยายามควบคุมศีลให้บริสุทธิ์ เรื่องศีลนี่จะถือว่าจำเป็นขอหลีกเลี่ยง จำเป็นอย่างนั้น จำเป็นอย่างนี้ อันนี้ไม่มีสำหรับนักเจริญสมถกรรมฐานวิปัสสนากรรมฐาน ต้องถือว่าเป็นปกติของเราเท่านั้นที่เราจะต้องพึงปฏิบัติ ถ้าอย่างนี้อารมณ์ของท่านพุทธบริษัทก็จะเข้าถึงอารมณ์ของพระโสดาบัน อันนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในตอนต้นถ้าเราปฏิบัติไม่ถึงจุดนี้แล้ว ก็เสียทีที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนา

เอาละต่อแต่นี้ไป ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายโดยถ้วนหน้า จงพยายามตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยจนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘