พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ หน้า 656-660

                                                            หน้าที่ ๖๕๖

                                                                สิกขาบทวิภังค์
                [๗๙๖] คำว่า เสนาสนะป่า ความว่า เสนาสนะที่ชื่อว่าป่า มีกำหนดเขต ๕๐๐
ชั่วธนูเป็นอย่างต่ำ.
                ที่ชื่อว่า เป็นที่มีรังเกียจ คือ ในอาราม ในอุปจารแห่งอาราม มีสถานที่พวกโจร
ซ่องสุม บริโภค ยืน นั่ง นอน ปรากฎอยู่.
                ที่ชื่อว่า มีภัยเฉพาะหน้า คือ ในอาราม ในอุปจารแห่งอาราม มีร่องรอยที่ชาวบ้าน
ถูกพวกโจรฆ่า ปล้น ทุบตี ปรากฏอยู่.
                บทว่า อนึ่ง ...    ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ...
                บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ...     นี้ชื่อว่า ภิกษุ
ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้.
                บทว่า ในเสนาสนะเห็นปานนั้น คือ ในเสนาสนะมีร่องรอยเช่นนั้นปรากฏ.
                ที่ชื่อว่า อันเขาไม่ได้บอกให้รู้ คือ เขาส่งสหธรรมิก ๕ ไปบอก นี้ชื่อว่า ไม่เป็น
อันเขาได้บอกให้รู้.
                เขาบอกนอกอาราม นอกอุปจารแห่งอาราม นี่ก็ชื่อว่าไม่เป็นอันเขาได้บอกให้รู้.
                ที่ชื่อว่า บอกให้รู้ คือผู้ใดผู้หนึ่งเป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตาม มาสู่อาราม หรือ
อุปจารแห่งอารามแล้วบอกว่า ท่านเจ้าข้า สตรีหรือบุรุษชื่อโน้น จักนำของเคี้ยวหรือของฉันมา
ถวายภิกษุมีชื่อนี้.
                ถ้าที่นั้นเป็นสถานมีรังเกียจ ภิกษุพึงบอกเขาว่า เป็นสถานมีรังเกียจ ถ้าที่นั้นเป็น
สถานมีภัยเฉพาะหน้า พึงบอกเขาว่า เป็นสถานมีภัยเฉพาะหน้า ถ้าเขากล่าวว่า ไม่เป็นไร
เจ้าข้า เขาจักนำมาเอง ภิกษุพึงบอกพวกโจรว่า ชาวบ้านจักเข้ามาในที่นี้ พวกท่านจงหลีกไปเสีย.
                เมื่อเขาบอกให้รู้เฉพาะยาคู แล้วเขานำบริวารแห่งยาคูมาด้วย นี้ชื่อว่า อันเขาบอกให้รู้.
                เมื่อเขาบอกให้รู้เฉพาะภัต แล้วเขานำบริวารแห่งภัตมาด้วย นี้ชื่อว่า อันเขาบอกให้รู้.
                เมื่อเขาบอกให้รู้เฉพาะของเคี้ยว แล้วเขานำบริวารแห่งของเคี้ยวมาด้วย นี้ก็ชื่อว่า
อันเขาบอกให้รู้.
                เมื่อเขาบอกให้รู้เฉพาะตระกูล คนในตระกูลนั้นนำของเคี้ยวหรือของฉันมาถวาย นี้ก็
ชื่อว่า อันเขาบอกให้รู้.


                                                            หน้าที่ ๖๕๗

                เมื่อเขาบอกให้รู้เฉพาะหมู่บ้าน คนในหมู่บ้านนั้นนำของเคี้ยวหรือของฉันมาถวาย นี้ก็
ชื่อว่า อันเขาบอกให้รู้.
                เมื่อเขาบอกให้รู้เฉพาะตำบลบ้าน คนในตำบลบ้านนั้นนำของเคี้ยวหรือของฉันมาถวาย
นี้ก็ชื่อว่า อันเขาบอกให้รู้.
                ที่ชื่อว่า ของเคี้ยว คือ เว้นโภชนะห้า ของเป็นยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก
นอกนั้นชื่อว่าของเคี้ยว.
                ที่ชื่อว่า ของฉัน ได้แก่ โภชนะห้า คือ ข้าวสุก ๑ ขนมสด ๑ ขนมแห้ง ๑
ปลา ๑ เนื้อ ๑.
                ที่ชื่อว่า วัดที่อยู่ สำหรับอารามที่มีเครื่องล้อม ได้แก่ภายในอาราม อารามที่ไม่มีเครื่อง
ล้อม ได้แก่อุปจาร.
                ที่ชื่อว่า ไม่ใช่ผู้อาพาธ คือ ผู้สามารถไปเที่ยวบิณฑบาตได้.
                ที่ชื่อว่า ผู้อาพาธ คือ ผู้ไม่สามารถไปเที่ยวบิณฑบาตได้.
                ภิกษุไม่ใช่ผู้อาพาธ รับประเคนของที่เขาไม่ได้บอกให้รู้ ด้วยหมายว่า จักเคี้ยว จักฉัน
ต้องอาบัติทุกกฏ ฉัน ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ ทุกๆ คำกลืน.
                                                                บทภาชนีย์
                                                ติกปาฏิเทสนียะ
                [๗๙๗] เขาไม่ได้บอกให้รู้ ภิกษุสำคัญว่าเขาไม่ได้บอกให้รู้ รับของเคี้ยวก็ดี ของฉัน
ก็ดี ด้วยมือของตน ในวัดที่อยู่ ไม่ใช่ผู้อาพาธ เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ.
                เขาไม่ได้บอกให้รู้ ภิกษุมีความสงสัย รับของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี ด้วยมือของตน ใน
วัดที่อยู่ ไม่ใช่ผู้อาพาธ เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ.
                เขาไม่ได้บอกให้รู้ ภิกษุสำคัญว่าเขาบอกให้รู้ แล้วรับของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี ด้วยมือ
ของตน ในวัดที่อยู่ ไม่ใช่ผู้อาพาธ เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ.
                                                                ทุกกฏ
                ภิกษุรับประเคนของเป็นยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก เพื่อทำเป็นอาหาร
ต้องอาบัติทุกกฏ ฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ ทุกๆ คำกลืน.


                                                            หน้าที่ ๖๕๘

                เขาบอกให้รู้แล้ว ภิกษุสำคัญว่าเขาไม่ได้บอกให้รู้ ...     ต้องอาบัติทุกกฏ.
                เขาบอกให้รู้แล้ว ภิกษุมีความสงสัย ... ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                                                ไม่ต้องอาบัติ
                เขาบอกให้รู้แล้ว ภิกษุสำคัญว่าเขาบอกให้รู้แล้ว ...    ไม่ต้องอาบัติ.
                                                                อนาปัตติวาร
                [๗๙๘] เขาบอกให้รู้ ๑ ภิกษุอาพาธ ๑ ภิกษุฉันของเป็นเดนของภิกษุผู้ได้รับนิมนต์ไว้
หรือของภิกษุผู้อาพาธ ๑ ภิกษุรับนอกวัดแล้วมาฉันในวัด ๑ ภิกษุฉันรากไม้ เปลือกไม้ ใบไม้
ดอกไม้ หรือผลไม้ ซึ่งเกิดขึ้นในวัดนั้น ๑ ภิกษุฉันของเป็นยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก
ในเมื่อมีเหตุจำเป็น ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
                                                ปาฏิเทสนียะ สิกขาบทที่ ๔ จบ.
                                                                บทสรุป
                [๗๙๙] ท่านทั้งหลาย ธรรมคือปาฏิเทสนียะ ๔ สิกขาบท ข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้วแล
ข้าพเจ้าขอถามท่านทั้งหลายในธรรม คือ ปาฏิเทสนียะ ๔ สิกขาบทนั้นว่า ท่านทั้งหลายเป็นผู้
บริสุทธิ์แล้วหรือ? ข้าพเจ้าขอถามแม้ครั้งที่สองว่า ท่านทั้งหลายเป็นผู้บริสุทธิ์แล้วหรือ?
ข้าพเจ้าขอถามแม้ครั้งที่สามว่า ท่านทั้งหลายเป็นผู้บริสุทธิ์แล้วหรือ? ท่านทั้งหลายเป็นผู้บริสุทธิ์
แล้วในธรรมคือ ปาฏิเทสนียะ ๔ สิกขาบทนี้ เหตุนั้น จึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วย
อย่างนี้.
                                                ปาฏิเทสนียกัณฑ์ จบ.
                                                ______________


                                                            หน้าที่ ๖๕๙

                                                                ๔. เสขิยกัณฑ์
                ท่านทั้งหลาย ก็ธรรมคือ เสขิยะเหล่านี้แล มาสู่อุเทส.
                                                วรรคที่ ๑ ปริมัณฑลวรรค
                                                สารูป ๒๖ สิกขาบท
                                                                สิกขาบทที่ ๑
                [๘๐๐] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น พระฉัพพัคคีย์นุ่งผ้าเลื้อยหน้าบ้าง เลื้อยหลังบ้าง
ชาวบ้านพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร จึงได้นุ่ง
ผ้าเลื้อยหน้าบ้าง เลื้อยหลังบ้าง เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า ภิกษุทั้งหลายได้ยินชาว
บ้านเหล่านั้นพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่. บรรดาที่เป็นผู้มักน้อย ...     ต่างก็เพ่งโทษ
ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระฉัพพัคคีย์จึงได้นุ่งผ้าเลื้อยหน้าบ้าง เลื้อยหลังบ้างเล่า แล้วกราบ
ทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
                                                                ทรงสอบถาม
                ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรก
เกิดนั้น แล้วรับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ทรงสอบถามพระฉัพพัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ข่าวว่า พวกเธอนุ่งผ้าเลื้อยหน้าบ้าง เลื้อยหลังบ้าง จริงหรือ?
                พระฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงได้นุ่งผ้า
เลื้อยหน้าบ้าง เลื้อยหลังบ้างเล่า การกระทำของพวกเธอนั่นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของ
ชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ...
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้


                                                            หน้าที่ ๖๖๐

                                                                พระบัญญัติ
                ๑๔๖. ๑. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักนุ่งเป็นปริมณฑล.
                                                                สิกขาบทวิภังค์
                อันภิกษุนุ่งปิดมณฑลสะดือ มณฑลเข่า ชื่อว่านุ่งเป็นปริมณฑล.
                ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ นุ่งผ้าเลื้อยหน้าหรือเลื้อยหลัง ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                                                อนาปัตติวาร
                ไม่แกล้ง ๑ ไม่มีสติ ๑ ไม่รู้ตัว ๑ อาพาธ ๑ มีอันตราย ๑ วิกลจริต ๑ อาทิ-
กัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
                                                ปริมัณฑลวรรค สิกขาบทที่ ๑ จบ.
                                                __________________
                                                ปริมัณฑลวรรค สิกขาบทที่ ๒
                [๘๐๑] สาวัตถีนิทาน. ๑- ครั้งนั้น พระฉัพพัคคีย์ห่มผ้าเลื้อยหน้าบ้าง เลื้อยหลังบ้าง ...    ๒-
                                                                พระบัญญัติ
                ๑๔๗. ๒. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักห่มเป็นปริมณฑล.
                                                                สิกขาบทวิภังค์
                อันภิกษุห่มทำมุมทั้งสองให้เสมอกัน ชื่อว่าห่มเป็นปริมณฑล. ภิกษุใดอาศัยความไม่
เอื้อเฟื้อ ห่มผ้าเลื้อยหน้าหรือเลื้อยหลัง ต้องอาบัติทุกกฏ.
#๑. บาลีว่า สาวัตถีนิทาน เห็นอยู่ในที่ใด ในที่นั้นมีบาลีแปลว่า โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธ
#เจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ดังนี้
#๒. หมายว่ามีเนื้อความดังสิกขาบทที่ ๑

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘