พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ หน้า 616-620

                                                            หน้าที่ ๖๑๖

                                                พระอนุบัญญัติ ๑
                ๑๓๓. ๒. ก. อนึ่ง ภิกษุใด เก็บเอาก็ดี ให้เก็บเอาก็ดี ซึ่งรัตนะก็ดี ซึ่งของ
ที่สมมติว่ารัตนะก็ดี เว้นไว้แต่ในวัดที่อยู่ เป็นปาจิตตีย์.
                ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ
ฉะนี้.
                                                เรื่องนางวิสาขามิคารมาตา จบ.
                                                เรื่องคนใช้ของอนาถบิณฑิกคหบดี
                [๗๔๐] ก็โดยสมัยนั้นแล อนาถบิณฑิกคหบดี มีโรงงานอยู่ในกาสีชนบท และคหบดี
นั้นได้สั่งบุรุษคนสนิทไว้ว่า ถ้าพระคุณเจ้าทั้งหลายมา เจ้าพึงแต่งอาหารถวาย. ครั้นต่อมา ภิกษุ
หลายรูป ไปเที่ยวจาริกในกาสีชนบท ได้เดินผ่านเข้าไปทางโรงงานของอนาถบิณฑิกคหบดี บุรุษ
นั้นได้แลเห็นภิกษุเหล่านั้นเดินมาแต่ไกลเทียว ครั้นแล้วจึงเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้น กราบไหว้แล้ว
ได้กล่าวอาราธนาว่า ท่านเจ้าข้า ขอพระคุณเจ้าทั้งหลาย จงรับนิมนต์ฉันภัตตาหารของท่านคหบดี
ในวันพรุ่งนี้.
                ภิกษุเหล่านั้นรับนิมนต์ด้วยอาการดุษณีภาพ.
                จึงบุรุษนั้น สั่งให้ตกแต่งของเคี้ยว ของฉัน อันประณีตโดยล่วงราตรีนั้นแล้วให้คนไป
บอกภัตตกาล แล้วถอดแหวนวางไว้ อังคาสภิกษุเหล่านั้นด้วยภัตตาหาร แล้วกล่าวว่า นิมนต์
พระคุณเจ้าฉันแล้วกลับได้ แม้กระผมก็จักไปสู่โรงงานดังนี้ ได้ลืมแหวนนั้น ไปแล้ว.
                ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้ว ปรึกษากันว่า ถ้าพวกเราไปเสีย แหวนวงนี้จักหาย แล้วได้
อยู่ในที่นั้นเอง.
                ครั้นบุรุษนั้นกลับมาจากโรงงาน เห็นภิกษุเหล่านั้นจึงถามว่า เพราะเหตุไร พระคุณเจ้า
ทั้งหลายจึงยังอยู่ในที่นี้เล่า ขอรับ.
                จึงภิกษุเหล่านั้นได้บอกเรื่องราวนั้นแก่เขา ครั้นเธอไปถึงพระนครสาวัตถีแล้ว ได้เล่า
เรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
                                                พระพุทธานุญาตพิเศษ
                ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ
แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เก็บเอาก็ดี ใช้ให้


                                                            หน้าที่ ๖๑๗

เก็บเอาก็ดี ซึ่งรัตนะก็ดี ซึ่งของที่สมมติว่ารัตนะก็ดี ในวัดที่อยู่ก็ดี ในที่อยู่พักก็ดี แล้วเก็บ
รักษาไว้ด้วยหมายว่า เป็นของผู้ใด ผู้นั้นจะได้นำไป.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
                                                พระอนุบัญญัติ ๒
                ๑๓๓. ๒. ข. อนึ่ง ภิกษุใด เก็บเอาก็ดี ให้เก็บเอาก็ดี ซึ่งรัตนะก็ดี ซึ่งของ
ที่สมมติว่ารัตนะก็ดี เว้นไว้แต่ในวัดที่อยู่ก็ดี ในที่อยู่พักก็ดี เป็นปาจิตตีย์. และภิกษุ
เก็บเอาก็ดี ให้เก็บเอาก็ดี ซึ่งรัตนะก็ดี ซึ่งของที่สมมติว่ารัตนะก็ดี ในวัดที่อยู่ก็ดี
ในที่อยู่พักก็ดี แล้วพึงเก็บไว้ด้วยหมายว่า ของผู้ใด ผู้นั้นจะได้นำไป นี้เป็นสามีจิ-
กรรมในเรื่องนั้น.
                                เรื่องคนใช้ของอนาถบิณฑิกคหบดี จบ.
                                                สิกขาบทวิภังค์
                [๗๔๑] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ...
                บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ ชื่อว่า ภิกษุ ที่ทรง
ประสงค์ในอรรถนี้.
                ที่ชื่อว่า รัตนะ ได้แก่ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ
เงิน ทอง แก้วทับทิม แก้วลาย นี้ชื่อว่ารัตนะ.
                ที่ชื่อว่า ของที่สมมติว่ารัตนะ ได้แก่ เครื่องอุปโภค เครื่องบริโภค ของมวลมนุษย์
นี้ชื่อว่าของที่สมมติว่ารัตนะ.
                คำว่า เว้นไว้แต่ในวัดที่อยู่ก็ดี ในที่อยู่พักก็ดี คือ ยกเว้นแต่ภายในวัดที่อยู่ ภาย
ในที่อยู่พัก.
                ที่ชื่อว่า ภายในวัดที่อยู่ คือ สำหรับวัดที่มีเครื่องล้อม กำหนดภายในวัด สำหรับ
วัดที่ไม่มีเครื่องล้อม กำหนดอุปจารวัด.


                                                            หน้าที่ ๖๑๘

                ที่ชื่อว่า ภายในที่อยู่พัก คือ สำหรับที่อยู่พักที่มีเครื่องล้อม ได้แก่ ภายในที่อยู่พัก
สำหรับที่อยู่พักที่ไม่มีเครื่องล้อม ได้แก่อุปจารที่อยู่พัก.
                บทว่า เก็บเอา คือ ถือเอาเอง ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                บทว่า ให้เก็บเอา คือ ให้คนอื่นถือเอา ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                [๗๔๒] คำว่า และภิกษุเก็บเอาก็ดี ให้เก็บเอาก็ดี ซึ่งรัตนะก็ดี ซึ่งของที่สมมติ
ว่ารัตนะก็ดี ในวัดที่อยู่ก็ดี ในที่อยู่พักก็ดี แล้วพึงเก็บไว้ นั้น ความว่า ภิกษุพึงทำ
เครื่องหมายตามรูปหรือตามนิมิตเก็บไว้ แล้วพึงประกาศว่าสิ่งของ ของผู้ใดหาย ผู้นั้นจงมารับไป
ถ้าเขามาในที่นั้น พึงสอบถามเขาว่า สิ่งของของท่านเป็นเช่นไร ถ้าเขาบอกรูปพรรณหรือตำหนิ
ถูกต้อง พึงให้ไป ถ้าบอกไม่ถูกต้อง พึงบอกเขาว่า จงค้นหาเอาเอง. เมื่อจะหลีกไปจากอาวาส
นั้น พึงมอบไว้ในมือของภิกษุผู้สมควรที่อยู่ในวัดนั้น แล้วจึงหลีกไป ถ้าภิกษุผู้สมควรไม่มี พึง
มอบไว้ในมือของคหบดีผู้สมควรที่อยู่ในตำบลนั้น แล้วจึงหลีกไป.
                คำว่า นี้เป็นสามีจิกรรมในเรื่องนั้น ความว่า นี้เป็นมารยาทที่ดียิ่งในเรื่องนั้น.
                                                                อนาปัตติวาร
                [๗๔๓] ภิกษุเก็บเอาก็ดี ให้เก็บเอาก็ดี ซึ่งรัตนะก็ดี ซึ่งของที่สมมติว่ารัตนะก็ดี ใน
วัดที่อยู่ก็ดี ในที่อยู่พักก็ดี แล้วเก็บไว้ด้วยหมายว่า ของผู้ใด ผู้นั้นจะได้นำไป ดังนี้ ๑ ภิกษุ
ถือวิสาสะของที่สมมติว่ารัตนะ ๑ ภิกษุถือเป็นของขอยืม ๑  ภิกษุเข้าใจว่าเป็นของบังสุกุล ๑
ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
                                                รตนวรรค สิกขาบทที่ ๒ จบ.
                                                ______________


                                                            หน้าที่ ๖๑๙

                                                ๙. รตนวรรค สิกขาบทที่ ๓
                                                เรื่องพระฉัพพัคคีย์
                [๗๔๔] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น พระฉัพพัคคีย์เข้าบ้านในเวลาวิกาลแล้ว นั่ง
ในที่ชุมนุม กล่าวดิรัจฉานกถามีเรื่องต่างๆ คือ เรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์
เรื่องขุนพล เรื่องภัย เรื่องรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่อง
ของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่อง
สุรา เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล
เรื่องความเจริญและความเสื่อม ด้วยประการนั้นๆ
                ชาวบ้านพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพวกพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร
จึงได้เข้าบ้านในเวลาวิกาล แล้วนั่งในที่ชุมนุมชน กล่าวดิรัจฉานกถาเรื่องต่างๆ คือ เรื่องพระราชา
เรื่องโจร ... เรื่องความเจริญและความเสื่อม ด้วยประการนั้นๆ เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า
ภิกษุทั้งหลายได้ยินชาวบ้านพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่. บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย ...
ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระฉัพพัคคีย์จึงได้เข้าบ้านในเวลาวิกาลแล้วนั่งในที่
ชุมนุมชน กล่าวดิรัจฉานกถามีเรื่องต่างๆ คือ พูดเรื่องพระราชา ... เรื่องความเจริญและความเสื่อม
ด้วยประการนั้นๆ เล่า
                                                                ทรงสอบถาม
                พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามพระฉัพพัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า พวกเธอเข้า
บ้านในเวลาวิกาลแล้วนั่งในที่ชุมนุมชน กล่าวดิรัจฉานกถามีเรื่องต่างๆ คือ เรื่องพระราชา ... เรื่อง
ความเจริญและความเสื่อม ด้วยประการนั้นๆ จริงหรือ?
                พระฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงได้เข้าบ้าน
ในเวลาวิกาล แล้วนั่งในที่ชุมนุมชน กล่าวดิรัจฉานกถามีเรื่องต่างๆ คือ เรื่องพระราชา ...


                                                            หน้าที่ ๖๒๐

เรื่องความเจริญและความเสื่อม ด้วยประการนั้นๆ เล่า การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไป
เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ...
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
                                                                พระบัญญัติ
                ๑๓๔. ๓. อนึ่ง ภิกษุใด เข้าไปสู่บ้านในเวลาวิกาล เป็นปาจิตตีย์.
                ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ
ฉะนี้.
                                                เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ.
                                                เรื่องภิกษุหลายรูป
                [๗๔๕] ก็โดยสมัยนั้น ภิกษุหลายรูปเดินทางไปพระนครสาวัตถีในโกศลชนบท ได้
เข้าไปถึงหมู่บ้านตำบลหนึ่งในเวลาเย็น. พวกชาวบ้านเห็นภิกษุเหล่านั้นแล้ว ได้กล่าวอาราธนาว่า
นิมนต์เข้าไปเถิด ขอรับ ภิกษุเหล่านั้นรังเกียจอยู่ว่า การเข้าไปสู่บ้านในเวลาวิกาล พระผู้มีพระภาค
ทรงห้ามแล้ว จึงไม่ได้เข้าไป. พวกโจรได้แย่งชิงภิกษุเหล่านั้น ครั้นภิกษุเหล่านั้นไปถึงพระนคร
สาวัตถีแล้ว ได้เล่าเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
                                                พระพุทธานุญาตให้เข้าบ้าน
                ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ
แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อำลาแล้วเข้าสู่บ้าน
ในเวลาวิกาลได้.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
                                                พระอนุบัญญัติ ๑
                ๑๓๔. ๓. ก. อนึ่ง ภิกษุใด ไม่อำลาแล้วเข้าไปสู่บ้านในเวลาวิกาล เป็น
ปาจิตตีย์.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘