พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ หน้า 591-595

                                                            หน้าที่ ๕๙๑

                                                ๘. สหธรรมิกวรรค สิกขาบทที่ ๘
                                                เรื่องพระฉัพพัคคีย์
                [๗๑๑] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น พระฉัพพัคคีย์ทะเลาะกับพวกภิกษุมีศีลเป็นที่รัก
                พวกภิกษุมีศีลเป็นที่รักกล่าวสนทนากันอยู่อย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย พระฉัพพัคคีย์
พวกนี้เป็นอลัชชี พวกเราไม่อาจจะทะเลาะกับพระพวกนี้ได้.
                พระฉัพพัคคีย์กล่าวต่ออย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย ทำไม พวกท่านจึงได้เรียกพวกเราด้วย
ถ้อยคำว่าอลัชชี.
                พวกภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักถามว่า อาวุโสทั้งหลาย พวกท่านได้ยินมาแต่ที่ไหน?
                พระฉัพพัคคีย์ตอบว่า เรายืนแอบฟังพวกท่านอยู่.
                บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า เมื่อภิกษุทั้งหลายเกิด
หมางกัน เกิดทะเลาะกัน ถึงการวิวาทกัน ไฉนพระฉัพพัคคีย์จึงได้ยืนแอบฟังอยู่เล่า แล้ว
กราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
                                                                ทรงสอบถาม
                พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามพระฉัพพัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า เมื่อภิกษุทั้ง
หลายเกิดหมางกัน เกิดทะเลาะกัน ถึงการวิวาทกัน พวกเธอได้ยืนแอบฟังอยู่ จริงหรือ?
                พระฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย เมื่อภิกษุทั้งหลายเกิด
หมางกัน เกิดทะเลาะกัน ถึงการวิวาทกัน ไฉนพวกเธอจึงได้ยืนแอบฟังอยู่เล่า การกระทำ
ของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใส
ยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ...
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-


                                                            หน้าที่ ๕๙๒

                                                                พระบัญญัติ
                ๑๒๗. ๘. อนึ่ง ภิกษุใด เมื่อภิกษุทั้งหลายเกิดหมางกัน เกิดทะเลาะกัน
ถึงการวิวาทกัน ยืนแอบฟังด้วยหมายว่าจักได้ฟังคำที่เธอพูดกัน ทำความหมายอย่างนี้
เท่านั้นแลให้เป็นปัจจัย หาใช่อย่างอื่นไม่ เป็นปาจิตตีย์.
                                                เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ.
                                                                สิกขาบทวิภังค์
                [๗๑๒] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ...
                บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ ชื่อว่า ภิกษุ ที่
ทรงประสงค์ในอรรถนี้.
                บทว่า เมื่อภิกษุทั้งหลาย ได้แก่ ภิกษุพวกอื่น.
                คำว่า เกิดหมางกัน เกิดทะเลาะกัน ถึงการวิวาทกัน คือเกิดอธิกรณ์ขึ้น.
                คำว่า ยืนแอบฟัง คือ เดินไปด้วยความตั้งใจว่า เราจักฟังคำของภิกษุเหล่านี้ แล้วจัก
ท้วง จักเตือน จักฟ้อง จักให้สำนึก จักทำให้เก้อเขิน ดังนี้ ต้องอาบัติทุกกฏ ยืนอยู่ในที่ใด
ได้ยิน ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                เมื่อเดินไปข้างหลัง รีบเดินให้ทันด้วยตั้งใจว่า จักฟัง ต้องอาบัติทุกกฏ ยืนอยู่ในที่ใด
ได้ยิน ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                เมื่อเดินไปข้างหน้า ลดเดินให้ช้าลงด้วยตั้งใจว่า จักฟัง ต้องอาบัติทุกกฏ ยืนอยู่ในที่ใด
ได้ยิน ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                บังเอิญเดินผ่านมาถึงสถานที่ที่ภิกษุยืนก็ดี นั่งก็ดี นอนก็ดี เมื่อเขาพูดงุบงิบกันอยู่
ต้องกระแอมไอให้เขารู้ตัว ถ้าไม่กระแอมไอ หรือไม่ให้เขารู้ตัว ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                คำว่า ทำความหมายอย่างนี้เท่านั้นแลให้เป็นปัจจัย หาใช่อย่างอื่นไม่ ความว่า
ไม่มีเหตุอะไรอื่นที่จะยืนแอบฟังความ.


                                                            หน้าที่ ๕๙๓

                                                                บทภาชนีย์
                                                                ติกะปาจิตตีย์
                [๗๑๓] อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าอุปสัมบัน ยืนแอบฟัง ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                อุปสัมบัน ภิกษุมีความสงสัย ยืนแอบฟัง ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าอนุปสัมบัน ยืนแอบฟัง ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                                                                จตุกกะทุกกฏ
                ภิกษุยืนแอบฟังถ้อยคำของอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ.
                อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าอุปสัมบัน ... ต้องอาบัติทุกกฏ.
                อนุปสัมบัน ภิกษุมีความสงสัย ... ต้องอาบัติทุกกฏ.
                อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าอนุปสัมบัน ... ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                                                อนาปัตติวาร
                [๗๑๔] ภิกษุเดินไปหมายว่า จักฟังถ้อยคำของภิกษุเหล่านี้แล้ว จักงด จักเว้น จัก
ระงับ จักเปลื้องตน ดังนี้ ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
                                สหธรรมิกวรรค สิกขาบทที่ ๘ จบ.
                                                ________________


                                                            หน้าที่ ๕๙๔

                                                ๘. สหธรรมิกวรรค สิกขาบทที่ ๙
                                                เรื่องพระฉัพพัคคีย์
                [๗๑๕] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น พระฉัพพัคคีย์ประพฤติอนาจารแล้ว เมื่อ
การกสงฆ์ทำกรรมแก่ภิกษุแต่ละรูปอยู่ ย่อมคัดค้าน ครั้นสงฆ์ประชุมกันด้วยกรรมบางอย่างที่สงฆ์
จะต้องทำ พระฉัพพัคคีย์สาละวนทำจีวรกรรมกันอยู่ ได้ให้ฉันทะไปแก่พระรูปหนึ่ง ทันใด สงฆ์
จึงกล่าวว่า อาวุโสทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้เป็นพวกพระฉัพพัคคีย์มารูปเดียว ฉะนั้น พวกเราจะทำ
กรรมแก่เธอ ดังนี้ แล้วได้ทำกรรมแก่พระฉัพพัคคีย์รูปนั้น เมื่อเสร็จแล้ว ภิกษุฉัพพัคคีย์รูปนั้น
ได้เข้าไปหาพระฉัพพัคคีย์ พระฉัพพัคคีย์ถามภิกษุรูปนั้นว่า อาวุโส สงฆ์ได้ทำอะไร?
                ภิกษุรูปนั้นตอบว่า สงฆ์ได้ทำกรรมแก่ผม ขอรับ.
                พระฉัพพัคคีย์กล่าวว่า อาวุโส เราไม่ได้ให้ฉันทะไปเพื่อหมายถึงกรรมนี้ว่า สงฆ์จักทำ
กรรมแก่ท่าน ถ้าเราทราบว่า สงฆ์จักทำกรรมแก่ท่าน เราจะไม่พึงให้ฉันทะไป.
                บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระฉัพพัคคีย์
ให้ฉันทะเพื่อกรรมอันเป็นธรรมแล้ว จึงได้ถึงความบ่นว่าในภายหลังเล่า ... แล้วกราบทูลเรื่อง
นั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
                                                                ทรงสอบถาม
                พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามพระฉัพพัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า พวกเธอให้ฉันทะ
เพื่อกรรมอันเป็นธรรมแล้ว ได้ถึงความบ่นว่าในภายหลัง จริงหรือ?
                พระฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉน พวกเธอให้ฉันทะ
เพื่อกรรมอันเป็นธรรมแล้ว จึงได้ถึงความบ่นว่าในภายหลังเล่า การกระทำของพวกเธอนั่น


                                                            หน้าที่ ๕๙๕

ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่
เลื่อมใสแล้ว ...
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
                                                                พระบัญญัติ
                ๑๒๘. ๙. อนึ่ง ภิกษุใด ให้ฉันทะเพื่อกรรมอันเป็นธรรมแล้ว ถึงธรรมคือ
ความบ่นว่าในภายหลัง เป็นปาจิตตีย์.
                                                เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ.
                                                                สิกขาบทวิภังค์
                [๗๑๖] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ...
                บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ ชื่อว่า ภิกษุ
ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้.
                                                กรรมอันเป็นธรรม ๔ อย่าง
                ที่ชื่อว่า กรรมอันเป็นธรรม ได้แก่ อุปโลกนกรรม ๑ ญัตติกรรม ๑ ญัตติทุติยกรรม ๑
ญัตติจตุตถกรรม ๑ ที่สงฆ์ทำแล้วตามธรรม ตามวินัย ตามสัตถุศาสน์ นี้ชื่อว่ากรรมอัน
เป็นธรรม.
                ภิกษุให้ฉันทะไปแล้ว บ่นว่า ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                                                                บทภาชนีย์
                [๗๑๗] กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่ากรรมเป็นธรรม ให้ฉันทะไปแล้ว บ่นว่า
ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                กรรมเป็นธรรม ภิกษุสงสัย ให้ฉันทะไปแล้ว บ่นว่า ต้องอาบัติทุกกฏ.
                กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่ากรรมไม่เป็นธรรม ให้ฉันทะไปแล้ว บ่นว่า ไม่ต้องอาบัติ.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘