พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ หน้า 586-590

                                                            หน้าที่ ๕๘๖

                                                ๘. สหธรรมิกวรรค สิกขาบทที่ ๖
                                                เรื่องพระฉัพพัคคีย์
                [๗๐๓] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น พระฉัพพัคคีย์โจทภิกษุด้วยอาบัติสังฆาทิเสส
ไม่มีมูล บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระฉัพพัคคีย์จึง
ได้โจทภิกษุด้วยอาบัติสังฆาทิเสสไม่มีมูลเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
                                                                ทรงสอบถาม
                พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามพระฉัพพัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า พวกเธอโจท
ภิกษุด้วยอาบัติสังฆาทิเสสไม่มีมูล จริงหรือ?
                พระฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉน พวกเธอจึงได้โจท
ภิกษุด้วยอาบัติสังฆาทิเสสไม่มีมูลเล่า การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใส
ของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ...
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
                                                                พระบัญญัติ
                ๑๒๕. ๖. อนึ่ง ภิกษุใด กำจัดซึ่งภิกษุด้วยอาบัติสังฆาทิเสสหามูลมิได้ เป็น
ปาจิตตีย์.
                                                เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ.
                                                                สิกขาบทวิภังค์
                [๗๐๔] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ...


                                                            หน้าที่ ๕๘๗

                บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ ชื่อว่า ภิกษุ
ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้.
                บทว่า ซึ่งภิกษุ คือ ซึ่งภิกษุอื่น.
                ที่ชื่อว่า หามูลมิได้ คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้รังเกียจ.
                บทว่า ด้วยอาบัติสังฆาทิเสส คือ ด้วยอาบัติสังฆาทิเสส ๑๓ สิกขาบท สิกขาบทใด
สิกขาบทหนึ่ง.
                บทว่า กำจัด คือ โจทเองก็ดี ให้ผู้อื่นโจทก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                                                                บทภาชนีย์
                                                                ติกะปาจิตตีย์
                [๗๐๕] อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าอุปสัมบัน โจทด้วยอาบัติสังฆาทิเสสไม่มีมูล ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์.
                อุปสัมบัน ภิกษุมีความสงสัย โจทด้วยอาบัติสังฆาทิเสสไม่มีมูล ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าอนุปสัมบัน โจทด้วยอาบัติสังฆาทิเสสไม่มีมูล ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์.
                                                                ปัญจกะทุกกฏ
                ภิกษุโจทด้วยอาจารวิบัติก็ดี ด้วยทิฏฐิวิบัติก็ดี ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ภิกษุโจทอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ.
                อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าอุปสัมบัน โจท ต้องอาบัติทุกกฏ.
                อนุปสัมบัน ภิกษุมีความสงสัย โจท ต้องอาบัติทุกกฏ.
                อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าอนุปสัมบัน โจท ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                                                อนาปัตติวาร
                [๗๐๖] ภิกษุสำคัญว่ามีมูล โจทเองก็ดี ให้ผู้อื่นโจทก็ดี ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุ
อาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
                                                สหธรรมิกวรรค สิกขาบทที่ ๖ จบ.


                                                            หน้าที่ ๕๘๘

                                                ๘. สหธรรมิกวรรค สิกขาบทที่ ๗
                                                เรื่องพระฉัพพัคคีย์
                [๗๐๗] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น พระฉัพพัคคีย์แกล้งก่อความรำคาญให้แก่
พระสัตตรสวัคคีย์ ด้วยพูดว่า อาวุโสทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ว่า สงฆ์
ไม่พึงอุปสมบทบุคคลมีอายุหย่อน ๒๐ ปี ดังนี้ ก็พวกท่านมีอายุหย่อน ๒๐ ปี อุปสมบทแล้ว
พวกท่านเป็นอนุปสัมบันของพวกเรา กระมัง พระสัตตรสวัคคีย์เหล่านั้นร้องไห้.
                ภิกษุทั้งหลาย จึงถามอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย พวกท่านร้องไห้ทำไม?
                พระสัตตรสวัคคีย์ตอบว่า อาวุโสทั้งหลาย พระฉัพพัคคีย์เหล่านี้แกล้งก่อความรำคาญให้
แก่พวกผม.
                บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระฉัพพัคคีย์
จึงได้แกล้งก่อความรำคาญให้แก่ภิกษุทั้งหลายเล่า แล้วกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
                                                                ทรงสอบถาม
                พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามพระฉัพพัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า พวกเธอแกล้ง
ก่อความรำคาญให้แก่ภิกษุทั้งหลาย จริงหรือ?
                พระฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงได้แกล้ง
ก่อความรำคาญให้แก่ภิกษุทั้งหลายเล่า การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใส
ของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ...
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-


                                                            หน้าที่ ๕๘๙

                                                                พระบัญญัติ
                ๑๒๖. ๗. อนึ่ง ภิกษุใด แกล้งก่อความรำคาญแก่ภิกษุด้วยหมายว่า ด้วย
เช่นนี้ ความไม่ผาสุกจักมีแก่เธอแม้ครู่หนึ่ง ทำความหมายอย่างนี้เท่านั้นแลให้เป็น
ปัจจัย หาใช่อย่างอื่นไม่ เป็นปาจิตตีย์.
                                                เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ.
                                                                สิกขาบทวิภังค์
                [๗๐๘] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ...
                บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ ชื่อว่า ภิกษุ
ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้.
                บทว่า แก่ภิกษุ คือ แก่ภิกษุรูปอื่น.
                บทว่า แกล้ง คือรู้อยู่ รู้ดีอยู่ จงใจ ตั้งใจ ละเมิด
                บทว่า ก่อความรำคาญ ความว่า ก่อความรำคาญเป็นต้นว่า ชะรอยท่านมีอายุหย่อน
๒๐ ฝน อุปสมบทแล้ว ชะรอยท่านบริโภคอาหารในเวลาวิกาลแล้ว ชะรอยท่านดื่มน้ำเมาแล้ว
ชะรอยท่านนั่งในที่ลับกับมาตุคามแล้ว ดังนี้เป็นต้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                คำว่า ทำความหมายอย่างนี้เท่านั้นแลให้เป็นปัจจัย หาใช่อย่างอื่นไม่ คือ
ไม่มีเหตุอะไรอื่นที่จะก่อความรำคาญให้.
                                                                บทภาชนีย์
                                                                ติกะปาจิตตีย์
                [๗๐๙] อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าอุปสัมบัน แกล้งก่อความรำคาญให้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                อุปสัมบัน ภิกษุมีความสงสัย แกล้งก่อความรำคาญให้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าอนุปสัมบัน แกล้งก่อความรำคาญให้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                                                                จตุกกะทุกกฏ
                ภิกษุแกล้งก่อความรำคาญให้แก่อนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ.
                อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าอนุปสัมบัน ... ต้องอาบัติทุกกฏ.


                                                            หน้าที่ ๕๙๐

                อนุปสัมบัน ภิกษุสงสัย ... ต้องอาบัติทุกกฏ.
                อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าอนุปสัมบัน ... ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                                                อนาปัตติวาร
                [๗๑๐] ภิกษุไม่ประสงค์จะก่อความรำคาญ พูดแนะนำว่า ชะรอยท่านจะมีอายุไม่ครบ
๒๐ ฝน อุปสมบทแล้ว ชะรอยท่านจะบริโภคอาหารในเวลาวิกาลแล้ว ชะรอยท่านจะดื่มน้ำเมาแล้ว
ชะรอยท่านจะนั่งในที่ลับกับมาตุคามแล้ว ท่านจงรู้ไว้เถิดว่า ความรำคาญใจในภายหลังอย่าได้มี
แก่ท่าน ดังนี้ ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
                                สหธรรมิกวรรค สิกขาบทที่ ๗ จบ.
                                                _______________

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘