พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ หน้า 571-575

                                                            หน้าที่ ๕๗๑

                ๔. ทุฏฐุลลสิกขาบท           ว่าด้วยปิดอาบัติชั่วหยาบ
                ๕. อูนวีสติวัสสสิกขาบท        ว่าด้วยอุปสมบทกุลบุตรมีอายุ หย่อน ๒๐ ปี
                ๖. เถยยสัตถสิกขาบท         ว่าด้วยเดินทางร่วมกับพ่อค้าผู้เป็นโจร
                ๗. สังวิธานสิกขาบท          ว่าด้วยชักชวนมาตุคามเดินทางสายเดียวกัน
                ๘. อริฏฐสิกขาบท            ว่าด้วยพระอริฏฐะ
                ๙. อุกขิตตสัมโภคสิกขาบท      ว่าด้วยการคบหากับภิกษุผู้ถูกสงฆ์ยกวัตร
                ๑๐. กัณฑกสิกขาบท           ว่าด้วยสมณุทเทสชื่อกัณฑกะ
                                                ___________


                                                            หน้าที่ ๕๗๒

                                                ปาจิตตีย์ วรรคที่ ๘
                                                ๘. สหธรรมิกวรรค สิกขาบทที่ ๑
                                                เรื่องพระฉันนะ
                [๖๘๐] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตพระนคร
โกสัมพี. ครั้งนั้น ท่านพระฉันนะ ประพฤติอนาจาร ภิกษุทั้งหลายพากันว่ากล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส
ฉันนะ ท่านอย่าได้ทำการเห็นปานนั้น การทำอย่างนั้น นั่นไม่ควร.
                ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส ฉันจักยังไม่ศึกษาในสิกขาบทนี้ ตลอดเวลาที่ฉันยังไม่ได้
สอบถามภิกษุอื่น ผู้ฉลาด ผู้ทรงวินัย.
                บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน ท่านพระฉันนะ
อันภิกษุทั้งหลายกล่าวว่าอยู่โดยชอบธรรม จึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส ฉันจักยังไม่ศึกษาในสิกขา
บทนี้ ตลอดเวลาที่ยังไม่ได้สอบถามภิกษุอื่น ผู้ฉลาด ผู้ทรงวินัย ดังนี้เล่า แล้วกราบทูลเนื้อ
ความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
                                                                ทรงสอบถาม
                พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามท่านพระฉันนะว่า ดูกรฉันนะ ข่าวว่า เธออันภิกษุทั้งหลาย
ว่ากล่าวอยู่โดยชอบธรรม ได้กล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส ฉันจักยังไม่ศึกษาในสิกขาบทนี้, ตลอด
เวลาที่ยังฉันไม่ได้สอบถามภิกษุอื่น ผู้ฉลาด ผู้ทรงวินัย ดังนี้ จริงหรือ?
                ท่านพระฉันนะทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ ไฉน เธออันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าว
อยู่โดยชอบธรรม จึงได้พูดอย่างนี้ว่า อาวุโส ฉันจักยังไม่ศึกษาในสิกขาบทนี้ ตลอดเวลาที่ยัง
ไม่ได้สอบถามภิกษุอื่น ผู้ฉลาด ผู้ทรงวินัย ดังนี้เล่า การกระทำของเธอนั่นไม่เป็นไปเพื่อความ
เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ...
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-


                                                            หน้าที่ ๕๗๓

                                                                พระบัญญัติ
                ๑๒๐. ๑. อนึ่ง ภิกษุใด อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่โดยชอบธรรม กล่าว
อย่างนี้ว่า แน่ะเธอ ฉันจักยังไม่ศึกษาในสิกขาบทนี้ ตลอดเวลาที่ยังไม่ได้สอบถาม
ภิกษุอื่น ผู้ฉลาด ผู้ทรงวินัย เป็นปาจิตตีย์.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ศึกษาอยู่ ควรรู้ทั่วถึง ควรสอบถาม ควรตริตรอง
นี้เป็นสามีจิกรรมในเรื่องนั้น.
                                                เรื่องพระฉันนะ จบ.
                                                                สิกขาบทวิภังค์
                [๖๘๑] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ...
                บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ ชื่อว่า ภิกษุ ที่ทรง
ประสงค์ในอรรถนี้.
                บทว่า อันภิกษุทั้งหลาย ได้แก่ ภิกษุเหล่าอื่น.
                ที่ชื่อว่า ชอบธรรม คือ สิกขาบทใดที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ นั่นชื่อว่าชอบธรรม
                ภิกษุผู้อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่โดยชอบธรรมนั้น กล่าวอย่างนี้ คือ กล่าวว่า แน่ะเธอ
ฉันจักยังไม่ศึกษาในสิกขาบทนี้ ตลอดเวลาที่ยังไม่ได้สอบถามภิกษุอื่น ผู้ฉลาด ผู้ทรงวินัย
เป็นบัณฑิต มีปัญญา เป็นพหูสูต เป็นธรรมกถึก ดังนี้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                                                                บทภาชนีย์
                                                                ติกะปาจิตตีย์
                [๖๘๒] อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าอุปสัมบัน กล่าวอย่างนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                อุปสัมบัน ภิกษุมีความสงสัยอยู่ กล่าวอย่างนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าอนุปสัมบัน กล่าวอย่างนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                                                                ปัญจกะทุกกฏ
                ภิกษุผู้อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ ตามสิกขาบทที่มิได้ทรงบัญญัติไว้ กล่าวอย่างนี้ว่า
สิกขาบทนี้ ไม่เป็นไปเพื่อความขัดเกลา ไม่เป็นไปเพื่อความกำจัด ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใส


                                                            หน้าที่ ๕๗๔

ไม่เป็นไปเพื่อความไม่สะสม ไม่เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร และซ้ำพูดว่า แน่ะเธอ เธอจักยัง
ไม่ศึกษาในสิกขาบทนี้ ตลอดเวลาที่ยังไม่ได้สอบถามภิกษุอื่น ผู้ฉลาด ผู้ทรงวินัย เป็นบัณฑิต
มีปัญญา เป็นพหูสูต เป็นธรรมกถึก ดังนี้, ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ภิกษุผู้อันอนุปสัมบันว่ากล่าวอยู่ตามสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้ก็ตาม ที่มิได้ทรงบัญญัติไว้
ก็ตาม พูดอย่างนี้ว่า สิกขาบทนี้ ไม่เป็นเพื่อความขัดเกลา ไม่เป็นไปเพื่อความกำจัด ไม่เป็นไป
เพื่อความเลื่อมใส ไม่เป็นไปเพื่อความไม่สะสม ไม่เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร, และซ้ำ
กล่าวว่า แน่ะเธอ ฉันจักยังไม่ศึกษาในสิกขาบทนี้ ตลอดเวลาที่ยังไม่ได้สอบถามภิกษุอื่น
ผู้ฉลาด ผู้ทรงวินัย เป็นบัณฑิต มีปัญญา เป็นพหูสูต เป็นธรรมกถึก ดังนี้, ต้องอาบัติทุกกฏ.
                อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าอุปสัมบัน กล่าวอย่างนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ.
                อนุปสัมบัน ภิกษุมีความสงสัยอยู่ กล่าวอย่างนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ.
                อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าอนุปสัมบัน กล่าวอย่างนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ.
                [๖๘๓] บทว่า ผู้ศึกษาอยู่ คือ ผู้ใคร่จะสำเหนียก.
                บทว่า ควรรู้ทั่วถึง คือ ควรทราบไว้.
                บทว่า ควรสอบถาม คือ ควรไต่ถามดู ว่าสิกขาบทนี้เป็นอย่างไร สิกขาบทนี้มีเนื้อ
ความเป็นอย่างไร.
                บทว่า ควรตริตรอง คือ ควรคิด ควรพินิจ.
                คำว่า นี้เป็นสามีจิกรรมในเรื่องนั้น ความว่า นี้เป็นความถูกยิ่งในเรื่องนั้น.
                                                                อนาปัตติวาร
                [๖๘๔] ภิกษุกล่าวว่า จักรู้ จักสำเหนียก ดังนี้ ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑
ไม่ต้องอาบัติแล.
                                                สหธรรมิกวรรค สิกขาบท ที่ ๑ จบ.
                                                                ___________


                                                            หน้าที่ ๕๗๕

                                                ๘. สหธรรมิกวรรค สิกขาบทที่ ๒
                                                เรื่องพระฉัพพัคคีย์
                [๖๘๕] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสวินัยกถา ทรงพรรณนา
คุณแห่งพระวินัย ตรัสอานิสงส์แห่งการเรียนพระวินัย ทรงยกย่องโดยเฉพาะท่านอุบาลีเนืองๆ
แก่ภิกษุทั้งหลาย โดยอเนกปริยาย ภิกษุทั้งหลายพากันกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคตรัสวินัยกถา
ทรงพรรณนาคุณแห่งพระวินัย ตรัสอานิสงส์แห่งการเรียนพระวินัย ทรงยกย่องโดยเฉพาะท่าน
พระอุบาลีเนืองๆ โดยอเนกปริยาย อาวุโสทั้งหลาย ดั่งนั้น พวกเราพากันเล่าเรียนพระวินัย
ในสำนักท่านพระอุบาลีเถิด ก็ภิกษุเหล่านั้นมากเหล่า เป็นเถระก็มี เป็นมัชฌิมะก็มี เป็นนวกะ
ก็มี ต่างพากันเล่าเรียนพระวินัยในสำนักท่านพระอุบาลี.
                ส่วนพระฉัพพัคคีย์ได้หารือกันว่า อาวุโสทั้งหลาย บัดนี้ ภิกษุเป็นอันมาก ทั้งเถระ
มัชฌิมะและนวกะ พากันเล่าเรียนพระวินัยในสำนักท่านพระอุบาลี ถ้าภิกษุเหล่านี้จักเป็นผู้รู้พระ-
บัญญัติในพระวินัย ท่านจักฉุดกระชากผลักไสพวกเราได้ตามใจชอบ อย่ากระนั้นเลย พวกเรา
จงช่วยกันก่นพระวินัยเถิด เมื่อตกลงดั่งนั้น พระฉัพพัคคีย์จึงเข้าไปหาภิกษุทั้งหลาย กล่าว
อย่างนี้ว่า จะประโยชน์อะไรด้วยสิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ที่ยกขึ้นแสดงแล้ว ช่างเป็นไป
เพื่อความรำคาญ เพื่อความลำบาก เพื่อความยุ่งเหยิงนี่กระไร.
                บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระฉัพพัคคีย์
จึงได้พากันก่นพระวินัยเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
                                                                ทรงสอบถาม
                พระผู้มีพระภาคทรงสอบพระฉัพพัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า พวกเธอช่วยกันก่น
วินัย จริงหรือ?
                พระฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘