พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ หน้า 526-530

                                                            หน้าที่ ๕๒๖

                ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยประการ
ฉะนี้.
                                เรื่องทรงอนุญาตให้ภิกษุทำนวกรรมอาบน้ำได้ จบ.
                                ทรงอนุญาตให้ภิกษุไปทางไกลอาบน้ำได้
                [๖๑๔] สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายพากันเดินทางไกลไปแล้ว พากันรังเกียจไม่อาบน้ำ
ย่อมนอนทั้งๆ ที่ร่างกายชุ่มด้วยเหงื่อ เหงื่อนั้นย่อมประทุษร้ายทั้งจีวร ทั้งเสนาสนะ ภิกษุ
ทั้งหลายได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
คราวไปทางไกล เราอนุญาต ยังหย่อนกึ่งเดือน อาบน้ำได้.
                ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
                                                พระอนุบัญญัติ ๔
                ๑๐๖. ๗. ง. อนึ่ง ภิกษุใด ยังหย่อนกึ่งเดือน อาบน้ำ เว้นไว้แต่สมัย
เป็นปาจิตตีย์ นี้สมัยในเรื่องนั้น เดือนกึ่งท้ายฤดูร้อน เดือนต้นแห่งฤดูฝน สองเดือน
กึ่งนี้ เป็นคราวร้อน เป็นคราวกระวนกระวาย คราวเจ็บไข้ คราวทำการงาน
คราวไปทางไกลนี้สมัยในเรื่องนั้น.
                ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยประการ
ฉะนี้.
                                เรื่องทรงอนุญาตให้ภิกษุไปทางไกลอาบน้ำได้ จบ.
                                ทรงอนุญาตให้ภิกษุทำจีวรอาบน้ำได้
                [๖๑๕] สมัยต่อมา ภิกษุหลายรูปกำลังช่วยกันทำจีวรกรรมอยู่ในที่แจ้ง ถูกต้องลมผสม
ธุลี ทั้งฝนก็ตกถูกต้องประปราย ภิกษุทั้งหลายพากันรังเกียจไม่อาบน้ำ ย่อมนอนทั้งๆ ที่ร่างกาย
โสมม ร่างกายที่โสมมนั้นย่อมประทุษร้ายทั้งจีวร ทั้งเสนาสนะ ภิกษุทั้งหลายได้กราบทูลเรื่องนั้น
แด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในคราวฝนปนพายุ
เราอนุญาต ยังหย่อนกึ่งเดือน อาบน้ำได้.
                ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-


                                                            หน้าที่ ๕๒๗

                                                พระอนุบัญญัติ ๕
                ๑๐๖. ๗. จ. อนึ่ง ภิกษุใด ยังหย่อนกึ่งเดือน อาบน้ำ เว้นไว้แต่สมัย
เป็นปาจิตตีย์ นี้สมัยในเรื่องนั้น เดือนกึ่งท้ายฤดูร้อน เดือนต้นแห่งฤดูฝน สองเดือน
กึ่งนี้ เป็นคราวร้อน เป็นคราวกระวนกระวาย คราวเจ็บไข้ คราวทำการงาน คราว
ไปทางไกล คราวฝนมากับพายุ นี้สมัยในเรื่องนั้น.
                                เรื่องทรงอนุญาตให้ภิกษุทำจีวรอาบน้ำได้ จบ.
                                                                สิกขาบทวิภังค์
                [๖๑๖] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ...
                บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ ชื่อว่า ภิกษุ
ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้.
                บทว่า ยังหย่อนกึ่งเดือน คือ ยังไม่ถึงครึ่งเดือน.
                บทว่า อาบน้ำ ได้แก่ อาบน้ำด้วยจุรณหรือดินเหนียว เป็นทุกกฏในประโยค เมื่อ
อาบน้ำเสร็จ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                บทว่า เว้นไว้แต่สมัย คือ ยกไว้แต่มีสมัย.
                ที่ชื่อว่า คราวร้อน คือ เดือนกึ่งท้ายฤดูร้อน.
                ที่ชื่อว่า คราวกระวนกระวาย คือ เดือนต้นแห่งฤดูฝน ภิกษุอาบน้ำได้ เพราะ
ถือว่าสองเดือนกึ่งนี้ เป็นคราวร้อน เป็นคราวกระวนกระวาย.
                ที่ชื่อว่า คราวเจ็บไข้ คือ เว้นอาบน้ำ ย่อมไม่สบาย ภิกษุอาบน้ำได้ เพราะถือว่า
เป็นคราวเจ็บไข้.
                ที่ชื่อว่า คราวทำการงาน คือ โดยที่สุดแม้กวาดบริเวณ ภิกษุอาบน้ำได้ เพราะถือว่า
เป็นคราวทำการงาน.
                ที่ชื่อว่า คราวไปทางไกล คือ ภิกษุตั้งใจว่า จักเดินทางกึ่งโยชน์ อาบน้ำได้ คือ
ตอนจะไปอาบน้ำได้ ไปถึงแล้วก็อาบน้ำได้.
                ที่ชื่อว่า คราวฝนมากับพายุ คือ ภิกษุทั้งหลายถูกต้องลมผสมธุลี หยาดฝนตกถูกต้อง
กาย ๒-๓ หยาด อาบน้ำได้ เพราะถือว่าเป็นคราวฝนมากับพายุ.


                                                            หน้าที่ ๕๒๘

                                                                บทภาชนีย์
                                                                ติกะปาจิตตีย์
                [๖๑๗] หย่อนกึ่งเดือน ภิกษุสำคัญว่าหย่อน อาบน้ำ เว้นไว้แต่สมัย ต้องอาบัติ-
ปาจิตตีย์.
                หย่อนกึ่งเดือน ภิกษุสงสัย อาบน้ำ เว้นไว้แต่สมัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                หย่อนกึ่งเดือน ภิกษุสำคัญว่าเกิน อาบน้ำ เว้นไว้แต่สมัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                                                                ทุกะทุกกฏ
                เกินกึ่งเดือน ภิกษุสำคัญว่าหย่อน ... ต้องอาบัติทุกกฏ.
                เกินกึ่งเดือน ภิกษุสงสัย ... ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                                                ไม่ต้องอาบัติ
                เกินกึ่งเดือน ภิกษุสำคัญว่าเกิน ... ไม่ต้องอาบัติ.
                                                                อนาปัตติวาร
                [๖๑๘] ภิกษุอาบน้ำในสมัย ๑ ภิกษุอาบน้ำในเวลากึ่งเดือน ๑ ภิกษุอาบน้ำในเวลาเกิน
กึ่งเดือน ๑ ภิกษุข้ามฟากอาบน้ำ ๑ ภิกษุอาบน้ำในปัจจันตชนบท ทุกๆ แห่ง ๑ ภิกษุอาบน้ำ
เพราะมีอันตราย ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
                                                สุราปานวรรค สิกขาบทที่ ๗ จบ.
                                                ____________


                                                            หน้าที่ ๕๒๙

                                                ๖. สุราปานวรรค สิกขาบทที่ ๘
                                                เรื่องภิกษุหลายรูป
                [๖๑๙] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น พวกภิกษุกับพวกปริพาชกต่างพากันเดินทาง
จากเมืองสาเกตไปยังพระนครสาวัตถี. ในระหว่างทางพวกโจรได้พากันออกมาแย่งชิงพวกภิกษุ
กับพวกปริพาชกเหล่านั้น พวกเจ้าหน้าที่ได้ออกจากพระนครสาวัตถี ไปจับโจรเหล่านั้นได้พร้อม
ทั้งของกลาง แล้วส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า นิมนต์พระคุณเจ้าทั้งหลายมา จำจีวร
ของตนๆ ได้แล้วจงรับเอาไป. ภิกษุทั้งหลายจำจีวรไม่ได้ ชาวบ้านพากันเพ่งโทษ ติเตียน
โพนทะนาว่า ไฉน พระคุณเจ้าทั้งหลายจึงจำจีวรของตนๆ ไม่ได้เล่า? ภิกษุทั้งหลายได้ยิน
ชาวบ้านเหล่านั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
                                                ประชุมสงฆ์ทรงบัญญัติสิกขาบท
                ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ใน
เพราะเหตุแรกเกิดนั้น ทรงทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุ
ทั้งหลาย แล้วรับสั่งว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุ
ทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความ
สำราญแห่งสงฆ์ ๑ ... เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
                                                                พระบัญญัติ
                ๑๐๗. ๘. อนึ่ง ภิกษุได้จีวรมาใหม่ พึงถือเอาวัตถุสำหรับทำให้เสียสี
๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ของเขียวครามก็ได้ ตมก็ได้ ของดำคล้ำก็ได้
ถ้าภิกษุไม่ถือเอาวัตถุสำหรับทำให้เสียสี ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง ใช้จีวรใหม่
เป็นปาจิตตีย์.
                                                เรื่องภิกษุหลายรูป จบ.


                                                            หน้าที่ ๕๓๐

                                                                สิกขาบทวิภังค์
                [๖๒๐] ที่ชื่อว่า ใหม่ ท่านกล่าวว่ายังมิได้ทำเครื่องหมาย.
                ที่ชื่อว่า จีวร ได้แก่ ผ้า ๖ ชนิด ชนิดใดชนิดหนึ่ง.
                พากย์ว่า พึงถือเอาวัตถุสำหรับทำให้เสียสี ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง นั้น
คือ พึงถือ โดยที่สุดแม้ด้วยปลายหญ้าคา.
                ที่ชื่อว่า ของเขียวคราม ได้แก่ของเขียวคราม ๒ อย่าง คือของเขียวครามเหมือน
สำริดอย่าง ๑ ของเขียวครามเหมือนน้ำใบไม้เขียวอย่าง ๑.
                ที่ชื่อว่า สีตม ตรัสว่า สีน้ำตม.
                ที่ชื่อว่า สีดำคล้ำ ได้แก่สีดำคล้ำชนิดใดชนิดหนึ่ง.
                พากย์ว่า ถ้าภิกษุไม่ถือเอาวัตถุสำหรับทำให้เสียสี ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง
นั้น ความว่า ภิกษุไม่ถือเอาวัตถุสำหรับทำให้เสียสี ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง (ทำเป็นวงกลม)
โดยที่สุดแม้ด้วยปลายหญ้าคา แล้วใช้จีวรใหม่ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                                                                บทภาชนีย์
                                                                ติกะปาจิตตีย์
                [๖๒๑] มิได้ถือเอา ภิกษุสำคัญว่ามิได้ถือเอา ใช้นุ่งห่ม ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                มิได้ถือเอา ภิกษุสงสัย ใช้นุ่งห่ม ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                มิได้ถือเอา ภิกษุสำคัญว่าถือเอา ใช้นุ่งห่ม ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                                                                ทุกะทุกกฏ
                ถือเอาแล้ว ภิกษุสำคัญว่ามิได้ถือเอา ใช้นุ่งห่ม ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ถือเอาแล้ว ภิกษุสงสัย ใช้นุ่งห่ม ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                                                ไม่ต้องอาบัติ
                ถือเอาแล้ว ภิกษุสำคัญว่าถือเอาแล้ว ใช้นุ่งห่ม ไม่ต้องอาบัติ.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘