พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ หน้า 516-520

                                                            หน้าที่ ๕๑๖

                ที่ชื่อว่า ความไม่เอื้อเฟื้อในธรรม ได้แก่ภิกษุผู้อันอุปสัมบัน ว่ากล่าวอยู่ด้วย
พระบัญญัติ แสดงความไม่เอื้อเฟื้อโดยอ้างว่า ไฉน ธรรมข้อนี้จะพึงเสื่อม สูญหาย หรืออันตรธาน
เสีย ดังนี้ก็ดี ไม่ประสงค์จะศึกษาพระบัญญัตินั้น จึงแสดงความไม่เอื้อเฟื้อก็ดี ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์.
                                                                บทภาชนีย์
                                                                ติกะปาจิตตีย์
                [๕๙๔] อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าอุปสัมบัน แสดงความไม่เอื้อเฟื้อ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
                อุปสัมบัน ภิกษุสงสัย แสดงความไม่เอื้อเฟื้อ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าอนุปสัมบัน แสดงความไม่เอื้อเฟื้อ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                                                                ทุกกฏ
                [๕๙๕] ภิกษุถูกอุปสัมบันว่ากล่าวอยู่ ด้วยข้อธรรมอันมิใช่พระบัญญัติ แสดงความไม่
เอื้อเฟื้อโดยอ้างว่า ข้อนี้ไม่เป็นไปเพื่อความขัดเกลา ไม่เป็นไปเพื่อความจำกัด ไม่เป็นไปเพื่อ
ความเป็นผู้ที่น่าเลื่อมใส ไม่เป็นไปเพื่อความไม่สะสม ไม่เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร ต้องอาบัติ
ทุกกฏ.
                ภิกษุถูกอนุปสัมบันว่ากล่าวอยู่ด้วยพระบัญญัติก็ดี ด้วยข้อธรรมอันมิใช่พระบัญญัติก็ดี
แสดงความไม่เอื้อเฟื้อโดยอ้างว่า ข้อนี้ไม่เป็นไปเพื่อความขัดเกลา ไม่เป็นไปเพื่อความกำจัด
ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้ที่น่าเลื่อมใส ไม่เป็นไปเพื่อความไม่สะสม ไม่เป็นไปเพื่อปรารภความ-
เพียร ต้องอาบัติทุกกฏ.
                [๕๙๖] อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าอุปสัมบัน แสดงความไม่เอื้อเฟื้อ ต้องอาบัติทุกกฏ.
                อนุปสัมบัน ภิกษุสงสัย แสดงความไม่เอื้อเฟื้อ ต้องอาบัติทุกกฏ.
                อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าอนุปสัมบัน แสดงความไม่เอื้อเฟื้อ ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                                                อนาปัตติวาร
                [๕๙๗] ภิกษุกล่าวชี้เหตุว่า อาจารย์ทั้งหลายของพวกข้าพเจ้าเรียนมาอย่างนี้ สอบถาม
มาอย่างนี้ ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
                                                สุราปานวรรค สิกขาบทที่ ๔ จบ.
                                                ___________


                                                            หน้าที่ ๕๑๗

                                                ๖. สุราปานวรรค สิกขาบทที่ ๕
                                                เรื่องพระฉัพพัคคีย์
                [๕๙๘] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันอารามของ
อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น พระฉัพพัคคีย์หลอนพระสัตตรสวัคคีย์
พวกเธอถูกหลอนจึงร้องไห้.
                ภิกษุทั้งหลายถามพระสัตตรสวัคคีย์ว่า อาวุโสทั้งหลาย พวกท่านร้องไห้ทำไม?
                พระสัตตรสวัคคีย์ตอบว่า พระฉัพพัคคีย์พวกนี้หลอนพวกผม ขอรับ.
                บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย ...  ต่างก็พากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน
พระฉัพพัคคีย์จึงได้หลอนพวกภิกษุทั้งหลายเล่า? แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ...
                                                                ทรงสอบถาม
                พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามพระฉัพพัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า พวกเธอหลอน
ภิกษุทั้งหลาย จริงหรือ ?.
                พระฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉน พวกเธอจึงได้หลอน
ภิกษุทั้งหลายเล่า? การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่
เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ...
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดง อย่างนี้ ว่าดังนี้:-
                                                                พระบัญญัติ
                ๑๐๔. ๕. อนึ่ง ภิกษุใดหลอนซึ่งภิกษุ เป็นปาจิตตีย์.
                                                เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ.
                                                                สิกขาบทวิภังค์
                [๕๙๙] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ...
                บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ ชื่อว่า ภิกษุ ที่ทรง
ประสงค์ในอรรถนี้.


                                                            หน้าที่ ๕๑๘

                บทว่า ซึ่งภิกษุ ได้แก่ ภิกษุรูปอื่น.
                บทว่า หลอน ความว่า อุปสัมบันมุ่งจะหลอนอุปสัมบัน แสดงรูปก็ดี เสียงก็ดี
กลิ่นก็ดี รสก็ดี โผฏฐัพพะก็ดี เธอผู้ถูกหลอนนั้นจะตกใจก็ตาม ไม่ตกใจก็ตาม ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์.
                อุปสัมบันมุ่งจะหลอนอุปสัมบัน บอกเล่าทางกันดารเพราะโจรก็ดี ทางกันดารเพราะ-
สัตว์ร้ายก็ดี ทางกันดารเพราะปีศาจก็ดี เธอจะตกใจก็ตาม ไม่ตกใจก็ตาม ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                                                                บทภาชนีย์
                                                                ติกะปาจิตตีย์
                [๖๐๐] อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าอุปสัมบัน หลอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                อุปสัมบัน ภิกษุสงสัย หลอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าอนุปสัมบัน หลอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                                                                ทุกกฏ
                [๖๐๑] อุปสัมบันมุ่งจะหลอนอนุปสัมบัน แสดงรูปก็ดี เสียงก็ดี กลิ่นก็ดี รสก็ดี
โผฏฐัพพะก็ดี เขาจะตกใจก็ตาม ไม่ตกใจก็ตาม ต้องอาบัติทุกกฏ.
                อุปสัมบันมุ่งจะหลอนอนุปสัมบัน บอกเล่าทางกันดารเพราะโจรก็ดี ทางกันดารเพราะ
สัตว์ร้ายก็ดี ทางกันดารเพราะปีศาจก็ดี เขาจะตกใจก็ตาม ไม่ตกใจก็ตาม ต้องอาบัติทุกกฏ.
                [๖๐๒] อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าอุปสัมบัน หลอน ต้องอาบัติทุกกฏ.
                อนุปสัมบัน ภิกษุสงสัย หลอน ต้องอาบัติทุกกฏ.
                อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าอนุปสัมบัน หลอน ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                                                อนาปัตติวาร
                [๖๐๓] ภิกษุไม่ประสงค์จะหลอน แต่แสดงรูปก็ดี เสียงก็ดี กลิ่นก็ดี รสก็ดี
โผฏฐัพพะก็ดี หรือบอกเล่าทางกันดารเพราะโจร ทางกันดารเพราะสัตว์ร้าย ทางกันดาร
เพราะปีศาจ ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
                                                สุราปานวรรค สิกขาบทที่ ๕ จบ.
                                                ___________


                                                            หน้าที่ ๕๑๙

                                                ๖. สุราปานวรรค สิกขาบทที่ ๖
                                                เรื่องภิกษุหลายรูป
                [๖๐๔] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ เภสกลามฤคทายวัน เขต
เมืองสุงสุมารคิระ ในภัคคชนบท สมัยนั้น ถึงเดือนฤดูหนาว ภิกษุทั้งหลายได้ก่อไฟที่ขอนไม้
มีโพรงใหญ่ท่อนหนึ่งแล้วผิง ก็งูเห่าในโพรงไม้ท่อนใหญ่นั้นถูกไฟร้อนเข้า ได้เลื้อยออกไล่พวก-
ภิกษุๆ ได้วิ่งหนีไปในที่นั้นๆ บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย ...  ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า
ไฉน ภิกษุทั้งหลาย จึงได้ก่อไฟผิงเล่า? แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ...
                                                                ทรงสอบถาม
                พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า พวกภิกษุ
ก่อไฟผิง จริงหรือ?
                ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉน ภิกษุโมฆบุรุษเหล่านั้น
จึงได้ก่อไฟผิงเล่า? การกระทำของภิกษุโมฆบุรุษเหล่านั้นนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของ
ชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
                                                                พระบัญญัติ
                ๑๐๕. ๖. อนึ่ง ภิกษุใด มุ่งการผิง ติดก็ดี ให้ติดก็ดี ซึ่งไฟ เป็นปาจิตตีย์.
                ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาค ทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ
ฉะนี้.
                                                เรื่องภิกษุหลายรูป จบ.


                                                            หน้าที่ ๕๒๐

                                                ทรงอนุญาตให้พระอาพาธผิงไฟได้
                [๖๐๕] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายอาพาธ บรรดาภิกษุผู้พยาบาลไข้ ได้ถาม
พวกภิกษุอาพาธว่า อาวุโสทั้งหลาย พออดทนได้หรือ? พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ?
                ภิกษุอาพาธตอบว่า อาวุโสทั้งหลาย เมื่อก่อนพวกผมก่อไฟผิงได้ เพราะเหตุนั้นความ
ผาสุกจึงมีแก่พวกผม แต่บัดนี้ พวกผมรังเกียจอยู่ว่า พระผู้มีพระภาคทรงห้ามแล้ว จึงผิงไฟไม่ได้
เพราะเหตุนั้น ความผาสุกจึงไม่มีแก่พวกผม.
                ภิกษุทั้งหลายได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตว่า ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้อาพาธก่อเองก็ดี ให้ผู้อื่นก่อเองก็ดี ซึ่งไฟแล้วผิงได้ อนึ่ง
พวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
                                                พระอนุบัญญัติ ๑
                ๑๐๕. ๖. ก. อนึ่ง ภิกษุใด มิใช่ผู้อาพาธ มุ่งการผิง ติดก็ดี ให้ติดก็ดี
ซึ่งไฟ เป็นปาจิตตีย์.
                ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ
ฉะนี้.
                                เรื่องทรงอนุญาตให้พระอาพาธผิงไฟได้ จบ.
                                ทรงอนุญาตให้ตามประทีปเป็นต้นได้
                [๖๐๖] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายพากันรังเกียจการตามประทีปบ้าง การก่อไฟบ้าง
การติดไฟในเรือนไฟบ้าง จึงได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ติดเองก็ดี ให้ผู้อื่นติดก็ดี ซึ่งไฟ เพราะปัจจัยเห็นปานนั้นได้
อนึ่ง พวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
                                                พระอนุบัญญัติ ๒
                ๑๐๕. ๖. ข. อนึ่ง ภิกษุใดมิใช่ผู้อาพาธ มุ่งการผิง ติดก็ดี ให้ติดก็ดี ซึ่งไฟ
เว้นไว้แต่ปัจจัยมีอย่างนั้นเป็นรูป เป็นปาจิตตีย์.
                                เรื่องทรงอนุญาตให้ตามประทีปเป็นต้นได้ จบ.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘