พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ หน้า 511-515

                                                            หน้าที่ ๕๑๑

                                                                บทภาชนีย์
                                                                ติกะปาจิตตีย์
                [๕๘๑] อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าอุปสัมบัน ใช้นิ้วมือจี้ให้หัวเราะ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                อุปสัมบัน ภิกษุสงสัย ใช้นิ้วมือจี้ให้หัวเราะ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าอนุปสัมบัน ใช้นิ้วมือจี้ให้หัวเราะ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                                                                ทุกกฏ
                [๕๘๒] ภิกษุเอากายถูกต้องของเนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ภิกษุเอาของเนื่องด้วยกายถูกต้องกาย ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ภิกษุเอาของเนื่องด้วยกายถูกต้องของเนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ภิกษุเอาของโยนถูกต้องกาย ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ภิกษุเอาของโยนถูกต้องของเนื่องด้วยกายต้องอาบัติทุกกฏ.
                ภิกษุเอาของโยนถูกต้องของโยน ต้องอาบัติทุกกฏ.
                [๕๘๓] ภิกษุเอากายถูกต้องกายอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ภิกษุเอากายถูกต้องของเนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ภิกษุเอาของเนื่องด้วยกายถูกต้องกาย ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ภิกษุเอาของเนื่องด้วยกายถูกต้องของเนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ภิกษุเอาของโยนถูกต้องกาย ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ภิกษุเอาของโยนถูกต้องของเนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ภิกษุเอาของโยนไปถูกต้องของโยนมา ต้องอาบัติทุกกฏ.
                [๕๘๔] อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าอุปสัมบัน เอานิ้วมือจี้ให้หัวเราะ ต้องอาบัติทุกกฏ.
                อนุปสัมบัน ภิกษุสงสัย ...  ต้องอาบัติทุกกฏ.
                อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าอนุปสัมบัน ...  ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                                                อนาปัตติวาร
                [๕๘๕] ภิกษุไม่ประสงค์จะให้หัวเราะ เมื่อมีกิจจำเป็น ถูกต้องเข้า ๑, ภิกษุวิกลจริต ๑,
ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑, ไม่ต้องอาบัติแล.
                                                สุราปานวรรค สิกขาบทที่ ๒ จบ.


                                                            หน้าที่ ๕๑๒

                                                ๖. สุราปานวรรค สิกขาบทที่ ๓
                                                เรื่องพระสัตตรสวัคคีย์
                [๕๘๖] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันอารามของ
อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น พระสัตตรสวัคคีย์กำลังเล่นน้ำกันอยู่ใน
แม่น้ำอจิรวดี ขณะนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับอยู่ ณ พระปราสาทชั้นบน พร้อมด้วย
พระนางมัลลิกาเทวี ได้ทอดพระเนตรเห็นพระสัตตรสวัคคีย์กำลังเล่นน้ำอยู่ในแม่น้ำอจิรวดี
ครั้นแล้วก็ได้รับสั่งกะพระนางมัลลิกาเทวีว่า นี่แน่ะแม่มัลลิกา นั่นพระอรหันต์กำลังเล่นน้ำ
                พระนางกราบทูลว่า ขอเดชะ ชะรอยพระผู้มีพระภาคจะยังมิได้ทรงบัญญัติสิกขาบท
หรือภิกษุเหล่านั้นจะยังไม่สันทัดในพระวินัยเป็นแน่ พระพุทธเจ้าข้า
                ขณะนั้น ท้าวเธอทรงรำพึงว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ เราจะไม่ต้องกราบทูลพระผู้มี-
พระภาค และพระผู้มีพระภาคจะพึงทรงทราบได้ว่า ภิกษุเหล่านี้เล่นน้ำ ครั้นแล้วท้าวเธอรับสั่ง
ให้นิมนต์พระสัตตรสวัคคีย์มา แล้วพระราชทานน้ำอ้อยงบใหญ่แก่ภิกษุเหล่านั้น รับสั่งว่า
ขอพระคุณเจ้าโปรดถวายน้ำอ้อยงบนี้แด่พระผู้มีพระภาค
                พระสัตตรสวัคคีย์ได้นำน้ำอ้อยงบนั้นไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วกราบทูลว่า พระเจ้า-
แผ่นดินถวายน้ำอ้อยงบนี้แด่พระองค์ พระพุทธเจ้าข้า
                พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็พระเจ้าแผ่นดินพบพวกเธอที่ไหนเล่า?
                พระสัตตรสวัคคีย์กราบทูลว่า พบพวกข้าพระพุทธเจ้ากำลังเล่นน้ำอยู่ในแม่น้ำอจิรวดี
พระพุทธเจ้าข้า
                                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉน พวกเธอจึงได้เล่นน้ำ
เล่า? การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส
หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ...
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-


                                                            หน้าที่ ๕๑๓

                                                                พระบัญญัติ
                ๑๐๒. ๓. เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะธรรม คือ หัวเราะในน้ำ
                                                เรื่องพระสัตตรสวัคคีย์ จบ
                                                                สิกขาบทวิภังค์
                [๕๘๗] ที่ชื่อว่า ธรรม คือ หัวเราะในน้ำ ความว่า ในน้ำลึกพ้นข้อเท้าขึ้นไป ภิกษุ
มีความประสงค์จะรื่นเริง ดำลงก็ดี ผุดขึ้นก็ดี ว่ายไปก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                                                                บทภาชนีย์
                                                                ติกะปาจิตตีย์
                [๕๘๘] เล่นน้ำ ภิกษุสำคัญว่าเล่น ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                เล่นน้ำ ภิกษุสงสัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
                เล่นน้ำ ภิกษุสำคัญว่ามิได้เล่น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
                                                                ทุกกฏ
                [๕๘๙] ภิกษุเล่นน้ำตื้นใต้ข้อเท้า ต้องอาบัติทุกกฏ
                ภิกษุเล่นเรือ ต้องอาบัติทุกกฏ
                ภิกษุเอามือวักน้ำก็ดี เอาเท้าแกว่งน้ำก็ดี เอาไม้ขีดน้ำก็ดี เอากระเบื้องปาน้ำเล่นก็ดี
ต้องอาบัติทุกกฏ
                น้ำ น้ำส้ม น้ำนม เปรียง น้ำย้อม น้ำปัสสาวะ หรือน้ำโคลน ซึ่งขังอยู่ในภาชนะ
ภิกษุเล่น ต้องอาบัติทุกกฏ
                [๕๙๐] ไม่ได้เล่นน้ำ ภิกษุสำคัญว่าเล่น ต้องอาบัติทุกกฏ
                ไม่ได้เล่นน้ำ ภิกษุสงสัย ต้องอาบัติทุกกฏ
                                                                ไม่ต้องอาบัติ
                ไม่ได้เล่นน้ำ ภิกษุสำคัญว่าไม่ได้เล่น ไม่ต้องอาบัติ


                                                            หน้าที่ ๕๑๔

                                                                อนาปัตติวาร
                [๕๙๑] ภิกษุไม่ประสงค์จะเล่น แต่เมื่อมีกิจจำเป็น ลงน้ำแล้วดำลงก็ดี ผุดขึ้นก็ดี ว่าย-
ไปก็ดี ๑ ภิกษุผู้จะข้ามฟาก ดำลงก็ดี ผุดขึ้นก็ดี ว่ายไปก็ดี ๑ มีอันตราย ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑
ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล
                                                สุราปานวรรค สิกขาบทที่ ๓ จบ.
                                                ____________


                                                            หน้าที่ ๕๑๕

                                                ๖. สุราปานวรรค สิกขาบทที่ ๔
                                                เรื่องพระฉันนะ
                [๕๙๒] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตพระนคร
โกสัมพี ครั้งนั้น ท่านพระฉันนะประพฤติอนาจาร ภิกษุทั้งหลายได้ว่ากล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส
ฉันนะ ท่านอย่าได้ทำเช่นนั้น การกระทำเช่นนั้นไม่ควร ท่านพระฉันนะไม่เอื้อเฟื้อยังขืนทำอยู่
อย่างเดิม บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย ...  ต่างก็พากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน ท่าน
พระฉันนะจึงได้ไม่เอื้อเฟื้อ ยังขืนทำอยู่เล่า? แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ...
                                                                ทรงสอบถาม
                พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามท่านพระฉันนะว่า ดูกรฉันนะ ข่าวว่า เธอไม่เอื้อเฟื้อ ยังขืน
ทำอยู่ จริงหรือ?
                ท่านพระฉันนะทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงได้ไม่เอื้อเฟื้อ ยังขืนทำ
อยู่อีกเล่า? การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือ
เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ...
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
                                                                พระบัญญัติ
                ๑๐๓. ๔. เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะความไม่เอื้อเฟื้อ.
                                                เรื่องพระฉันนะ จบ.
                                                                สิกขาบทวิภังค์
                [๕๙๓] ที่ชื่อว่า ความไม่เอื้อเฟื้อ ได้แก่ความไม่เอื้อเฟื้อ ๒ อย่าง คือ ความไม่
เอื้อเฟื้อในบุคคล ๑ ความไม่เอื้อเฟื้อในธรรม ๑
                ที่ชื่อว่า ความไม่เอื้อเฟื้อในบุคคล ได้แก่ ภิกษุผู้อันอุปสัมบัน ว่ากล่าวอยู่ด้วย
พระบัญญัติ แสดงความไม่เอื้อเฟื้อโดยอ้างว่า ท่านผู้นี้ถูกยกวัตร ถูกดูหมิ่น หรือถูกติเตียน
เราจักไม่ทำตามถ้อยคำของท่านผู้นี้ ดังนี้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘