พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ หน้า 471-475

                                                            หน้าที่ ๔๗๑

เป็นผู้มุ่งติเตียนพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานพระวโรกาส ขอ
อย่าให้พระคุณเจ้าทั้งหลายให้ของแก่พวกเดียรถีย์ด้วยมือของตนเลย.
                ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้อุบาสกเหล่านั้นเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ
ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา. ครั้นอุบาสกเหล่านั้นอันพระผู้มีพระภาค ทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง สมาทาน
อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณกลับ
ไปแล้ว.
                                                ประชุมสงฆ์ทรงบัญญัติสิกขาบท
                ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ใน
เพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงทำธรรมีกถาอันเหมาะสมแก่เรื่องนั้น อันสมควรแก่เรื่องนั้น
แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจ
ประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่ม
บุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดใน
ปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่
เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑
เพื่อถือตามพระวินัย ๑
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
                                                                พระบัญญัติ
                ๙๐.๑. อนึ่ง ภิกษุใด ให้ของเคี้ยวก็ดี ของกินก็ดี แก่อเจลกก็ดี แก่ปริพาชก
ก็ดี แก่ปริพาชิกาก็ดี ด้วยมือของตน เป็นปาจิตตีย์.
                                                เรื่องพระอานนท์ จบ.
                                                                สิกขาบทวิภังค์
                [๕๒๘] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ...
                บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ ชื่อว่า ภิกษุ ที่ทรง
ประสงค์ในอรรถนี้.


                                                            หน้าที่ ๔๗๒

                ที่ชื่อว่า อเจลก ได้แก่ชีเปลือยคนใดคนหนึ่งที่จัดเข้าในจำพวกนักบวช.
                ที่ชื่อว่า ปริพาชก ได้แก่บุรุษคนใดคนหนึ่ง ที่จัดเข้าในจำพวกนักบวช เว้นภิกษุและ
สามเณร.
                ที่ชื่อว่า ปริพาชิกา ได้แก่ สตรีคนใดคนหนึ่งที่จัดเข้าในจำพวกนักบวช เว้นภิกษุณี
สิกขมานา และสามเณรี.
                ที่ชื่อว่า ของเคี้ยว คือ เว้นโภชนะ ๕ อย่าง น้ำและไม้ชำระฟัน นอกนั้นชื่อว่าของ
เคี้ยว.
                ที่ชื่อว่า ของกิน ได้แก่ โภชนะ ๕ อย่าง คือ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา
เนื้อ.
                บทว่า ให้ คือ ให้ด้วยกายก็ดี ด้วยของเนื่องด้วยกายก็ดี ด้วยโยนให้ก็ดี ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์.
                                                                บทภาชนีย์
                                                                ติกะปาจิตตีย์
                [๕๒๙] เดียรถีย์ ภิกษุสำคัญว่าเดียรถีย์ ให้ของเคี้ยวก็ดี ของกินก็ดี ด้วยมือของตน
ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                เดียรถีย์ ภิกษุสงสัย ให้ของเคี้ยวก็ดี ของกินก็ดี ด้วยมือของตน ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์.
                เดียรถีย์ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่เดียรถีย์ ให้ของเคี้ยวก็ดี ของกินก็ดี ด้วยมือของตน
ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                                                                ติกะทุกกฏ
                ให้น้ำและไม้ชำระฟัน ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ไม่ใช่เดียรถีย์ ภิกษุสำคัญว่าเดียรถีย์ ... ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ไม่ใช่เดียรถีย์ ภิกษุสงสัย ... ต้องอาบัติทุกกฏ.


                                                            หน้าที่ ๔๗๓

                                                                ไม่ต้องอาบัติ
                ไม่ใช่เดียรถีย์ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่เดียรถีย์ ... ไม่ต้องอาบัติ.
                                                                อนาปัตติวาร
                [๕๓๐] ภิกษุสั่งให้ให้ ไม่ให้เอง ๑ วางให้ ๑ ให้ของไล้ทาภายนอก ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑
ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
                                                อเจลกวรรค สิกขาบทที่ ๑ จบ.
                                                                ___________


                                                            หน้าที่ ๔๗๔

                                                ๕. อเจลกวรรค สิกขาบทที่ ๒
                                                เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร
                [๕๓๑] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรได้กล่าวชวนภิกษุผู้เป็น
สัทธิวิหาริกของพระพี่ชายว่า มาเถิด อาวุโส เราจักเข้าบ้านเพื่อบิณฑบาตด้วยกัน แล้วสั่งไม่ให้
เขาถวายอะไรแก่เธอ ซ้ำส่งกลับด้วยบอกว่า กลับเถิด อาวุโส การพูดก็ดี การนั่งก็ดี ของเรา
กับคุณไม่นำความสำราญมาให้ การพูดก็ดี การนั่งก็ดี ของเราคนเดียว ย่อมจะสำราญ ขณะนั้น
เป็นเวลาใกล้เที่ยงแล้ว ภิกษุนั้นไม่สามารถเที่ยวหาบิณฑบาตฉันได้ แม้จะไปฉันที่โรงฉันก็ไม่
ทันกาล จำต้องอดภัตตาหาร ครั้นเธอไปถึงอารามแล้ว ได้แจ้งเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย.
                บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ท่านอุปนันทศากยบุตร
กล่าวชวนภิกษุว่า มาเถิด อาวุโส เราจักเข้าบ้านเพื่อบิณฑบาตด้วยกัน แล้วไฉนจึงสั่งไม่ให้เขา
ถวายอะไรแก่เธอ ซ้ำยังส่งกลับอีกเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ...
                                                                ทรงสอบถาม
                พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า ดูกรอุปนันทะ ข่าวว่า เธอชวน
ภิกษุว่า มาเถิด อาวุโส เราจักเข้าบ้านเพื่อบิณฑบาตด้วยกัน แล้วสั่งไม่ให้เขาถวายอะไรแก่เธอ
ซ้ำยังส่งกลับอีก จริงหรือ?
                ท่านพระอุปนันทศากยบุตรทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ เธอกล่าวชวนภิกษุว่า มาเถิด
อาวุโส เราจักเข้าบ้านเพื่อบิณฑบาตด้วยกัน แล้วไฉนจึงได้สั่งไม่ให้เขาถวายอะไรแก่เธอ ซ้ำยัง
ส่งกลับอีกเล่า การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส
หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ...
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-


                                                            หน้าที่ ๔๗๕

                                                                พระบัญญัติ
                ๙๑.๒. อนึ่ง ภิกษุใด กล่าวต่อภิกษุอย่างนี้ว่า ท่านจงมาเข้าไปสู่บ้านหรือ
สู่นิคมเพื่อบิณฑบาตด้วยกัน. เธอยังเขาให้ถวายแล้วก็ดี ไม่ให้ถวายแล้วก็ดี แก่เธอ
แล้วส่งไปด้วยคำว่า ท่านจงไปเถิด การพูดก็ดี การนั่งก็ดี ของเรากับท่าน ไม่เป็น
ผาสุกเลย การพูดก็ดี การนั่งก็ดี ของเราคนเดียว ย่อมเป็นผาสุก ทำความหมาย
อย่างนี้เท่านั้นแลให้เป็นปัจจัย หาใช่อย่างอื่นไม่ เป็นปาจิตตีย์.
                                                เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร จบ.
                                                                สิกขาบทวิภังค์
                [๕๓๒] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ...
                บทว่า  ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ ชื่อว่า ภิกษุ ที่ทรง
ประสงค์ในอรรถนี้.
                บทว่า ต่อภิกษุ หมายถึงภิกษุรูปอื่น.
                คำว่า ท่านจงมา ... สู่บ้าน หรือสู่นิคม ความว่า บ้านก็ดี นิคมก็ดี เมืองก็ดี
ชื่อว่าบ้านและนิคม.
                บทว่า ยังเขาให้ถวายแล้ว ... แก่เธอ คือ ให้เขาถวายข้าวต้ม หรือข้าวสวย ของเคี้ยว
หรือของฉัน.
                บทว่า ไม่ให้ถวายแล้ว คือ ไม่ให้เขาถวายอะไรๆ สักอย่าง.
                บทว่า ส่งไป ความว่า ปรารถนาจะกระซิกกระซี้ ปรารถนาจะเล่น ปรารถนาจะนั่งใน
ที่ลับ ปรารถนาจะประพฤติอนาจารกับมาตุคาม พูดอย่างนี้ว่า กลับไปเถิด อาวุโส การพูดก็ดี
การนั่งก็ดี ของเรากับท่าน ไม่เป็นผาสุก การพูดก็ดี การนั่งก็ดี ของเราคนเดียว ย่อมเป็น
ผาสุก ดังนี้ ให้กลับ ต้องอาบัติทุกกฏ เมื่อเธอกำลังจะละอุปจารแห่งการเห็น หรืออุปจาร
แห่งการฟัง ต้องอาบัติทุกกฏ เมื่อละแล้ว ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                คำว่า ทำความหมายอย่างนี้เท่านั้นแลให้เป็นปัจจัย หาใช่อย่างอื่นไม่ ความว่า
ไม่มีเหตุจำเป็นอย่างอื่นเพื่อจะส่งไป.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘