พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ หน้า 466-470

                                                            หน้าที่ ๔๖๖

                                                ๔. โภชนวรรค สิกขาบทที่ ๑๐
                                                เรื่องภิกษุรูปหนึ่ง
                [๕๒๒] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน
เขตพระนครเวสาลี. ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้มีปกติถือของทุกอย่างเป็นบังสุกุล สำนักอยู่ใน
สุสานประเทศ ท่านไม่ปรารถนาจะรับอาหารที่ประชาชนถวาย เที่ยวถือเอาอาหารเครื่องเซ่นเจ้า
ตามป่าช้าบ้าง ตามโคนไม้บ้าง ตามธรณีประตูบ้าง มาฉันเอง. ประชาชนต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน
โพนทะนาว่า ไฉน ภิกษุนี้จึงได้ถือเอาอาหารเครื่องเซ่นเจ้าของพวกเราไปฉันเองเล่า ภิกษุนี้อ้วน
ล่ำบางทีจะฉันเนื้อมนุษย์.
                ภิกษุทั้งหลายได้ยินประชาชนพวกนั้น เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาที่เป็นผู้
มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุจึงได้กลืนอาหารที่เขายังไม่ได้ให้ ล่วงช่อง
ปากเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
                                                                ทรงสอบถาม
                พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุรูปนั้นว่า ดูกรภิกษุ ข่าวว่า เธอกลืนอาหารที่เขายัง
ไม่ได้ให้ ล่วงช่องปาก จริงหรือ?
                ภิกษุนั้นทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงได้กลืนอาหารที่เขายัง
ไม่ได้ให้ ล่วงช่องปากเล่า การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยัง
ไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ...
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
                                                                พระบัญญัติ
                ๘๙.๑๐. ก. อนึ่ง ภิกษุใด กลืนอาหารที่เขายังไม่ได้ให้ ล่วงช่องปาก
เป็นปาจิตตีย์.


                                                            หน้าที่ ๔๖๗

                ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ
ฉะนี้.
                                                เรื่องภิกษุรูปหนึ่ง จบ.
                                                ทรงอนุญาตน้ำและไม้ชำระฟัน
                [๕๒๓] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุพากันรังเกียจน้ำและไม้ชำระฟัน ภิกษุทั้งหลายได้กราบ
ทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้ถือเอาน้ำ และไม้ชำระฟันแล้วบริโภคได้.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
                                                                พระอนุบัญญัติ
                ๘๙.๑๐. ข. อนึ่ง ภิกษุใด กลืนอาหารที่เขายังไม่ได้ให้ ล่วงช่องปาก เว้นไว้
แต่น้ำและไม้ชำระฟัน เป็นปาจิตตีย์.
                                เรื่องทรงอนุญาตน้ำและไม้ชำระฟัน จบ.
                                                                สิกขาบทวิภังค์
                [๕๒๔] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ...
                บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ ชื่อว่า ภิกษุ ที่ทรง
ประสงค์ในอรรถนี้.
                ที่ชื่อว่า ที่เขายังไม่ได้ให้ ท่านกล่าวว่า ที่ยังไม่ได้รับประเคน.
                                                ลักษณะการรับประเคน
                ที่ชื่อว่า เขาให้ คือ เมื่อเขาให้ด้วยกาย ด้วยของเนื่องด้วยกาย หรือโยนให้ ๑
เขาอยู่ในหัตถบาส ๑ ภิกษุรับประเคนด้วยกาย หรือด้วยของเนื่องด้วยกาย ๑ นี้ชื่อว่า เขาให้.
                ที่ชื่อว่า อาหาร ได้แก่ ของที่กลืนกินได้ อย่างใดอย่างหนึ่งยกเว้นน้ำและไม้ชำระฟัน
นี้ชื่อว่า อาหาร.


                                                            หน้าที่ ๔๖๘

                บทว่า เว้นไว้แต่น้ำ และไม้ชำระฟัน คือ ยกน้ำและไม้ชำระฟัน.
                ภิกษุถือเอาด้วยตั้งใจว่า จักเคี้ยว จักฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ. ขณะกลืน ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์ ทุกๆ คำกลืน.
                                                                บทภาชนีย์
                                                                ติกะปาจิตตีย์
                [๕๒๕] อาหารที่ยังไม่ได้รับประเคน ภิกษุสำคัญว่ายังมิได้รับประเคน กลืนอาหารที่เขา
ยังไม่ได้ให้ ล่วงช่องปาก เว้นไว้แต่น้ำและไม้ชำระฟัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                อาหารที่ยังไม่ได้ประเคน ภิกษุสงสัย กลืนอาหารที่เขายังไม่ได้ให้ ล่วงช่องปาก เว้นไว้
แต่น้ำและไม้ชำระฟัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                อาหารที่ยังไม่ได้รับประเคน ภิกษุสำคัญว่าได้รับประเคนไว้แล้ว กลืนอาหารที่เขายัง
ไม่ได้ให้ ล่วงช่องปาก เว้นไว้แต่น้ำและไม้ชำระฟัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                                                                ทุกะทุกกฏ
                อาหารที่รับประเคนไว้แล้ว ภิกษุสำคัญว่ายังไม่ได้รับประเคน ... ต้องอาบัติทุกกฏ.
                อาหารที่รับประเคนไว้แล้ว ภิกษุสงสัย ... ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                                                ไม่ต้องอาบัติ
                อาหารที่รับประเคนไว้แล้ว ภิกษุสำคัญว่ารับประเคนไว้แล้ว ... ไม่ต้องอาบัติ.
                                                                อนาปัตติวาร
                [๕๒๖] กลืนน้ำและไม้ชำระฟัน ๑ ฉันยามหาวิกัติ ๔ ในเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน เมื่อกัปปิย
การกไม่มี ภิกษุถือเอาเองแล้วฉันได้ ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
                                                โภชนวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ จบ.
                                                ปาจิตตีย์ วรรคที่ ๔ จบ.
                                                                ___________


                                                            หน้าที่ ๔๖๙

                                                หัวข้อประจำเรื่อง
                ๑. อาวสถบิณฑสิกขาบท             ว่าด้วยฉันอาหารในโรงทาน
                ๒. คณโภชนสิกขาบท                           ว่าด้วยฉันเป็นหมู่
                ๓. ปรัมปรโภชนสิกขาบท            ว่าด้วยฉันทีหลัง
                ๔. กาณมาตาสิกขาบท                        ว่าด้วยอุบาสิกากาณมาตา
                ๕. ปฐมปวารณาสิกขาบท            ว่าด้วยห้ามภัตแล้วฉันอีก
                ๖. ทุติยปวารณาสิกขาบท            ว่าด้วยห้ามภัตแล้วถูกแค่นให้ฉัน
                ๗. วิกาลโภชนสิกขาบท             ว่าด้วยฉันอาหารในเวลาวิกาล
                ๘. สันนิธิการกสิกขาบท             ว่าด้วยฉันอาหารที่ทำการสั่งสม
                ๙. ปณีตโภชนสิกขาบท                        ว่าด้วยขอโภชนะอันประณีต
                ๑๐. ทันตโปณสิกขาบท                        ว่าด้วยรับประเคนเว้นน้ำและไม้ชำระฟัน
                                                                ___________


                                                            หน้าที่ ๔๗๐

                                                ปาจิตตีย์ วรรคที่ ๕
                                                ๕. อเจลกวรรค สิกขาบทที่ ๑
                                                เรื่องพระอานนท์
                [๕๒๗] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน
เขตพระนครเวสาลี. ครั้งนั้น กองขนมเครื่องขบฉันเกิดแก่พระสงฆ์ จึงท่านพระอานนท์ได้
กราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอจง
ให้ขนมเป็นทานแก่พวกคนกินเดน. ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระพุทธดำรัส แล้วจัดคนกินเดน
ให้นั่งตามลำดับ แล้วแจกขนมให้คนละชิ้น ได้แจกขนม ๒ ชิ้น สำคัญว่าชิ้นเดียวแก่ปริพาชิกา
ผู้หนึ่ง. พวกปริพาชิกาที่อยู่ใกล้เคียง ได้ถามปริพาชิกาผู้นั้นว่า พระสมณะนั่นเป็นคู่รักของเธอ
หรือ? นางตอบว่า ท่านไม่ใช่คู่รักของฉัน ท่านแจกให้ ๒ ชิ้น สำคัญว่าชิ้นเดียว.
                แม้ครั้งที่สอง ท่านพระอานนท์เมื่อแจกขนมให้คนละชิ้น ก็ได้แจกขนม ๒ ชิ้น สำคัญ
ว่าชิ้นเดียวแก่ปริพาชิกาคนนั้นแหละ พวกปริพาชิกาที่อยู่ใกล้เคียง ได้ถามปริพาชิกาผู้นั้นว่า
พระสมณะนั่นเป็นคู่รักของเธอหรือ? นางตอบว่า ท่านไม่ใช่คู่รักของฉัน ท่านแจกให้ ๒ ชิ้น
สำคัญว่าชิ้นเดียว.
                แม้ครั้งที่สาม ท่านพระอานนท์เมื่อแจกขนมให้คนละชิ้น ได้แจกขนม ๒ ชิ้น
สำคัญว่าชิ้นเดียวแก่ปริพาชิกาคนนั้นแหละ พวกปริพาชิกาที่อยู่ใกล้เคียง ได้ถามปริพาชิกาผู้นั้นว่า
พระสมณะนั่นเป็นคู่รักของเธอหรือ? นางตอบว่า ท่านไม่ใช่คู่รักของฉัน ท่านแจกให้ ๒ ชิ้น
สำคัญว่าชิ้นเดียว. พวกปริพาชิกาจึงล้อเลียนกันว่า คู่รักหรือไม่ใช่คู่รัก.
                อาชีวกอีกคนหนึ่ง ได้ไปสู่ที่อังคาส. ภิกษุรูปหนึ่งคลุกข้าวกับเนยใสเป็นอันมากแล้ว
ได้ให้ข้าวก้อนใหญ่แก่อาชีวกนั้น. เมื่อเขาได้ถือข้าวก้อนนั้นไปแล้ว อาชีวกอีกคนหนึ่งได้ถาม
อาชีวกผู้นั้นว่า ท่านได้ก้อนข้าวมาจากไหน? อาชีวกนั้นตอบว่า ได้มาจากที่อังคาสของสมณ-
โคดมคหบดีโล้นนั้น.
                อุบาสกทั้งหลายได้ยินสองอาชีวกนั้นสนทนาปราศรัยกัน จึงพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ครั้นถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า เดียรถีย์พวกนี้

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘