พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ หน้า 456-460

                                                            หน้าที่ ๔๕๖

                                                ๔. โภชนวรรค สิกขาบทที่ ๗
                                                เรื่องพระสัตตรสวัคคีย์
                [๕๐๘] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันวิหาร อันเป็น
สถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์. ครั้งนั้น ในพระนครราชคฤห์มี
มหรสพบนยอดเขา. พระสัตตรสวัคคีย์ได้ไปดูมหรสพบนยอดเขา. ประชาชนเห็นพระสัตตรส-
วัคคีย์ จึงนิมนต์ให้สรงน้ำ ให้ลูบไล้ของหอม ให้ฉันอาหารแล้วได้ถวายของเคี้ยวไปด้วย. พระ
สัตตรสวัคคีย์นำของเคี้ยวไปถึงอารามแล้วได้กล่าวคำนี้กะพระฉัพพัคคีย์ว่า อาวุโสทั้งหลายนิมนต์
รับของเคี้ยวไปขบฉันเถิด.
                พระฉัพพัคคีย์ถามว่า อาวุโสทั้งหลาย พวกท่านได้ของเคี้ยวมาจากไหน?
                พระสัตตรสวัคคีย์ได้แจ้งเรื่องนั้นแก่พระฉัพพัคคีย์.
                ฉ. อาวุโสทั้งหลาย ก็พวกท่านฉันอาหารในเวลาวิกาลหรือ
                ส. เป็นอย่างนั้น อาวุโสทั้งหลาย.
                พระฉัพพัคคีย์จึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสัตตรสวัคคีย์จึงได้ฉันอาหารใน
เวลาวิกาลเล่า แล้วแจ้งเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย.
                บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสัตตรสวัคคีย์จึงได้
ฉันอาหารในเวลาวิกาลเล่า ... แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
                                                                ทรงสอบถาม
                พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามพระสัตตรสวัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า พวกเธอฉัน
อาหารในเวลาวิกาล จริงหรือ?
                พระสัตตรสวัคคีย์ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงได้ฉัน
อาหารในเวลาวิกาลเล่า การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่
ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ... .
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-


                                                            หน้าที่ ๔๕๗

                                                                พระบัญญัติ
                ๘๖. ๗. อนึ่ง ภิกษุใด เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ซึ่งของฉันก็ดี ใน
เวลาวิกาล เป็นปาจิตตีย์.
                                                เรื่องพระสัตตรสวัคคีย์ จบ.
                                                                สิกขาบทวิภังค์
                [๕๐๙] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ... .
                บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ ชื่อว่า ภิกษุ
ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้.
                ที่ชื่อว่า เวลาวิกาล หมายตั้งแต่เวลาเที่ยงวันล่วงแล้วไปจนถึงอรุณขึ้น.
                ที่ชื่อว่า ของเคี้ยว คือ เว้นโภชนะ ๕ ของที่เป็นยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก
นอกนั้นชื่อว่า ของเคี้ยว.
                ที่ชื่อว่า ของฉัน ได้แก่โภชนะ ๕ คือ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ.
                ภิกษุรับไว้ด้วยตั้งใจว่า จักเคี้ยว จักฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ ขณะกลืน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทุกๆ คำกลืน.
                                                                บทภาชนีย์
                                                                ติกะปาจิตตีย์
                [๕๑๐] เวลาวิกาล ภิกษุสำคัญว่า เวลาวิกาล เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ซึ่ง
ของฉันก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                เวลาวิกาล ภิกษุสงสัย เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ซึ่งของฉันก็ดี ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์.
                เวลาวิกาล ภิกษุสำคัญว่าในกาล เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ซึ่งของฉันก็ดี
ต้องอาบัติปาจิตตีย์.


                                                            หน้าที่ ๔๕๘

                                                                ทุกกฏ
                ภิกษุรับยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิกไว้ เพื่อประสงค์เป็นอาหาร ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ขณะกลืน ต้องอาบัติทุกกฏ ทุกๆ คำกลืน.
                ในกาล ภิกษุสำคัญว่าวิกาล ... ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ในกาล ภิกษุสงสัย ... ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                                                ไม่ต้องอาบัติ
                ในกาล ภิกษุสำคัญว่าในกาล ... ไม่ต้องอาบัติ.
                                                                อนาปัตติวาร
                [๕๑๑] ภิกษุฉันยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก เมื่อมีเหตุสมควร ๑ ภิกษุวิกล
จริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
                                                โภชนวรรค สิกขาบทที่ ๗ จบ.
                                                                ___________


                                                            หน้าที่ ๔๕๙

                                                ๔. โภชนวรรค สิกขาบทที่ ๘
                                                เรื่องพระเวฬัฏฐสีสเถระ
                [๕๑๒] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ท่านพระเวฬัฏฐสีสะพระอุปัชฌายะของท่าน
พระอานนท์อยู่ในอาวาสป่า ท่านเที่ยวบิณฑบาต ได้บิณฑบาตเป็นอันมาก แล้วเลือกนำแต่ข้าว
สุกล้วนๆ ไปสู่อาราม ตากให้แห้งแล้วเก็บไว้ เมื่อใดต้องการอาหาร ก็แช่น้ำฉันเมื่อนั้น ต่อนานๆ
จึงเข้าบ้านเพื่อบิณฑบาต. ภิกษุทั้งหลายถามท่านว่า อาวุโส ทำไมนานๆ ท่านจึงเข้าบ้านเพื่อ
บิณฑบาต จึงท่านได้แจ้งเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายถามว่า อาวุโส ก็ท่านฉันอาหาร
ที่ทำการสั่งสมหรือ?
                ท่านรับว่า อย่างนั้น อาวุโสทั้งหลาย.
                บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนท่านพระเวฬัฏฐ-
สีสะ จึงได้ฉันอาหารที่ทำการสั่งสมเล่า
                                                                ทรงสอบถาม
                พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามท่านพระเวฬัฏฐสีสะว่า ดูกรเวฬัฏฐสีสะ ข่าวว่า เธอฉัน
อาหารที่ทำการสั่งสม จริงหรือ?
                ท่านพระเวฬัฏฐสีสะทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรเวฬัฏฐสีสะ ไฉนเธอจึงได้ฉันอาหารที่ทำการ
สั่งสมเล่า การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส
หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ...
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-


                                                            หน้าที่ ๔๖๐

                                                                พระบัญญัติ
                ๘๗.๘. อนึ่ง ภิกษุใด เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ซึ่งของฉันก็ดี ที่ทำ
การสั่งสม เป็นปาจิตตีย์.
                                                เรื่องพระเวฬัฏฐสีสเถระ จบ.
                                                                สิกขาบทวิภังค์
                [๕๑๓] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ...
                บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ชื่อว่า ภิกษุ ที่ทรง
ประสงค์ในอรรถนี้.
                ที่ชื่อว่า ทำการสั่งสม คือรับประเคนในวันนี้ ขบฉันในวันอื่น.
                ที่ชื่อว่า ของเคี้ยว คือเว้นโภชนะ ๕ ของที่เป็นยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก
นอกนั้นชื่อว่าของเคี้ยว.
                ที่ชื่อว่า ของฉัน ได้แก่โภชนะ ๕ คือ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ.
                ภิกษุรับประเคนไว้ด้วยตั้งใจว่า จักเคี้ยว จักฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ขณะกลืน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ทุกๆ คำกลืน.
                                                                บทภาชนีย์
                                                                ติกะปาจิตตีย์
                [๕๑๔] ของทำการสั่งสม ภิกษุสำคัญว่าทำการสั่งสม เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี
ซึ่งของฉันก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                ของทำการสั่งสม ภิกษุสงสัย เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ซึ่งของฉันก็ดี
ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                ของทำการสั่งสม ภิกษุสำคัญว่ามิได้ทำการสั่งสม เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี
ซึ่งของฉันก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                                                                ทุกกฏ
                ภิกษุรับประเคนของเป็นยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก เพื่อประสงค์เป็นอาหาร
ต้องอาบัติทุกกฏ.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘