พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ หน้า 446-450

                                                            หน้าที่ ๔๔๖

                                                                อนาปัตติวาร
                [๔๙๘] ภิกษุรับเต็ม ๒-๓ บาตร ๑ ภิกษุรับหย่อนกว่า ๒-๓ บาตร ๑ เขาไม่ได้
ถวายของที่เตรียมไว้เพื่อต้องการเป็นของกำนัล ๑ เขาไม่ได้ถวายของที่เตรียมไว้เพื่อต้องการเป็น
เสบียง ๑ เขาถวายของที่เหลือจากที่เขาเตรียมไว้เพื่อต้องการเป็นของกำนัลหรือเพื่อต้องการเป็น
เสบียง เมื่อเขาระงับการไปแล้วถวาย ๑ รับของพวกญาติ ๑ รับของคนปวารณา ๑ รับเพื่อ
ประโยชน์แก่ภิกษุอื่น ๑ จ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑
ไม่ต้องอาบัติแล.
                                                โภชนวรรค สิกขาบทที่ ๔ จบ.
                                                                ___________


                                                            หน้าที่ ๔๔๗

                                                ๔. โภชนวรรค สิกขาบทที่ ๕
                                                เรื่องภิกษุหลายรูป
                [๔๙๙] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น พราหมณ์คนหนึ่ง นิมนต์ภิกษุทั้งหลาย
ให้ฉัน. ภิกษุทั้งหลายฉันเสร็จ ห้ามภัตแล้ว ไปสู่ตระกูลญาติ. บางพวกก็ฉันอีก บางพวกก็
รับบิณฑบาตไป. หลังจากเลี้ยงพระแล้ว พราหมณ์ได้กล่าวเชิญชวนพวกเพื่อนบ้านว่า ท่านทั้งหลาย
ข้าพเจ้าเลี้ยงภิกษุให้อิ่มหนำแล้ว มาเถิด ข้าพเจ้าจักเลี้ยงท่านทั้งหลายให้อิ่มหนำบ้าง.
                พวกเพื่อนบ้านพากันกล่าวแย้งอย่างนี้ว่า ท่านจักเลี้ยงพวกข้าพเจ้าให้อิ่มได้อย่างไร แม้
ภิกษุทั้งหลายที่ท่านนิมนต์ให้ฉันแล้ว ยังต้องไปที่เรือนของพวกข้าพเจ้า บางพวกก็ฉันอีก
บางพวกก็รับบิณฑบาตไป.
                จึงพราหมณ์นั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า พระคุณเจ้าผู้เจริญทั้งหลาย ฉันที่เรือนของ
เราแล้ว ไฉนจึงได้ฉัน ณ ที่แห่งอื่นอีกเล่า ข้าพเจ้าไม่มีกำลังพอจะถวายให้พอแก่ความต้องการ
หรือ
                ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินพราหมณ์นั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาที่เป็นพวกมัก
น้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุทั้งหลายฉันเสร็จ ห้ามภัตแล้ว จึงได้ฉัน ณ
ที่แห่งอื่นอีกเล่า ... แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
                                                                ทรงสอบถาม
                พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า ภิกษุทั้งหลาย
ฉันเสร็จ ห้ามภัตแล้ว ยังฉัน ณ ที่แห่งอื่นอีก จริงหรือ?
                ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉน ภิกษุโมฆบุรุษเหล่านั้น
ฉันเสร็จ ห้ามภัตแล้ว จึงได้ฉัน ณ ที่แห่งอื่นอีกเล่า การกระทำของภิกษุโมฆบุรุษเหล่านั้นนั่น


                                                            หน้าที่ ๔๔๘

ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อม
ใสแล้ว ... .
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
                                                                พระบัญญัติ
                ๘๔. ๕. ก. อนึ่ง ภิกษุใดฉันเสร็จ ห้ามภัตแล้ว เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของ
เคี้ยวก็ดี ซึ่งของฉันก็ดี เป็นปาจิตตีย์.
                ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ
ฉะนี้.
                                                เรื่องภิกษุหลายรูป จบ.
                                                เรื่องอาหารเดน
                [๕๐๐] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายนำบิณฑบาตอันประณีตไปถวายพวกภิกษุอาพาธ.
พระภิกษุอาพาธฉันไม่ได้ดังใจประสงค์. ภิกษุทั้งหลายจึงทิ้งบิณฑบาตเหล่านั้นเสีย.
                พระผู้มีพระภาคทรงสดับเสียงนกการ้องเกรียวกราว ครั้นแล้วได้รับสั่งถามท่านพระ
อานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เสียงนกการ้องเกรียวกราวนั้น อะไรกันหนอ.
                จึงท่านพระอานนท์กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
                ภ. ดูกรอานนท์ ก็ภิกษุทั้งหลายฉันอาหารอันเป็นเดนของภิกษุอาพาธหรือ?
                อา. มิได้ฉัน พระพุทธเจ้าข้า.
                                ทรงอนุญาตให้ฉันอาหารเป็นเดนภิกษุไข้
                ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะ
เหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันอาหารอัน
เป็นเดนของภิกษุผู้อาพาธและมิใช่ผู้อาพาธได้ แต่พึงทำให้เป็นเดน อย่างนี้ว่า ทั้งหมดนั่นพอแล้ว.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-


                                                            หน้าที่ ๔๔๙

                                                                พระอนุบัญญัติ
                ๘๔. ๕. ข. อนึ่ง ภิกษุใดฉันเสร็จแล้ว ห้ามภัตแล้ว เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี
ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ซึ่งของฉันก็ดี อันมิใช่เดน เป็นปาจิตตีย์.
                                                เรื่องอาหารเดน จบ.
                                                                สิกขาบทวิภังค์
                [๕๐๑] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่าผู้ใด คือผู้เช่นใด ... .
                บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ ชื่อว่า ภิกษุ
ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้.
                ที่ชื่อว่า ฉันเสร็จ คือ ฉันโภชนะ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยที่สุดแม้ด้วยปลายหญ้าคา.
                                                                ลักษณะห้ามภัต
                ที่ชื่อว่า ห้ามภัตแล้ว คือ กำลังฉันอาหารอยู่ ๑ ทายกนำโภชนะมาถวายอีก ๑
ทายกอยู่ในหัตถบาส ๑ ทายกน้อมถวาย ๑ ภิกษุห้ามเสีย ๑.
                                                ลักษณะของไม่เป็นเดน
                ที่ชื่อว่า มิใช่เดน คือ ของที่ยังมิได้ทำให้เป็นกัปปิยะ ๑ ภิกษุมิได้รับประเคน ๑
ภิกษุมิได้ยกขึ้นส่งให้ ๑ ทำนอกหัตถบาส ๑ ภิกษุฉันยังไม่เสร็จทำ ๑ ภิกษุฉันเสร็จ ห้าม
ภัตแล้ว ลุกจากอาสนะแล้ว ทำ ๑ ภิกษุมิได้พูดว่า ทั้งหมดนั่นพอแล้ว ๑ ของนั้นมิใช่เป็น
เดนภิกษุอาพาธ ๑ นี้ชื่อว่า มิใช่เดน.
                                                ลักษณะของเป็นเดน
                ที่ชื่อว่า เป็นเดน คือ ของที่ทำให้เป็นกัปปิยะแล้ว ๑ ภิกษุรับประเคนแล้ว ๑ ภิกษุ
ยกขึ้นส่งให้ ๑ ทำในหัตถบาส ๑ ภิกษุฉันแล้ว ๑ ทำ ๑ ฉันเสร็จห้ามภัตแล้ว ยังไม่ลุก
จากอาสนะ ทำ ๑ ภิกษุพูดว่า ทั้งหมดนั่นพอแล้ว ๑ เป็นเดนภิกษุอาพาธ ๑ นี้ชื่อว่า เป็นเดน.


                                                            หน้าที่ ๔๕๐

                                                ลักษณะของเคี้ยว
                ที่ชื่อว่า ของเคี้ยว คือ เว้นโภชนะห้า ๑ ของที่เป็นยามกาลิก ๑ สัตตาหกาลิก ๑
ยาวชีวิก ๑ นอกนั้นชื่อว่า ของเคี้ยว.
                                                                ลักษณะของฉัน
                ที่ชื่อว่า ของฉัน ได้แก่โภชนะ ๕ คือ ข้าวสุก ๑ ขนมสด ๑ ขนมแห้ง ๑ ปลา ๑
เนื้อ ๑.
                ภิกษุรับประเคนด้วยตั้งใจว่า จักเคี้ยว จักฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ขณะกลืน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ทุกๆ คำกลืน
                                                                บทภาชนีย์
                                                                ติกปาจิตตีย์
                [๕๐๒] ของไม่เป็นเดน ภิกษุสำคัญว่า ไม่เป็นเดน เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยว
ก็ดี ซึ่งของฉันก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                ของไม่เป็นเดน ภิกษุสงสัย เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ซึ่งของฉันก็ดี ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์.
                                                                ทุกกฏ
                ภิกษุรับประเคนของที่เป็นยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก เพื่อประสงค์เป็นอาหาร,
ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ขณะกลืน ต้องอาบัติทุกกฏ ทุกๆ คำกลืน.
                ของเป็นเดน ภิกษุสำคัญว่ามิใช่เดน ... ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ของเป็นเดน ภิกษุสงสัย ... ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                                                ไม่ต้องอาบัติ
                ของเป็นเดน ภิกษุสำคัญว่าเป็นเดน ... ไม่ต้องอาบัติ.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘