พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ หน้า 436-440

                                                            หน้าที่ ๔๓๖

                ขณะนั้นแลเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงอันตรวาสกแล้ว ทรงบาตรจีวรเสด็จไป
ยังที่อยู่ของกรรมกรเข็ญใจผู้นั้น ประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ที่เขาจัดถวายพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์.
จึงกรรมกรเข็ญใจผู้นั้นอังคาสภิกษุทั้งหลายในโรงภัตตาหาร.
                ภิกษุทั้งหลายพากันกล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส จงถวายแต่น้อยเถิด, จงถวายแต่น้อยเถิด.
                กรรมกรกราบเรียนว่า พระคุณเจ้าทั้งหลาย โปรดอย่าเข้าใจว่า กระผมนี้เป็นกรรมกร
เข็ญใจ แล้วรับแต่น้อยๆ เลย เจ้าข้า. ของเคี้ยวของฉันกระผมได้จัดหาไว้มากมาย ขอพระ-
คุณเจ้าทั้งหลายได้โปรดเรียกร้องตามประสงค์เถิด เจ้าข้า.
                ภิกษุทั้งหลายตอบว่า พวกฉันขอรับแต่น้อยๆ มิใช่เพราะเหตุนั้นเลย เพราะพวกฉัน
เที่ยวบิณฑบาตฉันมาแต่เช้าแล้วต่างหาก ฉะนั้น พวกฉันจึงขอรับแต่น้อยๆ.
                ลำดับนั้นแล กรรมกรเข็ญใจผู้นั้นจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระคุณเจ้า
ผู้เจริญทั้งหลาย อันข้าพเจ้านิมนต์ไว้แล้ว จึงได้ฉันเสียในที่อื่นเล่า? ข้าพเจ้าไม่สามารถจะถวาย
ให้เพียงพอแก่ความต้องการหรือ.
                ภิกษุทั้งหลายได้ยินเขาเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่. บรรดาที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่าง
ก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ภิกษุทั้งหลายรับนิมนต์ไว้ในที่แห่งหนึ่งแล้วไฉนจึงได้ฉันเสีย
ในที่อีกแห่งหนึ่งเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
                                                                ทรงสอบถาม
                พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า พวกภิกษุรับ
นิมนต์ไว้ในที่แห่งหนึ่งแล้ว ฉันเสียในที่อีกแห่งหนึ่ง จริงหรือ?
                ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย โมฆบุรุษเหล่านั้นรับนิมนต์
ไว้ในที่แห่งหนึ่งแล้ว ไฉนจึงได้ฉันในที่อีกแห่งหนึ่งเล่า การกระทำของโมฆบุรุษพวกนั้นนั่น
ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่
เลื่อมใสแล้ว ...
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-


                                                            หน้าที่ ๔๓๗

                                                                พระบัญญัติ
                ๘๒. ๓. ก. เป็นปาจิตตีย์ เพราะโภชนะทีหลัง.
                ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ
ฉะนี้.
                                                เรื่องบุรุษเข็ญใจ จบ.
                                                เรื่องคิลานสมัย
                [๔๘๗] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธ. ภิกษุอีกรูปหนึ่ง นำบิณฑบาตเข้าไปถวาย
ภิกษุผู้อาพาธนั้น แล้วได้กล่าวว่า อาวุโส นิมนต์ฉันเถิด.
                ภิกษุอาพาธปฏิเสธว่า ไม่ต้อง อาวุโส ความหวังจะได้ภัตตาหารของผมมีอยู่.
                พอเวลาสาย ทายกนำบิณฑบาตมาถวายภิกษุอาพาธนั้น เธอฉันไม่ได้ตามที่คาดหมาย.
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
                                                ทรงอนุญาตให้ฉันโภชนะทีหลัง
                ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรก
เกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุอาพาธฉันโภชนะ
ทีหลังได้.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
                                                พระอนุบัญญัติ ๑
                ๘๒. ๓. ข. เว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์ เพราะโภชนะทีหลัง. นี้สมัยใน
เรื่องนั้น คือ คราวเป็นไข้, นี้สมัยในเรื่องนั้น.
                ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ
ฉะนี้.
                                                เรื่องคิลานสมัย จบ.


                                                            หน้าที่ ๔๓๘

                                                เรื่องจีวรทานสมัย
                [๔๘๘] สมัยนั้นแล เป็นคราวที่ถวายจีวร ประชาชนพากันตกแต่งภัตตาหารพร้อม
ด้วยจีวร แล้วนิมนต์ภิกษุทั้งหลายว่า พวกข้าพเจ้าจักนิมนต์ให้ท่านฉันแล้วจักให้ครองจีวร
ภิกษุทั้งหลาย รังเกียจว่าไม่รับนิมนต์ด้วยอ้างว่า โภชนะทีหลังพระผู้มีพระภาคทรงห้ามแล้ว
จีวรจึงเกิดขึ้นเล็กน้อย. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค
ทรงอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในคราวที่ถวายจีวรกัน เราอนุญาตให้ฉันโภชนะทีหลังได้.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
                                                พระอนุบัญญัติ ๒
                ๘๒. ๓. ค. เว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์ เพราะโภชนะทีหลัง. นี้สมัยใน
เรื่องนั้น คือ คราวเป็นไข้ คราวที่ถวายจีวร, นี้สมัยในเรื่องนั้น.
                ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ
ฉะนี้.
                                                เรื่องจีวรทานสมัย จบ.
                                                เรื่องจีวรกาลสมัย
                [๔๘๙] ต่อมาอีก ประชาชนนิมนต์ภิกษุทั้งหลาย ผู้ทำจีวรฉันภัตตาหาร. ภิกษุทั้งหลาย
รังเกียจไม่รับนิมนต์ด้วยอ้างว่าโภชนะทีหลัง พระผู้มีพระภาคทรงห้ามแล้ว. ภิกษุทั้งหลายกราบทูล
เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในคราวที่ทำ
จีวรกัน เราอนุญาตให้ฉันโภชนะทีหลังได้.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
                                                พระอนุบัญญัติ ๓
                ๘๒. ๓. ง. เว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์ เพราะโภชนะทีหลัง. นี้สมัยใน
เรื่องนั้น คือ คราวเป็นไข้ คราวที่ถวายจีวร คราวที่ทำจีวร, นี้สมัยในเรื่องนั้น.


                                                            หน้าที่ ๔๓๙

                ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ
ฉะนี้.
                                                เรื่องจีวรกาลสมัย จบ.
                                                เรื่องวิกัปภัตตาหารที่หวังว่าจะได้
                [๔๙๐] ครั้งนั้นแลเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงอันตรวาสกแล้ว ทรงบาตรจีวร
มีท่านพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เสด็จเข้าสู่ตระกูลแห่งหนึ่ง ครั้นแล้วประทับนั่งเหนือ
พุทธอาสน์ที่เขาปูลาดถวาย. จึงชาวบ้านเหล่านั้นได้ถวายโภชนาหารแด่พระผู้มีพระภาคและท่าน
พระอานนท์ ท่านพระอานนท์รังเกียจ ไม่รับประเคน.
                พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า รับเถิด อานนท์.
                พระอานนท์กราบทูลว่า ไม่ควร พระพุทธเจ้าข้า, เพราะความหวังจะได้ภัตตาหารของ
ข้าพระพุทธเจ้ามีอยู่.
                พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า อานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอจึงวิกัปแล้วรับเถิด.
                ครั้นแล้วพระองค์ทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น
แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้วิกัปภัตตาหารที่หวังว่าจะได้แล้ว
ฉันโภชนะทีหลังได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุพึงวิกัปอย่างนี้:-
                                                คำวิกัปภัตตาหาร
                ข้าพเจ้าให้ภัตตาหารที่หวังว่าจะได้ของข้าพเจ้า แก่ท่านผู้มีชื่อนี้.
                                เรื่องวิกัปภัตตาหารที่หวังว่าจะได้ จบ.
                                                                สิกขาบทวิภังค์
                [๔๙๑] ที่ชื่อว่า โภชนะทีหลัง ความว่า ภิกษุรับนิมนต์ด้วยโภชนะ ๕ อย่างใด
อย่างหนึ่งไว้แล้ว เว้นโภชนะนั้น ฉันโภชนะ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่งอื่นนี่ชื่อว่า โภชนะ
ทีหลัง.


                                                            หน้าที่ ๔๔๐

                บทว่า เว้นไว้แต่สมัย คือ ยกเว้นสมัย.
                ที่ชื่อว่า คราวเป็นไข้ คือ ไม่สามารถจะเป็นผู้นั่งบนอาสนะอันเดียวฉันจนอิ่มได้.
                ภิกษุคิดว่าเป็นคราวอาพาธ แล้วฉันได้.
                ที่ชื่อว่า คราวที่ถวายจีวร คือ เมื่อกฐินยังไม่ได้กราน ได้ท้ายฤดูฝน ๑ เดือน เมื่อ
กฐินกรานแล้ว เป็น ๕ เดือน.
                ภิกษุคิดว่าเป็นคราวที่ถวายจีวร แล้วฉันได้.
                ที่ชื่อว่า คราวที่ทำจีวร คือ เมื่อภิกษุทั้งหลายกำลังทำจีวรกันอยู่
                ภิกษุคิดว่า เป็นคราวที่ทำจีวรกัน แล้วฉันได้.
                เว้นไว้แต่สมัย ภิกษุรับประเคนไว้ด้วยตั้งใจว่าจักฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ. ฉัน ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์ ทุกๆ คำกลืน.
                                                                บทภาชนีย์
                                                                ติกปาจิตตีย์
                [๔๙๒] โภชนะทีหลัง ภิกษุสำคัญว่าโภชนะทีหลัง เว้นไว้แต่สมัย ฉัน ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์.
                โภชนะทีหลัง ภิกษุสงสัย เว้นไว้แต่สมัย ฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                โภชนะทีหลัง ภิกษุสำคัญว่ามิใช่โภชนะทีหลัง เว้นไว้แต่สมัย ฉัน ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์.
                                                                ทุกทุกกฏ
                ไม่ใช่โภชนะทีหลัง ภิกษุสำคัญว่าโภชนะทีหลัง ... ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ไม่ใช่โภชนะทีหลัง ภิกษุสงสัย ... ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                                                ไม่ต้องอาบัติ
                ไม่ใช่โภชนะทีหลัง ภิกษุสำคัญว่ามิใช่โภชนะทีหลัง ... ไม่ต้องอาบัติ.
                                                                อนาปัตติวาร
                [๔๙๓] ภิกษุฉันในสมัย ๑ ภิกษุวิกัปแล้วฉัน ๑ ภิกษุฉันบิณฑบาตที่รับนิมนต์
ไว้ ๒-๓ แห่งรวมกัน ๑ ภิกษุฉันตามลำดับที่รับนิมนต์ ๑ ภิกษุรับนิมนต์ชาวบ้านทั้งมวล

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘