พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ หน้า 431-435

                                                            หน้าที่ ๔๓๑

                ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ
ฉะนี้.
                เรื่องทรงอนุญาตให้ฉันเป็นหมู่ในคราวโดยสารเรือ จบ.
                                เรื่องทรงอนุญาตให้ฉันเป็นหมู่ในคราวประชุมใหญ่
                [๔๘๑] สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายที่จำพรรษาในทิศทั้งหลาย เดินทางมายังพระนคร
ราชคฤห์เพื่อเฝ้าเยี่ยมพระผู้มีพระภาค. ประชาชนเห็นภิกษุผู้มาจากราชอาณาเขตต่างๆ จึงนิมนต์
ฉันภัตตาหาร.
                ภิกษุทั้งหลายพากันรังเกียจไม่รับนิมนต์ด้วยอ้างว่า การฉันเป็นหมู่พระผู้มีพระภาคทรง
ห้ามแล้ว แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตว่า ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย ในคราวประชุมใหญ่ เราอนุญาตให้ฉันเป็นหมู่ได้.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
                                                พระอนุบัญญัติ ๖
                ๘๑.๒. ช. เว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะฉันเป็นหมู่ นี้สมัยใน
เรื่องนั้น คือ คราวอาพาธ คราวที่เป็นฤดูถวายจีวร คราวที่ทำจีวร คราวที่เดิน
ทางไกล คราวที่โดยสารเรือไป คราวประชุมใหญ่ นี้สมัยในเรื่องนั้น.
                ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ
ฉะนี้.
                                เรื่องทรงอนุญาตให้ฉันเป็นหมู่ในคราวประชุมใหญ่ จบ.
                                เรื่องทรงอนุญาตให้ฉันเป็นหมู่ในคราวภัตของสมณะ
                [๔๘๒] สมัยต่อมา พระญาติร่วมสายโลหิตของพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช
ทรงผนวชอยู่ในสำนักอาชีวก. คราวนั้นแล อาชีวกนั้นเข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช
ถึงพระราชสำนัก ครั้นแล้วได้ถวายพระพรว่า ขอถวายพระพร อาตมภาพปรารถนาจะทำภัตตาหาร
เลี้ยงนักบวชที่ถือลัทธิต่างๆ. ท้าวเธอตรัสว่า พระคุณเจ้าผู้เจริญ ถ้าพระคุณเจ้านิมนต์ภิกษุสงฆ์
มีพระพุทธเจ้าเป็นมุขให้ฉันก่อน ฉันจึงจะจัดทำถวายอย่างนั้นได้.


                                                            หน้าที่ ๔๓๒

                จึงอาชีวกนั้นส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลาย อาราธนาว่า ขอภิกษุทั้งหลายจงรับภัตตา-
หารของข้าพเจ้า เพื่อฉันในวันพรุ่งนี้.
                ภิกษุทั้งหลายรังเกียจไม่รับนิมนต์ด้วยอ้างว่า การฉันเป็นหมู่ พระผู้มีพระภาคทรงห้ามแล้ว.
                จึงอาชีวกนั้นเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงพุทธสำนัก. ครั้นแล้วได้กราบทูลปราศรัยกับ
พระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้เป็นที่ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้าง
หนึ่งกราบทูลว่า แม้พระโคดมผู้เจริญก็เป็นบรรพชิต แม้ข้าพเจ้าก็เป็นบรรพชิต บรรพชิตควร
รับอาหารของบรรพชิต ขอพระโคดมผู้เจริญจงทรงรับภัตตาหารของข้าพเจ้าเพื่อเสวยในวันพรุ่งนี้
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เถิด พระพุทธเจ้าข้า.
                พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยอาการดุษณี. ครั้นอาชีวกนั้นทราบการทรงรับนิมนต์ของ
พระผู้มีพระภาคแล้ว กลับไป.
                ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ
แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในคราวภัตของสมณะ เราอนุญาต
ให้ฉันเป็นหมู่ได้.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
                                                พระอนุบัญญัติ ๗
                ๘๑.๒. ญ. เว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะฉันเป็นหมู่ นี้สมัย
ในเรื่องนั้น คือ คราวอาพาธ คราวที่เป็นฤดูถวายจีวร คราวที่ทำจีวร คราวที่เดิน
ทางไกล คราวที่โดยสารเรือไป คราวประชุมใหญ่ คราวภัตของสมณะ นี้สมัยใน
เรื่องนั้น.
                ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ
ฉะนี้.
                เรื่องทรงอนุญาตให้ฉันเป็นหมู่ในคราวภัตของสมณะ จบ.
                                                                ___________
                                                                สิกขาบทวิภังค์
                [๔๘๓] ที่ชื่อว่า ฉันเป็นหมู่ คือ คราวที่มีภิกษุ ๔ รูป อันเขานิมนต์ด้วยโภชนะ ๕
อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วฉัน นี้ชื่อว่าฉันเป็นหมู่.


                                                            หน้าที่ ๔๓๓

                บทว่า เว้นไว้แต่สมัย คือ ยกเว้นสมัย.
                ที่ชื่อว่า คราวอาพาธ คือ โดยที่สุดแม้เท้าแตก ภิกษุคิดว่าเป็นคราวอาพาธแล้วฉันได้.
                ที่ชื่อว่า คราวที่เป็นฤดูถวายจีวร คือ เมื่อกฐินยังไม่ได้กรานกำหนดท้ายฤดูฝน ๑
เดือน เมื่อกฐินกรานแล้ว ๕ เดือน ภิกษุคิดว่าเป็นคราวที่เป็นฤดูถวายจีวร แล้วฉันได้.
                ที่ชื่อว่า คราวที่ทำจีวร คือ เมื่อภิกษุกำลังทำจีวรกันอยู่ ภิกษุคิดว่าเป็นคราวที่ทำจีวร
แล้วฉันได้.
                ที่ชื่อว่า คราวเดินทางไกล คือ ภิกษุคิดว่า จักเดินทางไปถึงกึ่งโยชน์ แล้วฉันได้
เมื่อจะไปก็ฉันได้ มาถึงแล้วก็ฉันได้.
                ที่ชื่อว่า คราวโดยสารเรือไป คือภิกษุคิดว่า เราจักโดยสารเรือไปแล้วฉันได้ เมื่อ
จะโดยสารไปก็ฉันได้ โดยสารกลับมาแล้วก็ฉันได้.
                ที่ชื่อว่า คราวประชุมใหญ่ คือ คราวที่มีภิกษุ ๒-๓ รูปเที่ยวบิณฑบาตพอเลี้ยงกัน
แต่เมื่อมีรูปที่ ๔ มารวมด้วย ไม่พอเลี้ยงกัน ภิกษุคิดว่าเป็นคราวประชุมใหญ่ แล้วฉันได้.
                ที่ชื่อว่า คราวภัตของสมณะ คือ คราวที่มีผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งนับเนื่องว่าเป็นนักบวชทำ
ภัตตาหารถวาย ภิกษุคิดว่าเป็นคราวภัตของสมณะ แล้วฉันได้.
                นอกจากสมัย ภิกษุรับว่า จักฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ กลืนกิน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทุกๆ คำกลืน
                                                                บทภาชนีย์
                                                                ติกปาจิตตีย์
                [๔๘๔] ฉันเป็นหมู่ ภิกษุสำคัญว่าฉันเป็นหมู่ เว้นไว้แต่สมัย ฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                ฉันเป็นหมู่ ภิกษุสงสัย เว้นไว้แต่สมัย ฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                ฉันเป็นหมู่ ภิกษุสำคัญว่ามิใช่ฉันเป็นหมู่ เว้นไว้แต่สมัย ฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                                                                ทุกทุกกฏ
                มิใช่ฉันเป็นหมู่ ภิกษุสำคัญว่าฉันเป็นหมู่ ... ต้องอาบัติทุกกฏ.
                มิใช่ฉันเป็นหมู่ ภิกษุสงสัย ... ต้องอาบัติทุกกฏ.


                                                            หน้าที่ ๔๓๔

                                                                ไม่ต้องอาบัติ
                มิใช่ฉันเป็นหมู่ ภิกษุสำคัญว่ามิใช่ฉันเป็นหมู่ ไม่ต้องอาบัติ.
                                                                อนาปัตติวาร
                [๔๘๕] ภิกษุฉันในสมัย ๑ ภิกษุ ๒-๓ รูปฉันรวมกัน ๑ ภิกษุหลายรูปเที่ยวบิณฑบาต
แล้วประชุมฉันแห่งเดียวกัน ๑ ภัตเขาถวายเป็นนิตย์ ๑ ภัตเขาถวายตามสลาก ๑ ภัตเขาถวาย
ในปักษ์ ๑ ภัตเขาถวายในวันอุโบสถ ๑ ภัตเขาถวายในวันปาฏิบท ๑ ภิกษุฉันอาหารทุกชนิด
เว้นโภชนะ ห้า ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
                                                โภชนวรรค สิกขาบทที่ ๒ จบ.
                                                                ___________


                                                            หน้าที่ ๔๓๕

                                                ๔. โภชนวรรค สิกขาบทที่ ๓
                                                เรื่องบุรุษเข็ญใจ
                [๔๘๖] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน
เขตพระนครเวสาลี. ครั้งนั้น ประชาชนได้จัดตั้งลำดับภัตตาหารอันประณีตไว้ ในพระนคร-
เวสาลี. คราวนั้น กรรมกรเข็ญใจคนหนึ่งดำริว่า ทานนี้จักไม่เป็นกุศลเล็กน้อย เพราะประชาชน
พวกนี้ทำภัตตาหารโดยเคารพ ผิฉะนั้น เราควรทำภัตตาหารบ้าง ดังนั้นเขาจึงเข้าไปหานาย
กิรปติกะบอกความจำนงว่าคุณครับ กระผมปรารถนาจะทำภัตตาหารถวายภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้า
เป็นประมุข, ขอท่านโปรดให้ค่าจ้างแก่กระผม แม้นายกิรปติกะนั้น ก็เป็นคนมีศรัทธาเลื่อมใส
เขาจึงได้ให้ค่าจ้างแก่กรรมกรเข็ญใจนั้นเกินปกติ ฝ่ายกรรมกรเข็ญใจนั้น ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาค ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลอาราธนาว่า
ขอพระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ทรงพระกรุณาโปรดรับภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้า เพื่อเจริญ
บุญกุศลและปีติปราโมทย์ ในวันพรุ่งนี้ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า.
                พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่นัก เธอจงทราบ. กรรมกรนั้นกราบทูลว่า
ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ก็ไม่เป็นไร พระพุทธเจ้าข้า. ผลพุทราข้าพระพุทธเจ้าจัดเตรียมไว้มาก อาหาร
ที่เป็นเครื่องดื่มเจือด้วยพุทราจักบริบูรณ์.
                พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ. ครั้นเขาทราบการรับนิมนต์ของพระผู้มี
พระภาคแล้ว ลุกจากที่นั่งถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณหลีกไปแล้ว. ภิกษุทั้งหลาย
ทราบข่าวว่า กรรมกรเข็ญใจผู้หนึ่ง นิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เพื่อฉันในวัน
พรุ่งนี้, อาหารที่เป็นเครื่องดื่มเจือด้วยผลพุทราจักบริบูรณ์ เธอจึงเที่ยวบิณฑบาตฉันเสียแต่เช้า.
ชาวบ้านทราบข่าวว่า กรรมกรเข็ญใจผู้หนึ่งได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เขาจึง
นำของเคี้ยวของฉันเป็นอันมากไปช่วยกรรมกรเข็ญใจ. ส่วนกรรมกรเข็ญใจผู้นั้น สั่งให้ตกแต่ง
ขาทนียโภชนียาหารอันประณีต โดยล่วงราตรีนั้น แล้วให้ไปกราบทูลภัตตกาลแด่พระผู้มี
พระภาคว่า ได้เวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จแล้ว.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘