พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ หน้า 421-425

                                                            หน้าที่ ๔๒๑

                                                ๓. โอวาทวรรค สิกขาบทที่ ๑๐
                                                เรื่องพระอุทายี
                [๔๖๖] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ปุราณทุติยิกาของท่านพระอุทายีได้บวชอยู่
ในสำนักภิกษุณี, นางมาในสำนักท่านพระอุทายีเนืองๆ. แม้ท่านอุทายีก็ไปในสำนักนางเนืองๆ.
สมัยนั้นแล ท่านพระอุทายีได้สำเร็จการนั่งในที่ลับกับภิกษุณีนั้นหนึ่งต่อหนึ่ง.
                บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย  ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนท่านพระอุทายี
ผู้เดียว จึงได้สำเร็จการนั่งในที่ลับกับภิกษุณีผู้เดียวเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี-
พระภาค ... .
                                                                ทรงสอบถาม
                พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามพระอุทายีว่า ดูกรอุทายี ข่าวว่า เธอผู้เดียวสำเร็จการนั่ง
ในที่ลับกับภิกษุณีผู้เดียว จริงหรือ?
                พระอุทายีทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ ไฉนเธอผู้เดียวจึงได้สำเร็จการนั่ง
ในที่ลับกับภิกษุณีผู้เดียวเล่า การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชน
ที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ...
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
                                                                พระบัญญัติ
                ๗๙. ๑๐. อนึ่ง ภิกษุใด ผู้เดียว สำเร็จการนั่งในที่ลับกับภิกษุณีผู้เดียว
เป็นปาจิตตีย์.
                                                เรื่องพระอุทายี จบ.


                                                            หน้าที่ ๔๒๒

                                                                สิกขาบทวิภังค์
                [๔๖๗] บทว่า  อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ...
                บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ชื่อว่า ภิกษุ
ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้.
                ผู้ชื่อว่า ภิกษุณี ได้แก่ สตรีผู้อุปสมบทแล้วในสงฆ์ ๒ ฝ่าย.
                บทว่า กับ คือ ร่วมกัน.
                บทว่า ผู้เดียว ผู้เดียว คือ มีเฉพาะภิกษุและภิกษุณี.
                ที่ชื่อว่า ที่ลับ คือ ที่ลับตา ที่ลับหู.
                ที่ชื่อว่า ที่ลับตา ได้แก่ สถานที่ซึ่งไม่สามารถแลเห็นภิกษุกับภิกษุณีขยิบตากัน
ยักคิ้วกัน หรือชะเง้อศีรษะกัน.
                ที่ชื่อว่า ที่ลับหู ได้แก่ สถานที่ซึ่งไม่สามารถได้ยินถ้อยคำที่พูดกันตามปกติ.
                บทว่า สำเร็จการนั่ง ความว่า เมื่อภิกษุณีนั่ง ภิกษุนั่งใกล้ หรือนอนใกล้ ต้อง-
อาบัติปาจิตตีย์.
                เมื่อภิกษุนั่ง ภิกษุณีนั่งใกล้หรือนอนใกล้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                นั่งทั้งสองก็ดี นอนทั้งสองก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                                                                บทภาชนีย์
                                                                ติกปาจิตตีย์
                [๔๖๘] ที่ลับ ภิกษุสำคัญว่าที่ลับ สำเร็จการนั่งหนึ่งต่อหนึ่ง ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                ที่ลับ ภิกษุสงสัย สำเร็จการนั่ง หนึ่งต่อหนึ่ง ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                ที่ลับ ภิกษุสำคัญว่ามิใช่ที่ลับ สำเร็จการนั่ง หนึ่งต่อหนึ่ง ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                                                                ทุกะทุกกฏ
                ไม่ใช่ที่ลับ ภิกษุสำคัญว่าที่ลับ สำเร็จการนั่ง หนึ่งต่อหนึ่ง ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ไม่ใช่ที่ลับ ภิกษุสงสัย สำเร็จการนั่ง หนึ่งต่อหนึ่ง ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                                                ไม่ต้องอาบัติ
                ไม่ใช่ที่ลับ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ที่ลับ ... ไม่ต้องอาบัติ.


                                                            หน้าที่ ๔๒๓

                                                                อนาปัตติวาร
                [๔๖๙] ภิกษุมีบุรุษผู้รู้เดียงสาคนใดคนหนึ่งอยู่เป็นเพื่อน ๑ ภิกษุยืนมิได้นั่ง ๑ ภิกษุ
ผู้มิได้มุ่งที่ลับ ๑ ภิกษุนั่งส่งใจไปในอารมณ์อื่น ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑
ไม่ต้องอาบัติแล.
                                                โอวาทวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ จบ.
                                                ปาจิตตีย์ วรรคที่ ๓ จบ.
                                                                ___________
                                                หัวข้อประจำเรื่อง
                ๑. อสัมมตภิกขุโนวาทสิกขาบท      ว่าด้วยสั่งสอนภิกษุณี
                ๒. อัตถังคตสิกขาบท             ว่าด้วยสั่งสอนภิกษุณีเมื่ออาทิตย์ตกแล้ว
                ๓. ภิกขุนูปัสสยสิกขาบท           ว่าด้วยสั่งสอนภิกษุณีถึงในที่อยู่
                ๔. อามิสสิกขาบท                 ว่าด้วยสั่งสอนภิกษุณี เพราะเห็นแก่ลาภ
                ๕. จีวรทานสิกขาบท             ว่าด้วยให้จีวร
                ๖. จีวรสิพพนสิกขาบท            ว่าด้วยเย็บจีวร
                ๗. สํวิธานสิกขาบท                               ว่าด้วยชักชวนกันเดินทาง
                ๘. นาวาภิรุหณสิกขาบท           ว่าด้วยโดยสารเรือ
                ๙. ปริปาจนสิกขาบท             ว่าด้วยฉันบิณฑบาตอันภิกษุณีแนะนำ
                ๑๐. รโหนิสัชชสิกขาบท            ว่าด้วยนั่งในที่ลับ
                                                รวม ๑๐ สิกขาบท.
                                                                ___________


                                                            หน้าที่ ๔๒๔

                                                ปาจิตตีย์ วรรคที่ ๔
                                                ๔. โภชนวรรค สิกขาบทที่ ๑
                                                เรื่องพระฉัพพัคคีย์
                [๔๗๐] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ณ สถานอันไม่ห่างจากพระนครสาวัตถีนั้น มีประชาชน
หมู่หนึ่งได้จัดตั้งอาหารไว้ในโรงทาน. พระฉัพพัคคีย์ครองผ้าเรียบร้อยแล้ว ถือบาตรจีวรเข้าไป
บิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี, เมื่อไม่ได้อาหาร ได้พากันไปสู่โรงทาน. ประชาชนตั้งใจอังคาสด้วย
ดีใจว่า แม้ต่อนานๆ ท่านจึงได้มา. ครั้นวันที่ ๒ และวันที่ ๓ เวลาเช้า พระฉัพพัคคีย์ครอง
อันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี, เมื่อไม่ได้อาหาร ได้พากัน
ไปฉันในโรงทาน. ครั้นแล้วได้ปรึกษากันว่า พวกเราจักพากันไปสู่อารามทำอะไรกัน แม้พรุ่งนี้
ก็จักต้องมาที่นี่อีก จึงพากันอยู่ในโรงทานนั้นแหละ, ฉันอาหารในโรงทานเป็นประจำ. พวก
เดียรถีย์พากันหลีกไป. ประชาชนจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพวกพระสมณะเชื้อสาย
พระศากยบุตร จึงได้อยู่ฉันอาหารในโรงทานเป็นประจำ อาหารในโรงทานเขามิได้จัดไว้เฉพาะ
ท่านเหล่านี้, เขาจัดไว้เพื่อคนทั่วๆ ไป.
                ภิกษุทั้งหลายได้ยินประชาชนเหล่านั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่. บรรดาที่เป็นผู้มัก-
น้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระฉัพพัคคีย์จึงได้อยู่ฉันอาหารในโรงทาน
เป็นประจำเล่า ... .
                                                                ทรงสอบถาม
                พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามพระฉัพพัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่าพวกเธออยู่ฉัน-
อาหารในโรงทานเป็นประจำ จริงหรือ?
                พระฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงได้อยู่
ฉันอาหารในโรงทานเป็นประจำเล่า การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของ
ชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ... .
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-


                                                            หน้าที่ ๔๒๕

                                                                พระบัญญัติ
                ๘๐.๑. ก. ภิกษุพึงฉันอาหารในโรงทานได้ครั้งหนึ่ง ถ้าฉันยิ่งกว่านั้น เป็น
ปาจิตตีย์.
                ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ
ฉะนี้.
                                                เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ.
                                                เรื่องพระสารีบุตร
                [๔๗๑] สมัยต่อมา ท่านพระสารีบุตร เดินทางไปพระนครสาวัตถีในโกศลชนบท ได้
ไปยังโรงทานแห่งหนึ่ง. ประชาชนตั้งใจอังคาสด้วยดีใจว่า แม้ต่อนานๆ พระเถระจึงได้มา.
ครั้นท่านพระสารีบุตรฉันอาหารแล้ว บังเกิดอาพาธหนัก ไม่สามารถจะหลีกไปจากโรงทานนั้นได้.
ครั้นวันที่ ๒ ประชาชนพวกนั้นได้กราบเรียนท่านว่า นิมนต์ฉันเถิด เจ้าข้า. จึงท่านพระสารีบุตร
รังเกียจอยู่ว่า พระผู้มีพระภาคทรงห้ามการอยู่ฉันอาหารในโรงทานเป็นประจำ ดังนี้ จึงไม่รับนิมนต์
ท่านได้ยอมอดอาหารแล้ว. ครั้นท่านเดินทางไปถึงพระนครสาวัตถีแล้ว ได้แจ้งเรื่องนั้นแก่ภิกษุ
ทั้งหลายๆ ได้กราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
                                ทรงอนุญาตให้ภิกษุอาพาธฉันอาหารในโรงทานได้
                ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ
แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้อาพาธ
อยู่ฉันอาหารในโรงทานเป็นประจำได้.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
                                                                พระอนุบัญญัติ
                ๘๐.๑. ข. ภิกษุมิใช่ผู้อาพาธ พึงฉันอาหารในโรงทานได้ครั้งหนึ่ง ถ้าฉัน
ยิ่งกว่านั้น เป็นปาจิตตีย์.
                                                เรื่องพระสารีบุตร จบ.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘