พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ หน้า 406-410

                                                            หน้าที่ ๔๐๖

                                                ๓. โอวาทวรรค สิกขาบทที่ ๖
                                                เรื่องพระอุทายี
                [๔๔๗] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ท่านพระอุทายีเป็นผู้สามารถทำจีวรกรรม.
ภิกษุณีรูปหนึ่งเข้าไปหาท่านแล้วพูดว่า ดิฉันขอโอกาส เจ้าค่ะ ขอพระคุณเจ้าช่วยเย็บจีวรให้ดิฉัน
ด้วย. ฝ่ายท่านพระอุทายีเย็บจีวรให้นางแล้ว ทำการย้อมอย่างดี ทำบริกรรมเรียบร้อยแล้ว เขียน-
รูปอันวิจิตร ตามความคิดเห็นไว้ในท่ามกลางแล้วพับเก็บไว้.
                ครั้นภิกษุณีนั่นเข้าไปหาท่านพระอุทายีแล้วถามว่า จีวรนั้นเสร็จแล้วหรือยัง เจ้าค่ะ?
                พระอุทายีตอบว่า เสร็จแล้ว น้องหญิง เชิญนำจีวรผืนนี้ตามที่พับไว้แล้วไปเก็บไว้
เมื่อไร ภิกษุณีสงฆ์มารับโอวาท จึงค่อยห่มจีวรผืนนี้เดินตามมาเบื้องหลังภิกษุณีสงฆ์.
                ฝ่ายภิกษุณีนั้นนำจีวรตามที่พับไว้นั้น ไปเก็บไว้ ถึงคราวที่ภิกษุณีสงฆ์มารับโอวาท จึง
ห่มจีวรผืนนั้น เดินตามมาเบื้องหลังภิกษุณีสงฆ์ ประชาชน พากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า
ภิกษุณีพวกนี้หมดความเกรงกลัว เป็นคนชั่ว ไม่มียางอาย เขียนรูปอันวิจิตรตามความเห็นไว้
ที่จีวรได้.
                ภิกษุณีทั้งหลายถามว่า นี่ใครทำ?
                ภิกษุณีนั้นตอบว่า พระคุณเจ้าอุทายี.
                ภิกษุณีทั้งหลายพูดว่า รูปอย่างนี้ไม่งาม แม้แก่พวกนักเลงที่หมดความเกรงกลัว ไม่มี
ยางอาย ไฉนจะงามแก่พระคุณเจ้าอุทายีเล่า แล้วแจ้งเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย.
                บรรดาภิกษุที่มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนท่านพระอุทายีจึงได้เย็บ
จีวรให้ภิกษุณีเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ...
                                                ทรงสอบถามแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามท่านพระอุทายีว่า ดูกรอุทายี ข่าวว่า เธอเย็บจีวรให้ภิกษุณี
จริงหรือ?


                                                            หน้าที่ ๔๐๗

                ท่านพระอุทายีทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                ภ. ภิกษุณีนั่นเป็นญาติของเธอ หรือมิใช่ญาติ?
                อุ. มิใช่ญาติ พระพุทธเจ้าข้า.
                ภ. ดูกรโมฆบุรุษ ภิกษุที่มิใช่ญาติ ย่อมไม่รู้การกระทำที่สมควรหรือไม่สมควร อาการ
ที่น่าเลื่อมใสหรือไม่น่าเลื่อมใส ของภิกษุณีที่มิใช่ญาติ ไฉนเธอจึงได้เย็บจีวรให้ภิกษุณีที่มิใช่
ญาติเล่า การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือ
เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ...
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
                                                                พระบัญญัติ
                ๗๕. ๖. อนึ่ง ภิกษุใด เย็บก็ดี ให้เย็บก็ดี ซึ่งจีวร เพื่อภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ
เป็นปาจิตตีย์.
                                                เรื่องพระอุทายี จบ.
                                                                สิกขาบทวิภังค์
                [๔๔๘] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ...
                บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ชื่อว่า ภิกษุ ที่ทรง
ประสงค์ในอรรถนี้.
                ที่ชื่อว่า ผู้มิใช่ญาติ คือ ไม่ใช่คนเนื่องถึงกัน ทางมารดาก็ดี ทางบิดาก็ดี ตลอด ๗
ชั่วบุรพชนก.
                ผู้ชื่อว่า ภิกษุณี ได้แก่ สตรีผู้อุปสมบทแล้วในสงฆ์ ๒ ฝ่าย.
                ที่ชื่อว่า จีวร ได้แก่ จีวร ๖ ชนิด ชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งเข้าองค์กำหนดแห่งผ้าต้องวิกัป
เป็นอย่างต่ำ.
                บทว่า เย็บ คือ เย็บเอง ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ทุกๆ รอยเข็ม.
                บทว่า ให้เย็บ คือ ใช้ผู้อื่นเย็บ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                ใช้หนเดียว แต่เย็บแม้หลายหน ก็ต้องอาบัติปาจิตตีย์.


                                                            หน้าที่ ๔๐๘

                                                                บทภาชนีย์
                                                                ติกะปาจิตตีย์
                [๔๔๙] ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่ามิใช่ญาติ เย็บเองก็ดี ให้เย็บก็ดี ซึ่งจีวร ต้อง-
อาบัติปาจิตตีย์.
                ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ ภิกษุสงสัย เย็บเองก็ดี ให้เย็บก็ดี ซึ่งจีวร ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่าเป็นญาติ เย็บเองก็ดี ให้เย็บก็ดี ซึ่งจีวร ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์.
                                                                ติกะทุกกฏ
                ภิกษุเย็บเองก็ดี ให้เย็บก็ดี ซึ่งจีวร เพื่อภิกษุณีผู้อุปสมบทในสงฆ์ฝ่ายเดียว ต้องอาบัติ
ทุกกฏ.
                ภิกษุณีผู้เป็นญาติ ภิกษุสำคัญว่ามิใช่ญาติ ... ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ภิกษุณีผู้เป็นญาติ ภิกษุสงสัย ... ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                                                ไม่ต้องอาบัติ
                ภิกษุณีผู้เป็นญาติ ภิกษุสำคัญว่าเป็นญาติ ... ไม่ต้องอาบัติ.
                                                                อนาปัตติวาร
                [๔๕๐] ภิกษุเย็บเพื่อภิกษุณีผู้เป็นญาติ ๑ ภิกษุเย็บเองก็ดี ให้เย็บก็ดี ซึ่งบริขารอื่น
เว้นจีวร ๑ ภิกษุเย็บเพื่อสิกขมานา ๑ ภิกษุเย็บเพื่อสามเณรี ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิ-
กัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
                                                โอวาทวรรค สิกขาบทที่ ๖ จบ.
                                                                ___________


                                                            หน้าที่ ๔๐๙

                                                ๓. โอวาทวรรค สิกขาบทที่ ๗
                                                เรื่องพระฉัพพัคคีย์
                [๔๕๑] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น พระฉัพพัคคีย์ชักชวนกันเดินทางไกลร่วมกับ
พวกภิกษุณี คนทั้งหลายพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร
เหล่านี้เที่ยวไปกับพวกภิกษุณี เหมือนพวกเรากับภรรยาเดินเที่ยวกันฉะนั้น. ภิกษุทั้งหลายได้ยิน
คนพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน
โพนทะนาว่า ไฉนพระฉัพพัคคีย์จึงได้ชักชวนกันแล้วเดินทางไกลร่วมกับพวกภิกษุณีเล่า แล้ว
กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ...
                                                                ทรงสอบถาม
                พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามพระฉัพพัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า พวกเธอชักชวน
กันแล้ว เดินทางไกลร่วมกับพวกภิกษุณี จริงหรือ?
                พระฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉน พวกเธอจึงชักชวน
กันแล้วเดินทางไกลร่วมกับพวกภิกษุณีเล่า การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใส
ของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ...
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
                                                                พระบัญญัติ
                ๗๖.๗ ก. อนึ่ง ภิกษุใดชักชวนกันแล้ว เดินทางไกลด้วยกันกับภิกษุณี โดยที่สุด
แม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง เป็นปาจิตตีย์.
                ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ-
ฉะนี้.
                                                เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ.


                                                            หน้าที่ ๔๑๐

                                                เรื่องภิกษุและภิกษุณีหลายรูป
                [๔๕๒] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุและภิกษุณีหลายรูปด้วยกัน จะพากันเดินทางไกลจาก
เมืองสาเกต ไปพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีพวกนั้นพบภิกษุ พวกเธอนั้นได้กล่าวคำนี้ว่า
แม้พวกดิฉันก็จักไปกับพวกพระคุณเจ้าด้วย.
                ภิกษุพวกนั้นพูดว่า ดูกรน้องหญิง การชักชวนกันแล้วเดินทางไกลร่วมกันกับภิกษุณี
ไม่สมควร พวกเธอจะไปก่อน หรือพวกฉันจักไป
                ภิกษุณีพวกนั้นตอบว่า พวกพระคุณเจ้าเป็นชายผู้ล้ำเลิศ, พระคุณเจ้านั่นแหละจงไปก่อน.
                เมื่อภิกษุณีพวกนั้นเดินทางไปภายหลัง พวกโจรในระหว่างทางได้พากันแย่งชิงและ
ประทุษร้าย ครั้นภิกษุณีพวกนั้นไปถึงพระนครสาวัตถีแล้ว ได้แจ้งเรื่องนั้นแก่ภิกษุณีทั้งหลายๆ
ได้แจ้งเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลายๆ ได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
                                                ทรงอนุญาตให้เดินทางร่วม
                ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ
แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในหนทางที่จะต้องไปกับพวกเกวียน
รู้กันอยู่ว่าเป็นที่น่ารังเกียจ มีภัยเฉพาะหน้า เราอนุญาตให้ชักชวนกันแล้วเดินทางไกลร่วมกับ
ภิกษุณีได้.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
                                                                พระอนุบัญญัติ
                ๗๖.๗ ข. อนึ่ง ภิกษุใดชักชวนกันแล้วเดินทางไกลด้วยกันกับภิกษุณี โดย
ที่สุดแม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง เว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์ นี้สมัยในเรื่องนั้น ทาง
เป็นที่จะต้องไปด้วยพวกเกวียน รู้กันอยู่ว่าเป็นที่น่ารังเกียจ มีภัยเฉพาะหน้า นี้สมัย
ในเรื่องนั้น.
                                                เรื่องภิกษุและภิกษุณีหลายรูป จบ.
                                                                สิกขาบทวิภังค์
                [๔๕๓] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ...
                บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ ชื่อว่า ภิกษุ ที่ทรง-
ประสงค์ในอรรถนี้.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘