พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ หน้า 401-405

                                                            หน้าที่ ๔๐๑

                                                                ติกะทุกกฏ
                [๔๔๐] กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่ากรรมเป็นธรรม ... ต้องอาบัติทุกกฏ.
                กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสงสัย ..., ต้องอาบัติทุกกฏ.
                กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่ากรรมไม่เป็นธรรม ... ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                                                อนาปัตติวาร
                [๔๔๑] ภิกษุผู้กล่าวกะภิกษุผู้สั่งสอนเพราะเหตุจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลาน-
ปัจจัยเภสัชบริขาร สักการะ ความเคารพ ความนับถือ การกราบไหว้ การบูชา ตามปกติ ๑
ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
                                                โอวาทวรรค สิกขาบทที่ ๔ จบ.
                                                                ___________


                                                            หน้าที่ ๔๐๒

                                                ๓. โอวาทวรรค สิกขาบทที่ ๕
                                                เรื่องภิกษุรูปหนึ่ง
                [๔๔๒] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเที่ยวบิณฑบาตไปตามถนน
แห่งหนึ่ง ในพระนครสาวัตถี. แม้ภิกษุณีรูปหนึ่งก็เที่ยวบิณฑบาตไปในถนนนั้น. ครั้งนั้นแล
ภิกษุนั้นได้กล่าวคำนี้กะภิกษุณีรูปนั้นว่า ไปเถิดน้องหญิง ณ สถานที่โน้นมีผู้ถวายภิกษา. แม้ภิกษุณี
รูปนั้นก็กล่าวอย่างนี้ว่า ไปเถิดพระคุณเจ้า ณ สถานที่โน้นมีผู้ถวายภิกษา. ภิกษุและภิกษุณีทั้งสอง
ได้เป็นเพื่อนเห็นกัน เพราะได้พบกันอยู่เนืองๆ
                ก็แลสมัยนั้น พระเจ้าหน้าที่แจกจีวรกำลังแจกจีวรของสงฆ์ จึงภิกษุณีรูปนั้นไปรับ
โอวาท แล้วเข้าไปหาภิกษุรูปนั้น อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
                ภิกษุรูปนั้นได้กล่าวคำนี้กะภิกษุณีนั้นผู้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า ดูกรน้องหญิง
ส่วนจีวรของฉันนี้ เธอจักยินดีหรือไม่?
                ภิกษุณีรับว่า ยินดี เจ้าข้า เพราะดิฉันมีจีวรเก่า.
                ภิกษุนั้นได้ให้จีวรแก่ภิกษุณีนั้น. แต่ภิกษุนั้นก็เป็นผู้มีจีวรเก่าอยู่เหมือนกัน. ภิกษุทั้งหลาย
จึงได้กล่าวกะภิกษุรูปนั้นว่า บัดนี้ ท่านจงเปลี่ยนจีวรของท่านเถิด. ภิกษุรูปนั้นได้แจ้งเรื่องนั้น
แก่ภิกษุทั้งหลาย. บรรดาภิกษุที่มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน ภิกษุจึงได้ให้
จีวรแก่ภิกษุณีเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ...
                                                ทรงสอบถามแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุรูปนั้นว่า ดูกรภิกษุ ข่าวว่า เธอได้ให้จีวรแก่ภิกษุณี
จริงหรือ?
                ภิกษุรูปนั้นทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.


                                                            หน้าที่ ๔๐๓

                ภ. ดูกรภิกษุ ภิกษุณีนั้นเป็นญาติของเธอหรือมิใช่ญาติ?
                ภิ. มิใช่ญาติ พระพุทธเจ้าข้า.
                ภ. ดูกรโมฆบุรุษ ภิกษุผู้มิใช่ญาติย่อมไม่รู้การกระทำอันสมควรหรือไม่สมควร ของที่มี
อยู่หรือไม่มี ของภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ ไฉน เธอจึงได้ให้จีวรแก่ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติเล่า การกระทำ
ของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่ง
ของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ...
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
                                                                พระบัญญัติ
                ๗๔. ๕. ก. อนึ่ง ภิกษุใด ให้จีวรแก่ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ เป็นปาจิตตีย์.
                ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ
ฉะนี้
                                                เรื่องภิกษุรูปหนึ่ง จบ.
                                                เรื่องภิกษุหลายรูป
                [๔๔๓] สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายรังเกียจ ไม่ให้จีวรแลกเปลี่ยนแก่พวกภิกษุณี ภิกษุณี
ทั้งหลายจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระคุณเจ้าจึงไม่ให้แลกเปลี่ยนแก่พวกเรา
ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินภิกษุณีเหล่านั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่
พระผู้มีพระภาค.
                                                ทรงอนุญาตให้แลกเปลี่ยนจีวร
                ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรก
เกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้แลกเปลี่ยนแก่สหธรรมิก
ทั้ง ๕ คือ ภิกษุ ภิกษุณี สิกขามานา สามเณร สามเณรี เราอนุญาตให้แลกเปลี่ยนแก่
สหธรรมิก ๕ เหล่านี้ได้.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-


                                                            หน้าที่ ๔๐๔

                                                                พระอนุบัญญัติ
                ๗๔. ๕. ข. อนึ่ง ภิกษุใด ให้จีวรแก่ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ เว้นไว้แต่
แลกเปลี่ยน เป็นปาจิตตีย์.
                                                เรื่องภิกษุหลายรูป จบ.
                                                                สิกขาบทวิภังค์
                [๔๔๔] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ...
                บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ ชื่อว่า ภิกษุ
ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้.
                ที่ชื่อว่า ผู้มิใช่ญาติ คือ ไม่ใช่คนเนื่องถึงกัน ทางมารดาก็ดี ทางบิดาก็ดี
ตลอด ๗ ชั่วบุรพชนก.
                ผู้ชื่อว่า ภิกษุณี ได้แก่ สตรีผู้อุปสมบทแล้วในสงฆ์ ๒ ฝ่าย.
                ที่ชื่อว่า จีวร ได้แก่ จีวร ๖ ชนิด ชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งเข้าองค์กำหนดแห่งผ้าต้องวิกัป
เป็นอย่างต่ำ
                คำว่า เว้นไว้แต่แลกเปลี่ยน ความว่า ภิกษุให้ เว้นการแลกเปลี่ยน ต้องอาบัติ-
ปาจิตตีย์.
                                                                บทภาชนีย์
                                                                ติกะปาจิตตีย์
                [๔๔๕] ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่ามิใช่ญาติ ให้จีวร เว้นไว้แต่แลกเปลี่ยน
ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ ภิกษุสงสัย ให้จีวร เว้นไว้แต่แลกเปลี่ยน ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่าเป็นญาติ ให้จีวร เว้นไว้แต่แลกเปลี่ยน ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์.
                                                                ติกะทุกกฏ
                ภิกษุให้จีวรแก่ภิกษุณีผู้อุปสมบทในสงฆ์ฝ่ายเดียว เว้นไว้แต่แลกเปลี่ยน ต้องอาบัติ
ทุกกฏ.


                                                            หน้าที่ ๔๐๕

                ภิกษุณีผู้เป็นญาติ ภิกษุสำคัญว่ามิใช่ญาติ ให้จีวร ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ภิกษุณีผู้เป็นญาติ ภิกษุสงสัย ให้จีวร ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                                                ไม่ต้องอาบัติ
                ภิกษุณีผู้เป็นญาติ ภิกษุสำคัญว่าเป็นญาติ ให้จีวร ไม่ต้องอาบัติ.
                                                                อนาปัตติวาร
                [๔๔๖] ภิกษุณีผู้เป็นญาติ ๑ ภิกษุแลกเปลี่ยน คือ เอาจีวรมีค่าน้อยแลกเปลี่ยนจีวร
มีค่ามาก หรือเอาจีวรมีค่ามากแลกเปลี่ยนจีวรมีค่าน้อย ๑ ภิกษุณีถือวิสาสะ ๑ ภิกษุณีถือเอาเป็น
ของขอยืม ๑ ภิกษุให้บริขารอื่นเว้นจีวร ๑ ภิกษุให้แก่สิกขมานา ๑ ภิกษุให้สามเณรี ๑ ภิกษุ
วิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
                                                โอวาทวรรค สิกขาบทที่ ๕ จบ.
                                                                ___________

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘