พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ หน้า 396-400

                                                            หน้าที่ ๓๙๖

                                                                พระบัญญัติ
                ๓๒. ๓. อนึ่ง ภิกษุใด เข้าไปสู่ที่อาศัยแห่งภิกษุณี แล้วสั่งสอนพวกภิกษุณี
เป็นปาจิตตีย์.
                ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ
ฉะนี้.
                                                เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ.
                                                เรื่องพระมหาปชาบดีโคตมีเถรี
                [๔๓๐] ต่อจากสมัยนั้นมา พระมหาปชาบดีโคตมีเถรีอาพาธ. พระเถระทั้งหลาย
พากันเข้าไปเยี่ยมพระมหาปชาบดีโคตมีเถรีถึงสำนัก แล้วได้กล่าวคำนี้กะพระเถรีว่า ดูกรพระโคตมี
ท่านยังพอทนได้หรือ? ยังพอให้อัตภาพเป็นไปได้หรือ?.
                พระมหาปชาบดีโคตมีตอบว่า ดิฉันทนไม่ไหว ให้อัตภาพเป็นไปไม่ได้ เจ้าข้า
ขออาราธนาพระคุณเจ้าทั้งหลายโปรดแสดงธรรมเถิด เจ้าข้า.
                ดูกรน้องหญิง การเข้ามาสู่สำนักภิกษุณีแล้วแสดงธรรมแก่ภิกษุณียังไม่สมควรก่อน
พระเถระเหล่านั้นกล่าวดังนี้แล้วต่างก็รังเกียจอยู่ ไม่แสดงธรรม
                ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตรจีวรเสด็จเข้าไปเยี่ยม
พระมหาปชาบดีโคตมีเถรีถึงสำนัก ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย แล้วได้ตรัสคำนี้กะพระ-
มหาปชาบดีโคตมีว่า ดูกรโคตมี เธอยังพอทนได้หรือ? ยังพอให้อัตภาพเป็นไปได้หรือ?
                พระมหาปชาบดีโคตมีกราบทูลว่า เมื่อก่อนพระเถระทั้งหลายพากันมาแสดงธรรมแก่
หม่อมฉัน เพราะเหตุนั้น หม่อมฉันจึงมีความสำราญ แต่บัดนี้ ท่านกล่าวว่า พระองค์ทรงห้ามแล้ว
จึงรังเกียจ ไม่แสดง เพราะเหตุนั้น หม่อมฉันจึงไม่มีความสำราญ พระพุทธเจ้าข้า.
                ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงยังพระมหาปชาบดีโคตมีเถรีให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ
ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา แล้วทรงลุกจากอาสนะเสด็จกลับ ครั้นแล้วพระองค์ทรงทำธรรมีกถา
ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตให้เข้าไปสู่สำนักภิกษุณีแล้วสั่งสอนภิกษุณีผู้อาพาธได้.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-


                                                            หน้าที่ ๓๙๗

                                                                พระอนุบัญญัติ
                ๗๒. ๓. ข. อนึ่ง ภิกษุใด เข้าไปสู่ที่อาศัยแห่งภิกษุณีแล้วสั่งสอนพวกภิกษุณี
เว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์. สมัยในเรื่องนั้นดังนี้ คือ ภิกษุณีอาพาธ นี้เป็น
สมัยในเรื่องนั้น.
                                เรื่องพระมหาปชาบดีโคตมีเถรี จบ.
                                                                สิกขาบทวิภังค์
                [๔๓๑] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ...
                บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ ชื่อว่า ภิกษุ ที่ทรง
ประสงค์ในอรรถนี้.
                ที่ชื่อว่า ที่อาศัยแห่งภิกษุณี ได้แก่สถานเป็นที่พักแรมของพวกภิกษุณี แม้เพียง
คืนเดียว.
                บทว่า เข้าไป คือ ไปในสถานที่นั้น.
                บทว่า ภิกษุณี ได้แก่ สตรีผู้อุปสมบทแล้วในสงฆ์ ๒ ฝ่าย.
                บทว่า สั่งสอน ความว่า ภิกษุกล่าวสอนด้วยครุธรรม ๘ ประการ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                บทว่า เว้นไว้แต่สมัย คือ ยกเว้นสมัย.
                ที่ชื่อว่า ภิกษุณีอาพาธ ได้แก่ ภิกษุณีไม่สามารถจะไปรับโอวาทหรือไปร่วมประชุมได้.
                                                                บทภาชนีย์
                                                                ติกะปาจิตตีย์
                [๔๓๒] อุปสัมบันภิกษุณี ภิกษุสำคัญว่าอุปสัมบันภิกษุณี เข้าไปสู่ที่อาศัยแห่งภิกษุณี
เว้นแต่สมัย สั่งสอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                อุปสัมบันภิกษุณี ภิกษุสงสัยเข้าไปสู่ที่อาศัยแห่งภิกษุณี เว้นไว้แต่สมัย สั่งสอน
ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                อุปสัมบันภิกษุณี ภิกษุสำคัญว่าอนุปสัมบันภิกษุณี เข้าไปสู่ที่อาศัยแห่งภิกษุณี เว้นไว้
แต่สมัย สั่งสอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์.


                                                            หน้าที่ ๓๙๘

                                                                                                จตุกกะทุกกฏ
                ภิกษุสั่งสอนด้วยธรรมอย่างอื่น ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ภิกษุสั่งสอนภิกษุณีผู้อุปสมบทแต่สงฆ์ฝ่ายเดียว ต้องอาบัติทุกกฏ.
                อนุปสัมบันภิกษุณี ภิกษุสำคัญว่าอุปสัมบันภิกษุณี สั่งสอน ต้องอาบัติทุกกฏ.
                อนุปสัมบันภิกษุณี ภิกษุสงสัย ... ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                                                                ไม่ต้องอาบัติ
                อนุปสัมบันภิกษุณี ภิกษุสำคัญว่าอนุปสัมบันภิกษุณี ... ไม่ต้องอาบัติ.
                                                                อนาปัตติวาร
                [๔๓๓] ภิกษุสั่งสอนในสมัย ๑ ภิกษุให้อุเทศ ๑ ภิกษุให้ปริปุจฉา ๑ ภิกษุอันภิกษุณี
กล่าวว่า นิมนต์ท่านสวดเถิด เจ้าข้า ดังนี้ สวดอยู่ ๑ ภิกษุถามปัญหา ๑ ภิกษุถูกถามปัญหา
แล้วแก้ ๑ ภิกษุสั่งสอนเพื่อประโยชน์แห่งผู้อื่น แต่ภิกษุฟังอยู่ด้วย ๑ ภิกษุสั่งสอน
สิกขมานา ๑ ภิกษุสั่งสอนสามเณรี ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
                                                โอวาทวรรค สิกขาบทที่ ๓ จบ.
                                                ___________________


                                                            หน้าที่ ๓๙๙

                                                ๓. โอวาทวรรค สิกขาบทที่ ๔
                                                เรื่องพระฉัพพัคคีย์
                [๔๓๔] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น พระเถระทั้งหลาย สั่งสอนพวกภิกษุณี
ย่อมได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร พระฉัพพัคคีย์พูดกันอย่างนี้ว่า
พระเถระทั้งหลายไม่ตั้งใจสั่งสอนพวกภิกษุณี ท่านสั่งสอนพวกภิกษุณีเพราะเห็นแก่อามิส บรรดา
ภิกษุที่มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระฉัพพัคคีย์จึงได้พูดอย่างนี้ว่า
พระเถระทั้งหลายไม่ตั้งใจสั่งสอนพวกภิกษุณี ท่านสั่งสอนพวกภิกษุณีเพราะเห็นแก่อามิส แล้ว
กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ...
                                                                ทรงสอบถาม
                พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามพระฉัพพัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า พวกเธอพูด
อย่างนี้ว่า พระเถระทั้งหลายไม่ตั้งใจสั่งสอนพวกภิกษุณี ท่านสั่งสอนพวกภิกษุณีเพราะเห็นแก่
อามิส ดังนี้ จริงหรือ?
                พระฉัพพัคคีย์ ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงพูดอย่างนี้ว่า
พระเถระทั้งหลายไม่ตั้งใจสั่งสอนพวกภิกษุณี ท่านสั่งสอนพวกภิกษุณีเพราะเห็นแก่อามิส ดังนี้
เล่า การกระทำของพวกเธอนั่น  ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือ
เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ...
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
                                                                พระบัญญัติ
                ๗๓. ๔. อนึ่ง ภิกษุใด กล่าวอย่างนี้ว่า พวกภิกษุสั่งสอนพวกภิกษุณี
เพราะเหตุอามิส เป็นปาจิตตีย์.
                                                เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ.


                                                            หน้าที่ ๔๐๐

                                                                สิกขาบทวิภังค์
                [๔๓๕] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ...
                บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ ชื่อว่า ภิกษุ
ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้.
                บทว่า เพราะเหตุอามิส คือ เพราะเหตุจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัย
เภสัชบริขาร สักการะ ความเคารพ ความนับถือ การกราบไหว้ การบูชา.
                [๔๓๖] คำว่า กล่าวอย่างนี้ ความว่า ภิกษุประสงค์จะแส่โทษ ประสงค์จะทำให้อัปยศ
ประสงค์จะทำให้เก้อเขิน กล่าวกะอุปสัมบันผู้อันสงฆ์สมมติให้เป็นผู้สั่งสอนภิกษุณีอย่างนี้ คือ
กล่าวว่า เธอสั่งสอน เพราะเหตุจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร สักการะ
ความเคารพ ความนับถือ การกราบไหว้ การบูชา ดังนี้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                                                                บทภาชนีย์
                                                                ติกะปาจิตตีย์
                [๔๓๗] กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่ากรรมเป็นธรรม กล่าวอย่างนั้น ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์.
                กรรมเป็นธรรม ภิกษุสงสัย กล่าวอย่างนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่ากรรมไม่เป็นธรรม กล่าวอย่างนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                                                                ทุกกฏ
                [๔๓๘] ภิกษุประสงค์จะแส่โทษ ประสงค์จะทำให้อัปยศ ประสงค์จะทำให้เก้อเขิน
กล่าวกะอุปสัมบันผู้อันสงฆ์มิได้สมมติให้เป็นผู้สั่งสอนภิกษุณีอย่างนี้ คือ กล่าวว่า เธอ
สั่งสอนเพราะเหตุจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร สักการะ ความเคารพ
ความนับถือ การกราบไหว้ การบูชา ดังนี้ ต้องอาบัติทุกกฏ.
                [๔๓๙] ภิกษุประสงค์จะแส่โทษ ประสงค์จะทำให้อัปยศ ประสงค์จะทำให้เก้อเขิน
กล่าวกะอนุปสัมบันผู้อันสงฆ์สมมติก็ตาม มิได้สมมติก็ตาม ให้เป็นผู้สั่งสอนภิกษุณี อย่างนี้
คือ กล่าวว่า เธอสั่งสอนเพราะเหตุจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
สักการะ ความเคารพ ความนับถือ การกราบไหว้ การบูชา ดังนี้ ต้องอาบัติทุกกฏ.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘