พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ หน้า 366-370

                                                            หน้าที่ ๓๖๖

                                                ๒. ภูตคามวรรค สิกขาบทที่ ๖
                                                เรื่องพระฉัพพัคคีย์
                [๓๘๓] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น พระฉัพพัคคีย์กีดกันที่นอนดีๆ ไว้ ให้
พระเถระทั้งหลายย้ายไปเสีย แล้วคิดกันว่า ด้วยอุบายอะไรหนอ? พวกเราจะพึงอยู่จำพรรษา
ณ ที่นี้แหละ แล้วสำเร็จการนอนแทรกแซงพระเถระทั้งหลายด้วยหมายใจว่า ผู้ใดมีความคับใจ
ผู้นั้นจักหลีกไปเอง. บรรดาภิกษุที่มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระ-
ฉัพพัคคีย์จึงได้สำเร็จการนอนแทรกแซงพระเถระทั้งหลาย? แล้วกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มี
พระภาค ...
                                                                ทรงสอบถาม
                พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่าพวกเธอสำเร็จการนอนแทรกแซง
พระเถระทั้งหลาย จริงหรือ?
                พระฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                                                ทรงติเตียน
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉน พวกเธอจึงได้สำเร็จ
การนอนแทรกแซงพระเถระทั้งหลายเล่า? การกระทำของพวกเธอนั่นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใส
ของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
                                                                พระบัญญัติ
                ๖๕. ๖. อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ สำเร็จการนอนแทรกแซงภิกษุผู้เข้าไปก่อน
ในวิหารของสงฆ์ ด้วยหมายว่า ผู้ใดมีความคับใจ, ผู้นั้นจักหลีกไปเอง ทำความหมาย
อย่างนี้เท่านั้นให้เป็นปัจจัย หาใช่อย่างอื่นไม่  เป็นปาจิตตีย์.
                                                เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ.


                                                            หน้าที่ ๓๖๗

                                                                สิกขาบทวิภังค์
                [๓๘๔] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ...
                บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ ชื่อว่า ภิกษุ
ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้.
                วิหารที่ชื่อว่า ของสงฆ์ ได้แก่ วิหารที่เขาถวายแล้ว สละแล้วแก่สงฆ์.
                ที่ชื่อว่า รู้ คือ รู้ว่าเป็นพระผู้เฒ่า รู้ว่าเป็นพระอาพาธ รู้ว่าเป็นพระที่สงฆ์มอบ
วิหารให้.
                บทว่า แทรกแซง คือ เข้าไปเบียดเสียด.
                บทว่า สำเร็จการนอน ความว่า ภิกษุปูไว้เองก็ดี ให้คนอื่นปูไว้ก็ดี ซึ่งที่นอน
ในสถานที่ใกล้เตียงก็ดี ตั่งก็ดี ทางเข้าออกก็ดี, ต้องอาบัติทุกกฏ นั่งทับก็ดี นอนทับก็ดี
ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                คำว่า ทำความหมายอย่างนี้เท่านั้นให้เป็นปัจจัย หาใช่อย่างอื่นไม่ ความว่า
ไม่มีอะไรอื่นเป็นปัจจัยเพื่อสำเร็จการนอนแทรกแซง.
                                                                บทภาชนีย์
                                                                ติกะปาจิตตีย์
                [๓๘๕] วิหารของสงฆ์ ภิกษุสำคัญว่าของสงฆ์ สำเร็จการนอนแทรกแซง, ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์.
                วิหารของสงฆ์ ภิกษุสงสัย สำเร็จการนอนแทรกแซง, ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                วิหารของสงฆ์ ภิกษุสำคัญว่าของบุคคล สำเร็จการนอนแทรกแซง, ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                                                                ทุกกฏ
                เว้นอุปจาร เตียง ตั่ง หรือทางเข้าออกไว้ ภิกษุปูเองก็ดี ให้คนอื่นปูก็ดี ซึ่งที่นอน
ต้องอาบัติทุกกฏ. นั่งทับก็ดี นอนทับก็ดี, ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ภิกษุปูเองก็ดี ให้คนอื่นปูก็ดี ซึ่งที่นอน ในอุปจารวิหารก็ดี ในโรงฉันก็ดี ในมณฑป
ก็ดี, ใต้ต้นไม้ก็ดี ในที่แจ้งก็ดี ต้องอาบัติทุกกฏ นั่งทับก็ดี นอนทับก็ดี ต้องอาบัติทุกกฏ.
                วิหารของบุคคล ภิกษุสำคัญว่าของสงฆ์ ..., ต้องอาบัติทุกกฏ.


                                                            หน้าที่ ๓๖๘

                วิหารของบุคคล ภิกษุสงสัย ..., ต้องอาบัติทุกกฏ.
                วิหารของบุคคล  ภิกษุสำคัญว่าของบุคคล ..., ต้องอาบัติทุกกฏ. เพราะเป็นของส่วนตัว
ของผู้อื่น.
                วิหารเป็นส่วนตัวของตน ..., ไม่ต้องอาบัติ.
                                                                อนาปัตติวาร
                [๓๘๖] ภิกษุอาพาธเข้าอยู่ ๑, ภิกษุถูกความหนาวหรือความร้อนเบียดเบียนแล้วเข้าไป
อยู่ ๑, ภิกษุมีอันตราย ๑, ภิกษุวิกลจริต ๑, ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑, ไม่ต้องอาบัติแล.
                                                ภูตคามวรรค สิกขาบทที่ ๖ จบ.
                                                __________________


                                                            หน้าที่ ๓๖๙

                                                ๒. ภูตคามวรรค สิกขาบทที่ ๗
                                                เรื่องพระสัตตรสวัคคีย์
                [๓๘๗] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น พระสัตตรสวัคคีย์ปฏิสังขรณ์วิหารใหญ่
แห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่สุดเขตวัด ด้วยหมายใจว่าพวกเราจักอยู่จำพรรษา ณ ที่นี้. พระฉัพพัคคีย์ได้
เห็นพระสัตตรสวัคคีย์ผู้กำลังปฏิสังขรณ์วิหาร ครั้นแล้วจึงพูดกันอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย
พระสัตตรสวัคคีย์เหล่านี้ กำลังปฏิสังขรณ์วิหาร, อย่ากระนั้นเลย พวกเราจักไล่พวกเธอไปเสีย.
ภิกษุบางเหล่าพูดอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย โปรดรออยู่ก่อน จนกว่าเธอจะปฏิสังขรณ์เสร็จ เมื่อ
เธอปฏิสังขรณ์เสร็จแล้วพวกเราจึงค่อยไล่ไป.
                ครั้นพระสัตตรสวัคคีย์ปฏิสังขรณ์เสร็จแล้ว. พระฉัพพัคคีย์ได้กล่าวคำนี้กะพระสัตตร-
สวัคคีย์ว่า อาวุโสทั้งหลาย พวกท่านจงย้ายไป วิหารถึงแก่พวกเรา.
                พระสัตตรสวัคคีย์ตอบว่า อาวุโสทั้งหลาย พวกท่านควรจะบอกล่วงหน้ามิใช่หรือ? พวก
ผมจะได้ปฏิสังขรณ์วิหารหลังอื่น.
                ฉ. อาวุโสทั้งหลาย วิหารเป็นของสงฆ์มิใช่หรือ?
                ส. ขอรับ วิหารเป็นของสงฆ์.
                ฉ. พวกท่านจงย้ายไป วิหารถึงแก่พวกเรา.
                ส. วิหารหลังใหญ่ แม้พวกท่านก็อยู่ได้ แม้พวกผมก็จักอยู่.
                พระฉัพพัคคีย์กล่าวว่า พวกท่านจงย้ายออกไป วิหารถึงแก่พวกเรา ดังนี้แล้ว ทำเป็น
โกรธ ขัดใจ จับคอฉุดคร่าออกไป.
                พระสัตตรสวัคคีย์ถูกฉุดคร่าออกไปก็ร้องไห้.
                ภิกษุทั้งหลายพากันถามอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย พวกท่านร้องไห้ทำไม?.
                พระสัตตรสวัคคีย์ตอบว่า อาวุโสทั้งหลาย พระฉัพพัคคีย์พวกนี้โกรธ ขัดใจ ฉุดคร่า
พวกข้าพเจ้าออกไปจากวิหารของสงฆ์.


                                                            หน้าที่ ๓๗๐

                บรรดาภิกษุที่มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระฉัพพัคคีย์จึง
ได้โกรธ ขัดใจ ฉุดคร่าภิกษุทั้งหลายออกจากวิหารของสงฆ์เล่า? แล้วกราบทูลเนื้อความนั้นแด่
พระผู้มีพระภาค.
                                                                ทรงสอบถาม
                ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามพระฉัพพัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า
พวกเธอโกรธ ขัดใจ ฉุดคร่าภิกษุทั้งหลายออกจากวิหารของสงฆ์ จริงหรือ?
                พระฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉน พวกเธอจึงได้โกรธ
ขัดใจ ฉุดคร่าภิกษุทั้งหลายออกจากวิหารของสงฆ์เล่า? การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไป
เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ...
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
                                                                พระบัญญัติ
                ๖๖. ๗. อนึ่ง ภิกษุใด โกรธ ขัดใจ ฉุดคร่าก็ดีให้ฉุดคร่าก็ดี ซึ่งภิกษุจาก
วิหารของสงฆ์ เป็นปาจิตตีย์.
                                                เรื่องพระสัตตรสวัคคีย์ จบ.
                                                                สิกขาบทวิภังค์
                [๓๘๘] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือผู้เช่นใด ...
                บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ชื่อว่า ภิกษุ
ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้.
                บทว่า ซึ่งภิกษุ ได้แก่ภิกษุอื่น.
                บทว่า โกรธ ขัดใจ คือ ไม่พอใจ แค้นใจ เจ็บใจ.
                [๓๘๙] วิหารที่ชื่อว่า ของสงฆ์ ได้แก่วิหารที่เขาถวายแล้ว สละแล้วแก่สงฆ์.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘