พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ หน้า 356-360

                                                            หน้าที่ ๓๕๖

                ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ
ฉะนี้.
                                                เรื่องพระทัพพมัลลบุตร จบ.
                                                เรื่องพระทัพพมัลลบุตร (ต่อ)
                [๓๖๙] ก็สมัยนั้น พระเมตติยะและพระภุมมชกะคิดว่า ภิกษุทั้งหลาย จักเชื่อฟังด้วย
พระบัญญัติเพียงเท่านี้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงห้ามการให้โพนทะนาแล้ว จึงบ่นว่าท่านพระ-
ทัพพมัลลบุตรอยู่ใกล้ๆ ภิกษุทั้งหลายว่า พระทัพพมัลลบุตรจัดเสนาสนะตามความพอใจ และ
แจกภัตรตามความพอใจ บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระ-
เมตติยะและพระภุมมชกะจึงได้บ่นว่าท่านพระทัพพมัลลบุตรอยู่เล่า? แล้วกราบทูลเนื้อความนั้น
แด่พระผู้มีพระภาค.
                                                                ทรงสอบถาม
                ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ... ทรงสอบถามพระเมตติยะและพระภุมมชกะว่า ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย ข่าวว่า พวกเธอบ่นว่าภิกษุทัพพมัลบุตร จริงหรือ?
                พระเมตติยะและพระภุมมชกะทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉน พวกเธอจึงยังได้บ่นว่า
ภิกษุทัพพมัลลบุตรอยู่เล่า? การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชน
ที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ...
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
                                                                พระอนุบัญญัติ
                ๖๒. ๓. ข. เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะความเป็นผู้ให้โพนทะนา ในเพราะ
ความเป็นผู้บ่นว่า.
                                                เรื่องพระทัพพมัลลบุตร (ต่อ) จบ.


                                                            หน้าที่ ๓๕๗

                                                                สิกขาบทวิภังค์
                [๓๗๐] ที่ชื่อว่า ความเป็นผู้ให้โพนทะนา คือ อุปสัมบันผู้อันสงฆ์สมมติแล้วให้
เป็นผู้จัดเสนาสนะ เป็นผู้แจกอาหาร แจกยาคู แจกผลไม้ แจกของเคี้ยว หรือแจกของ
เล็กน้อยก็ตาม. ภิกษุประสงค์จะแส่โทษ ให้อัปยศ ให้เก้อเขิน จึงให้โพนทะนาก็ดี บ่นว่าก็ดี
ซึ่งอุปสัมบัน, ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                                                                บทภาชนีย์
                                                                ติกะปาจิตตีย์
                [๓๗๑] กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมเป็นธรรม, ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ใน
เพราะความเป็นผู้ให้โพนทะนา ในเพราะความเป็นผู้บ่นว่า.
                กรรมเป็นธรรม ภิกษุสงสัย, ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ในเพราะความเป็นผู้ให้โพนทะนา
ในเพราะความเป็นผู้บ่นว่า.
                กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมไม่เป็นธรรม, ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ในเพราะความ
เป็นผู้ให้โพนทะนา ในเพราะความเป็นผู้บ่นว่า.
                                                                ทุกกฏ
                [๓๗๒] ภิกษุให้โพนทะนา หรือบ่นว่าอนุปสัมบัน, ต้องอาบัติทุกกฏ.
                อุปสัมบันผู้อันสงฆ์มิได้สมมติให้เป็นผู้จัดเสนาสนะ เป็นผู้แจกอาหาร แจกยาคู แจก
ผลไม้ แจกของเคี้ยว หรือแจกของเล็กน้อยก็ตาม ภิกษุประสงค์จะแส่โทษ ทำให้อัปยศ ทำให้
เก้อเขิน จึงให้โพนทะนาก็ดี, บ่นว่าก็ดี ซึ่งอุปสัมบัน. หรืออนุปสัมบัน  ต้องอาบัติทุกกฏ.
                อนุปสัมบันผู้อันสงฆ์สมมติก็ดี มิได้สมมติก็ดี ให้เป็นผู้จัดเสนาสนะ เป็นผู้แจกอาหาร
แจกยาคู แจกผลไม้ แจกของเคี้ยว หรือแจกของเล็กน้อยก็ตาม ภิกษุประสงค์จะแส่โทษ
ทำให้อัปยศ ทำให้เก้อเขิน จึงให้โพนทะนาก็ดี, บ่นว่าก็ดี ซึ่งอุปสัมบันหรืออนุปสัมบัน
ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ติกะทุกกฏ
                กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมเป็นธรรม ต้องอาบัติทุกกฏ


                                                            หน้าที่ ๓๕๘

                กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสงสัย, ต้องอาบัติทุกกฏ ...
                กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมไม่เป็นธรรม ต้องอาบัติทุกกฏ
                                                                อนาปัตติวาร
                [๓๗๓] ภิกษุผู้ให้โพนทะนา หรือบ่นว่าภิกษุผู้มีปกติทำเพราะฉันทาคติ โทสาคติ
โมหาคติ ภยาคติ ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
                                                ภูตคามวรรค สิกขาบทที่ ๓ จบ.
                                                __________________


                                                            หน้าที่ ๓๕๙

                                                ๒. ภูตคามวรรค สิกขาบทที่ ๔
                                                เรื่องภิกษุมากรูป
                [๓๗๔] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น เป็นฤดูหนาว ภิกษุทั้งหลายจัดตั้งเสนาสนะ
ในที่กลางแจ้ง ผิงกายอยู่, ครั้นเขาบอกภัตตกาล เมื่อจะหลีกไป ไม่เก็บเอง ไม่ให้คนอื่นเก็บ
ซึ่งเสนาสนะนั้น ไม่บอกมอบหมายแล้วหลีกไป เสนาสนะถูกน้ำค้างและฝนตกชะ. บรรดาภิกษุ
ที่มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน ภิกษุทั้งหลายจัดตั้งเสนาสนะในที่แจ้งแล้ว
เมื่อจะหลีกไปจึงได้ไม่เก็บเอง ไม่ให้คนอื่นเก็บ ซึ่งเสนาสนะนั้น ไม่บอกมอบหมาย แล้วหลีก
ไป? เสนาสนะถูกน้ำค้างและฝนตกชะ. แล้วกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
                                                                ทรงสอบถาม
                พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า ภิกษุทั้งหลาย
จัดตั้งเสนาสนะในที่แจ้งแล้ว, เมื่อจะหลีกไป ไม่เก็บเอง ไม่ให้คนอื่นเก็บ ซึ่งเสนาสนะนั้น
ไม่บอกมอบหมาย แล้วหลีกไป เสนาสนะถูกน้ำค้างและฝนตกชะ จริงหรือ?
                ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉน โมฆบุรุษเหล่านั้น จัดตั้ง
เสนาสนะในที่แจ้งแล้ว. เมื่อจะหลีกไป จึงได้ไม่เก็บเอง ไม่ให้คนอื่นเก็บ ซึ่งเสนาสนะนั้น
ไม่บอกมอบหมายแล้วหลีกไปเล่า? เสนาสนะถูกน้ำค้างและฝนตกชะ. การกระทำของพวก
โมฆบุรุษนั้นนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใส
ยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ...
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-


                                                            หน้าที่ ๓๖๐

                                                                พระบัญญัติ
                ๖๓. ๔. อนึ่ง ภิกษุใดวางไว้แล้วก็ดี ให้วางไว้แล้วก็ดี ซึ่งเตียงก็ดี ตั่งก็ดี
ฟูกก็ดี เก้าอี้ก็ดี อันเป็นของสงฆ์ในที่แจ้ง เมื่อหลีกไปไม่เก็บเองก็ดี ไม่ให้เก็บก็ดี
ซึ่งเสนาสนะที่วางไว้นั้น หรือไม่บอกมอบหมาย ไปเสีย เป็นปาจิตตีย์.
                ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ
ฉะนี้.
                                                เรื่องภิกษุมากรูป จบ.
                                                พระพุทธานุญาตให้เก็บเสนาสนะ
                [๓๗๕] ก็สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายอยู่ในที่แจ้ง รีบเก็บเสนาสนะก่อนกาลอันสมควร.
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุเหล่านั้น ผู้รีบเก็บเสนาสนะก่อนกาลอันสมควร, ครั้น
แล้วจึงทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุ
ทั้งหลายว่า.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เก็บเสนาสนะไว้ในปะรำหรือที่โคนไม้ หรือ
ในที่ซึ่งนกกาหรือนกเหยี่ยวจะไม่ถ่ายมูลรดได้ตลอด ๘ เดือน ซึ่งกำหนดว่ามิใช่ฤดูฝน.
                                                                สิกขาบทวิภังค์
                [๓๗๖] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ...
                บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ชื่อว่า ภิกษุ
ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้.
                ที่ชื่อว่า อันเป็นของสงฆ์ ได้แก่ ของที่เขาถวายแล้ว สละแล้วแก่สงฆ์.
                ที่ชื่อว่า เตียง ได้แก่ เตียง ๔ ชนิด คือ เตียงมีแม่แคร่สอดเข้าในขา ๑ เตียงมี
แคร่เนื่องเป็นอันเดียวกันกับขา ๑ เตียงมีขาดังก้ามปู ๑ เตียงมีขาจรดแม่แคร่ ๑.
                ที่ชื่อว่า ตั่ง ได้แก่ ตั่ง ๔ ชนิด คือ ตั่งมีแม่แคร่สอดเข้าในขา ๑ ตั่งมีแม่แคร่เนื่อง
เป็นอันเดียวกันกับขา ๑ ตั่งมีขาดังก้ามปู ๑ ตั่งมีขาจรดแม่แคร่ ๑.
                ที่ชื่อว่า ฟูก ได้แก่ ฟูก ๕ ชนิด คือ ฟูกขนสัตว์ ๑ ฟูกเปลือกไม้ ๑ ฟูกเศษผ้า ๑
ฟูกหญ้า ๑ ฟูกใบไม้ ๑.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘