พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ หน้า 341-345

                                                            หน้าที่ ๓๔๑

                                                ๑. มุสาวาทวรรค สิกขาบทที่ ๙
                                                เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร
                [๓๔๒] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตร กำลังเป็นผู้ก่อการ
ทะเลาะกับพระฉัพพัคคีย์ ท่านต้องอาบัติชื่อสัญเจตนิกาสุกกวิสัฏฐิ แล้วได้ขอปริวาสเพื่ออาบัติ
นั้นต่อสงฆ์ๆ ได้ให้ปริวาสเพื่ออาบัตินั้นแก่ท่าน. ก็แลสมัยนั้น ในพระนครสาวัตถีมีสังฆภัต
ของประชาชนหมู่หนึ่ง ท่านกำลังอยู่ปริวาส จึงนั่งท้ายอาสนะในโรงภัต พระฉัพพัคคีย์ได้กล่าว
กะอุบาสกเหล่านั้นว่า ท่านทั้งหลาย ท่านพระอุปนันทศากยบุตรนั่น เป็นพระประจำตระกูลที่
พวกท่านสรรเสริญ ได้พยายามปล่อยอสุจิด้วยมือ บริโภคของที่เขาถวายด้วยศรัทธา ท่านต้อง
อาบัติชื่อสัญเจตนิกาสุกกวิสัฏฐิแล้ว ได้ขออยู่ปริวาสเพื่ออาบัตินั้นต่อสงฆ์ๆ ได้ให้ปริวาสเพื่อ
อาบัตินั้น แก่ท่านแล้ว ท่านกำลังอยู่ปริวาส จึงนั่งท้ายอาสนะ.
                บรรดาภิกษุที่มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่างก็
เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระฉัพพัคคีย์จึงได้บอกอาบัติชั่วหยาบของภิกษุแก่อนุ-
ปสัมบันเล่า? แล้วกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
                                                                ทรงสอบถาม
                พระผู้มีพระภาคตรัสถามพระฉัพพัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า พวกเธอบอกอาบัติ
ชั่วหยาบของภิกษุแก่อนุปสัมบัน จริงหรือ?
                พระฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉน พวกเธอจึงบอก
อาบัติชั่วหยาบของภิกษุแก่อนุปสัมบันเล่า? การกระทำของพวกเธอนั่นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อม-
ใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว-.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-


                                                            หน้าที่ ๓๔๒

                                                                พระบัญญัติ
                ๕๘. ๙. อนึ่ง ภิกษุใด บอกอาบัติชั่วหยาบของภิกษุ แก่อนุปสัมบัน เว้นไว้
แต่ภิกษุได้รับสมมติ,  เป็นปาจิตตีย์.
                                                เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร จบ.
                                                                สิกขาบทวิภังค์
                [๓๔๓] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ...
                บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้ขอ ... นี้ ชื่อว่า ภิกษุ
ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้.
                บทว่า ของภิกษุ คือ ของภิกษุรูปอื่น.
                อาบัติที่ชื่อว่า ชั่วหยาบ ได้แก่ ปาราชิก ๔ และสังฆาทิเสส ๑๓.
                ที่ชื่อว่า อนุปสัมบัน คือ เว้นภิกษุและภิกษุณี นอกนั้นชื่อว่าอนุปสัมบัน.
                บทว่า บอก คือ บอกแก่สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต.
                บทว่า เว้นไว้แต่ภิกษุได้รับสมมติ คือ ยกเว้นแต่ภิกษุที่สงฆ์สมมติ.
                                                                บทภาชนีย์
                [๓๔๔] การสมมติภิกษุ กำหนดอาบัติ ไม่กำหนดสกุลก็มี,  การสมมติภิกษุ กำหนด
สกุล ไม่กำหนดอาบัติก็มี,  การสมมติภิกษุ กำหนดอาบัติและกำหนดสกุลก็มี,  การสมมติภิกษุ
ไม่กำหนดอาบัติ ไม่กำหนดสกุลก็มี.
                ที่ชื่อว่า กำหนดอาบัติ คือ สงฆ์กำหนดอาบัติว่า พึงบอกตามจำนวนอาบัติเท่านี้.
                ที่ชื่อว่า กำหนดสกุล คือ สงฆ์กำหนดสกุลว่า พึงบอกในสกุลมีจำนวนเท่านี้.
                ที่ชื่อว่า กำหนดอาบัติและกำหนดสกุล คือ สงฆ์กำหนดอาบัติและกำหนดสกุลไว้
ว่า พึงบอกตามจำนวนอาบัติเท่านี้ ในสกุลมีจำนวนเท่านี้.
                ที่ชื่อว่า ไม่กำหนดอาบัติ ไม่กำหนดสกุล คือ สงฆ์ไม่ได้กำหนดอาบัติ และไม่ได้
กำหนดสกุลไว้ว่า พึงบอกตามจำนวนอาบัติเท่านี้ ในสกุลมีจำนวนเท่านี้.
                [๓๔๕] ในการกำหนดอาบัติ ภิกษุบอกอาบัติอื่นนอกจากอาบัติที่สงฆ์กำหนดไว้ ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์.


                                                            หน้าที่ ๓๔๓

                ในการกำหนดสกุล ภิกษุบอกในสกุลอื่นนอกจากสกุลที่สงฆ์กำหนดไว้ ต้องอาบัติ-
ปาจิตตีย์.
                ในการกำหนดอาบัติและกำหนดสกุล ภิกษุบอกอาบัตินอกจากอาบัติที่สงฆ์กำหนดให้
ในสกุลนอกจากสกุลที่สงฆ์กำหนดให้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                ในการไม่กำหนดอาบัติ ไม่กำหนดสกุล บอก ไม่ต้องอาบัติ.
                                                                ติกะปาจิตตีย์
                [๓๔๖] อาบัติชั่วหยาบ ภิกษุสำคัญว่าอาบัติชั่วหยาบ บอกแก่อนุปสัมบัน เว้นไว้แต่
ภิกษุได้รับสมมติ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                อาบัติชั่วหยาบ ภิกษุสงสัย บอกแก่อนุปสัมบัน เว้นไว้แต่ภิกษุได้รับสมมติ,  ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์.
                อาบัติชั่วหยาบ ภิกษุสำคัญว่ามิใช่อาบัติชั่วหยาบ บอกแก่อนุปสัมบัน เว้นไว้แต่ภิกษุ
ได้รับสมมติ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                                                                ทุกกฏ
                [๓๔๗] ภิกษุบอกอาบัติไม่ชั่วหยาบ ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ภิกษุบอกอัชฌาจารที่ชั่วหยาบก็ตาม ไม่ชั่วหยาบก็ตาม แก่อนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ.
                อาบัติไม่ชั่วหยาบ ภิกษุสำคัญว่า อาบัติชั่วหยาบ ... ต้องอาบัติทุกกฏ.
                อาบัติไม่ชั่วหยาบ ภิกษุสงสัย ... ต้องอาบัติทุกกฏ.
                อาบัติไม่ชั่วหยาบ ภิกษุสำคัญว่า อาบัติไม่ชั่วหยาบ ... ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                                                อนาปัตติวาร
                [๓๔๘] ภิกษุบอกวัตถุ ไม่บอกอาบัติ ๑ ภิกษุบอกอาบัติ ไม่บอกวัตถุ ๑ ภิกษุได้รับ
สมมติ ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
                                                มุสาวาทวรรค สิกขาบทที่ ๙ จบ.
                                                ________________


                                                            หน้าที่ ๓๔๔

                                                ๑. มุสาวาทวรรค สิกขาบทที่ ๑๐
                                                เรื่องภิกษุชาวรัฐอาฬวี
                [๓๔๙] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ อัคคาฬวเจดีย์ เขตรัฐ
อาฬวี. ครั้งนั้น พวกภิกษุชาวรัฐอาฬวีช่วยกันทำนวกรรม ขุดเองบ้าง ให้คนอื่นขุดบ้างซึ่งปฐพี.
คนทั้งหลายพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรจึงได้
ขุดเองบ้าง ให้คนอื่นขุดบ้างซึ่งปฐพี? พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร ย่อมเบียดเบียนอินทรีย์
อย่างหนึ่ง ซึ่งมีชีวะ. ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่. บรรดาที่
เป็นผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน
โพนทะนาว่า ไฉน ภิกษุชาวรัฐอาฬวีจึงได้ขุดเองบ้าง ให้คนอื่นขุดบ้างซึ่งปฐพีเล่า? แล้วกราบ
ทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
                                                                ทรงสอบถาม
                พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่าพวกเธอขุดเองบ้าง ให้คนอื่นขุด
บ้างซึ่งปฐพี จริงหรือ?
                ภิกษุชาวรัฐอาฬวีทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉน พวกเธอจึงได้ขุด
เองบ้าง ให้คนอื่นขุดบ้างซึ่งปฐพีเล่า? เพราะคนทั้งหลายสำคัญในปฐพีว่ามีชีวะ การกระทำ
ของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่ง
ของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว-.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
                                                                พระบัญญัติ
                ๕๙. ๑๐. อนึ่ง ภิกษุใด ขุดก็ดี ให้ขุดก็ดี ซึ่งปฐพี,  เป็นปาจิตตีย์.
                                                เรื่องภิกษุชาวรัฐอาฬวี จบ.


                                                            หน้าที่ ๓๔๕

                                                                สิกขาบทวิภังค์
                [๓๕๐] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือผู้เช่นใด ...
                บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ชื่อว่า ภิกษุ ที่
ทรงประสงค์ในอรรถนี้.
                ที่ชื่อว่า ปฐพี ได้แก่ปฐพี ๒ อย่าง คือ ปฐพีแท้อย่างหนึ่ง ปฐพีไม่แท้อย่างหนึ่ง.
                ที่ชื่อว่า ปฐพีแท้ คือ มีดินร่วนล้วน มีดินเหนียวล้วน มีหินน้อย มีกรวดน้อย
มีกระเบื้องน้อย มีแร่น้อย มีทรายน้อย มีดินร่วนมาก มีดินเหนียวมาก แม้ดินที่ยังไม่ได้เผาไฟ
ก็เรียกว่า ปฐพีแท้.
                กองดินร่วนก็ดี กองดินเหนียวก็ดี ที่ฝนตกรดเกิน ๔ เดือนมาแล้ว แม้นี้ก็เรียกว่า
ปฐพีแท้.
                ที่ชื่อว่า ปฐพีไม่แท้ คือเป็นหินล้วน เป็นกรวดล้วน เป็นกระเบื้องล้วน เป็นแร่ล้วน
เป็นทรายล้วน มีดินร่วนน้อย มีดินเหนียวน้อย มีหินมาก มีกรวด มีกระเบื้อง มีแร่ มีทรายมาก
แม้ดินที่เผาไฟแล้ว ก็เรียกว่า ปฐพีไม่แท้.
                กองดินร่วนก็ดี กองดินเหนียวก็ดี ที่ฝนตกรดยังหย่อนกว่า ๔ เดือน,  แม้นี้ก็เรียกว่า
ปฐพีไม่แท้.
                [๓๕๑] บทว่า ขุด คือ ขุดเอง ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                บทว่า ให้ขุด คือ ใช้ให้คนอื่นขุด ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                สั่งครั้งเดียว เขาขุดแม้หลายครั้ง ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                                                                บทภาชนีย์
                [๓๕๒] ปฐพี ภิกษุสำคัญว่า ปฐพี ขุดเองก็ดี ใช้ให้เขาขุดก็ดี ทำลายเองก็ดี
ใช้ให้เขาทำลายก็ดี เผาไฟเองก็ดี ใช้ให้เขาเผาไฟก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                ปฐพี ภิกษุสงสัย ขุดเองก็ดี ใช้ให้เขาขุดก็ดี ทำลายเองก็ดี ใช้ให้เขาทำลายก็ดี
เผาไฟเองก็ดี ใช้ให้เขาเผาไฟก็ดี ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ปฐพี ภิกษุสำคัญว่า มิใช่ปฐพี ขุดเองก็ดี ใช้ให้เขาขุดก็ดี ทำลายเองก็ดี ใช้ให้
เขาทำลายก็ดี เผาไฟเองก็ดี ใช้ให้เขาเผาไฟก็ดี ไม่ต้องอาบัติ.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘