พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๓ ภิกขุนีวิภังค์ หน้า 321-325

                                                            หน้าที่ ๓๒๑

                ภิกษุณีผู้อาพาธตอบว่า แม่เจ้า เมื่อก่อนพวกดิฉันขอนมส้มเขามาฉันได้ด้วยเหตุที่ฉันนม
ส้มได้นั้น พวกดิฉันจึงมีความผาสุก แต่บัดนี้ พวกดิฉันรังเกียจอยู่ว่า พระผู้มีพระภาคทรงห้าม
เสียแล้วจึงไม่กล้าขอ เพราะเหตุที่ไม่ได้ฉันนมส้มนั้น ความผาสุกจึงไม่มีแก่พวกดิฉัน.
                ภิกษุทั้งหลายได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ...
                                ทรงอนุญาตนมส้ม
                พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุณีผู้อาพาธขอนมส้ม
เขามาฉันได้.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุณีทั้งหลาย จงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:
                                พระอนุบัญญัติ
                ๒๒๙. ๘. ก. อนึ่ง ภิกษุณีใด ไม่เป็นไข้ ขอนมส้มมาฉัน ภิกษุณีนั้นพึงแสดง
คืนว่า แม่เจ้า ดิฉันต้องธรรมที่น่าติ  ไม่เป็นสัปปายะ ควรจะแสดงคืน ดิฉันแสดงคืนธรรมนั้น.
                                เรื่องภิกษุณีอาพาธ จบ.
                                สิกขาบทวิภังค์
                บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่าผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ...
                บทว่า ภิกษุณี ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุณี เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ...  นี้ชื่อว่า ภิกษุณี
ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้.
                ที่ชื่อว่า ไม่เป็นไข้ คือ เว้นนมส้มก็มีความผาสุก.
                ที่ชื่อว่า เป็นไข้ คือ เว้นนมส้มแล้วไม่มีความผาสุก.
                ที่ชื่อว่า นมส้ม ได้แก่ นมส้มของสัตว์มีโคเป็นต้น เหล่านั้นแล.
                ภิกษุณีไม่เป็นไข้ ขอเขามาเพื่อประโยชน์ตน เป็นทุกกฏในประโยค ได้มารับประเคนไว้
ด้วยตั้งใจว่า จักฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ ฉัน ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะทุกๆ คำกลืน.
                                บทภาชนีย์
                                ติกะปาฏิเทสนียะ
                ภิกษุณีไม่เป็นไข้ สำคัญว่าไม่เป็นไข้ ขอนมส้มมาฉัน ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ.
                ภิกษุณีไม่เป็นไข้ มีความสงสัย ขอนมส้มมาฉัน ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ.
                ภิกษุณีไม่เป็นไข้ สำคัญว่าเป็นไข้ ขอนมส้มมาฉัน ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ.


                                                            หน้าที่ ๓๒๒

                                ทุกะทุกกฏ
                ภิกษุณีเป็นไข้ สำคัญว่าไม่เป็นไข้ ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ภิกษุณีเป็นไข้ มีความสงสัย ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                ไม่ต้องอาบัติ
                ภิกษุณีเป็นไข้ สำคัญว่าเป็นไข้ ไม่ต้องอาบัติ.
                                อนาปัตติวาร
                อาพาธ ๑ อาพาธขอได้มา หายอาพาธแล้วจึงฉัน ๑ ฉันนมส้มที่เหลือของภิกษุณีผู้อาพาธ ๑
ฉันนมส้มของญาติ ๑ ฉันนมส้มของคนปวารณา ๑ ขอเพื่อประโยชน์ผู้อื่น ๑ จ่ายมาด้วยทรัพย์
ของตน ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกา ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
                                ปาฏิเทสนียะ สิกขาบทที่ ๘ จบ.
                                __________________________
                                บทสรุป
                [๔๙๔] แม่เจ้าทั้งหลาย ธรรมคือปาฏิเทสนียะ ๘ สิกขาบท ข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้วแล
ข้าพเจ้าขอถามแม่เจ้าทั้งหลาย ในธรรม คือ ปาฏิเทสนียะ ๘ สิกขาบทนั้นว่า ท่านทั้งหลายเป็นผู้
บริสุทธิ์แล้วหรือ ข้าพเจ้าขอถามแม้ครั้งที่สองว่า ท่านทั้งหลายเป็นผู้บริสุทธิ์แล้วหรือ ข้าพเจ้า
ขอถามแม้ครั้งที่สามว่า ท่านทั้งหลายเป็นผู้บริสุทธิ์แล้วหรือ ท่านทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วในธรรมคือ
ปาฏิเทสนียะทั้ง ๘ สิกขาบทเหล่านี้ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้.
                                ปาฏิเทสนียกัณฑ์ จบ.
                                ________________


                                                            หน้าที่ ๓๒๓

                                เสขิยกัณฑ์
                แม่เจ้าทั้งหลาย อนึ่ง ธรรมคือเสขิยะเหล่านี้แล มาสู่อุเทศ
                                เสขิยะ สิกขาบทที่ ๑
                                เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์
                [๔๙๕] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น เหล่าภิกษุณีฉัพพัคคีย์นุ่งผ้าเลื้อยหน้าบ้าง เลื้อยหลัง
บ้าง. ชาวบ้านทั้งหลายพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน ภิกษุณีทั้งหลายจึงได้นุ่งผ้าเลื้อย
หน้าบ้าง เลื้อยหลังบ้าง ดุจดังสตรีคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า.
                ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินชาวบ้านพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาที่เป็นผู้
มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน ภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึงได้นุ่งผ้าเลื้อยหน้าบ้าง
เลื้อยหลังบ้างเล่า ครั้นแล้วได้แจ้งเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลายๆ ได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
                                ทรงสอบถาม
                ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงกระทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะ
เหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ข่าวว่า พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์นุ่งผ้าเลื้อยหน้าบ้าง เลื้อยหลังบ้าง จริงหรือ?
                ภิกษุทั้งหลายกราบว่าทูล จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉน พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึงได้
นุ่งผ้าเลื้อยหน้าบ้าง เลื้อยหลังบ้างเล่า การกระทำของพวกนางนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใส
ของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ...
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุณีทั้งหลายจงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:
                                พระบัญญัติ
                ๒๓๐. ๑. ภิกษุณีพึงทำความศึกษาว่า เราจักนุ่งเป็นปริมณฑล.
                                เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์ จบ.


                                                            หน้าที่ ๓๒๔

                                สิกขาบทวิภังค์
                [๔๙๖] ที่ชื่อว่า นุ่งเป็นปริมณฑล คือ ปิดมณฑลสะดือ มณฑลเข่า.
                ภิกษุณีใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ นุ่งผ้าเลื้อยหน้าก็ดี เลื้อยหลังก็ดี ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                อนาปัตติวาร
                [๔๙๗] ไม่แกล้ง ๑ ไม่ตั้งใจ ๑ เผลอ ๑ อาพาธ ๑ มีเหตุขัดข้อง ๑ วิกลจริต ๑
อาทิกัมมิกา ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
                                เสขิยะ สิกขาบทที่ ๑ จบ.
                                _____________________


                                                            หน้าที่ ๓๒๕

                                                ความย่อ
                                เสขิยะ สิกขาบทที่ ๗๕
                                เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์
                [๔๙๘] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น เหล่าภิกษุณีฉัพพัคคีย์ถ่ายอุจจาระบ้าง ปัสสาวะบ้าง
บ้วนเขฬะบ้าง ลงในน้ำ. ชาวบ้านพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน ภิกษุณีทั้งหลาย
จึงได้ถ่ายอุจจาระบ้าง ปัสสาวะบ้าง บ้วนเขฬะบ้าง ลงในน้ำ เหมือนสตรีคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า.
                ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินชาวบ้านพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาที่เป็นผู้
มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน ภิกษุณีเหล่าฉัพพัคคีย์จึงได้ถ่ายอุจจาระบ้าง
ปัสสาวะบ้าง บ้วนเขฬะบ้าง ลงในน้ำเล่า ครั้นแล้วได้แจ้งเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลายๆ ได้กราบทูล
เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
                                ทรงสอบถาม
                ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงกระทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ
แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ข่าวว่า พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์ ถ่ายอุจจาระบ้าง ปัสสาวะบ้าง บ้วนเขฬะบ้าง ลงในน้ำ จริงหรือ?
                ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉน พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึงได้
ถ่ายอุจจาระบ้าง ปัสสาวะบ้าง บ้วนเขฬะบ้าง ลงในน้ำเล่า การกระทำของพวกนางนั่น ไม่เป็น
ไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ...
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุณีทั้งหลายจงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:
# ๑. เสขิยสิกขาบทต่อไปนี้  ตั้งแต่สิกขาบทที่ ๒๓๑.๒. ถึง ๓๐๓.๗๔  ท่านมิได้จารึกไว้  เพราะเป็น
สาธารณบัญญัติ  พึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้วในมหาวังค์โน้น  เทอญ.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘