พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ หน้า 301-305

                                                            หน้าที่ ๓๐๑

                                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงได้แสดงธรรมแก่มาตุคาม
เล่า การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อ
ความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ...
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
                                                                พระบัญญัติ
                ๕๖. ๗. ก. อนึ่ง ภิกษุใด แสดงธรรมแก่มาตุคาม เป็นปาจิตตีย์.
                ก็สิกขาบทนี้ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้ว แก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ
ฉะนี้.
                                                เรื่องพระอุทายี จบ.
                                                                เรื่องอุบาสิกา
                [๒๙๙] ก็โดยสมัยนั้นแล พวกอุบาสิกาพบภิกษุทั้งหลาย แล้วได้กล่าวนิมนต์ว่า ข้าแต่
พระคุณเจ้าทั้งหลาย ขออาราธนาพระคุณเจ้าแสดงธรรม.
                ภิกษุเหล่านั้นตอบปฏิเสธว่า ดูกรน้องหญิง การแสดงธรรมแก่มาตุคามไม่ควร.
                พวกอุบาสิกาอ้อนวอนว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าทั้งหลาย ขออาราธนาแสดงธรรมเพียง
๕-๖ คำ พวกข้าพเจ้าก็สามารถจะรู้ทั่วถึงธรรม แม้ด้วยถ้อยคำเพียงเท่านี้.
                ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า ดูกรน้องหญิง การแสดงธรรมแก่มาตุคามไม่ควรดังนี้แล้ว
รังเกียจ ไม่แสดงธรรม.
                พวกอุบาสิกาต่างพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระคุณเจ้าทั้งหลาย อันเรา
อาราธนาอยู่ จึงไม่แสดงธรรมเล่า.
                ภิกษุทั้งหลายได้ยินอุบาสิกาพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ จึงกราบทูลเนื้อ
ความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
                ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงกระทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ
แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้แสดงธรรมแก่
มาตุคามได้เพียง ๕-๖ คำ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล พวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้
ว่าดังนี้:-


                                                            หน้าที่ ๓๐๒

                                                                พระอนุบัญญัติ
                ๕๖. ๗. ข. อนึ่ง ภิกษุใดแสดงธรรมแก่มาตุคาม ยิ่งกว่า ๕-๖ คำ เป็น
ปาจิตตีย์.
                ก็สิกขาบทนี้ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้ว แก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ
ฉะนี้.
                                                เรื่องอุบาสิกา จบ.
                                                เรื่องพระฉัพพัคคีย์
                [๓๐๐] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์ทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้
แสดงธรรมแก่มาตุคามได้เพียง ๕-๖ คำ จึงให้บุรุษผู้ไม่รู้เดียงสานั่งใกล้ๆ แล้วแสดงธรรมแก่
มาตุคามเกิน ๕-๖ คำ. บรรดาภิกษุที่มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อ
สิกขา ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระฉัพพัคคีย์จึงได้ให้บุรุษผู้ไม่รู้เดียงสา
นั่งใกล้ๆ แล้วแสดงธรรมแก่มาตุคามเกิน ๕-๖ คำเล่า แล้วกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มี
พระภาค ...
                                                                ทรงสอบถาม
                พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามพระฉัพพัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า พวกเธอให้บุรุษ
ผู้ไม่รู้เดียงสานั่งใกล้ๆ แล้วแสดงธรรมแก่มาตุคามเกิน ๕-๖ คำ จริงหรือ?
                พระฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงได้ให้
บุรุษผู้ไม่รู้เดียงสานั่งใกล้ๆ แล้วแสดงธรรมแก่มาตุคามเกิน ๕-๖ คำเล่า การกระทำของ
พวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่ง
ของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ...
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
                                                                พระอนุบัญญัติ
                ๕๖. ๗. ค. อนึ่ง ภิกษุใดแสดงธรรมแก่มาตุคามยิ่งกว่า ๕-๖ คำ เว้นไว้แต่
มีบุรุษผู้รู้เดียงสาอยู่ เป็นปาจิตตีย์.
                                                เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ.


                                                            หน้าที่ ๓๐๓

                                                                สิกขาบทวิภังค์
                [๓๐๑] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือผู้เช่นใด ...
                บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ ชื่อว่า ภิกษุ
ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้.
                ที่ชื่อว่า มาตุคาม ได้แก่หญิงมนุษย์ ไม่ใช่หญิงยักษ์ ไม่ใช่หญิงเปรต ไม่ใช่สัตว์
ดิรัจฉานตัวเมีย เป็นผู้รู้เดียงสา สามารถทราบถ้อยคำที่เป็นสุภาษิต ทุพภาษิตชั่วหยาบและสุภาพ.
                บทว่า ยิ่งกว่า ๕-๖ คำ คือ เกินกว่า ๕-๖ คำ.
                ที่ชื่อว่า ธรรม ได้แก่ถ้อยคำที่เป็นพุทธภาษิต สาวกภาษิต อิสิภาษิต เทวตาภาษิต
ซึ่งประกอบด้วยอรรถ ประกอบด้วยธรรม.
                บทว่า แสดง คือ แสดงโดยบท ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ทุกๆ บท.
                แสดงโดยอักขระ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ อักขระ.
                คำว่า เว้นไว้แต่มีบุรุษผู้รู้เดียงสาอยู่ คือ ยกไว้แต่บุรุษผู้รู้ความอยู่ด้วย.
                บุรุษที่ชื่อว่า ผู้รู้เดียงสา คือเป็นผู้สามารถทราบถ้อยคำที่เป็นสุภาษิต ทุพภาษิต
ชั่วหยาบและสุภาพ.
                                                                บทภาชนีย์
                                                                ติกปาจิตตีย์
                [๓๐๒] มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่ามาตุคาม แสดงธรรมยิ่งกว่า ๕-๖ คำ เว้นไว้แต่มี
บุรุษผู้รู้เดียงสาอยู่ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                มาตุคาม ภิกษุสงสัย แสดงธรรมยิ่งกว่า ๕-๖ คำ เว้นไว้แต่มีบุรุษผู้รู้เดียงสาอยู่
ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่า มิใช่มาตุคาม แสดงธรรมยิ่งกว่า ๕-๖ คำ เว้นไว้แต่มีบุรุษ
ผู้รู้เดียงสาอยู่,  ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                                                                ติกทุกกฏ
                ภิกษุแสดงธรรมแก่หญิงยักษ์ หญิงเปรต บัณเฑาะก์ หรือสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย มีกาย
คล้ายมนุษย์ ยิ่งกว่า ๕-๖ คำ เว้นไว้แต่มีบุรุษผู้รู้เดียงสาอยู่ ต้องอาบัติทุกกฏ.


                                                            หน้าที่ ๓๐๔

                มิใช่มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่ามาตุคาม, ... ต้องอาบัติทุกกฏ.
                มิใช่มาตุคาม ภิกษุสงสัย, ... ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                                                ไม่ต้องอาบัติ
                มิใช่มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่ามิใช่มาตุคาม, ... ไม่ต้องอาบัติ.
                                                                อนาปัตติวาร
                [๓๐๓] มีบุรุษผู้รู้เดียงสาอยู่ด้วย ๑ ภิกษุแสดงธรรมเพียง ๕-๖ คำ ๑ ภิกษุแสดง-
ธรรมหย่อนกว่า ๕-๖ คำ ๑ ภิกษุลุกขึ้นแล้วนั่งแสดงธรรมต่อไป ๑ มาตุคามลุกขึ้นแล้วนั่ง
ลงอีก ภิกษุแสดงแก่มาตุคามนั้น ๑ ภิกษุแสดงแก่มาตุคามอื่น ๑ มาตุคามถามปัญหา ภิกษุ
ถูกถามปัญหาแล้วกล่าวแก้ ๑ ภิกษุแสดงธรรมเพื่อประโยชน์แก่คนอื่นอยู่ มาตุคามฟังอยู่ด้วย ๑
ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
                                                มุสาวาทวรรค สิกขาบทที่ ๗ จบ.
                                                _______________


                                                            หน้าที่ ๓๐๕

                                                ๑. มุสาวาทวรรค สิกขาบทที่ ๘
                                                เรื่องภิกษุพวกฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา
                [๓๐๔] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน
เขตพระนครเวสาลี. ครั้งนั้น ภิกษุมากรูปด้วยกัน ซึ่งเคยเห็นร่วมคบหากันมา จำพรรษาอยู่ใกล้
ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา.
                ก็แลสมัยนั้น วัชชีชนบทอัตคัดอาหาร. ประชาชนหาเลี้ยงชีพฝืดเคือง มีข้าวตายฝอย
ต้องมีสลากซื้ออาหาร. ภิกษุสงฆ์จะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยการถือบาตรแสวงหา ก็ทำไม่ได้ง่าย.
จึงภิกษุเหล่านั้นคิดกันว่า บัดนี้วัชชีชนบทอัตคัดอาหาร ประชาชนหาเลี้ยงชีพฝืดเคือง มีข้าว
ตายฝอย ต้องมีสลากซื้ออาหาร ภิกษุสงฆ์จะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยการถือบาตรแสวงหา ก็ทำ
ไม่ได้ง่าย. พวกเราจะพึงเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก
และจักไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต ด้วยอุบายอย่างไรหนอ.
                ภิกษุบางพวกพูดอย่างนี้ อาวุโสทั้งหลาย ผิฉะนั้น พวกเราจะช่วยกันอำนวยกิจการอัน-
เป็นหน้าที่ของพวกคฤหัสถ์เถิด,  เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเขาจักมุ่งถวายบิณฑบาตแก่พวกเรา ด้วย
อุบายอย่างนี้,  พวกเราจะพึงเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก
และจักไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต.
                ภิกษุบางพวกพูดอย่างนี้ว่า ไม่ควร ท่านทั้งหลาย จะประโยชน์อะไรด้วยการช่วยกัน
อำนวยกิจการอันเป็นหน้าที่ของพวกคฤหัสถ์ ท่านทั้งหลาย ผิฉะนั้น พวกเราจงช่วยกันนำข่าว
สาส์นอันเป็นหน้าที่ทูตของพวกคฤหัสถ์เถิด เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเขาจักมุ่งถวายบิณฑบาตแก่
พวกเรา ด้วยอุบายอย่างนี้,  พวกเราจักเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน อยู่จำ-
พรรษาเป็นผาสุก และจักไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต.
                ภิกษุบางพวกพูดอย่างนี้ว่า อย่าเลย ท่านทั้งหลาย จะประโยชน์อะไรด้วยการช่วยกัน
อำนวยกิจการอันเป็นหน้าที่ของพวกคฤหัสถ์ จะประโยชน์อะไรด้วยการช่วยกันนำข่าวสาส์นอัน
เป็นหน้าที่ทูตของพวกคฤหัสถ์ ท่านทั้งหลาย ผิฉะนั้น พวกเราจักกล่าวชมอุตตริมนุสสธรรม

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘