พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒ หน้า 276-278

                                                            หน้าที่ ๒๗๖

                พ. อุบาลี ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาทแห่งสงฆ์
ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ การถือต่างกันแห่งสงฆ์ การทำต่างกันแห่งสงฆ์
ย่อมมีเพราะเรื่องใด สงฆ์วินิจฉัยเรื่องนั้น สาวเข้าไปถึงมูลเหตุ จากมูลเหตุ แล้วทำสังฆสามัคคี
สังฆสามัคคีนั้นเป็นธรรม.
                อ. สังฆสามัคคีมีเท่าไร พระพุทธเจ้า?
                พ. อุบาลี สังฆสามัคคีมี ๒ อย่าง คือ สังฆสามัคคีเสียอรรถ แต่ได้พยัญชนะ ๑
สังฆสามัคคีได้ทั้งอรรถได้ทั้งพยัญชนะ ๑
                ๑. อุบาลี สังฆสามัคคีเสียอรรถ แต่ได้พยัญชนะเป็นไฉนเล่า?
                ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาทแห่งสงฆ์ ความแตกแห่งสงฆ์
ความร้าวรานแห่งสงฆ์ การถือต่างกันแห่งสงฆ์ การทำต่างกันแห่งสงฆ์ ย่อมมีเพราะเรื่องใด
สงฆ์ยังไม่ทันวินิจฉัยเรื่องนั้น ยังไม่ทันสาวเข้าไปถึงมูลเหตุจากมูลเหตุ แล้วทำสังฆสามัคคี
นี้เรียกว่าสังฆสามัคคีเสียอรรถ แต่ได้พยัญชนะ.
                ๒. อุบาลี สังฆสามัคคี ได้ทั้งอรรถได้ทั้งพยัญชนะเป็นไฉนเล่า?
                ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาทแห่งสงฆ์ ความแตกแห่งสงฆ์
ความร้าวรานแห่งสงฆ์ การถือต่างกันแห่งสงฆ์ การทำต่างกันแห่งสงฆ์ ย่อมมีเพราะเรื่องใด
สงฆ์วินิจฉัยเรื่องนั้น สาวเข้าไปถึงมูลเหตุ จากมูลเหตุ แล้วทำสังฆสามัคคี นี้เรียกว่า
สังฆสามัคคีที่ได้ทั้งอรรถ ได้ทั้งพยัญชนะ อุบาลี สังฆสามัคคี ๒ อย่างนี้แล.
                ลำดับนั้น ท่านพระอุบาลีลุกจากอาสน์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า ประนมมือไปทาง
พระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถา ว่าดังนี้:-
                                                                                อุบาลีคาถา
                [๒๖๐] อุ. เมื่อกิจของสงฆ์ การปรึกษาวินัย การตีความ
                วินัย และการวินิจฉัยความแห่งวินัยเกิดขึ้นแล้ว ภิกษุใน
                ธรรมวินัยนี้ เป็นคนชนิดไร จึงมีอุปการะมาก เป็นคน
                ชนิดไร จึงควรยกย่อง ในพระธรรมวินัยนี้
                พ. เบื้องต้น ภิกษุไม่ถูกตำหนิโดยศีล หมั่นตรวจตรา
                มารยาท และสำรวมอินทรีย์เรียบร้อย ศัตรูติเตียนไม่ได้
                โดยธรรม เพราะเธอไม่มีความผิดที่ฝ่ายศัตรูจะพึงกล่าวถึง


                                                            หน้าที่ ๒๗๗

                เธอผู้เช่นนั้น ตั้งอยู่ในศีลวิสุทธิ เป็นผู้แกล้วกล้า พูด
                จาฉาดฉาน เข้าที่ประชุมไม่สะดุ้ง ไม่ประหม่า กล่าว
                ถ้อยคำมีเหตุ ไม่ให้เสียความ ถึงถูกถามปัญหาในที่ประชุม
                ก็เช่นนั้นเหมือนกัน ย่อมไม่นิ่งอั้น ไม่เก้อ เธอเป็นผู้
                เชี่ยวชาญ กล่าวถ้อยคำถูกกาล เหมาะแก่การพยากรณ์
                ย่อมยังหมู่วิญญูชนให้พอใจ มีความเคารพในภิกษุทั้งหลาย
                ที่แก่พรรษากว่า เป็นผู้แกล้วกล้าในอาจริยวาทของตน
                สามารถเพื่อจะวิจารณ์ ชำนาญในถ้อยคำที่จะพึงกล่าว ฉลาด
                จับข้อพิรุธของฝ่ายศัตรู เป็นเหตุให้ฝ่ายศัตรูถึงความถูก
                ปราบ และมหาชนก็ยินยอม อนึ่ง ภิกษุนี้ย่อมไม่ลบล้าง
                ลัทธิเป็นที่เชื่อถือ คืออาจริยวาทของตน แก้ปัญหาได้
                ไม่ติดขัด สามารถในหน้าที่ทูต และยอมรับทำกิจของสงฆ์
                ดุจรับบิณฑบาตของที่เขานำมาบูชาฉะนั้น ถูกคณะภิกษุส่ง
                ไปให้ทำหน้าที่เจรจา ก็ไม่ทะนงตัวว่า ตนทำได้ เพราะ
                การทำหน้าที่เจรจานั้น ภิกษุต้องอาบัติเพราะวัตถุมีประมาณ
                เท่าใด และการออกจากอาบัติย่อมมีด้วยวิธีใด วิภังค์
                ทั้งสองนั้นมาแล้วด้วยดีแก่ภิกษุนั้น ภิกษุนั้นเป็นผู้ฉลาด
                ในวิธีการออกจากอาบัติ อนึ่ง ภิกษุทำกรรมมีก่อความ
                บาดหมางเป็นต้นเหล่าใด ย่อมถึงการขับออก และถูกขับ
                ออก ด้วยเรื่องเช่นใด เธอฉลาดในวิภังค์ ย่อมเข้าใจ
                วิธีการรับเข้าหมู่ แม้นั้น ที่ควรทำแก่ภิกษุผู้ประพฤติวัตร
                นั้นเสร็จแล้ว มีความเคารพในพระผู้เจริญกว่า คือที่เป็น
                ผู้ใหญ่ ปานกลาง และผู้ใหม่ เป็นบัณฑิต ประพฤติ
                ประโยชน์แก่มหาชนในโลกนี้ ภิกษุผู้เช่นนั้นนั่น จึงควร
                ยกย่องในธรรมวินัยนี้แล.
                                                โกสัมพิขันธกะ ที่ ๑๐ จบ.
                                                                _________________


                                                            หน้าที่ ๒๗๘

                                                                หัวข้อประจำขันธกะ
                [๒๖๑] เรื่องสมเด็จพระชินวรประทับในพระนครโกสัมพี ภิกษุวิวาทกันเพราะไม่เห็น
อาบัติ และยกกันเพราะเหตุเล็กน้อย เรื่องทรงแนะนำให้ภิกษุแสดงอาบัติ เรื่องภิกษุผู้สนับสนุน
ฝ่ายถูกยกทำอุโบสถภายในสีมานั้นเอง เรื่องบ้านพาลกโลณการกคาม เรื่องเสด็จพระพุทธดำเนินสู่
ปราจีนวังสทายวัน เรื่องเสด็จพระพุทธดำเนินสู่ป่าปาริไลยกะ เรื่องเสด็จพระพุทธดำเนินสู่พระนคร
สาวัตถี เรื่องพระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระโกลิตะ พระมหากัสสปะ พระมหากัจจานะ
พระมหาโกฏฐิตะ  พระมหากัปปินะ พระมหาจุนทะ พระอนุรุทธะ พระเรวตะ พระอุบาลี
พระอานนท์ พระราหุล พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี อนาถบิณฑิกคหบดี และนางวิสาขามิคารมาตา
เข้าเฝ้าทูลถามข้อปฏิบัติ เรื่องเสนาสนะว่าง เรื่องจัดเสนาสนะให้ว่าง เรื่องแบ่งอามิสให้เท่าๆ กัน
เรื่องทำสังฆสามัคคีภิกษุรูปไรจะให้ฉันทะไม่ได้ เรื่องพระอุบาลีเข้าเฝ้าทูลถามสังฆสามัคคีในศาสนา
ของพระชินเจ้า เรื่องไม่ถูกตำหนิโดยศีล.
                                                                มหาวรรค ภาค ๒ จบ.
                                                                _________________

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘