พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒ หน้า 266-270

                                                            หน้าที่ ๒๖๖

                พ. ดูกรพวกอนุรุทธะ ก็พวกเธอเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส มีตนส่งไป
อยู่หรือ?
                อ. พวกข้าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส มีตนส่งไปอยู่โดย
ส่วนเดียว พระพุทธเจ้าข้า
                พ. ดูกรพวกอนุรุทธะ พวกเธอเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส มีตนส่งไปอยู่
ด้วยวิธีอย่างไรเล่า?
                อ. พระพุทธเจ้า ในข้อนี้ บรรดาพวกข้าพระพุทธเจ้า รูปใดบิณฑบาตกลับจากบ้านก่อน
รูปนั้นก็ปูอาสนะ ตั้งน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้ ล้างสำรับกับข้าวแล้วตั้งไว้
ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้ รูปใดบิณฑบาตกลับจากบ้านทีหลัง ถ้ามีอาหารที่ฉันแล้วเหลืออยู่ ถ้าต้องการ
ก็ฉัน ถ้าไม่ต้องการ ก็เททิ้งในที่ปราศจากของเขียวสด หรือล้างเสียในน้ำที่ไม่มีตัวสัตว์ รูปนั้น
รื้ออาสนะเก็บน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า ล้างสำรับกับข้าวแล้วเก็บไว้ เก็บน้ำฉัน
น้ำใช้ กวาดโรงฉัน รูปใดเห็นหม้อน้ำฉัน หม้อน้ำใช้ หรือหม้อน้ำในวัจจกุฎีว่างเปล่า รูปนั้น
ก็ตักน้ำตั้งไว้ ถ้ารูปนั้นไม่สามารถ พวกข้าพระพุทธเจ้าก็กวักมือเรียกเพื่อนมา แล้วช่วยกันตักยก
เข้าไปตั้งไว้ แต่พวกข้าพระพุทธเจ้ามิได้บ่นว่า เพราะข้อนั้นเป็นเหตุเลย และพวกข้าพระพุทธเจ้า
นั่งประชุมกันด้วยธรรมมีกถาตลอดคืนยันรุ่งทุกๆ ๕ วัน พวกข้าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ไม่ประมาท
มีความเพียรเผากิเลส มีตนส่งไปอยู่ ด้วยวิธีอย่างนี้แล พระพุทธเจ้าข้า
                ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงชี้แจง ให้ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระนันทิยะ และ
ท่านพระกิมพิละ เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา แล้วทรงลุกจากที่ประทับ
เสด็จพระพุทธดำเนินไปทางตำบลบ้านปาริไลยกะ เสด็จจาริกโดยลำดับ ถึงตำบลบ้านปาริไลยกะ
ทราบว่าพระองค์ประทับอยู่ที่โคนไม้รังใหญ่ ในไพรสณฑ์รักขิตวัน เขตตำบลบ้านปาริไลยกะนั้น.
                                                                เรื่องช้างใหญ่ปาริไลยกะ
                [๒๔๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จไปในที่สงัดทรงหลีกเร้นอยู่ ได้มีความปริวิตก
แห่งพระทัยเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราวุ่นด้วยภิกษุชาวเมืองโกสัมพี ที่ก่อความบาดหมาง
ก่อการทะเลาะ ก่อการวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์เหล่านั้น อยู่ไม่สำราญเลย
เดี๋ยวนี้ เราว่างเว้นจากภิกษุชาวเมืองโกสัมพี ที่ก่อความบาดหมาง ก่อการทะเลาะ ก่อการวิวาท
ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์เหล่านั้น อยู่คนเดียว ไม่มีเพื่อน เป็นสุขสำราญดี


                                                            หน้าที่ ๒๖๗

                แม้ช้างใหญ่เชือกหนึ่งก็ยุ่งอยู่ด้วยช้างพลาย ช้างพัง ลูกช้างใหญ่ ลูกช้างเล็ก ได้กิน
แต่หญ้ายอดด้วน ส่วนกิ่งไม้ที่พระยาช้างนั้นหักลงมากองไว้ ช้างเหล่านั้นก็กินหมด ได้ดื่มแต่
น้ำขุ่นๆ เมื่อพระยาช้างนั้นลงและขึ้นจากท่า ช้างพังก็เดินเสียดสีกายไป ต่อมาพระยาช้างนั้น
ได้มีความปริวิตกดังนี้ว่า เรายุ่งอยู่ด้วยช้างพลาย ช้างพัง ลูกช้างใหญ่ ลูกช้างเล็ก ได้กินแต่
หญ้ายอดด้วน ส่วนกิ่งไม้ที่เราหักลงมากองไว้ช้างเหล่านั้นก็กินหมด ได้ดื่มแต่น้ำขุ่นๆ เมื่อเรา
ลงและขึ้นจากท่า ช้างพังก็เดินเสียดสีกายไป ไฉนหนอ เราพึงหลีกออกจากโขลงอยู่แต่ผู้เดียว
ครั้นแล้วได้หลีกออกจากโขลงเดินไปทางบ้านปาริไลยกะไพรสณฑ์รักขิตวันควงไม้รังใหญ่ เข้าไป
หาพระผู้มีพระภาค แล้วใช้งวงตักน้ำฉันน้ำใช้เข้าไปตั้งไว้เพื่อพระผู้มีพระภาค และปราบสถานที่
ให้ปราศจากของเขียวสด ครั้นกาลต่อมา พระยาช้างนั้นได้คำนึงว่า เมื่อก่อนเรายุ่งด้วยช้างพลาย
ช้างพัง ลูกช้างใหญ่ ลูกช้างเล็ก อยู่ไม่ผาสุกเลย ได้กินแต่หญ้ายอดด้วน ส่วนกิ่งไม้ที่เราหัก
ลงมากองไว้ ช้างเหล่านั้นก็กินหมด ได้ดื่มแต่น้ำขุ่นๆ เมื่อเราลงและขึ้นจากท่า ช้างพังก็เดิน
เสียดสีกายไป เดี๋ยวนี้ เราว่างเว้นจากช้างพลาย ช้างพัง ลูกช้างใหญ่ ลูกช้างเล็ก อยู่แต่ผู้เดียว
ไม่มีเพื่อน เป็นสุขสำราญดี.
                ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความเงียบสงัดของพระองค์ และทรงทราบความ
ปริวิตกแห่งจิตของพระยาช้างนั้นด้วยพระทัย จึงทรงเปล่งอุทานนี้ขึ้นในเวลานั้น ว่าดังนี้:-
                จิตของพระยาช้างผู้มีงางามดุจงอนรถนั้นเสมอด้วยจิตของ
                ท่านผู้ประเสริฐ เพราะเป็นผู้เดียวยินดีในป่าเหมือนกัน.
                [๒๕๐] ครั้นพระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ที่ตำบลบ้านปาริไลยกะ ตามพระพุทธาภิรมย์
แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินไปทางพระนครสาวัตถี เสด็จจาริกโดยลำดับ ถึงพระนครสาวัตถีแล้ว
ทราบว่าพระองค์ประทับอยู่ที่พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถีนั้น.
                                อุบาสกอุบาสิกรชาวพระนครโกสัมพีไม่อภิวาท
                [๒๕๑] ครั้งนั้น อุบาสกอุบาสิกาชาวพระนครโกสัมพีได้หารือกันดังนี้ว่า พระคุณเจ้า
เหล่าภิกษุชาวพระนครโกสัมพีนี้ ทำความพินาศใหญ่โตให้พวกเรา พระผู้มีพระภาคถูกท่านเหล่านี้
รบกวนจึงเสด็จหลีกไปเสีย เอาละ พวกเราไม่ต้องอภิวาท ไม่ต้องลุกรับ ไม่ต้องทำอัญชลีกรรม
สามีจิกรรม ไม่ต้องทำสักการะ ไม่ต้องเคารพ ไม่ต้องนับถือ ไม่ต้องบูชาซึ่งพระคุณเจ้าเหล่าภิกษุ


                                                            หน้าที่ ๒๖๘

ชาวพระนครโกสัมพี แม้เข้ามาบิณฑบาต ก็ไม่ต้องถวายบิณฑบาต ท่านเหล่านี้ถูกพวกเราไม่
สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา เป็นผู้ไม่มีสักการะอย่างนี้ จักหลีกไปเสีย หรือจัก
สึกเสีย หรือจักให้พระผู้มีพระภาคทรงโปรด ครั้นแล้วไม่อภิวาท ไม่ลุกรับ ไม่ทำอัญชลีกรรม
สามีจิกรรม ไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา ซึ่งพวกภิกษุชาวพระนครโกสัมพี
แม้เข้ามาบิณฑบาตก็ไม่ถวายบิณฑบาต.
                ครั้งนั้น พวกภิกษุชาวพระนครโกสัมพี ถูกอุบาสกอุบาสิกาชาวพระนครโกสัมพี
ไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา เป็นผู้ไม่มีสักการะ จึงพูดกันอย่างนี้ว่า อาวุโส
ทั้งหลาย มิฉะนั้น พวกเราพึงไปพระนครสาวัตถี แล้วระงับอธิกรณ์นี้ในสำนักพระผู้มีพระภาค
ครั้นแล้ว เก็บงำเสนาสนะ ถือบาตรจีวรพากันเดินทางไปพระนครสาวัตถี.
                                                พระสารีบุตรเข้าเฝ้าทูลถามข้อปฏิบัติ
                [๒๕๒] ท่านพระสารีบุตรได้สดับข่าวว่า ภิกษุชาวพระนครโกสัมพี ผู้ก่อความบาดหมาง
ก่อการทะเลาะ ก่อการวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ เหล่านั้น พากันมาสู่พระนคร
สาวัตถี จึงเข้าไปในพระพุทธสำนัก ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ท่านพระสารีบุตรนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้ทูลถามข้อปฏิบัตินี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า
ได้ข่าวมาว่า ภิกษุชาวพระนครโกสัมพีที่ก่อความบาดหมาง ก่อการทะเลาะ ก่อการวิวาท ทำความ
อื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์เหล่านั้น พากันมาพระนครสาวัตถี ข้าพระพุทธเจ้าจะปฏิบัติในภิกษุ
เหล่านั้นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า?
                พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สารีบุตร ถ้าเช่นนั้น เธอจงดำรงอยู่ตามธรรม
                สา. ข้าพระพุทธเจ้าจะพึงทราบธรรมหรือธรรมอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า?
                                                วัตถุสำหรับอธรรมวาที ๑๘ ประการ
                พ. สารีบุตร เธอพึงทราบอธรรมวาทีภิกษุ ด้วยวัตถุ ๑๘ ประการ คือภิกษุในธรรม
วินัยนี้:-
                ๑. แสดงสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ว่าเป็นธรรม
                ๒. แสดงสิ่งที่เป็นธรรม ว่าไม่เป็นธรรม
                ๓. แสดงสิ่งที่ไม่เป็นวินัย ว่าเป็นวินัย


                                                            หน้าที่ ๒๖๙

                ๔. แสดงสิ่งที่เป็นวินัย ว่าไม่เป็นวินัย
                ๕. แสดงสิ่งที่พระตถาคตมิได้ทรงภาษิตไว้ มิได้ตรัสไว้ว่าพระตถาคตทรงภาษิตไว้
ตรัสไว้
                ๖. แสดงสิ่งที่พระตถาคตทรงภาษิตไว้ ตรัสไว้ว่าพระตถาคตมิได้ทรงภาษิตไว้ ตรัสไว้
                ๗. แสดงมรรยาทอันพระตถาคตมิได้ทรงประพฤติมา ว่าพระตถาคตทรงประพฤติมา
                ๘. แสดงมรรยาทอันพระตถาคตทรงประพฤติมาแล้ว ว่าพระตถาคตมิได้ทรงประพฤติมา
                ๙. แสดงสิ่งที่พระตถาคตมิได้ทรงบัญญัติไว้ ว่าอันพระตถาคตทรงบัญญัติไว้
                ๑๐. แสดงสิ่งที่พระตถาคตทรงบัญญัติไว้ ว่าพระตถาคตมิได้ทรงบัญญัติไว้
                ๑๑. แสดงสิ่งที่มิใช่อาบัติ ว่าเป็นอาบัติ
                ๑๒. แสดงอาบัติ ว่าเป็นสิ่งมิใช่อาบัติ
                ๑๓. แสดงอาบัติเบา ว่าเป็นอาบัติหนัก
                ๑๔. แสดงอาบัติหนัก ว่าเป็นอาบัติเบา
                ๑๕. แสดงอาบัติมีส่วนเหลือ ว่าเป็นอาบัติหาส่วนเหลือมิได้
                ๑๖. แสดงอาบัติหาส่วนเหลือมิได้ ว่าเป็นอาบัติมีส่วนเหลือ
                ๑๗. แสดงอาบัติชั่วหยาบ ว่าเป็นอาบัติไม่ชั่วหยาบ
                ๑๘. แสดงอาบัติไม่ชั่วหยาบ ว่าเป็นอาบัติชั่วหยาบ
                สารีบุตร เธอพึงทราบอธรรมวาทีภิกษุ ด้วยวัตถุ ๑๘ ประการนี้แล.
                                                วัตถุสำหรับธรรมวาที ๑๘ ประการ
                สารีบุตร และพึงทราบธรรมวาทีภิกษุ ด้วยวัตถุ ๑๘ ประการ คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
                ๑. แสดงสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ว่าไม่เป็นธรรม
                ๒. แสดงสิ่งที่เป็นธรรม ว่าเป็นธรรม
                ๓. แสดงสิ่งที่ไม่เป็นวินัย ว่าไม่เป็นวินัย
                ๔. แสดงสิ่งที่เป็นวินัย ว่าเป็นวินัย
                ๕. แสดงสิ่งที่พระตถาคตมิได้ทรงภาษิตไว้ มิได้ตรัสไว้ ว่าพระตถาคตมิได้ทรงภาษิตไว้
มิได้ตรัสไว้
                ๖. แสดงสิ่งที่พระตถาคตทรงภาษิตไว้ ตรัสไว้ว่าพระตถาคตทรงภาษิตไว้ ตรัสไว้


                                                            หน้าที่ ๒๗๐

                ๗. แสดงมรรยาทอันพระตถาคตมิได้ทรงประพฤติมา ว่าพระตถาคตมิได้ทรงประพฤติมา
                ๘. แสดงมรรยาทอันพระตถาคตทรงประพฤติมา ว่าพระตถาคตทรงประพฤติมา
                ๙. แสดงสิ่งที่พระตถาคตมิได้ทรงบัญญัติไว้ ว่าพระตถาคตมิได้ทรงบัญญัติไว้
                ๑๐. แสดงสิ่งที่พระตถาคตทรงบัญญัติไว้ ว่าพระตถาคตทรงบัญญัติไว้
                ๑๑. แสดงสิ่งมิใช่อาบัติ ว่าเป็นสิ่งมิใช่อาบัติ
                ๑๒. แสดงอาบัติ ว่าเป็นอาบัติ
                ๑๓. แสดงอาบัติเบา ว่าเป็นอาบัติเบา
                ๑๔. แสดงอาบัติหนัก ว่าเป็นอาบัติหนัก
                ๑๕. แสดงอาบัติมีส่วนเหลือ ว่าเป็นอาบัติมีส่วนเหลือ
                ๑๖. แสดงอาบัติหาส่วนเหลือมิได้ ว่าเป็นอาบัติหาส่วนเหลือมิได้
                ๑๗. แสดงอาบัติชั่วหยาบ ว่าเป็นอาบัติชั่วหยาบ
                ๑๘. แสดงอาบัติไม่ชั่วหยาบ ว่าเป็นอาบัติไม่ชั่วหยาบ
                สารีบุตร เธอพึงทราบธรรมวาทีภิกษุ ด้วยวัตถุ ๑๘ ประการนี้แล.
                                                พระเถรานุเถระเข้าเฝ้าทูลถามข้อปฏิบัติ
                [๒๕๓] ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้สดับข่าว ....
                ท่านพระมหากัสสปะได้สดับข่าว ....
                ท่านพระมหากัจจนะได้สดับข่าว ....
                ท่านพระมหาโกฏฐิตะได้สดับข่าว ....
                ท่านพระมหากัปปินะได้สดับข่าว ....
                ท่านพระมหาจุนทะได้สดับข่าว ....
                ท่านพระอนุรุทธะได้สดับข่าว ....
                ท่านพระเรวตะได้สดับข่าว ....
                ท่านพระอุบาลีได้สดับข่าว ....
                ท่านพระอานนท์ได้สดับข่าว ....
                ท่านพระราหุลได้สดับข่าวว่า ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีที่ก่อความบาดหมาง ก่อการทะเลาะ
ก่อการวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ เหล่านั้น พากันมาสู่พระนครสาวัตถี จึงเข้าไป

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘