พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ หน้า 261-265

                                                            หน้าที่ ๒๖๑

                                                                เตวาจิกาปวารณา
                เธอทั้งหลาย  ฉันปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ฟังก็ดี  ด้วยสงสัยก็ดี
ขอเธอทั้งหลายจงอาศัยความกรุณาว่ากล่าวฉัน  ฉันเห็นอยู่จักทำคืนเสีย
                เธอทั้งหลาย แม้ครั้งที่สอง  ฉันปวารณาต่อสงฆ์  ด้วยได้เห็นก็ดี  ด้วยได้ฟังก็ดี
ด้วยสงสัยก็ดี  ขอเธอทั้งหลายจงอาศัยความกรุณาว่ากล่าวฉัน  ฉันเห็นอยู่จักทำคืนเสีย
                เธอทั้งหลาย  แม้ครั้งที่สาม ฉันปวารณาต่อสงฆ์  ด้วยได้เห็นก็ดี   ด้วยได้ฟังก็ดี
ด้วยสงสัยก็ดี  ขอเธอทั้งหลายจงอาศัยความกรุณาว่ากล่าวฉัน  ฉันเห็นอยู่จักทำคืนเสีย.
                ภิกษุผู้นวกะพึงห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า  นั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลีแล้วกล่าวปวารณา
อย่างนี้ ว่าดังนี้:-
                ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าปวารณาต่อสงฆ์  ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ฟังก็ดี  ด้วยสงสัยก็ดี
ขอท่านทั้งหลายจงอาศัยความกรุณาว่ากล่าวข้าพเจ้า  ข้าพเจ้าเห็นอยู่จักทำคืนเสีย
                ท่านเจ้าข้า แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นก็ดี  ด้วยได้ฟังก็ดี
ด้วยสงสัยก็ดี  ขอท่านทั้งหลายจงอาศัยความกรุณาว่ากล่าวข้าพเจ้า  ข้าพเจ้าเห็นอยู่จักทำ
คืนเสีย
                ท่านเจ้าข้า  แม้ครั้งที่สาม  ข้าพเจ้าปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ฟังก็ดี
ด้วยสงสัยก็ดี  ขอท่านทั้งหลายจงอาศัยความกรุณาว่ากล่าวข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเห็นอยู่จักทำ
คืนเสีย.
                                                พระพุทธานุญาตให้นั่งกระโหย่งปวารณา
                [๒๒๗] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์เมื่อภิกษุผู้เถระทั้งหลายนั่งกระโหย่งปวารณาอยู่
ยังนั่งอยู่บนอาสนะ.  บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย  ต่างก็เพ่งโทษ  ติเตียน  โพนทะนาว่า
ไฉนพระฉัพพัคคีย์  เมื่อภิกษุผู้เถระทั้งหลายนั่งกระโหย่งปวารณาอยู่   จึงได้นั่งอยู่บนอาสนะเล่า
แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
                พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า  ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ข่าวว่าพระฉัพพัคคีย์
เมื่อภิกษุผู้เถระทั้งหลายนั่งกระโหย่งปวารณาอยู่  ยังนั่งบนอาสนะ จริงหรือ?
                ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.


                                                            หน้าที่ ๒๖๒

                พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนว่า  ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ไฉนโมฆบุรุษพวกนั้น  เมื่อภิกษุ
ผู้เถระทั้งหลายนั่งกระโหย่งปวารณาอยู่ จึงได้นั่งอยู่บนอาสนะเล่า การกระทำของโมฆบุรุษเหล่านั้น
นั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส .... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถา  รับสั่งกะ
ภิกษุทั้งหลายว่า   ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบรรดาภิกษุผู้เถระนั่งกระโหย่งปวารณาอยู่ ภิกษุไม่พึงนั่ง
บนอาสนะ  รูปใดนั่งต้องอาบัติทุกกฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย  เราอนุญาตให้ภิกษุทุกรูปนั่งกระโหย่ง
ปวารณา.
                สมัยต่อมา  พระเถระรูปหนึ่งชรา ทุพพลภาพ นั่งกระหย่งรอคอยอยู่ จนกว่าภิกษุทั้งหลาย
จะปวารณาเสร็จทุกรูป  ได้เป็นลมล้มลง. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
                พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า  ดูกรภิกษุทั้งหลาย  เราอนุญาตให้นั่ง
กระโหย่งในระหว่างที่ยังปวารณา และอนุญาตให้ภิกษุปวารณาแล้วนั่งบนอาสนะ.
                                                                วันปวารณามี 
                [๒๒๘] ครั้งนั้นแล  ภิกษุทั้งหลายสงสัยว่า  วันปวารณามีกี่วัน?  จึงกราบทูลเรื่องนั้น
แด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย วันปวารณานี้มี ๒ คือ วัน ๑๔ ค่ำ
วัน ๑๕ ค่ำ ดูกรภิกษุทั้งหลาย วันปวารณามี ๒ เท่านี้แล.
                                                                อาการที่ทำปวารณามี ๔
                ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายสงสัยว่า อาการที่ทำปวารณามีเท่าไรหนอ? จึงกราบทูลเรื่องนั้น
แด่พระผู้มีพระภาค.  พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า  ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาการที่ทำ
ปวารณานี้มี ๔ คือ  การทำปวารณาเป็นวรรคโดยอธรรม ๑ การทำปวารณาพร้อมเพรียงกันโดย
อธรรม ๑ การทำปวารณาเป็นวรรคโดยธรรม ๑  การทำปวารณาพร้อมเพรียงกันโดยธรรม ๑.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ในการทำปวารณา ๔ นั้น  การทำปวารณานี้ใดเป็นวรรคโดยอธรรม
การทำปวารณาเห็นปานนั้น  ไม่ควรทำ  และเราก็ไม่อนุญาต.
                การทำปวารณานี้ใดที่พร้อมเพรียงกันโดยอธรรม การทำปวารณาเห็นปานนั้น ไม่ควรทำ
และเราก็ไม่อนุญาต.
                การทำปวารณานี้ใดที่เป็นวรรคโดยธรรม   การทำปวารณาเห็นปานนั้น ไม่ควรทำ และ
เราก็ไม่อนุญาต.


                                                            หน้าที่ ๒๖๓

                การทำปวารณานี้ใดที่พร้อมเพรียงกันโดยธรรม  การทำปวารณาเห็นปานนั้น  ควรทำ
และเราก็อนุญาต.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย  เพราะเหตุนั้นแล  พวกเธอพึงทำในใจว่า  จักทำปวารณากรรม
ชนิดที่พร้อมเพรียงกันโดยธรรม  ดังนี้  ดูกรภิกษุทั้งหลาย  พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้แล.
                                                                พระพุทธานุญาตให้มอบปวารณา
                [๒๒๙] ครั้งนั้น  พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า  ดูกรภิกษุทั้งหลาย
พวกเธอจงประชุมกัน  สงฆ์จักปวารณา.  เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว  ภิกษุรูปหนึ่ง
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า  ยังมีภิกษุอาพาธอยู่  เธอมาไม่ได้พระพุทธเจ้าข้า.
                พระผู้มีพระภาคตรัสว่า  ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุอาพาธมอบปวารณา.
                                                                วิธีมอบปวารณา
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล พึงมอบอย่างนี้:-
                ภิกษุอาพาธนั้น พึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง  ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า  นั่งกระโหย่งประคอง
อัญชลีแล้วกล่าวคำมอบปวารณาอย่างนี้ว่า:-
                ข้าพเจ้าขอมอบปวารณา ขอท่านจงนำปวารณาของข้าพเจ้าไป  ขอท่านจงปวารณา
แทนข้าพเจ้า
                ภิกษุรับด้วยกาย  รับด้วยวาจา  รับด้วยกายด้วยวาจาก็ได้  เป็นอันภิกษุอาพาธมอบปวารณา
แล้ว.  ไม่รับด้วยกาย  ไม่รับด้วยวาจา ไม่รับด้วยกายด้วยวาจา   ไม่เป็นอันภิกษุอาพาธมอบ
ปวารณา.  หากได้ภิกษุผู้รับอย่างนี้ นั่นเป็นการดี หากไม่ได้  ภิกษุทั้งหลาย พึงใช้เตียงหรือตั่ง
หามภิกษุอาพาธนั้นมาในท่ามกลางสงฆ์แล้วปวารณา.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย  หากพวกภิกษุผู้พยาบาลไข้  มีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า หากพวกเรา
จักย้ายภิกษุอาพาธ อาพาธจักกำเริบหนัก หรือมิฉะนั้นจักถึงมรณภาพ ดังนี้ ไม่พึงย้ายภิกษุอาพาธ
สงฆ์พึงไปปวารณาในสำนักภิกษุอาพาธนั้น  แต่สงฆ์เป็นวรรคไม่พึงปวารณา  หากขืนปวารณา
ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุอาพาธมอบปวารณาแล้ว  หากภิกษุผู้นำปวารณาหลบไป
เสียจากที่นั้นแล ภิกษุอาพาธพึงมอบปวารณาแก่รูปอื่น.


                                                            หน้าที่ ๒๖๔

                ดูกรภิกษุทั้งหลาย  เมื่อภิกษุอาพาธมอบปวารณาแล้ว  หากภิกษุผู้นำปวารณาสึกเสีย ณ
ที่นั้นแหละ .... ถึงมรณภาพ ปฏิญาณเป็นสามเณร ปฏิญาณเป็นผู้บอกลาสิกขา ปฏิญาณเป็นผู้ต้อง
อันติมวัตถุ ปฏิญาณเป็นผู้วิกลจริต  ปฏิญาณเป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่าน  ปฏิญาณเป็นผู้กระสับกระส่าย
เพราะเวทนา  ปฏิญาณเป็นผู้ถูกสงฆ์ยกเสียฐานไม่เห็นอาบัติ  ปฏิญาณเป็นผู้ถูกสงฆ์ยกเสียฐาน
ไม่ทำคืนอาบัติ   ปฏิญาณเป็นผู้ถูกสงฆ์ยกเสียฐานไม่สละคืนทิฏฐิอันลามก ปฏิญาณเป็นบัณเฑาะก์
ปฏิญาณเป็นไถยสังวาส  ปฏิญาณเป็นผู้เข้ารีดเดียรถีย์  ปฏิญาณเป็นดิรัจฉาน  ปฏิญาณเป็นผู้ฆ่า
มารดา ปฏิญาณเป็นผู้ฆ่าบิดา  ปฏิญาณเป็นผู้ฆ่าพระอรหันต์  ปฏิญาณเป็นผู้ประทุษร้ายภิกษุณี
ปฏิญาณเป็นผู้ทำลายสงฆ์  ปฏิญาณเป็นผู้ทำร้ายพระศาสดาจนถึงห้อพระโลหิต  ปฏิญาณเป็น
อุภโตพยัญชนก ภิกษุอาพาธจึงมอบปวารณาแก่รูปอื่น.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุอาพาธมอบปวารณาแล้ว หากภิกษุผู้นำปวารณาหลบไปเสีย
ในระหว่างทาง  ปวารณาไม่เป็นอันนำมา.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุอาพาธมอบปวารณาแล้ว หากภิกษุผู้นำปวารณาสึกเสีย
ในระหว่างทาง ถึงมรณภาพ .... ปฏิญาณเป็นอุภโตพยัญชนก ปวารณาไม่เป็นอันนำมา.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุอาพาธมอบปวารณาแล้ว หากภิกษุผู้นำปวารณาเข้าประชุมสงฆ์
แล้ว หลบไปเสีย  ปวารณาเป็นอันนำมาแล้ว.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุอาพาธมอบปวารณาแล้ว หากภิกษุผู้นำปวารณาเข้าประชุมสงฆ์
แล้ว สึกเสีย ถึงมรณภาพ .... ปฏิญาณเป็นอุภโตพยัญชนก ปวารณาเป็นอันนำมาแล้ว.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุอาพาธมอบปวารณาแล้ว หากภิกษุผู้นำปวารณาเข้าประชุมสงฆ์
แล้ว หลับเสียมิได้บอก  ปวารณาเป็นอันนำมาแล้ว ภิกษุผู้นำปวารณา ไม่ต้องอาบัติ.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุอาพาธมอบปวารณาแล้ว หากภิกษุผู้นำปวารณาเข้าประชุมสงฆ์
แล้ว เข้าสมาบัติ  มิได้บอก ปวารณาเป็นอันนำมาแล้ว ภิกษุผู้นำปวารณา ไม่ต้องอาบัติ.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุอาพาธมอบปวารณาแล้ว หากภิกษุผู้นำปวารณาเข้าประชุมสงฆ์
แล้ว เผลอไปไม่ได้บอก  ปวารณาเป็นอันนำมาแล้ว ภิกษุผู้นำปวารณา  ไม่ต้องอาบัติ.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุอาพาธมอบปวารณาแล้ว หากภิกษุผู้นำปวารณาเข้าประชุมสงฆ์
แล้ว แกล้งไม่บอก ปวารณาเป็นอันนำมาแล้ว แต่ภิกษุผู้นำปวารณา ต้องอาบัติทุกกฏ.


                                                            หน้าที่ ๒๖๕

                ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ในวันปวารณา เราอนุญาตให้ภิกษุผู้มอบปวารณา มอบฉันทะด้วย
เผื่อสงฆ์จะมีกรณียกิจ.
                                                                หมู่ญาติเป็นต้นจับภิกษุ
                [๒๓๐] ก็โดยสมัยนั้นแล ถึงวันปวารณา หมู่ญาติได้จับภิกษุรูปหนึ่งไว้.  ภิกษุทั้งหลาย
กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค  พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า  ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ก็ในวันปวารณา  พวกญาติจับภิกษุในศาสนานี้ไว้.  หมู่ญาติเหล่านั้น  อันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าว
อย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย ขอพวกท่านกรุณาปล่อยภิกษุรูปนี้สักครู่หนึ่ง พอภิกษุรูปนี้ปวารณาเสร็จ.
หากได้การขอร้องอย่างนี้ นั่นเป็นการดี หากไม่ได้ หมู่ญาติเหล่านั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าว
อย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายขอพวกท่านกรุณารออยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งสักครู่ก่อน  พอภิกษุรูปนี้
มอบปวารณาเสร็จ.  หากได้การขอร้องอย่างนี้  นั่นเป็นการดี  หากไม่ได้  พึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า
ท่านทั้งหลาย ขอพวกท่านกรุณานำภิกษุนี้ไปนอกสีมาสักครู่หนึ่ง พอสงฆ์ปวารณาเสร็จ.  ถ้าได้
การขอร้องอย่างนี้ นั่นเป็นการดี หากไม่ได้ สงฆ์เป็นวรรค  ไม่พึงปวารณา หากขืนปวารณา
ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในวันปวารณา พระราชาทั้งหลายได้จับภิกษุในศาสนานี้ไว้ ....
พวกโจรได้จับ .... พวกนักเลงได้จับ ....  พวกภิกษุที่เป็นข้าศึกได้จับภิกษุในศาสนานี้ไว้.  พวกนั้น
อันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าว  อย่างนี้ว่า  ท่านทั้งหลาย  ขอพวกท่านกรุณาปล่อยภิกษุนี้สักครู่หนึ่ง
พอภิกษุรูปนี้ปวารณาเสร็จ.  หากได้การขอร้องอย่างนี้ นั่นเป็นการดี  หากไม่ได้ พวกนั้นอัน
ภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าว อย่างนี้ว่า  ท่านทั้งหลาย  ขอพวกท่านกรุณารออยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
สักครู่ก่อน พอภิกษุนี้มอบปวารณาเสร็จ. หากได้การขอร้องอย่างนี้ นั่นเป็นการดี  หากไม่ได้
พวกนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าว อย่างนี้ว่า  ท่านทั้งหลาย  ขอพวกท่านกรุณาพาภิกษุรูปนี้
ไปนอกสีมาสักครู่หนึ่ง  พอสงฆ์ปวารณาเสร็จ.  หากได้การขอร้องอย่างนี้  นั่นเป็นการดี  หากไม่ได้
สงฆ์เป็นวรรคไม่พึงปวารณา หากขืนปวารณา ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                                                ปวารณาเป็นการสงฆ์
                [๒๓๑] ก็โดยสมัยนั้นแล ในอาวาสแห่งหนึ่ง ถึงวันปวารณา มีภิกษุอยู่ด้วยกัน ๕ รูป
จึงภิกษุเหล่านั้นได้มีความปริวิตกว่า  พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า  พึงปวารณาเป็นการสงฆ์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘