พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๓ ภิกขุนีวิภังค์ หน้า 231-235

                                                            หน้าที่ ๒๓๑

                                คัพภินีวรรค สิกขาบทที่ ๗
                                เรื่องภิกษุณีหลายรูป
                [๓๘๘] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ภิกษุณีทั้งหลายพากันบวชเด็กหญิงมีอายุครบ ๑๒ ปี
ผู้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ประการ ตลอด ๒ ปีแล้วแต่สงฆ์ยังไม่ได้สมมติ. ภิกษุณีทั้งหลายกล่าว
อย่างนี้ว่า มานี่ สิกขมานา เธอจงรู้สิ่งนี้ จงประเคนสิ่งนี้ จงนำสิ่งนี้มา ฉันต้องการสิ่งนี้
เธอจงทำสิ่งนี้ให้เป็นกัปปิยะ.
                เธอเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้ว่า แม่เจ้า พวกดิฉันไม่ใช่สิกขมานา พวกดิฉันเป็นภิกษุณี.
                บรรดาภิกษุณีที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุณีทั้งหลายจึง
พากันบวชเด็กหญิงมีอายุครบ ๑๒ ปี ผู้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ประการ ตลอด ๒ ปีแล้ว แต่สงฆ์
ยังไม่ได้สมมติเล่า ...
                                ทรงสอบถาม
                พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า พวกภิกษุณีพากัน
บวชเด็กหญิงมีอายุครบ ๑๒ ปี ผู้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ประการตลอด ๒ ปีแล้ว แต่สงฆ์ยังไม่ได้
สมมติ จริงหรือ?
                ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีทั้งหลายจึงได้พากัน
บวชเด็กหญิงมีอายุครบ ๑๒ ปี ผู้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ประการตลอด ๒ ปีแล้ว แต่สงฆ์ยังมิได้
สมมติเล่า การกระทำของพวกนางนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ...
ครั้นแล้ว ทรงทำธรรมีกถา รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สงฆ์สมมติการอุปสมบทแก่เด็กหญิงอายุครบ ๑๒ ปี ผู้ได้
ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ประการ ตลอด ๒ ปีแล้ว.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลวิธีการให้สมมติการอุปสมบทนั้นสงฆ์พึงให้อย่างนี้:


                                                            หน้าที่ ๒๓๒

                                วิธีการให้สมมติการอุปสมบท
                อันเด็กหญิงมีอายุครบ ๑๒ ปี ผู้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ประการ ตลอด ๒ ปีแล้วนั้น
พึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุณีทั้งหลายแล้ว นั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลี
กล่าวอย่างนี้ว่า
                แม่เจ้า ดิฉันชื่อนี้ เป็นเด็กหญิงของแม่เจ้าชื่อนี้ มีอายุครบ ๑๒ ปี ได้ศึกษาสิกขาใน
ธรรม ๖ ประการ ตลอด ๒ ปีแล้ว ขอสมมติการอุปสมบทต่อสงฆ์.
                พึงขอแม้ครั้งที่สอง พึงขอแม้ครั้งที่สาม.
                ภิกษุณี ผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบ ด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:
                                กรรมวาจา
                แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เด็กหญิงชื่อนี้ผู้นี้ของแม่เจ้าชื่อนี้มีอายุครบ ๑๒ ปี ได้ศึกษา
สิกขาในธรรม ๖ ประการตลอด ๒ ปีแล้ว ขอสมมติการอุปสมบทต่อสงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่ง
ของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้สมมติการอุปสมบทแก่เด็กหญิงชื่อนี้ ผู้มีอายุครบ ๑๒ ปี ผู้ได้ศึกษา
สิกขาในธรรม ๖ ประการ ตลอด ๒ ปีแล้ว นี่เป็นญัตติ.
                แม่เจ้า เจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เด็กหญิงชื่อนี้ผู้นี้ของแม่เจ้าชื่อนี้ มีอายุครบ
๑๒ ปี ผู้ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ประการ ตลอด ๒ ปีแล้ว ขอสมมติการอุปสมบทต่อสงฆ์
สงฆ์ให้สมมติการอุปสมบทแก่เด็กหญิงชื่อนี้ ผู้มีอายุครบ ๑๒ ปี ผู้ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖
ประการตลอด ๒ ปีแล้ว การให้สมมติการอุปสมบทแก่เด็กหญิงชื่อนี้ผู้มีอายุครบ ๑๒ ปี ผู้ได้
ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ประการตลอด ๒ ปีแล้ว ชอบแก่แม่เจ้าผู้ใด แม่เจ้าผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง
ไม่ชอบแก่แม่เจ้าผู้ใด แม่เจ้าผู้นั้นพึงพูด.
                สมมติการอุปสมบท อันสงฆ์ให้แล้วแก่เด็กหญิงชื่อนี้ ผู้มีอายุครบ ๑๒ ปี ผู้ได้ศึกษา
สิกขาในธรรม ๖ ประการ ตลอด ๒ ปีแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้
ด้วยอย่างนี้.
                ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนภิกษุณีเหล่านั้นโดยอเนกปริยายดังนี้แล้ว ตรัสโทษ
แห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ...
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุณีทั้งหลายจงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:


                                                            หน้าที่ ๒๓๓

                                พระบัญญัติ
                ๑๒๒.๗. อนึ่ง ภิกษุณีใด ยังเด็กหญิงมีอายุครบสิบสองปี ผู้ได้ศึกษาสิกขาในธรรม
๖ ประการ ตลอดสองฝนแล้ว อันสงฆ์ยังมิได้สมมติ ให้บวช เป็นปาจิตตีย์.
                                เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ.
                                สิกขาบทวิภังค์
                [๓๘๙] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ...
                บทว่า ภิกษุณี ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุณี เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ชื่อว่า ภิกษุณี
ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้.
                ที่ชื่อว่า มีอายุครบสิบสองปี คือ มีอายุถึง ๑๒ ฝนแล้ว.
                ที่ชื่อว่า เด็กหญิง ได้แก่ สตรีที่เขากล่าวว่าอาจมีสามีได้.
                บทว่า ตลอดสองฝน คือ ตลอด ๒ ปี.
                ที่ชื่อว่า ผู้ศึกษาสิกขา คือ มีสิกขาในธรรม ๖ ประการอันได้ศึกษาแล้ว.
                ที่ชื่อว่า ยังมิได้สมมติ คือ สงฆ์ยังไม่ได้ให้สมมติการอุปสมบทด้วยญัตติทุติยกรรม.
                บทว่า ให้บวช คือ ให้อุปสมบท.
                ตั้งใจว่าจักให้บวช แล้วแสวงหาคณะก็ดี อาจารย์ก็ดี บาตรก็ดี จีวรก็ดี สมมติสีมาก็ดี
ต้องอาบัติทุกกฏ จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา ๒ ครั้ง ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว
จบกรรมวาจาครั้งสุด ภิกษุณีผู้อุปัชฌาย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ คณะและอาจารย์ ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                บทภาชนีย์
                                ติกะปาจิตตีย์
                [๓๙๐] กรรมเป็นธรรม ภิกษุณีสำคัญว่า กรรมเป็นธรรม ให้บวช ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                กรรมเป็นธรรม ภิกษุณีสงสัย ให้บวช ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                กรรมเป็นธรรม ภิกษุณีสำคัญว่า กรรมไม่เป็นธรรม ให้บวช ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                                ติกะทุกกฏ
                กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุณีสำคัญว่า กรรมเป็นธรรม ต้องอาบัติทุกกฏ.
                กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุณีสงสัย ต้องอาบัติทุกกฏ.


                                                            หน้าที่ ๒๓๔

                กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุณีสำคัญว่า กรรมไม่เป็นธรรม ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                อนาปัตติวาร
                [๓๙๑] บวชเด็กหญิงมีอายุครบ ๑๒ ปี ผู้ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ประการ ตลอด ๒ ปี
แล้ว อันสงฆ์สมมติแล้ว ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกา ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
                                คัพภินีวรรค สิกขาบทที่ ๗ จบ.
                                _______________________


                                                            หน้าที่ ๒๓๕

                                คัพภินีวรรค สิกขาบทที่ ๘
                                เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
                [๓๙๒] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาบวชสหชีวินีแล้ว ไม่อนุเคราะห์
เอง ไม่ให้ผู้อื่นอนุเคราะห์ ตลอด ๒ ปี สหชีวินีเหล่านั้นจึงเป็นคนเขลา ไม่ฉลาด ไม่รู้จักสิ่งที่ควร
หรือไม่ควร.
                บรรดาภิกษุณีที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนแม่เจ้าถุลลนันทา
บวชสหชีวินีแล้ว จึงไม่อนุเคราะห์เอง ไม่ให้ผู้อื่นอนุเคราะห์ตลอด ๒ ปีเล่า ...
                                ทรงสอบถาม
                พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า ภิกษุณีถุลลนันทา
บวชสหชีวินีแล้ว ไม่อนุเคราะห์เอง ไม่ให้ผู้อื่นอนุเคราะห์ตลอด ๒ ปี จริงหรือ?
                ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาบวชสหชีวินีแล้ว
จึงได้ไม่อนุเคราะห์เอง ไม่ให้ผู้อื่นอนุเคราะห์ ตลอด ๒ ปีเล่า การกระทำของนางนั่น ไม่เป็นไป
เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ...
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุณีทั้งหลายจงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:
                                พระบัญญัติ
                ๑๒๓.๘. อนึ่ง ภิกษุณีใด ยังสหชีวินีให้บวชแล้ว ไม่อนุเคราะห์ ไม่ยังผู้อื่นให้
อนุเคราะห์ สิ้นสองฝน เป็นปาจิตตีย์.
                                เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ.
                                สิกขาบทวิภังค์
                [๓๙๓] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ...
                บทว่า ภิกษุณี ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุณี เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ชื่อว่า ภิกษุณี
ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘