พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๓ ภิกขุนีวิภังค์ หน้า 201-205

                                                            หน้าที่ ๒๐๑

                                อารามวรรค สิกขาบทที่ ๓
                                เรื่องภิกษุณีจัณฑกาลี
                [๓๓๘] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ภิกษุณีจัณฑกาลีเป็นผู้ก่อความบาดหมาง ก่อความ
ทะเลาะ ก่อการวิวาท ก่อความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ เมื่อภิกษุณีสงฆ์ทำกรรมแก่นาง
ภิกษุณีถุลลนันทาค้าน.
                [๓๓๙] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุณีถุลลนันทาได้ไปสู่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ด้วยกรณียะบางอย่าง.
ครั้นภิกษุณีสงฆ์ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาหลีกไปแล้ว จึงยกวัตรภิกษุณีจัณฑกาลี ในเพราะไม่
เห็นอาบัติ. ภิกษุณีถุลลนันทาเสร็จกรณียกิจในหมู่บ้านนั้นแล้ว กลับมาสู่นครสาวัตถีดังเดิม. เมื่อ
นางมาถึง ภิกษุณีจัณฑกาลีไม่ปูอาสนะรับ ไม่จัดตั้งน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า ไม่
ลุกไปรับบาตรจีวร ไม่ไต่ถามด้วยน้ำฉัน ภิกษุณีถุลลนันทาได้กล่าวคำนี้กะภิกษุณีจัณฑกาลีว่า ทำไม
เมื่อฉันมาถึง เธอจึงไม่ปูอาสนะรับ ไม่จัดตั้งน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า ไม่ลุกมา
รับบาตรจีวร ไม่ไต่ถามด้วยน้ำฉัน.
                ภิกษุณีจัณฑกาลีตอบว่า การที่เป็นดั่งนี้นั้น เพราะดิฉันเป็นดั่งสตรีผู้ไร้ที่พึ่ง เจ้าข้า.
                ภิกษุณีถุลลนันทาซักว่า เพราะเหตุไร เธอจึงเป็นดั่งสตรีผู้ไร้ที่พึ่งเล่า?
                ภิกษุณีจัณฑกาลีแถลงว่า เพราะภิกษุณีเหล่านี้ยกวัตรดิฉันในเพราะไม่เห็นอาบัติ ด้วยเข้า
ใจว่านางผู้นี้ไร้ที่พึ่ง ไม่สู้จะมีชื่อเสียง ไม่มีใครซึ่งจะเป็นผู้ยำเกรงนางผู้นี้.
                ภิกษุณีถุลลนันทาขึ้งเคียดกล่าวติคณะว่า ภิกษุณีเหล่านี้เขลา ภิกษุณีเหล่านี้ไม่ฉลาด
ภิกษุณีเหล่านี้ไม่รู้จักกรรม โทษอันสมควรแก่กรรม กรรมวิบัติหรือกรรมสมบัติ.
                บรรดาภิกษุณีที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนแม่เจ้าถุลลนันทา
จึงได้ขึ้งเคียดกล่าวติคณะเล่า ...
                                ทรงสอบถาม
                พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า ภิกษุณีถุลลนันทา
ขึ้งเคียดกล่าวติคณะ จริงหรือ?
                ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาจึงได้ขึ้ง


                                                            หน้าที่ ๒๐๒

เคียดกล่าวติคณะเล่า การกระทำของนางนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่
เลื่อมใส ...
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุณีทั้งหลายจงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:
                                พระบัญญัติ
                ๑๐๘. ๓. อนึ่ง ภิกษุณีใด ขึ้งเคียดกล่าวติคณะ เป็นปาจิตตีย์.
                                เรื่องภิกษุณีจัณฑกาลี จบ.
                                สิกขาบทวิภังค์
                [๓๔๐] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ...
                บทว่า ภิกษุณี ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุณี เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ชื่อว่า ภิกษุณี
ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้.
                ที่ชื่อว่า ขึ้งเคียด ได้แก่ กิริยาที่เขาเรียกกันว่าโกรธ.
                ที่ชื่อว่า คณะ ได้แก่ หมู่ที่เรียกกันว่าภิกษุณีสงฆ์.
                บทว่า กล่าวติ คือ ติโทษว่า ภิกษุณีเหล่านี้เขลา ภิกษุณีเหล่านี้ไม่ฉลาด ภิกษุเหล่านี้
ไม่รู้จักกรรม โทษอันสมควรแก่กรรม กรรมวิบัติ หรือกรรมสมบัติ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ กล่าวติ
ภิกษุณีหลายรูป ภิกษุณีรูปเดียว หรืออนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                อนาปัตติวาร
                [๓๔๑] มุ่งอรรถ ๑ มุ่งธรรม ๑ มุ่งสั่งสอน ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกา ๑ ไม่ต้อง
อาบัติแล.
                                อารามวรรค สิกขาบทที่ ๓ จบ.
                                __________________________


                                                            หน้าที่ ๒๐๓

                                อารามวรรค สิกขาบทที่ ๔
                                เรื่องภิกษุณีหลายรูป
                [๓๔๒] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น พราหมณ์คนหนึ่งได้นิมนต์ภิกษุณีทั้งหลายให้ฉัน.
ภิกษุณีทั้งหลายฉันเสร็จห้ามภัตแล้ว ไปเยี่ยมตระกูลญาติ บางพวกก็ฉันอีก บางพวกได้นำบิณฑบาตไป.
                เมื่อเสร็จการเลี้ยงภิกษุณีทั้งหลายแล้ว พราหมณ์ได้กล่าวเชื้อเชิญชาวเพื่อนบ้านว่า คุณๆ ทั้ง
หลาย ข้าพเจ้าเลี้ยงดูภิกษุณีทั้งหลายให้อิ่มหนำแล้ว เชิญมาเถิด ข้าพเจ้าจักเลี้ยงพวกท่านให้อิ่มหนำบ้าง.
                พวกเพื่อนบ้านเหล่านั้นพากันกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านจักเลี้ยงพวกข้าพเจ้าให้อิ่มหนำได้อย่างไร
แม้พวกภิกษุณีที่ท่านนิมนต์มาฉันเหล่านั้น ไปถึงเรือนของพวกข้าพเจ้าแล้ว บางพวกก็ฉันอีก บาง
พวกก็นำบิณฑบาตไป.
                จึงพราหมณ์นั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุณีทั้งหลายฉันอาหารที่เรือนของ
พวกเราแล้ว จึงได้ไปฉันในที่อื่นอีกเล่า เราไม่มีกำลังพอที่จะถวายให้พอแก่ความต้องการหรือ.
                ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินพราหมณ์นั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาที่เป็นผู้มักน้อย ...
ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุณีทั้งหลายฉันเสร็จห้ามภัตแล้ว จึงได้ฉันในที่อื่นอีกเล่า
                                ทรงสอบถาม
                พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า ภิกษุณีทั้งหลาย
ฉันเสร็จห้ามภัตแล้ว ยังฉันในที่อื่นอีก จริงหรือ?
                ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีทั้งหลายฉันเสร็จ
ห้ามภัตแล้ว จึงได้ฉันในที่อื่นอีกเล่า การกระทำของพวกนางนั่นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของ
ชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ...
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุณีทั้งหลายจงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:
                                พระบัญญัติ
                ๑๐๙. ๔. อนึ่ง ภิกษุณีใด อันทายกนิมนต์แล้ว หรือห้ามภัตแล้ว เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี
ซึ่งของเคี้ยว หรือของฉัน เป็นปาจิตตีย์.
                                เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ.


                                                            หน้าที่ ๒๐๔

                                สิกขาบทวิภังค์
                [๓๔๓] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ...
                บทว่า ภิกษุณี ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุณี เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ชื่อว่า ภิกษุณี ที่
ทรงประสงค์ในอรรถนี้.
                ที่ชื่อว่า อันทายกนิมนต์แล้ว คือ นิมนต์ด้วยโภชนะ ๕ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง.
                ที่ชื่อว่า ห้ามภัตแล้ว คือ อาสนะปรากฏ โภชนะปรากฏ ตนอยู่ในหัตถบาส ทายกนำ
ของเข้าไปถวาย การห้ามปรากฏ.
                ที่ชื่อว่า ของเคี้ยว คือ เว้นโภชนะ ๕ ยาคู ยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก นอกนั้น
ชื่อว่าของเคี้ยว.
                ที่ชื่อว่า ของฉัน ได้แก่โภชนะ ๕ คือ ข้าวสุก ๑ ขนมสด ๑ ขนมแห้ง ๑ ปลา ๑ เนื้อ ๑
                รับประเคนไว้ด้วยหมายใจว่าจักเคี้ยว จักฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ. ฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทุกๆ คำกลืน.
                                บทภาชนีย์
                                ติกะปาจิตตีย์
                [๓๔๔] ทายกนิมนต์แล้ว ภิกษุณีสำคัญว่านิมนต์แล้ว เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยว
หรือของฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                ทายกนิมนต์แล้ว ภิกษุณีสงสัย เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยว หรือของฉัน ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์.
                ทายกนิมนต์แล้ว ภิกษุณีสำคัญว่ามิได้นิมนต์ เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยว หรือของฉัน
ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                                ทุกะทุกกฏ
                รับประเคนยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก ไว้เพื่อประสงค์เป็นอาหาร ต้องอาบัติทุกกฏ.
ฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ ทุกๆ คำกลืน.
                                อนาปัตติวาร
                [๓๔๕] ทายกไม่ได้นิมนต์ ๑ ไม่ได้ห้ามภัต ๑ ดื่มยาคู ๑ บอกเจ้าของแล้วฉัน ๑ เมื่อ
เหตุจำเป็นมี ฉันยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกา ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
                                อารามวรรค สิกขาบทที่ ๔ จบ.
                                __________________________
----
                                อารามวรรค สิกขาบทที่ ๕
                                เรื่องภิกษุณีรูปหนึ่ง
                [๓๔๖] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ภิกษุณีรูปหนึ่งเที่ยวบิณฑบาตไปในตรอกแห่งหนึ่ง ใน
พระนครสาวัตถี ผ่านเข้าไปสู่สกุลแห่งหนึ่ง ครั้นแล้วได้นั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้. ครั้นเขา
นิมนต์ภิกษุณีรูปนั้นให้ฉันแล้วได้กล่าวคำนี้ว่า แม่เจ้า แม้ภิกษุณีรูปอื่นๆ ก็จงมา.
                ทันทีนั้น นางคิดว่า ทำไฉนภิกษุณีรูปอื่นๆ จึงจะไม่มา แล้วได้เข้าไปหาภิกษุณีทั้งหลาย
กล่าวคำนี้ว่า แม่เจ้า ณ สถานที่โน้นสุนัขดุ โคเปลี่ยวดุ สถานที่ลื่น ท่านทั้งหลายอย่าได้ไป
สถานที่นั้นเลย.
                แม้ภิกษุณีอีกรูปหนึ่งก็ได้เที่ยวบิณฑบาตไปในตรอกนั้น เดินผ่านเข้าไปถึงสกุลนั้น ครั้นแล้ว
นั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย. ครั้นคนพวกนั้นนิมนต์ให้นางฉัน แล้วได้กล่าวคำนี้ว่า แม่เจ้า ทำไม
ภิกษุณีทั้งหลายจึงไม่ค่อยมา.
                จึงภิกษุณีรูปนั้นได้เล่าเรื่องนั้นแก่เขาเหล่านั้น พวกเขาจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า
ไฉนภิกษุณีจึงได้หวงตระกูลเล่า ...
                                ทรงสอบถาม
                พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า ภิกษุณีหวงตระกูล
จริงหรือ?
                ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
                                ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีจึงได้หวงตระกูลเล่า
การกระทำของนางนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ...
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุณีทั้งหลายจงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:
                                พระบัญญัติ
                ๑๑๐. ๕. อนึ่ง ภิกษุณีใด เป็นคนตระหนี่ตระกูล เป็นปาจิตตีย์.
                                เรื่องภิกษุณีรูปหนึ่ง จบ.


                                                            หน้าที่ ๒๐๕

                                สิกขาบทวิภังค์
                [๓๔๗] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ...
                บทว่า ภิกษุณี ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุณี เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ชื่อว่า ภิกษุณีที่
ทรงประสงค์ในอรรถนี้.
                ที่ชื่อว่า ตระกูล ได้แก่ ตระกูลทั้ง ๔ คือ ตระกูลกษัตริย์ ตระกูลพราหมณ์ ตระกูลแพทย์
ตระกูลศูทร.
                บทว่า เป็นคนตระหนี่ตระกูล คือคิดว่า ทำไฉนภิกษุณีทั้งหลายจะไม่พึงมา แล้วกล่าวโทษ
ของพวกพ้องในสำนักภิกษุณีทั้งหลาย ต้องอาบัติปาจิตตีย์ หรือ กล่าวโทษของภิกษุณีทั้งหลายใน
สำนักของพวกพ้อง ก็ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                                อนาปัตติวาร
                [๓๔๘] ไม่หวงตระกูล บอกโทษเท่าที่มีอยู่ ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกา ๑ ไม่ต้อง
อาบัติแล.
                                อารามวรรค สิกขาบทที่ ๕ จบ.
                                __________________________

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘