พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ หน้า 181-185

                                                            หน้าที่ ๑๘๑

                                                                สีมาทับสีมา
                สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์สมมติสีมาทับสีมา. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี
พระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สีมาอันภิกษุเหล่าใด
สมมติไว้ก่อนแล้ว กรรมนั้นของภิกษุเหล่านั้นเป็นธรรม ไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ สีมาอันภิกษุ
เหล่าใดสมมติแล้วในภายหลัง กรรมนั้นของภิกษุเหล่านั้นไม่เป็นธรรม กำเริบ ไม่ควรแก่ฐานะ
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสมมติสีมาทับสีมา รูปใดสมมติทับ ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้จะสมมติสีมา เว้นสีมันตริกไว้ แล้วสมมติสีมา.
                                                                วันอุโบสถ ๒
                [๑๖๖] ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความปริวิตกว่า วันอุโบสถมีเท่าไรหนอ แล้ว
กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
วันอุโบสถนี้มี ๒ คือ อุโบสถมีในวัน ๑๔ ค่ำ อุโบสถมีในวัน ๑๕ ค่ำ ดูกรภิกษุทั้งหลาย วัน
อุโบสถ ๒ นี้แล.
                                                                การทำอุโบสถ ๔ อย่าง
                ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความปริวิตกว่า การทำอุโบสถมีเท่าไรหนอแล แล้วกราบทูล
เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย การ
ทำอุโบสถนี้มี ๔ คือ การทำอุโบสถเป็นวรรคโดยไม่เป็นธรรม ๑ การทำอุโบสถพร้อมเพรียงโดย
ไม่เป็นธรรม ๑ การทำอุโบสถเป็นวรรคโดยธรรม ๑ การทำอุโบสถพร้อมเพรียงโดยธรรม ๑.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในการทำอุโบสถ ๔ อย่างนั้น การทำอุโบสถนี้ใดเป็นวรรคโดยไม่
เป็นธรรม การทำอุโบสถเห็นปานนั้น ไม่ควรทำ และเราก็ไม่อนุญาต.
                ในการทำอุโบสถ ๔ อย่างนั้น การทำอุโบสถนี้ใด ที่พร้อมเพรียงโดยไม่เป็นธรรม การทำ
อุโบสถเห็นปานนั้นไม่ควรทำ และเราก็ไม่อนุญาต.
                ในการทำอุโบสถ ๔ อย่างนั้น การทำอุโบสถนี้ใด เป็นวรรคโดยธรรม การทำอุโบสถเห็น
ปานนั้นไม่ควรทำ และเราก็ไม่อนุญาต.
                ในการทำอุโบสถ ๔ อย่างนั้น การทำอุโบสถนี้ใดที่พร้อมเพรียงโดยธรรม การทำอุโบสถ
เห็นปานนั้นควรทำ และเราก็อนุญาต.


                                                            หน้าที่ ๑๘๒

                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละพวกเธอพึงทำในใจว่า จักทำอุโบสถกรรมชนิดที่
พร้อมเพรียงโดยธรรม ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้แล.
                                                                ปาติโมกขุเทศ ๕
                [๑๖๗] ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลาย ได้มีความปริวิตกว่า ปาติโมกขุเทศมีเท่าไรหนอ แล้ว
กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ปาติโมกขุเทศนี้มี ๕ คือ ภิกษุสวดนิทานจบแล้ว  พึงสวดอุเทศที่เหลือด้วยสุตบท นี้เป็น
ปาติโมกขุเทศที่ ๑.
                สวดนิทาน สวดปาราชิก ๔ จบแล้ว พึงสวดอุเทศที่เหลือด้วยสุตบท นี้เป็นปาติ
โมกขุเทศที่ ๒.
                สวดนิทาน สวดปาราชิก ๔ สวดสังฆาทิเสส ๑๓ จบแล้วพึงสวดอุเทศที่เหลือด้วย
สุตบท นี้เป็นปาติโมกขุเทศที่ ๓.
                สวดนิทาน สวดปาราชิก ๔ สวดสังฆาทิเสส ๑๓ สวดอนิยต ๒ จบแล้ว พึงสวด
อุเทศที่เหลือด้วยสุตบท นี้เป็นปาติโมกขุเทศที่ ๔.
                สวดโดยพิสดารหมด เป็นปาติโมกขุเทศที่ ๕.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปาติโมกขุเทศ ๕ นี้แล.
                                                                ทรงห้ามสวดปาติโมกข์ย่อ
                สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตการสวดปาติโมกข์ย่อ ดังนี้
จึงสวดปาติโมกข์ย่อทุกครั้ง. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค
รับสั่งห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวดปาติโมกข์ย่อ รูปใดสวด ต้อง
อาบัติทุกกฏ.
                                                ทรงอนุญาตให้สวดปาติโมกข์ย่อเมื่อมีอันตราย
                สมัยต่อมา ณ อาวาสแห่งหนึ่งในโกศลชนบท คนชาวดงได้มาพลุกพล่านในวันอุโบสถ.
ภิกษุทั้งหลายไม่อาจสวดปาติโมกข์โดยพิสดาร จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มี
พระภาคทรงอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีอันตราย เราอนุญาตให้สวด
ปาติโมกข์ย่อ.


                                                            หน้าที่ ๑๘๓

                                                                อันตราย ๑๐ ประการ
                สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์ แม้เมื่ออันตรายไม่มี ก็สวดปาติโมกข์ย่อ. ภิกษุทั้งหลายจึง
กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เมื่อไม่มีอันตราย ภิกษุไม่พึงสวดปาติโมกข์ย่อ รูปใดสวด ต้องอาบัติทุกกฏ.
                เมื่อมีอันตราย เราอนุญาตให้สวดปาติโมกข์ย่อ.
                อันตรายในเรื่องนั้นเหล่านี้ คือ
                ๑. พระราชาเสด็จมา
                ๒. โจรมาปล้น
                ๓. ไฟไหม้
                ๔. น้ำหลากมา
                ๕. คนมามาก
                ๖. ผีเข้าภิกษุ
                ๗. สัตว์ร้ายเข้ามา
                ๘. งูร้ายเลื้อยเข้ามา
                ๙. ภิกษุอาพาธหนักจะถึงเสียชีวิต
                ๑๐. มีอันตรายแก่พรหมจรรย์
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สวดปาติโมกข์ย่อในเพราะอันตรายเห็นปานนี้ เมื่อไม่มี
อันตราย ให้สวดโดยพิสดาร.
                                จะแสดงธรรมท่ามกลางสงฆ์ต้องได้รับอาราธนาก่อน
                [๑๖๘] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์ไม่ได้รับอาราธนา แสดงธรรมในท่ามกลางสงฆ์.
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งห้ามภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ได้รับอาราธนา ไม่พึงแสดงธรรมในท่ามกลางสงฆ์ รูปใดแสดง ต้อง
อาบัติทุกกฏ.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้เถระแสดงธรรมเอง หรือให้อาราธนาผู้อื่นแสดง.


                                                            หน้าที่ ๑๘๔

                                                ถามพระวินัยท่ามกลางสงฆ์ต้องได้รับสมมติก่อน
                [๑๖๙] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์ยังไม่ได้รับสมมติ ถามพระวินัยในท่ามกลางสงฆ์.
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังไม่ได้รับสมมติ ไม่พึงถามวินัยในท่ามกลางสงฆ์ รูปใดถาม ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ได้รับสมมติแล้ว ถามวินัยในท่ามกลางสงฆ์ได้.
                                                                วิธีสมมติเป็นผู้ถาม
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุพึงสมมติอย่างนี้. ตนเองสมมติตนก็ได้ ภิกษุอื่นสมมติ
ภิกษุอื่นก็ได้.
                อย่างไรเล่า ชื่อว่าตนเองสมมติตน?
                ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
                                                                กรรมวาจาสมมติตน
                พระสงฆ์เจ้าข้า ขอจงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว ข้าพเจ้า
ขอถามพระวินัยต่อผู้มีชื่อนี้.
                อย่างนี้ ชื่อว่าตนเองสมมติตน.
                อย่างไรเล่า ชื่อว่าภิกษุอื่นสมมติภิกษุอื่น?
                ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
                                                                กรรมวาจาสมมติผู้อื่น
                พระสงฆ์เจ้าข้า ขอจงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว ขอผู้มีชื่อนี้
ถามพระวินัยต่อผู้มิชื่อนี้.
                อย่างนี้ ชื่อว่าภิกษุอื่นสมมติภิกษุอื่น.
                                                ถามพระวินัยต้องตรวจดูบริษัทก่อน
                สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลเป็นที่รัก ได้รับสมมติแล้ว ถามพระวินัยในท่ามกลางสงฆ์.
พระฉัพพัคคีย์ได้อาฆาต เคืองแค้น คุกคามจะฆ่าเสีย. ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่


                                                            หน้าที่ ๑๘๕

พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุ
แม้ที่ได้รับสมมติแล้ว ตรวจดูบริษัท พิจารณาดูบุคคลแล้วจึงถามวินัยในท่ามกลางสงฆ์.
                สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์ยังไม่ได้รับสมมติ วิสัชนาพระวินัยในท่ามกลางสงฆ์.
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ยังไม่ได้รับสมมติ ไม่พึงวิสัชนาวินัยในท่ามกลางสงฆ์ รูปใดวิสัชนา
ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุที่ได้รับสมมติแล้ว วิสัชนาวินัยในท่ามกลางสงฆ์.
                                                                วิธีสมมติเป็นผู้วิสัชนา
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล ภิกษุพึงสมมติอย่างนี้. ตนเองสมมติตนก็ได้ ภิกษุอื่นสมมติ
ภิกษุอื่นก็ได้.
                อย่างไรเล่า ชื่อว่าตนเองสมมติตน?
                ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
                                                                กรรมวาจาสมมติตน
                พระสงฆ์เจ้าข้า ขอจงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว ข้าพเจ้า
อันผู้มีชื่อนี้ถามถึงพระวินัยแล้ว ขอวิสัชนา.
                อย่างนี้ ชื่อว่าตนเองสมมติตน.
                อย่างไรเล่า ชื่อว่าภิกษุอื่นสมมติภิกษุอื่น?
                ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
                                                                กรรมวาจาสมมติผู้อื่น
                พระสงฆ์เจ้าข้า ขอจงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว ผู้มีชื่อนี้
อันผู้มีชื่อนี้ถามถึงพระวินัยแล้ว ขอวิสัชนา.
                อย่างนี้ ชื่อว่าภิกษุอื่นสมมติภิกษุอื่น.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘