พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ หน้า 181-185

                                                            หน้าที่ ๑๘๑

ผืนๆ ใดผืนหนึ่งไว้ในละแวกบ้านได้. และปัจจัยอะไรๆ เพื่อจะอยู่ปราศจากจีวรนั้น
จะพึงมีแก่ภิกษุนั้น, ภิกษุนั้นพึงอยู่ปราศจากจีวรนั้นได้ ๖ คืนเป็นอย่างยิ่ง, ถ้าเธออยู่
ปราศยิ่งกว่านั้น เว้นไว้แต่ภิกษุได้สมมติ, เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
                                                เรื่องภิกษุหลายรูป จบ.
                                                                สิกขาบทวิภังค์
                [๑๖๖] บทว่า อนึ่ง  ...  จำพรรษาแล้ว คือ ภิกษุออกพรรษาแล้ว. วันเพ็ญเดือน ๑๒
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ตรงกับวันปุรณมีดิถีเป็นที่เต็ม ๔ เดือน ในกัตติกมาส.
                คำว่า เสนาสนะป่า เป็นต้น ความว่า เสนาสนะที่ชื่อว่า ป่านั้นมีระยะไกล ๕๐๐ ชั่วธนู
เป็นอย่างน้อย.
                ที่ชื่อว่า เป็นที่รังเกียจ คือ ในอาราม อุปจารแห่งอาราม มีสถานที่อยู่ ที่กิน ที่ยืน
ที่นั่ง ที่นอน ของพวกโจรปรากฏอยู่.
                ที่ชื่อว่า มีภัยเฉพาะหน้า คือ ในอาราม อุปจารแห่งอาราม มีมนุษย์ถูกพวกโจร ฆ่า
ปล้น ทุบตี ปรากฏอยู่.
                คำว่า ภิกษุ  ...  จะอยู่ในเสนาสนะป่า  ...  ความว่า ภิกษุจะยับยั้งอยู่ในเสนาสนะเห็น
ปานนั้น.
                บทว่า ปรารถนาอยู่ คือ พอใจอยู่.
                คำว่า จีวร ๓ ผืนๆ ใดผืนหนึ่ง ได้แก่ ผ้าสังฆาฏิ ผ้าอุตราสงค์ หรือผ้าอันตรวาสก.
                คำว่า พึงเก็บ  ...  ไว้ในละแวกบ้านได้ คือ พึงเก็บไว้ในโคจรคามโดยรอบได้.
                คำว่า และปัจจัยอะไรๆ เพื่อจะอยู่ปราศจากจีวรนั้น จะพึงมีแก่ภิกษุนั้น คือ
มีเหตุ มีกิจจำเป็น.
                คำว่า ภิกษุนั้นพึงอยู่ปราศจากจีวรนั้นได้ ๖ คืนเป็นอย่างยิ่ง ความว่า พึงอยู่
ปราศจากได้เพียง ๖ คืนเป็นอย่างมาก.
                บทว่า เว้นไว้แต่ภิกษุได้สมมติ คือ ยกเว้นภิกษุผู้ได้รับสมมติ.
                คำว่า ถ้าเธออยู่ปราศยิ่งกว่านั้น ความว่า เมื่ออรุณที่ ๗ ขึ้นมา, จีวรนั้นเป็นนิสสัคคีย์
คือเป็นของจำต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุพึงเสียสละจีวรนั้นอย่างนี้:-


                                                            หน้าที่ ๑๘๒

                                                                วิธีเสียสละ
                                                เสียสละแก่สงฆ์
                ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษากว่า
นั่งกระหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า
                ท่านเจ้าข้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า อยู่ปราศแล้วเกิน ๖ คืนเป็นของจำจะสละ
เว้นไว้แต่ภิกษุได้สมมติ. ข้าพเจ้าสละจีวรนี้แก่สงฆ์.
                ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เสียสละ
ให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
                ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า. จีวรผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้เป็นของจำจะสละ.
เธอสละแล้วแก่สงฆ์. ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว. สงฆ์พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุ
มีชื่อนี้.
                                                เสียสละแก่คณะ
                ภิกษุรูปนั้น พึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่
พรรษากว่า นั่งกระหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า
                ท่านเจ้าข้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า อยู่ปราศแล้วเกิน ๖ คืน เป็นของจำจะสละ
เว้นไว้แต่ภิกษุได้สมมติ. ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่านทั้งหลาย.
                ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ. ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เสียสละ
ให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
                ท่านทั้งหลาย ขอจงฟังข้าพเจ้า. จีวรผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะสละ.
เธอสละแล้วแก่ท่านทั้งหลาย. ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว. ท่าน
ทั้งหลายพึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้.
                                                เสียสละแก่บุคคล
                ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระหย่งประนมมือ
กล่าวอย่างนี้ว่า:-
                ท่าน จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า อยู่ปราศแล้วเกิน ๖ คืน เป็นของจำจะสละ เว้น
ไว้แต่ภิกษุได้สมมติ. ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน.


                                                            หน้าที่ ๑๘๓

                ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ. ภิกษุผู้รับเสียสละนั้น พึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เสียสละ
ให้ด้วยคำว่า ข้าพเจ้าให้จีวรผืนนี้แก่ท่าน ดังนี้.
                                                                บทภาชนีย์
                                                นิสสัคคิยปาจิตตีย์
                [๑๖๗] จีวรเกิน ๖ คืน ภิกษุสำคัญว่าเกิน อยู่ปราศ เว้นไว้แต่ภิกษุได้สมมติ, เป็น
นิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                จีวรเกิน ๖ คืน ภิกษุสงสัย อยู่ปราศ เว้นไว้แต่ภิกษุได้สมมติ, เป็นนิสสัคคีย์ ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์.
                จีวรเกิน ๖ คืน ภิกษุสำคัญว่ายังไม่ถึง อยู่ปราศ เว้นไว้แต่ภิกษุได้สมมติ, เป็นนิสสัคคีย์
ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                จีวรยังไม่ได้ถอน ภิกษุสำคัญว่าถอนแล้ว อยู่ปราศ เว้นไว้แต่ภิกษุได้สมมติ, เป็น
นิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                จีวรยังไม่ได้สละ ภิกษุสำคัญว่าสละแล้ว อยู่ปราศ เว้นไว้แต่ภิกษุได้สมมติ, เป็น
นิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                จีวรยังไม่หาย ภิกษุสำคัญว่าหายแล้ว อยู่ปราศ เว้นไว้แต่ภิกษุได้สมมติ, เป็นนิสสัคคีย์
ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                จีวรยังไม่ฉิบหาย ภิกษุสำคัญว่าฉิบหายแล้ว อยู่ปราศ เว้นไว้แต่ภิกษุได้สมมติ, เป็น
นิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                จีวรยังไม่ถูกไฟไหม้ ภิกษุสำคัญว่าถูกไฟไหม้แล้ว อยู่ปราศ เว้นไว้แต่ภิกษุได้สมมติ,
เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                จีวรยังไม่ถูกชิงไป ภิกษุสำคัญว่าถูกชิงไปแล้ว อยู่ปราศ เว้นไว้แต่ภิกษุได้สมมติ, เป็น
นิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
                                                                ทุกกฏ
                จีวรเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุไม่ได้สละ บริโภค, ต้องอาบัติทุกกฏ.
                จีวรยังไม่ถึง ๖ ราตรี ภิกษุสำคัญว่าเกิน  ..., ต้องอาบัติทุกกฏ.
                จีวรยังไม่ถึง ๖ ราตรี ภิกษุสงสัย  ..., ต้องอาบัติทุกกฏ.


                                                            หน้าที่ ๑๘๔

                                                                ไม่ต้องอาบัติ
                จีวรยังไม่ถึง ๖ ราตรี ภิกษุสำคัญว่ายังไม่ถึง ๖ ราตรี บริโภค, ไม่ต้องอาบัติ.
                                                                อนาปัตติวาร
                [๑๖๘] ภิกษุอยู่ปราศ ๖ ราตรี ๑, ภิกษุอยู่ปราศไม่ถึง ๖ ราตรี ๑, ภิกษุอยู่ปราศ ๖ ราตรี
แล้วกลับมายังคามสีมา อยู่แล้วหลีกไป ๑, ภิกษุถอนเสียภายใน ๖ ราตรี ๑, ภิกษุสละให้ไป ๑,
จีวรหาย ๑, จีวรฉิบหาย ๑, จีวรถูกไฟไหม้ ๑, จีวรถูกชิงเอาไป ๑, ภิกษุถือวิสาสะ ๑, ภิกษุ
ได้สมมติ ๑, ภิกษุวิกลจริต ๑, ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑, ไม่ต้องอาบัติแล.
                                                ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๙ จบ.
                                                                ___________


                                                            หน้าที่ ๑๘๕

                                                ๓. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๑๐
                                                เรื่องพระฉัพพัคคีย์
                [๑๖๙] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันอารามของ
อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ในพระนครสาวัตถี มีชาวบ้านหมู่หนึ่ง
จัดภัตตาหารพร้อมทั้งจีวรไว้ถวายสงฆ์ ด้วยตั้งใจว่าจักให้ฉันแล้วจึงให้ครองจีวร ณ เวลาเดียวกัน
นั้นแล. พระฉัพพัคคีย์ได้เข้าไปหาชาวบ้านหมู่นั้น ครั้นแล้วได้กล่าวคำนี้กะชาวบ้านหมู่นั้นว่า
ท่านทั้งหลาย ขอพวกท่านจงให้จีวรเหล่านี้แก่พวกอาตมา.
                ชาวบ้านหมู่นั้นกล่าวว่า ท่านเจ้าข้า พวกกระผมจะถวายไม่ได้ เพราะพวกกระผม จัด
ภิกษาหารพร้อมทั้งจีวรไว้ถวายพระสงฆ์ทุกปี. พระฉัพพัคคีย์กล่าวว่า ดูกรท่านทั้งหลาย ทายก
ของสงฆ์มีมาก, ภัตตาหารของสงฆ์ก็มีมาก, พวกอาตมาอาศัยพวกท่าน เห็นอยู่แต่พวกท่าน จึง
อยู่ในที่นี้. ถ้าพวกท่านไม่ให้แก่พวกอาตมา, เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าจักให้แก่พวกอาตมา, ขอ
พวกท่านจงให้จีวรเหล่านี้ แก่พวกอาตมาเถิด.
                เมื่อชาวบ้านหมู่นั้น ถูกพระฉัพพัคคีย์แค่นไค้ จึงได้ถวายจีวรตามที่ได้จัดไว้แก่
พระฉัพพัคคีย์แล้วอังคาสพระสงฆ์เฉพาะภัตตาหาร.
                บรรดาภิกษุที่ทราบว่า เขาจัดภัตตาหารพร้อมทั้งจีวรไว้ถวายพระสงฆ์, แต่ไม่ทราบว่า
เขาได้ถวายจีวรแก่พระฉัพพัคคีย์ไปแล้ว จึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย ขอพวกท่านจงน้อม
ถวายจีวรแก่พระสงฆ์เถิด.
                ชาวบ้านหมู่นั้นกล่าวว่า ท่านเจ้าข้า จีวรตามที่ได้จัดไว้ไม่มี, เพราะพระคุณเจ้าเหล่า
พระฉัพพัคคีย์น้อมไปเพื่อตนแล้ว.
                บรรดาภิกษุผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่าง
เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระฉัพพัคคีย์รู้อยู่ จึงได้น้อมลาภที่เข้าน้อมไว้เป็นของ
จะถวายสงฆ์มาเพื่อตนเล่า? แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘