พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒ หน้า 176-180

                                                            หน้าที่ ๑๗๖

แด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สงฆ์ผู้อยู่
พร้อมหน้ากันแจก.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ในข้อนี้ ภิกษุอยู่ผู้เดียวตลอดฤดูกาล ประชาชนในถิ่นนั้นได้ถวาย
จีวรด้วยเปล่งวาจาว่าพวกข้าพเจ้าถวายแก่สงฆ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุรูปนั้น
อธิษฐานจีวรเหล่านั้นว่า จีวรเหล่านี้ของเรา ถ้าเมื่อภิกษุรูปนั้นยังไม่ได้อธิษฐานจีวรนั้น มีภิกษุรูป
อื่นมา พึงให้ส่วนแบ่งเท่าๆ กัน ถ้าเมื่อภิกษุ ๒ รูปกำลังแบ่งจีวรนั้น แต่ยังมิได้จับสลาก มีภิกษุ
รูปอื่นมา พึงให้ส่วนแบ่งเท่าๆ กัน ถ้าเมื่อภิกษุ ๓ รูปกำลังแบ่งจีวรนั้น และจับสลากเสร็จแล้ว
มีภิกษุรูปอื่นมา พวกเธอไม่ปรารถนาก็ไม่ต้องให้ส่วนแบ่ง.
                สมัยต่อมา มีพระเถระ ๒ พี่น้อง คือ ท่านพระอิสิทาส ๑ ท่านพระอิสิภัตตะ ๑ จำพรรษา
อยู่ในพระนครสาวัตถี ได้ไปอาวาสใกล้บ้านแห่งหนึ่ง คนทั้งหลายกล่าวกันว่า นานๆ พระเถระ
ทั้งสองจะได้มา จึงได้ถวายภัตตาหารพร้อมทั้งจีวร
                พวกภิกษุประจำถิ่นถามพระเถระทั้งสองว่า ท่านเจ้าข้า จีวรของสงฆ์เหล่านี้ เกิดขึ้น
เพราะอาศัยพระคุณเจ้าทั้งสอง พระคุณเจ้าทั้งหลายจักยินดีรับส่วนแบ่งไหม?
                พระเถระทั้งสองตอบอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย ผมรู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงแล้ว โดยประการที่จีวรเหล่านั้นเป็นของพวกท่านเท่านั้นจนถึงเวลาเดาะกฐิน.
                สมัยต่อมา ภิกษุ ๓ รูป จำพรรษาอยู่ในพระนครราชคฤห์ ประชาชนในเมืองนั้นถวาย
จีวรด้วยเปล่งวาจาว่า พวกข้าพเจ้าถวายแก่สงฆ์ จึงภิกษุเหล่านั้นได้ดำริดังนี้ว่า พระผู้มีพระภาค
ทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุ ๔ รูปเป็นอย่างน้อยชื่อว่าสงฆ์ แต่เรามี ๓ รูปด้วยกัน และคนเหล่านี้ถวาย
จีวรด้วยเปล่งวาจาว่า พวกข้าพเจ้าถวายแก่สงฆ์ พวกเราจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ สมัยนั้น พระ
เถระหลายรูป คือ ท่านพระนีลวาสี ท่านพระสาณวาสี ท่านพระโคปกะ ท่านพระภคุ และท่านพระ
ผลิกสันทานะ อยู่ ณ วัดกุกกุฏาราม เขตนครปาตลีบุตร จึงภิกษุเหล่านั้นเดินทางไปนครปาตลีบุตร
แล้วเรียนถามพระเถระทั้งหลาย พระเถระทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า พวกเรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มี
พระภาคทรงแสดงแล้ว โดยประการที่จีวรเหล่านั้นเป็นของพวกท่านนั้น จนถึงเวลาเดาะกฐิน.
                                                                เรื่องพระอุปนนท์
                [๑๖๕] ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระอุปนนทศากยบุตร จำพรรษาอยู่ในพระนครสาวัตถี
ได้ไปอาวาสใกล้บ้านแห่งหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายในวัดนั้นปรารถนาจะแบ่งจีวร จึงประชุมกัน ภิกษุ


                                                            หน้าที่ ๑๗๗

เหล่านั้น พูดอย่างนี้ว่า อาวุโส ภิกษุทั้งหลายจักแบ่งจีวรของสงฆ์เหล่านี้แล ท่านจักยินดีส่วน
แบ่งไหม ขอรับ ท่านพระอุปนนท์ตอบว่า อาวุโสทั้งหลาย ผมยินดี ขอรับ แล้วได้รับส่วน
จีวรแต่อาวาสนั้นไปวัดอื่น แม้ภิกษุทั้งหลายในวัดนั้นก็ปรารถนาจะแบ่งจีวร จึงประชุมกัน และ
พูดอย่างนี้ว่า อาวุโส ภิกษุทั้งหลายจักแบ่งจีวรของสงฆ์เหล่านี้แล ท่านจักยินดีส่วนแบ่งไหม
ขอรับ ท่านพระอุปนนท์ตอบว่า อาวุโสทั้งหลาย ผมยินดี ขอรับ แล้วได้รับส่วนจีวรแต่อาวาส
นั้นไปวัดอื่น แม้ภิกษุทั้งหลายในวัดนั้นก็ปรารถนาจะแบ่งจีวรจึงประชุมกัน และก็พูดอย่างนี้ว่า
อาวุโส ภิกษุทั้งหลายจักแบ่งจีวรของสงฆ์เหล่านี้แล ท่านจักยินดีส่วนแบ่งไหม ขอรับ ท่าน
พระอุปนนท์ตอบว่า อาวุโสทั้งหลาย ผมยินดี ขอรับ แล้วได้รับจีวรแต่อาวาสแม้นั้น ถือจีวร
ห่อใหญ่กลับมาพระนครสาวัตถีตามเดิม.
                ภิกษุทั้งหลายชมเชยอย่างนี้ว่า พระคุณเจ้าอุปนนท์ ท่านเป็นผู้มีบุญมาก จีวรจึงเกิดขึ้น
แก่ท่านมากมาย.
                อุป. อาวุโสทั้งหลาย บุญของผมที่ไหน ผมจำพรรษาอยู่ในพระนครสาวัตถีนี้ ได้ไป
อาวาสใกล้บ้านแห่งหนึ่ง พวกภิกษุในวัดนั้น ปรารถนาจะแบ่งจีวร จึงประชุมกัน พวกเธอกล่าว
กะผมอย่างนี้ว่า อาวุโส ภิกษุทั้งหลายจักแบ่งจีวรของสงฆ์เหล่านี้แล ท่านจักยินดีส่วนแบ่งไหม
ขอรับ ผมตอบว่า อาวุโสทั้งหลาย ผมยินดี ขอรับ แล้วได้รับส่วนจีวรแต่อาวาสนั้นไปวัดอื่น
แม้ภิกษุในวัดนั้น ก็ปรารถนาจะแบ่งจีวร จึงประชุมกัน และพวกเธอก็ได้กล่าวกะผมอย่างนี้ว่า
อาวุโส ภิกษุทั้งหลายจักแบ่งจีวรของสงฆ์เหล่านี้แล ท่านจักยินดีส่วนแบ่งไหม ขอรับ ผมตอบว่า
อาวุโสทั้งหลาย ผมยินดี ขอรับ แล้วได้รับส่วนจีวรแต่อาวาสนั้น ไปวัดอื่น แม้ภิกษุในวัดนั้น
ก็ปรารถนาจะแบ่งจีวร จึงประชุมกัน และกล่าวกะผมอย่างนี้ว่า อาวุโส ภิกษุทั้งหลายจักแบ่ง
จีวรของสงฆ์เหล่านี้แล ท่านจักยินดีส่วนแบ่งไหม ขอรับ ผมตอบว่า อาวุโสทั้งหลาย ผมยินดี
ขอรับ แล้วได้รับส่วนจีวรแต่อาวาสแม้นั้น เพราะอย่างนี้ จีวรจึงเกิดขึ้นแก่ผมมากมาย.
                ภิ. พระคุณเจ้าอุปนนท์ ท่านจำพรรษาในวัดหนึ่ง แล้วยังยินดีส่วนจีวรในอีกวัด
หนึ่งหรือ?


                                                            หน้าที่ ๑๗๘

                อุป. อย่างนั้น ขอรับ.
                บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย .... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน ท่านพระ
อุปนนทศากยบุตร จำพรรษาในวัดหนึ่งแล้ว จึงได้ยินดีส่วนจีวรในอีกวัดหนึ่งเล่า แล้วกราบทูล
เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
                พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามท่านพระอุปนนท์ว่า ดูกรอุปนนท์ ข่าวว่าเธอจำพรรษาในวัด
หนึ่งแล้ว ยินดีส่วนจีวรในอีกวัดหนึ่ง จริงหรือ?
                ท่านพระอุปนนท์ทูลรับว่า จริงพระพุทธเจ้าข้า.
                พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ เธอจำพรรษาในวัดหนึ่งแล้ว ไฉน
จึงได้ยินดีส่วนจีวรในอีกวัดหนึ่งเล่า การกระทำของเธอนั่นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชน
ที่ยังไม่เลื่อมใส .... ครั้นแล้ว ทรงทำธรรมีกถา รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ
จำพรรษาในวัดหนึ่งแล้ว ไม่พึงยินดีส่วนจีวรในวัดอื่น รูปใดยินดี ต้องอาบัติทุกกฏ.
                สมัยต่อมา ท่านพระอุปนนทศากยบุตร รูปเดียวจำพรรษาอยู่สองวัด ด้วยคิดว่าโดยวิธี
อย่างนี้ จีวรจักเกิดขึ้นแก่เรามาก ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความสงสัยว่า พวกเราจักให้ส่วน
จีวรแก่ท่านพระอุปนนทศากยบุตรอย่างไรหนอ แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
                พระผู้มีพระภาคตรัสแนะว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงให้ส่วนแก่โมฆบุรุษส่วนเดียว.
                ภิกษุทั้งหลาย ก็ในข้อนี้ภิกษุรูปเดียว จำพรรษาอยู่ ๒ วัด ด้วยคิดว่าโดยวิธีอย่างนี้ จีวร
จักเกิดขึ้นแก่เรามาก ถ้าภิกษุจำพรรษาในวัดโน้นกึ่งหนึ่ง วัดโน้นกึ่งหนึ่ง พึงให้ส่วนจีวรในวัด
โน้นกึ่งหนึ่ง วัดโน้นกึ่งหนึ่ง หรือจำพรรษาในวัดใดมากกว่า พึงให้ส่วนจีวรในวัดนั้น.
                                                เรื่องพระอาพาธโรคท้องร่วง
                [๑๖๖] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นโรคท้องร่วง นอนจมกองมูตรกองคูถ
ของตนอยู่ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคมีท่านพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เสด็จพระพุทธดำเนิน
ไปตามเสนาสนะ ได้เสด็จเข้าไปทางที่อยู่ของภิกษุรูปนั้น ได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุรูปนั้น นอน
จมกองมูตรกองคูถของตนอยู่ ครั้นแล้วเสด็จเข้าไปใกล้ภิกษุรูปนั้น แล้วตรัสถามว่า เธออาพาธ
เป็นโรคอะไรภิกษุ?


                                                            หน้าที่ ๑๗๙

                ภิ. ข้าพระพุทธเจ้าอาพาธเป็นโรคท้องร่วง พระพุทธเจ้าข้า.
                พ. เธอมีผู้พยาบาลไหมเล่า ภิกษุ?
                ภิ. ไม่มี พระพุทธเจ้า.
                พ. เพราะเหตุไร ภิกษุทั้งหลายจึงไม่พยาบาลเธอ?
                ภิ. เพราะข้าพระพุทธเจ้ามิได้ทำอุปการะแก่ภิกษุทั้งหลาย ฉะนั้นภิกษุทั้งหลายจึงไม่
พยาบาลข้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าข้า.
                จึงพระผู้มีพระภาครับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า อานนท์ เธอไปตักน้ำมา เราจักสรงน้ำ
ภิกษุรูปนี้.
                ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระพุทธบัญชาว่า เป็นดังนั้น พระพุทธเจ้าข้า ดังนี้แล้ว
ตักน้ำมาถวาย พระผู้มีพระภาคทรงรดน้ำ ท่านพระอานนท์ขัดสี พระผู้มีพระภาคทรงยกศีรษะ
ท่านพระอานนท์ยกเท้าแล้ววางบนเตียง
                ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะ
เหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ในวิหารหลังโน้น มีภิกษุอาพาธหรือ ภิกษุ
ทั้งหลาย?
                ภิ. มี พระพุทธเจ้าข้า
                พ. ภิกษุรูปนั้นอาพาธเป็นโรคอะไร ภิกษุทั้งหลาย?
                ภิ. ท่านรูปนั้น อาพาธเป็นโรคท้องร่วง พระพุทธเจ้าข้า.
                พ. ภิกษุรูปนั้น มีผู้พยาบาลไหมเล่า ภิกษุทั้งหลาย?
                ภิ. ไม่มี พระพุทธเจ้า
                พ. เพราะเหตุไร ภิกษุทั้งหลายจึงไม่พยาบาลเธอ?
                ภิ. เพราะท่านรูปนั้นมิได้ทำอุปการะแก่ภิกษุทั้งหลาย ฉะนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงไม่พยาบาล
ท่านรูปนั้น พระพุทธเจ้าข้า.
                พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่มีมารดาไม่มีบิดา ผู้ใดเล่าจะพึงพยาบาลพวกเธอ
ถ้าพวกเธอจักไม่พยาบาลกันเอง ใครเล่าจักพยาบาล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดจะพึงอุปัฏฐากเรา


                                                            หน้าที่ ๑๘๐

ผู้นั้นจึงพยาบาลภิกษุอาพาธ ถ้ามีอุปัชฌายะ อุปัชฌายะพึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะ
หาย ถ้ามีอาจารย์ อาจารย์พึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้ามีสัทธิวิหาริก
สัทธิวิหาริกพึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้ามีอันเตวาสิก อันเตวาสิกพึงพยาบาล
จนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้ามีภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌายะ ภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌายะพึงพยาบาล
จนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้ามีภิกษุผู้ร่วมอาจารย์ ภิกษุผู้ร่วมอาจารย์พึงพยาบาลจนตลอด
ชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้าไม่มีอุปัชฌายะ อาจารย์ สัทธิวิหาริก อันเตวาสิก ภิกษุผู้ร่วม
อุปัชฌายะ หรือภิกษุผู้ร่วมอาจารย์ สงฆ์ต้องพยาบาล ถ้าไม่พยาบาล ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                องค์ของภิกษุอาพาธที่พยาบาลได้ยาก ๕ อย่าง
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาพาธที่ประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นผู้พยาบาลได้ยาก คือ ไม่ทำ
ความสบาย ๑ ไม่รู้ประมาณในความสบาย ๑ ไม่ฉันยา ๑ ไม่บอกอาการไข้ตามจริงแก่ผู้พยาบาล
ที่มุ่งประโยชน์ คือ ไม่บอกอาการไข้ที่กำเริบว่า กำเริบ อาการไข้ที่ทุเลาว่าทุเลา อาการไข้ที่ทรง
อยู่ว่าทรงอยู่ ๑ มีนิสัยเป็นคนไม่อดทนต่อทุกขเวทนาที่เกิดปรากฏในร่างกาย อันกล้าแข็ง รุนแรง
ไม่เป็นที่ยินดี ไม่เป็นที่พอใจ อันจะพล่าชีวิตเสีย ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาพาธที่ประกอบ
ด้วยองค์ ๕ นี้แล เป็นผู้พยาบาลได้ยาก.
                                องค์ของภิกษุอาพาธที่พยาบาลได้ง่าย ๕ อย่าง
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาพาธที่ประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นผู้พยาบาลได้ง่าย คือทำความ
สบาย ๑ รู้ประมาณในความสบาย ๑ ฉันยา ๑ บอกอาการป่วยไข้ตามจริงแก่ผู้พยาบาลที่มุ่ง
ประโยชน์ คือบอกอาการไข้ที่กำเริบว่ากำเริบอาการไข้ที่ทุเลาว่าทุเลา อาการไข้ที่ทรงอยู่ว่าทรงอยู่ ๑
มีนิสัยเป็นคนอดทนต่อทุกขเวทนา อันกล้าแข็ง รุนแรง ไม่เป็นที่ยินดี ไม่เป็นที่พอใจ อัน
จะพล่าชีวิตเสีย ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาพาธที่ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล เป็นผู้พยาบาล
ได้ง่าย.
                                                องค์ของภิกษุผู้ไม่เข้าใจพยาบาล ๕ อย่าง
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พยาบาลไข้ที่ประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่ควรพยาบาลไข้ คือเป็นผู้
ไม่สามารถเพื่อประกอบ ๑ ไม่รู้จักของแสลงและไม่แสลง คือ นำของแสลงเข้าไปให้ กันของ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘