พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ หน้า 171-175

                                                            หน้าที่ ๑๗๑

                ดูกรภิกษุทั้งหลาย  เราอนุญาตให้สวดปาติโมกข์ ปักษ์ละ ๑ ครั้ง คือ ในวัน ๑๔ ค่ำ หรือ
วัน ๑๕ ค่ำ
                                                เรื่องพระฉัพพัคคีย์สวดปาติโมกข์
                [๑๕๒] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์สวดปาติโมกข์แก่บริษัทเท่าที่มีอยู่ คือเฉพาะ
บริษัทของตนๆ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งกะ
ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวดปาติโมกข์แก่บริษัทเท่าที่มีอยู่ คือเฉพาะ
บริษัทของตนๆ รูปใดสวด ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตอุโบสถกรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ผู้พร้อมเพรียงกัน.
                ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความปริวิตกว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติอุโบสถกรรมแก่
ภิกษุทั้งหลายผู้พร้อมเพรียงกัน ดังนี้ แล้วมีความดำริต่อไปว่า ความพร้อมเพรียงมีเพียงเท่าไร
หนอแล มีเพียงอาวาสหนึ่ง หรือทั่วทั้งแผ่นดิน แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตความพร้อมเพรียง เพียง
ชั่วอาวาสเดียวเท่านั้น.
                                                เรื่องพระมหากัปปินเถระดำริจะไม่ทำอุโบสถ
                [๑๕๓] ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระมหากัปปินะพักอยู่ ณ มัททกุจฉิมฤคทายวัน เขต
พระนครราชคฤห์. คราวหนึ่ง ท่านไปในที่สงัด หลีกเร้นอยู่ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้น
อย่างนี้ว่า เราควรไปทำอุโบสถ หรือไม่ควรไป ควรไปทำสังฆกรรม หรือไม่ควรไป โดยที่แท้
เราเป็นผู้หมดจดแล้วด้วยความหมดจดอย่างยิ่ง. ทีนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกแห่ง
จิตของท่านพระมหากัปปินะด้วยพระทัยของพระองค์ แล้วได้ทรงหายพระองค์ไปในคิชฌกูฏบรรพต
มาปรากฏอยู่ตรงหน้าท่านพระมหากัปปินะ ณ มัททกุจฉิมฤคทายวัน เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลัง
เหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียดฉะนั้น แล้วพระองค์ประทับนั่งเหนือพุทธอาสนะที่เขาจัด
ถวาย. ฝ่ายท่านพระมหากัปปินะถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
                พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสคำนี้กะท่านพระมหากัปปินะผู้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า ดูกร
กัปปินะ เธอไปในที่สงัด หลีกเร้นอยู่ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า เราควรไปทำ
อุโบสถ หรือไม่ควรไป ควรไปทำสังฆกรรม หรือไม่ควรไป โดยที่แท้ เราเป็นผู้หมดจดแล้ว
ด้วยความหมดจดอย่างยิ่ง ดังนี้มิใช่หรือ?


                                                            หน้าที่ ๑๗๒

                ท่านพระมหากัปปินะทูลรับว่า เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า.
                พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ทั้งหลาย ถ้าพวกเธอไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่
นับถือ ไม่บูชา ซึ่งอุโบสถ เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าจักสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ซึ่งอุโบสถ
ดูกรพราหมณ์ เธอจงไปทำอุโบสถ จะไม่ไปไม่ได้ จงไปทำสังฆกรรม จะไม่ไปไม่ได้.
                ท่านพระมหากัปปินะรับสนองพระพุทธพจน์ว่า อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า.
                ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ท่านพระมหากัปปินะเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ
ร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วได้ทรงหายพระองค์ไปในที่ตรงหน้าท่านพระมหากัปปินะ ณ มัททกุจฉิ-
มฤคทายวัน มาปรากฏ ณ คิชฌกูฏบรรพต โดยรวดเร็ว เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลัง เหยียดแขน
ที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น.
                                                                สมมติสีมาและนิมิตแห่งสีมา
                [๑๕๔] ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความปริวิตกว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติว่า ความ
พร้อมเพรียงมีเพียงชั่วอาวาสเดียวเท่านั้น แล้วได้มีความปริวิตกต่อไปว่า อาวาสหนึ่งกำหนดเพียง
เท่าไร จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติสีมา.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพึงสมมติสีมาอย่างนี้:-
                                                                วิธีสมมติสีมา
                ชั้นต้นพึงทักนิมิต คือ ปัพพตนิมิต ปาสาณนิมิต วนนิมิต รุกขนิมิต มัคคนิมิต
วัมมิกนิมิต นทีนิมิต อุทกนิมิต ครั้นทักนิมิตแล้ว ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์
ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
                                                                กรรมวาจาสมมติสีมา
                ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า นิมิตระบุไว้โดยรอบแล้วเพียงไร ถ้าความ
พร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสมมติสีมาให้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน ด้วย
นิมิตเหล่านั้น. นี้เป็นญัตติ.


                                                            หน้าที่ ๑๗๓

                ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า นิมิตระบุไว้โดยรอบแล้วเพียงไร สงฆ์สมมติ
อยู่บัดนี้ซึ่งสีมา ให้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน ด้วยนิมิตเหล่านั้น. การสมมติสีมา
ให้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน ด้วยนิมิตเหล่านั้น ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้น
พึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด.
                สีมาอันสงฆ์สมมติให้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกันแล้ว ด้วยนิมิตเหล่านั้น
ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง. ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้.
                                                                เรื่องสมมติสีมาใหญ่เกินขนาด
                [๑๕๕] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์คิดว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตการสมมติ
สีมาแล้ว จึงสมมติสีมาใหญ่เกินถึง ๔ โยชน์บ้าง ๕ โยชน์บ้าง ๖ โยชน์บ้าง. ภิกษุทั้งหลาย
จะมาทำอุโบสถ ย่อมมาถึงต่อเมื่อกำลังสวดปาติโมกข์บ้าง. มาถึงต่อเมื่อสวดจบบ้าง  แรมคืน
อยู่ในระหว่างทางบ้าง จึงพากันกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่ง
กะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสมมติสีมาใหญ่เกินถึง ๔ โยชน์ ๕ โยชน์
หรือ ๖ โยชน์ รูปใดสมมติ ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติสีมามีประมาณ ๓ โยชน์เป็นอย่างยิ่ง.
                                                                เรื่องสมมติสีมาคร่อมแม่น้ำ
                [๑๕๖] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์สมมติสีมาคร่อมแม่น้ำ. ภิกษุทั้งหลายจะมาทำ
อุโบสถ ถูกน้ำพัดไปก็มี บาตรถูกน้ำพัดไปก็มี จีวรถูกน้ำพัดไปก็มี จึงพากันกราบทูลเรื่องนั้น
แด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึง
สมมติสีมาคร่อมแม่น้ำ รูปใดสมมติ ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติสีมาคร่อมแม่น้ำที่มีเรือจอดประจำหรือมีสะพาน
ถาวร.
                                                                เรื่องสมมติโรงอุโบสถ
                [๑๕๗] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายสวดปาติโมกข์ตามบริเวณวิหาร โดยมิได้
กำหนดที่. พระอาคันตุกะทั้งหลายไม่รู้ว่า วันนี้พระสงฆ์จักทำอุโบสถที่ไหน จึงพากันกราบทูล
เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ
ไม่พึงสวดปาติโมกข์ตามบริเวณวิหาร โดยมิได้กำหนดที่ รูปใดสวด ต้องอาบัติทุกกฏ.


                                                            หน้าที่ ๑๗๔

                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติวิหาร เรือนมุงแถบเดียว เรือนชั้น เรือนโล้น
หรือถ้ำ ที่สงฆ์จำนงให้เป็นโรงอุโบสถแล้วทำอุโบสถ.
                                                                วิธีสมมติโรงอุโบสถ
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล พึงสมมติโรงอุโบสถอย่างนี้.
                ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
                                                                กรรมวาจาสมมติโรงอุโบสถ
                ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึง
สมมติวิหารมีชื่อนี้ให้เป็นโรงอุโบสถ. นี้เป็นญัตติ.
                ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์สมมติอยู่บัดนี้ ซึ่งวิหารมีชื่อนี้ ให้เป็น
โรงอุโบสถ. การสมมติวิหารมีชื่อนี้ให้เป็นโรงอุโบสถ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็น
ผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด.
                วิหารมีชื่อนี้อันสงฆ์สมมติให้เป็นโรงอุโบสถแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง
ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้.
                                                กรรมวาจาสมมติโรงอุโบสถ  จบ.
                                                                ________________
                                                เรื่องสมมติโรงอุโบสถ ๒ แห่งในอาวาสเดียวกัน
                [๑๕๘] ก็โดยสมัยนั้นแล ในอาวาสแห่งหนึ่ง สงฆ์สมมติโรงอุโบสถ ๒ แห่ง. ภิกษุ
ทั้งหลายประชุมกันในโรงอุโบสถทั้งสองด้วยตั้งใจว่า สงฆ์จักทำอุโบสถที่นี้ สงฆ์จักทำอุโบสถ
ณ ที่นี้ จึงพากันกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามแก่ภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในอาวาสแห่งหนึ่ง สงฆ์ไม่พึงสมมติโรงอุโบสถ ๒ แห่ง รูปใดสมมติ
ต้องอาบัติทุกกฏ.
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ถอนโรงอุโบสถแห่งหนึ่งแล้วทำอุโบสถ ในโรงอุโบสถ
แห่งหนึ่ง.


                                                            หน้าที่ ๑๗๕

                                                                วิธีถอนโรงอุโบสถ
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล พึงถอนโรงอุโบสถอย่างนี้.
                ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
                                                                กรรมวาจาถอนโรงอุโบสถ
                ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึง
ถอนโรงอุโบสถมีชื่อนี้. นี้เป็นญัตติ.
                ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์ถอนอยู่บัดนี้ ซึ่งโรงอุโบสถมีชื่อนี้. การ
ถอนโรงอุโบสถมีชื่อนี้ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้น พึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด
ท่านผู้นั้นพึงพูด.
                โรงอุโบสถมีชื่อนี้อันสงฆ์ถอนแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้
ไว้ ด้วยอย่างนี้.
                                                                สมมติโรงอุโบสถเล็กเกินขนาด
                [๑๕๙]  ก็โดยสมัยนั้นแล ในอาวาสแห่งหนึ่ง สงฆ์สมมติโรงอุโบสถเล็กเกินขนาด.
ถึงวันอุโบสถ ภิกษุสงฆ์ลงประชุมกันมาก. ภิกษุทั้งหลายต้องนั่งฟังปาติโมกข์ในพื้นที่ซึ่งมิได้สมมติ
ภิกษุเหล่านั้นจึงได้หารือกันว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า พึงสมมติโรงอุโบสถแล้ว
จึงทำอุโบสถ ดังนี้ ก็พวกเรานั่งฟังปาติโมกข์ในพื้นที่ซึ่งมิได้สมมติ อุโบสถเป็นอันพวกเรา
ทำแล้ว หรือไม่เป็นอันทำหนอ จึงพากันกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค
รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั่งในพื้นที่ซึ่งสมมติแล้วก็ตาม มิได้สมมติ
ก็ตาม เพราะได้ฟังปาติโมกข์ ฉะนั้นอุโบสถย่อมเป็นอันเธอได้ทำแล้วเหมือนกัน ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล สงฆ์จงสมมติพื้นที่ด้านหน้าโรงอุโบสถให้ใหญ่เท่าที่จำนง.
                                                วิธีสมมติพื้นที่ด้านหน้าโรงอุโบสถ
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล พึงสมมติพื้นที่ด้านหน้าโรงอุโบสถอย่างนี้.
                พึงทักนิมิตก่อน ครั้นทักนิมิตแล้ว ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบ
ด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘