พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒ หน้า 166-170

                                                            หน้าที่ ๑๖๖

ไปเพียงเข่าบ้าง เพียงสะเอวบ้าง เท้าหรือจีวรของภิกษุ แม้รูปหนึ่ง ก็ไม่ได้เปียกน้ำ ดังนี้แล้ว
ร่าเริง เบิกบานใจ อังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีต
ด้วยมือของตน จนพระผู้มีพระภาคผู้เสวยเสร็จแล้ว ทรงนำพระหัตถ์ออกจากบาตรห้ามภัตร
แล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคว่า หม่อมฉันทูลขอประทานพร ๘
ประการต่อพระผู้มีพระภาค พระพุทธเจ้าข้า.
                ภ. ตถาคตเลิกให้พรเสียแล้ว วิสาขา
                วิ. หม่อมฉันทูลขอประทานพรที่สมควรและไม่มีโทษ พระพุทธเจ้าข้า
                ภ. จงบอกมาเถิด วิสาขา
                วิ. พระพุทธเจ้าข้า สำหรับพระสงฆ์ หม่อมฉันปรารถนาจะถวายผ้าวัสสิกสาฎก จะ
ถวายภัตรเพื่อพระอาคันตุกะ จะถวายภัตรเพื่อพระที่เตรียมจะไป จะถวายภัตรเพื่อพระอาพาธ จะ
ถวายภัตรเพื่อพระที่พยาบาลพระอาพาธ จะถวายเภสัชสำหรับพระอาพาธ จะถวายยาคูประจำ
และสำหรับภิกษุณีสงฆ์ หม่อมฉันปรารถนาจะถวายอุทกสาฎก จนตลอดชีพ.
                ภ. วิสาขา ก็เธอเห็นอำนาจประโยชน์อะไร จึงขอพร ๘ ประการ ต่อตถาคต.
                วิ. พระพุทธเจ้าข้า วันนี้หม่อมฉันสั่งทาสีว่า ไปเถิด แม่ทาสี เจ้าจงไปอาราม แล้ว
บอกภัตรกาลว่า ภัตตาหารเสร็จแล้ว เจ้าข้า และนางก็ไปวัด ได้เห็นภิกษุทั้งหลายเปลื้องผ้าสรง
สนานกายอยู่ เข้าใจผิดคิดว่า ไม่มีภิกษุในอาราม มีแต่พวกอาชีวกสรงสนานกายอยู่ จึงกลับ
มาบ้าน แล้วรายงานแก่หม่อมฉันว่า คุณนาย ไม่มีภิกษุในอาราม มีแต่พวกอาชีวกสรงสนาน
กายอยู่.
                ๑. พระพุทธเจ้าข้า ความเปลือยกายไม่งาม น่าเกลียด น่าชัง หม่อมฉันเห็นอำนาจ
ประโยชน์นี้ จึงปรารถนาจะถวายผ้าวัสสิกสาฎกแก่พระสงฆ์ จนตลอดชีพ.
                ๒. อนึ่ง ข้ออื่นยังมีอีก พระพุทธเจ้าข้า พระอาคันตุกะไม่ชำนาญหนทาง ไม่รู้จัก
ที่โคจร ย่อมเที่ยวบิณฑบาตลำบาก ท่านฉันอาคันตุกภัตรของหม่อมฉันพอชำนาญหนทาง รู้จัก
ที่โคจร จักเที่ยวบิณฑบาตได้ไม่ลำบาก หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงปรารถนาจะถวาย
อาคันตุกภัตรแก่พระสงฆ์ จนตลอดชีพ.


                                                            หน้าที่ ๑๖๗

                ๓. อนึ่ง ข้ออื่นยังมีอีก พระพุทธเจ้าข้า พระผู้เตรียมตัวจะไปมัวแสวงหาภัตตาหาร
เพื่อตนอยู่ จักพลาดจากหมู่เกวียน หรือจักถึงสถานที่ที่ตนต้องการจะไปอยู่เมื่อพลบค่ำ จักเดิน
ทางลำบาก ท่านฉันคมิกภัตรของหม่อมฉันแล้ว จักไม่พลาดจากหมู่เกวียน หรือจักถึงสถานที่
ที่ตนต้องการจะไปอยู่ไม่พลบค่ำ จักเดินทางไม่ลำบาก หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึง
ปรารถนาจะถวายคมิกภัตรแก่พระสงฆ์ จนตลอดชีพ.
                ๔. อนึ่ง ข้ออื่นยังมีอีก พระพุทธเจ้าข้า เมื่อพระอาพาธไม่ได้โภชนาหารที่เป็นสัปปายะ
อาพาธกำเริบ หรือท่านจักถึงมรณภาพ เมื่อท่านฉันคิลานภัตรของหม่อมฉันแล้ว อาพาธจักทุเลา
ท่านจักไม่ถึงมรณภาพ หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงปรารถนาจะถวายคิลานภัตรแก่สงฆ์
จนตลอดชีพ.
                ๕. อนึ่ง ข้ออื่นยังมีอีก พระพุทธเจ้าข้า พระผู้พยาบาลพระอาพาธ มัวแสวงหาภัตตาหาร
เพื่อตน จักนำภัตตาหารไปถวายพระอาพาธจนสาย ตนเองจักอดอาหาร ท่านได้ฉันคิลานุปัฏฐาก-
ภัตรของหม่อมฉันแล้ว จักนำภัตตาหารไปถวายพระอาพาธตามเวลา ตนเองก็จักไม่อดอาหาร
หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงปรารถนาจะถวายคิลานุปัฏฐากภัตรแก่พระสงฆ์ จนตลอดชีพ.
                ๖. อนึ่ง ข้ออื่นยังมีอีก พระพุทธเจ้าข้า เมื่อพระอาพาธไม่ได้เภสัชที่เป็นสัปปายะ
อาพาธจักกำเริบ หรือจักถึงมรณภาพ เมื่อท่านฉันคิลานเภสัชของหม่อมฉันแล้ว อาพาธจักทุเลา
ท่านจักไม่ถึงมรณภาพ หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงปรารถนาจะถวายคิลานเภสัชแก่
พระสงฆ์ จนตลอดชีพ.
                ๗. อนึ่ง ข้ออื่นยังมีอีก พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรงเห็นอานิสงส์ ๑๐ ประการ
ได้ทรงอนุญาตยาคูไว้แล้ว ที่เมืองอันธกวินทะ หม่อมฉันเห็นอานิสงส์ตามที่พระองค์ตรัสนั้น
จึงปรารถนาจะถวายยาคูประจำแก่สงฆ์ จนตลอดชีพ.
                ๘. พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุณีทั้งหลายเปลือยกายอาบน้ำร่วมท่ากับหญิงแพศยา ณ แม่น้ำ
อจิรวดีนี้ หญิงแพศยาเหล่านั้นพากันเย้ยหยันภิกษุณีว่า แม่เจ้าเอ่ยพวกท่านกำลังสาวประพฤติ
พรหมจรรย์จะได้ประโยชน์อะไร ควรบริโภคกามมิใช่หรือ ประพฤติพรหมจรรย์ต่อเมื่อแก่เฒ่า
อย่างนี้ จักเป็นอันพวกท่านยึดส่วนทั้งสองไว้ได้ ภิกษุณีเหล่านั้นถูกพวกหญิงแพศยาเย้ยหยันอยู่
ได้เป็นผู้เก้อ ความเปลือยกายของมาตุคามไม่งาม น่าเกลียด น่าชัง หม่อมฉันเห็นอำนาจ
ประโยชน์นี้ จึงปรารถนาจะถวายผ้าอุทกสาฎก แก่ภิกษุณีสงฆ์ จนตลอดชีพ.


                                                            หน้าที่ ๑๖๘

                ภ. วิสาขา ก็เธอเห็นอานิสงส์อะไร จึงขอพร ๘ ประการต่อตถาคต
                วิ. พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุทั้งหลายในพระธรรมวินัยนี้ จำพรรษาในทิศทั้งหลายแล้ว
จักมาพระนครสาวัตถี เพื่อเฝ้าพระองค์ แล้วจักทูลถามว่า ภิกษุมีชื่อนี้ถึงมรณภาพแล้ว ท่านมีคติ
อย่างไร มีภพหน้าอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า พระองค์จักทรงพยากรณ์ภิกษุนั้นในโสดาปัตติผล
สกทาคามิผล อานาคามิผล หรืออรหัตผล หม่อมฉันจักเข้าไปหาภิกษุพวกนั้น แล้วเรียนถามว่า
พระคุณเจ้ารูปนั้นเคยมาพระนครสาวัตถีไหมเจ้าข้า ถ้าท่านเหล่านั้นจักตอบแก่หม่อมฉันว่า ภิกษุ
นั้นเคยมาพระนครสาวัตถี หม่อมฉันจักถึงความตกลงใจในการมาของพระคุณเจ้ารูปนั้นว่า พระ-
คุณเจ้ารูปนั้นคงใช้สอยผ้าวัสสิกศาฎก คงฉันอาคันตุกภัตร คมิกภัตรคิลานภัตร คิลานุปัฏฐากภัตร
คิลานเภสัช หรือยาคูประจำเป็นแน่ เมื่อหม่อมฉันระลึกถึงกุศลนั้นอยู่ ความปลื้มใจจักบังเกิด
เมื่อหม่อมฉันปลื้มใจแล้ว ความอิ่มใจจักบังเกิด เมื่อมีใจอิ่มเอิบแล้ว กายจักสงบ เมื่อมีกาย
สงบแล้ว จักเสวยสุข เมื่อมีความสุข จิตจักตั้งมั่น จักเป็นอันหม่อมฉันได้อบรมอินทรีย์
อบรมพละ อบรมโพชฌงค์นั้น หม่อมฉันเห็นอานิสงส์นี้ จึงขอประทานพร ๘ ประการต่อพระองค์
พระพุทธเจ้าข้า.
                ภ. ดีละ ดีละ วิสาขา ดีแท้ วิสาขา เธอเห็นอานิสงส์นี้ จึงขอพร ๘ ประการ
ต่อตถาคต เราอนุญาตพร ๘ ประการแก่เธอ.
                ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนานางวิสาขามิคารมาตา ด้วยพระคาถาเหล่านี้
ว่าดังนี้:-
                                                                คาถาอนุโมทนา
                [๑๕๔] สตรีใด ให้ข้าวและน้ำ มีใจเบิกบานแล้ว สมบูรณ์ด้วยศีล
                                เป็นสาวิกาของพระสุคต ครอบงำความตระหนี่แล้ว บริจาค
                                ทานอันเป็นเหตุแห่งสวรรค์ เป็นเครื่องบรรเทาความโศก
                                นำมาซึ่งความสุข สตรีนั้น อาศัยมรรคปฏิบัติ ปราศจากธุลี
                                ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วใจ ย่อมได้กำลังและอายุเป็นทิพย์ สตรี
                                ผู้ประสงค์บุญนั้น เป็นคนมีสุข สมบูรณ์ด้วยอนามัย ย่อม
                                ปลื้มใจในสวรรค์สิ้นกาลนาน.


                                                            หน้าที่ ๑๖๙

                                                พระพุทธานุญาตผ้าวัสสิกสาฎกเป็นต้น
                [๑๕๕] ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนา นางวิสาขา มิคารมาตา ด้วยพระคาถาเหล่านี้
แล้ว เสด็จลุกจากที่ประทับกลับไป ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ใน
เพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าวัสสิกสาฎก
อาคันตุกภัตร คมิกภัตร คิลานภัตร คิลานุปัฏฐากภัตร คิลานเภสัช ยาคูประจำ อนุญาตผ้าอุทกสาฎก
สำหรับภิกษุณีสงฆ์.
                                                                วิสาขาภาณวาร จบ.
                                                                _________________
                                                                พระนอนหลับลืมสติ
                [๑๕๖] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายฉันโภชนาหารอันประณีตแล้วนอนหลับ ลืมสติ
ไม่รู้สึกตัว เมื่อภิกษุเหล่านั้นนอนหลับ ลืมสติ ไม่รู้สึกตัว น้ำอสุจิเคลื่อนเพราะความฝัน
เสนาสนะเปรอะเปื้อนน้ำอสุจิ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคมีท่านพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เสด็จ
พระพุทธดำเนินไปตามเสนาสนะ ได้ทอดพระเนตรเห็นเสนาสนะเปรอะเปื้อนน้ำอสุจิ ครั้นแล้ว
รับสั่งถามท่านพระอานนท์ว่า อานนท์ เสนาสนะนั่นเปรอะเปื้อนอะไร?
                อา. พระพุทธเจ้าข้า เดี๋ยวนี้ภิกษุทั้งหลายฉันโภชนาหารอันประณีตแล้วนอนหลับ ลืม
สติ ไม่รู้สึกตัว เมื่อภิกษุเหล่านั้นนอนหลับ ลืมสติ ไม่รู้สึกตัว น้ำอสุจิเคลื่อนเพราะความฝัน
เสนาสนะนี้นั้นจึงเปรอะเปื้อนน้ำอสุจิ พระพุทธเจ้าข้า.
                ภ. ข้อที่กล่าวมานั่นย่อมเป็นอย่างนั้น อานนท์ ข้อที่กล่าวมานั่นย่อมเป็นอย่างนั้น
อานนท์ ความจริง เมื่อภิกษุเหล่านั้นนอนหลับ ลืมสติ ไม่รู้สึกตัว น้ำอสุจิจึงเคลื่อนเพราะ
ความฝัน ภิกษุเหล่าใดนอนหลับ มีสติตั้งมั่น รู้สึกตัว น้ำอสุจิของภิกษุเหล่านั้นไม่เคลื่อน อนึ่ง


                                                            หน้าที่ ๑๗๐

น้ำอสุจิของภิกษุปุถุชน ผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม ก็ไม่เคลื่อน ข้อที่น้ำอสุจิของพระอรหันต์
จะพึงเคลื่อนนั้นไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส.
                ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ
แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย วันนี้เรามีอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ
เที่ยวเดินไปตามเสนาสนะ ได้เห็นเสนาสนะเปรอะเปื้อนน้ำอสุจิ จึงได้ถามอานนท์ว่า เสนาสนะ
นั่นเปรอะเปื้อนอะไร อานนท์ชี้แจงว่า พระพุทธเจ้าข้า เดี๋ยวนี้ภิกษุทั้งหลายฉันโภชนาหารอัน
ประณีตแล้ว นอนหลับ ลืมสติ ไม่รู้สึกตัว เมื่อภิกษุเหล่านั้นนอนหลับลืมสติไม่รู้สึกตัว น้ำอสุจิ
เคลื่อนเพราะความฝัน เสนาสนะนี้นั้นจึงได้เปรอะเปื้อนน้ำอสุจิ เราได้กล่าวรับรองว่า ข้อที่
กล่าวมานั่นย่อมเป็นอย่างนั้น อานนท์ ข้อที่กล่าวมานั้นย่อมเป็นอย่างนั้น อานนท์ ความจริง
เมื่อภิกษุเหล่านั้นนอนหลับลืมสติ ไม่รู้สึกตัว น้ำอสุจิจึงเคลื่อนเพราะความฝัน ภิกษุเหล่าใด
นอนหลับ มีสติตั้งมั่น รู้สึกตัว น้ำอสุจิของภิกษุเหล่านั้นไม่เคลื่อน อนึ่ง น้ำอสุจิของภิกษุปุถุชน
ผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม ก็ไม่เคลื่อน ข้อที่น้ำอสุจิของพระอรหันต์จะพึงเคลื่อนนั้น ไม่ใช่
ฐานะ ไม่ใช่โอกาส.
                                                นอนหลับลืมสติ มีโทษ ๕ ประการ
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่นอนหลับ ลืมสติ ไม่รู้สึกตัว มีโทษ ๕ ประการ นี้คือ หลับ
เป็นทุกข์ ๑ ตื่นเป็นทุกข์ ๑ เห็นความฝันอันลามก ๑ เทพดาไม่รักษา ๑ อสุจิเคลื่อน ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่นอนหลับ ลืมสติ ไม่รู้สึกตัว มีโทษ ๕ ประการนี้แล.
                                                นอนหลับคุมสติ มีคุณ ๕ ประการ
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่นอนหลับ มีสติตั้งมั่น รู้สึกตัวอยู่ มีคุณ ๕ ประการนี้ คือ
หลับเป็นสุข ๑ ตื่นเป็นสุข ๑ ไม่เห็นความฝันอันลามก ๑ เทพดารักษา ๑ อสุจิไม่เคลื่อน ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่นอนหลับ มีสติตั้งมั่น รู้สึกตัว มีคุณ ๕ ประการ นี้แล.
                                                                พระพุทธานุญาตผ้านิสีทนะ
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้านิสีทนะ เพื่อรักษากาย รักษาจีวร รักษาเสนาสนะ.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘