พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒ หน้า 161-165

                                                            หน้าที่ ๑๖๑

                                                เสด็จพระพุทธดำเนินทางไกล
                [๑๕๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระนครราชคฤห์ตามพระพุทธาภิรมย์
แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินไปทางพระนครเวสาลี พระองค์เสด็จพระพุทธดำเนินทางไกลระหว่าง
พระนครราชคฤห์ และระหว่างพระนครเวสาลีต่อกัน ได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุหลายรูป หอบผ้า
พะรุงพะรัง บ้างก็ทูนห่อผ้าที่พับดังฟูกขึ้นบนศีรษะ บ้างก็แบกขึ้นบ่า บ้างก็กะเดียดไว้ที่สะเอว
เดินมาอยู่ ครั้นแล้ว ได้ทรงดำริว่า โมฆบุรุษเหล่านี้ เวียนมาเพื่อความมักมากในจีวรเร็วนัก
เราจะพึงกั้นเขต ตั้งกฎในเรื่องผ้าแก่ภิกษุทั้งหลาย ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จพระพุทธดำเนินผ่าน
ระยะทางโดยลำดับ ถึงพระนครเวสาลี ทราบว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โคตมกเจดีย์
เขตพระนครเวสาลีนั้น.
                ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงผ้าจีวรผืนเดียว ประทับนั่งอยู่กลางแจ้งตอน
กลางคืน ขณะน้ำค้างตก ในราตรีเหมันตฤดู กำลังหนาว ตั้งอยู่ระหว่างเดือน ๓ กับเดือน ๔
ต่อกัน ความหนาวไม่ได้มีแก่พระผู้มีพระภาค เมื่อปฐมยามผ่านไปแล้ว ความหนาวจึงได้มีแก่
พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคจึงทรงห่มจีวรผืนที่สอง ความหนาวไม่ได้มีแก่พระผู้มีพระภาค
เมื่อมัชฌิมยามผ่านไปแล้ว ความหนาวจึงได้มีแก่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคจึงทรงห่มจีวร
ผืนที่สาม ความหนาวไม่ได้มีแก่พระผู้มีพระภาค เมื่อปัจฉิมยามผ่านไปแล้ว ขณะรุ่งอรุณแห่ง
ราตรีอันเป็นเบื้องต้นแห่งความสดชื่น ความหนาวได้มีแก่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคจึง
ทรงห่มจีวรผืนที่สี่ ความหนาวไม่ได้มีแก่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคได้ทรงพระดำริว่า
กุลบุตรในธรรมวินัยนี้ ที่เป็นคนขี้หนาว กลัวต่อความหนาว อาจดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยผ้าสามผืน
ไฉนหนอเราจะพึงกั้นเขต ตั้งกฏ ในเรื่องผ้าแก่ภิกษุทั้งหลาย เราพึงอนุญาตผ้าสามผืน.
                                                                พระพุทธานุญาตไตรจีวร
                ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรก
เกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราเดินทางไกลในระหว่างพระนคร
ราชคฤห์ และระหว่างพระนครเวสาลีต่อกัน ได้เห็นภิกษุหลายรูปในธรรมวินัยนี้ หอบผ้าพะรุงพะรัง
บ้างก็ทูนห่อผ้าที่พับดังฟูกขึ้นบนศรีษะ บ้างก็แบกขึ้นบ่า บ้างก็กระเดียดไว้ที่สะเอว เดินมาอยู่


                                                            หน้าที่ ๑๖๒

ครั้นแล้วเราได้ดำริว่า โมฆบุรุษเหล่านี้ เวียนมาเพื่อความมักมากในจีวรเร็วนัก ไฉนหนอเราจะ
พึงกั้นเขตตั้งกฏ ในเรื่องผ้าแก่ภิกษุทั้งหลาย
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราครองผ้าผืนเดียว นั่งอยู่กลางแจ้ง ณ ตำบลนี้ตอนกลางคืน ขณะ
น้ำค้างตก ในราตรีเหมันตฤดู กำลังหนาว ตั้งอยู่ระหว่างเดือน ๓ กับระหว่างเดือน ๔ ต่อกัน
ความหนาวมิได้มีแก่เรา เมื่อปฐมยามผ่านไปแล้ว ความหนาวจึงได้มีแก่เรา เราจึงห่มจีวรผืนที่
สอง ความหนาวมิได้มีแก่เรา เมื่อมัชฌิมยามผ่านไปแล้ว ความหนาวได้มีแก่เรา เราจึง
ห่มจีวรผืนที่สาม ความหนาวมิได้มีแก่เรา เมื่อปัจฉิมยามผ่านไปแล้ว ขณะรุ่งอรุณแห่งราตรี
อันเป็นเบื้องต้นแห่งความสดชื่น ความหนาวจึงได้มีแก่เรา เราจึงห่มจีวรผืนที่สี่ ความหนาว
มิได้มีแก่เรา
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรานั้นได้ดำริว่า กุลบุตรในธรรมวินัยนี้ ที่เป็นคนขี้หนาว กลัวต่อ
ความหนาว ก็อาจดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยผ้าสามผืน ไฉนหนอ เราจะพึงกั้นเขต ตั้งกฏ ในเรื่องผ้า
แก่ภิกษุทั้งหลาย เราจะพึงอนุญาตไตรจีวร
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไตรจีวร คือ ผ้าสังฆาฏิ ๒ ชั้น ผ้าอุตราสงค์ชั้นเดียว
ผ้าอันตรวาสกชั้นเดียว.
                                                                พระพุทธบัญญัติอดิเรกจีวร
                [๑๕๑] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์ทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตไตรจีวร
จึงใช้จีวรสำรับหนึ่งสำหรับเข้าบ้าน สำรับหนึ่งสำหรับอยู่ในอาราม สำรับหนึ่งสำหรับลงสรงน้ำ
บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย .... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระฉัพพัคคีย์จึงได้ทรง
อดิเรกจีวรเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
                ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรก
เกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงทรงอดิเรกจีวร รูปใดทรง
พึงปรับอาบัติตามธรรม
                สมัยต่อมา อดิเรกจีวรบังเกิดขึ้นแก่ท่านพระอานนท์ และท่านประสงค์จะถวายจีวรนั้น
แด่ท่านพระสารีบุตร แต่ท่านพระสารีบุตรอยู่ถึงเมืองสาเกต จึงท่านพระอานนท์ได้มีความปริวิตก


                                                            หน้าที่ ๑๖๓

ว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุไม่พึงทรงอดิเรกจีวร ก็อดิเรกจีวรนี้บังเกิดแก่เรา
และเราก็ใคร่จะถวายจีวรผืนนี้แก่ท่านพระสารีบุตร แต่ท่านอยู่ถึงเมืองสาเกต เราจะพึงปฏิบัติ
อย่างไรหนอ แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
                พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า อานนท์ ยังอีกนานเท่าไร สารีบุตรจึงจะกลับมา?
                ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า ยังอีก ๙ วัน หรือ ๑๐ วัน พระพุทธเจ้าข้า.
                ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ
แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทรงอดิเรกจีวรไว้ได้
๑๐ วันเป็นอย่างยิ่ง.
                                                พระพุทธานุญาตให้วิกัปอดิเรกจีวร
                สมัยต่อมา อดิเรกจีวรบังเกิดแก่ภิกษุทั้งหลาย ขณะนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความปริวิตกว่า
พวกเราจะพึงปฏิบัติในอดิเรกจีวรอย่างไรหนอ แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มี
พระภาคตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้วิกัปอดิเรกจีวร.
                                                พระพุทธานุญาตผ้าปะเป็นต้น
                [๑๕๒] ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครเวสาลีตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จ
พระพุทธดำเนินไปทางพระนครพาราณสี เสด็จพระพุทธดำเนินผ่านระยะทางโดยลำดับ ถึงพระนคร
พาราณสี ทราบว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อิสิปตนะมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสีนั้น
สมัยนั้น ผ้าอันตรวาสกของภิกษุรูปหนึ่งขาดทะลุ และท่านได้มีความปริวิตกว่า พระผู้มีพระภาค
ทรงอนุญาตผ้า ๓ ผืน คือ ผ้าสังฆาฏิสองชั้น ผ้าอุตราสงค์ชั้นเดียว ผ้าอันตรวาสกชั้นเดียว
ก็ผ้าอันตรวาสกของเรานี้ขาดทะลุ ไฉนหนอ เราพึงดามผ้าปะ โดยรอบจักเป็นสองชั้น ตรง
กลางจักเป็นชั้นเดียว ดังนี้แล้ว ดามผ้าปะทันที พระผู้มีพระภาคเสด็จพระพุทธดำเนินไปตาม
เสนาสนะ ได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุนั้นกำลังดามผ้าปะ ครั้นแล้วเสด็จเข้าไปใกล้ภิกษุนั้น ได้
ตรัสถามว่า เธอกำลังทำอะไร ภิกษุ?
                ภิ. กำลังปะผ้า พระพุทธเจ้าข้า
                ภ. ดีละ ดีละ ภิกษุ เป็นการชอบแท้ ภิกษุ ที่เธอดามผ้าปะ


                                                            หน้าที่ ๑๖๔

                ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิด
นั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าสังฆาฏิ ๒ ชั้น ผ้าอุตราสงค์
ชั้นเดียว ผ้าอันตรวาสกชั้นเดียว สำหรับผ้าใหม่มีกับปะใหม่ ผ้าสังฆาฏิ ๔ ชั้น ผ้าอุตราสงค์
๒ ชั้น อันตรวาสก ๒ ชั้น สำหรับผ้าที่เก็บไว้ล่วงฤดู พึงทำอุตสาหะในผ้าบังสุกุลจนพอต้องการ
หรือทำอุตสาหะในผ้าที่ตกจากร้านตลาด
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าปะ การชุน รังดุม ลูกดุม การทำให้มั่น.
                                                เรื่องนางวิสาขา มิคารมาตา
                [๑๕๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครพาราณสี ตามพระพุทธาภิรมย์
แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินไปทางพระนครสาวัตถี เสด็จพระพุทธดำเนินผ่านระยะทางโดยลำดับ
ถึงพระนครสาวัตถี ทราบว่าพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกะ
คหบดี เขตพระนครสาวัตถีนั้น ครั้งนั้น นางวิสาขา มิคารมาตาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวาย
บังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้นางผู้นั่งเรียบร้อยแล้ว เห็นแจ้ง
สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา จึงนางผู้อันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง สมาทาน
อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา แล้วได้กราบทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคว่า ขอพระผู้มีพระภาค
พร้อมด้วยพระสงฆ์จงทรงพระกรุณาโปรดรับภัตตาหารของหม่อมฉัน เพื่อเจริญบุญกุศลและปิติ
ปราโมทย์ในวันพรุ่งนี้ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนาด้วยดุษณีภาพ
ครั้นนางทราบการรับอาราธนาของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค
ทำประทักษิณกลับไป ครั้นผ่านราตรีนั้นไป ฝนตั้งเค้าขึ้นในทวีปทั้ง ๔ ตกลงมาห่าใหญ่
                ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฝนตกในเชตวัน
ฉันใด ตกในทวีปทั้ง ๔ ก็ฉันนั้น พวกเธอจงสรงสนานกายกันเถิด เพราะเป็นครั้งสุดท้ายที่ฝน
ห่าใหญ่ตั้งเค้าขึ้นในทวีปทั้ง ๔
                ภิกษุเหล่านั้นรับสนองพระพุทธบัญชาว่า เป็นดังพระพุทธดำรัส พระพุทธเจ้าข้า แล้ว
พากันเปลื้องผ้าสรงสนานกายอยู่
                ครั้งนั้น นางวิสาขา มิคารมาตา สั่งให้ตกแต่งของเคี้ยวของบริโภคอันประณีต แล้วสั่ง
ทาสีว่า ไปเถิดแม่ เจ้าจงไปอารามแล้วแจ้งภัตกาลว่า ถึงเวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว เจ้าข้า


                                                            หน้าที่ ๑๖๕

                ทาสีนั้นรับคำว่า เป็นเช่นนั้นเจ้าข้า แล้วไปวัด ได้เห็นภิกษุเปลื้องผ้าสรงสนานกาย
ครั้นแล้วเข้าใจผิดคิดว่า ในอารามไม่มีภิกษุ มีแต่พวกอาชีวกสรงสนานอยู่ จึงกลับไปบ้านได้
แจ้งความแก่นางวิสาขามิคารมาตาว่า คุณนาย ภิกษุไม่มีในอาราม มีแต่พวกอาชีวกสรงสนานอยู่
เจ้าค่ะ
                นางวิสาขามิคารมาตา เป็นสตรีฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญารู้ได้ทันทีว่า พระคุณเจ้า
ทั้งหลายคงเปลื้องผ้าพากันสรงสนานกายเป็นแน่ นางคนนี้เขลาจึงสำคัญว่า ไม่มีภิกษุในอาราม
มีแต่พวกอาชีวกสรงสนานกายอยู่ จึงสั่งสาวใช้ว่า ไปเถิดแม่ทาสี เจ้าจงไปอาราม แล้วแจ้ง
ภัตกาลว่า ถึงเวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้วเจ้าข้า.
                ครั้นเวลาต่อมา ภิกษุเหล่านั้น ทำตัวให้เย็น มีกายงาม ต่างถือจีวรเข้าไปสู่ที่อยู่ตามเดิม
จึงทาสีนั้นไปวัดไม่เห็นภิกษุทั้งหลาย จึงเข้าใจผิดคิดว่า ไม่มีภิกษุในอาราม อารามว่างเปล่า
จึงกลับไปบ้านแล้วแจ้งความนั้นแก่นางวิสาขามิคารมาตาว่า ไม่มีภิกษุในอาราม อารามว่างเปล่า
เจ้าค่ะ.
                นางวิสาขา มิคารมาตา เป็นสตรีฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญารู้ได้ทันทีว่า พระคุณเจ้า
ทั้งหลาย คงทำตัวให้เย็น มีกายงาม ต่างถือจีวรเข้าไปสู่ที่อยู่ตามเดิมเป็นแน่ นางคนนี้เขลา
จึงสำคัญว่า ไม่มีภิกษุในอาราม อารามว่างเปล่า แล้วสั่งสาวใช้อีกว่า ไปเถิดแม่ทางทาสี เจ้าจง
ไปอาราม แล้วแจ้งภัตกาลว่า ถึงเวลาแล้วภัตตาหารเสร็จแล้ว เจ้าข้า.
                ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเตรียม
บาตรจีวร ถึงเวลาภัตตาหารแล้ว.
                ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระพุทธบัญชาว่า เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า.
                ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรจีวร เสด็จหายไปใน
พระเชตวัน มาปรากฏที่ซุ้มประตูบ้านนางวิสาขามิคารมาตา ดุจบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้
หรือคู้แขนที่เหยียดฉะนั้น พระองค์ประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ที่เขาปูลาดถวาย พร้อมด้วย
พระสงฆ์.
                ขณะนั้น นางวิสาขามิคารมาตากล่าวว่า ชาวเราผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริงหนอ ชาวเรา
ผู้เจริญปลาดจริงหนอ พระตถาคต ชื่อว่ามีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เพราะเมื่อห้วงน้ำไหลนอง

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘