พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๓ ภิกขุนีวิภังค์ หน้า 161-165


                                                            หน้าที่ ๑๖๑

          สิกขาบทวิภังค์
     [๒๖๖] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ...
     บทว่า ภิกษุณี ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุณี เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ชื่อว่า ภิกษุณี
ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้.
     บทว่า แก่ภิกษุณี คือ แก่ภิกษุณีรูปอื่น.
     บทว่า แกล้ง คือ รู้ รู้ดี จงใจ ตั้งใจละเมิด.
     บทว่า ก่อความไม่สำราญให้ คือ คิดว่า ด้วยวิธีนี้ความไม่ผาสุกจักมีแก่ภิกษุณีรูปนี้
แล้วไม่ขอโอกาส จงกรมก็ดี ยืนก็ดี นั่งก็ดี สำเร็จการนอนก็ดี บรรยายเองก็ดี ให้ผู้อื่นบรรยาย
ก็ดี ท่องบ่นก็ดี ในเบื้องหน้า ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
          บทภาชนีย์
          ติกะปาจิตตีย์
     [๒๖๗] อุปสัมบันภิกษุณีสำคัญว่าอุปสัมบันภิกษุณีแกล้งก่อความไม่สำราญให้ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์.
     อุปสัมบันภิกษุณี ภิกษุณีสงสัย แกล้งก่อความไม่สำราญให้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
     อุปสัมบันภิกษุณี ภิกษุณีสำคัญว่าอุปสัมบันภิกษุณี แกล้งก่อความไม่สำราญให้ ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์.
          ติกะทุกกฏ
     อนุปสัมบันภิกษุณี ภิกษุณีสำคัญว่าอุปสัมบันภิกษุณี ต้องอาบัติทุกกฏ.
     อนุปสัมบันภิกษุณี ภิกษุณีสงสัย ต้องอาบัติทุกกฏ.
     อนุปสัมบันภิกษุณี ภิกษุณีสำคัญว่าอนุปสัมบันภิกษุณี ต้องอาบัติทุกกฏ.
          อนาปัตติวาร
     [๒๖๘] ไม่ประสงค์จะก่อความไม่สำราญให้ ขอโอกาสแล้ว จึงจงกรมก็ดี ยืนก็ดี นั่งก็ดี
สำเร็จการนอนก็ดี บรรยายเองก็ดี ให้ผู้อื่นบรรยายก็ดี ท่องบ่นก็ดี ในเบื้องหน้า ๑ วิกลจริต ๑
อาทิกัมมิกา ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
          ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๓ จบ.


                                                            หน้าที่ ๑๖๒

          ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๔
          เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
     [๒๖๙] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ
บิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาไม่ช่วยเหลือสหชีวินีผู้ได้รับความ
ลำบาก ทั้งไม่ขวนขวายให้ผู้อื่นช่วยเหลือ.
     บรรดาภิกษุณีที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนแม่เจ้าถุลลนันทา
จึงไม่ช่วยเหลือสหชีวินีผู้ได้รับความลำบาก ทั้งไม่ขวนขวายให้ผู้อื่นช่วยเหลือเล่า.
          ทรงสอบถาม
     พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่าภิกษุณีถุลลนันทาไม่
ช่วยเหลือสหชีวินีผู้ได้รับความลำบาก ทั้งไม่ขวนขวายให้ผู้อื่นช่วยเหลือ จริงหรือ?
     ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
          ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
     พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทา จึงได้
ไม่ช่วยเหลือสหชีวินีผู้ได้รับความลำบาก ทั้งไม่ขวนขวายให้ผู้อื่นช่วยเหลือเล่า การกระทำของนาง
นั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ...
     ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุณีทั้งหลายจงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:
          พระบัญญัติ
     ๘๙. ๔. อนึ่ง ภิกษุณีใด ไม่ช่วยเหลือ ไม่ขวนขวายเพื่อให้ผู้อื่นช่วยเหลือ ซึ่ง
สหชีวินีผู้ได้รับความลำบาก เป็นปาจิตตีย์.
          เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ.
          สิกขาบทวิภังค์
     [๒๗๐] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ...
     บทว่า ภิกษุณี ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุณี เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ...  นี้ชื่อว่า ภิกษุณี
ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้.
     ที่ชื่อว่า ผู้ได้รับความลำบาก ได้แก่ ที่เรียกกันว่าผู้ป่วยไข้.


                                                            หน้าที่ ๑๖๓

     ที่ชื่อว่า สหชีวินี ได้แก่ ภิกษุณีที่เรียกกันว่าสัทธิวิหารินี.
     บทว่า ไม่ช่วยเหลือ คือ ไม่ดูแลด้วยตนเอง.
     บทว่า ไม่ขวนขวายเพื่อให้ผู้อื่นช่วยเหลือ คือ ไม่ใช้ผู้อื่น.
     พอทอดธุระว่าจักไม่ช่วยเหลือ จักไม่ขวนขวายเพื่อให้ผู้อื่นช่วยเหลือดังนี้ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์.
     ไม่ช่วยเหลือ ไม่ขวนขวายเพื่อให้ผู้อื่นช่วยเหลือ ซึ่งอันเตวาสินีก็ดี อนุปสัมบันก็ดี
ต้องอาบัติทุกกฏ.
          อนาปัตติวาร
     [๒๗๑] ในเมื่ออันตรายมี ๑ แสวงหาแล้วไม่ได้ ๑ อาพาธ ๑ มีเหตุขัดข้อง ๑
วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกา ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
                             ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๔ จบ.
                             _______________________


                                                            หน้าที่ ๑๖๔

                             ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๕
                             เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
     [๒๗๒] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ภิกษุณีภัททากาปิลานีจำพรรษาอยู่ ณ เมืองสาเกต
เธอมีกิจจำเป็นบางอย่าง จึงสื่อสารไปในสำนักภิกษุณีถุลลนันทาว่า ถ้าแม่เจ้าถุลลนันทาให้ห้องพัก
แก่ดิฉันๆ จะไปกรุงสาวัตถี.
     ภิกษุณีถุลลนันทาตอบไปอย่างนี้ว่า มาเถิด ดิฉันจักให้.
     ดังนั้นภิกษุณีภัททากาปิลานีจึงเดินทางจากเมืองสาเกต ไปถึงกรุงสาวัตถี ภิกษุณีถุลลนันทา
ก็ได้ให้ห้องพักแก่นาง.
     ก็สมัยนั้นแล ภิกษุณีถุลลนันทาเป็นพหูสูต เป็นคนช่างพูด เป็นคนองอาจ สามารถเจรจา
ถ้อยคำมีหลักฐาน. แม้ภิกษุณีภัททากาปิลานีก็เป็นพหูสูต เป็นคนช่างพูด เป็นคนองอาจ สามารถ
เจรจาถ้อยคำมีหลักฐาน ทั้งได้รับการสรรเสริญยิ่งกว่า คนทั้งหลายลงความเห็นกันว่า แม่เจ้า
ภัททากาปิลานีเป็นพหูสูต เป็นคนช่างพูด องอาจ สามารถเจรจาถ้อยคำมีหลักฐาน มีคนนิยมยิ่งกว่า
จึงพากันเข้าไปหาเธอก่อน แล้วจึงพากันเข้าไปหาภิกษุณีถุลลนันทาภายหลัง ภิกษุณีถุลลนันทาเป็น
คนมักริษยา รู้ได้ดีว่า ธรรมดาภิกษุณีผู้สาละวนอยู่ด้วยการอภิปรายที่จะให้คนอื่นรู้ เข้าใจ เนื้อความ
แจ่มแจ้งเหล่านี้ ย่อมเป็นผู้มักน้อย สันโดษ ชอบสงัด ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ดังนี้ จึงโกรธ
ขัดใจ ฉุดคร่าภิกษุณีภัททากาปิลานีออกจากห้องพัก.
     บรรดาภิกษุณีที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนแม่เจ้า
ถุลลนันทาให้ที่พักแก่แม่เจ้าภัททากาปิลานีแล้ว จึงได้โกรธ ขัดใจ ฉุดคร่าเธอออกไปเล่า ...
          ทรงสอบถาม
     พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่าภิกษุณีถุลลนันทา
ให้ที่พักแก่ภิกษุณีภัททากาปิลานีแล้ว โกรธ ขัดใจ ฉุดคร่าเธอออกไป จริงหรือ?
     ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
          ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
     พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาให้ที่พักแก่
ภิกษุณีภัททากาปิลานีแล้ว จึงได้โกรธ ขัดใจ ฉุดคร่าเธอออกไปเล่า การกระทำของนางนั่น ไม่
เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ...


                                                            หน้าที่ ๑๖๕

     ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุณีทั้งหลายจงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:
          พระบัญญัติ
     ๙๐. ๕. อนึ่ง ภิกษุณีใด ให้ห้องพักแก่ภิกษุณีแล้ว โกรธ ขัดใจ ฉุดคร่าก็ดี
ให้ฉุดคร่าก็ดี เป็นปาจิตตีย์.
          เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ.
          สิกขาบทวิภังค์
     [๒๗๓] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ...
     บทว่า ภิกษุณี ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุณี เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ...  นี้ชื่อว่า ภิกษุณี
ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้.
     บทว่า แก่ภิกษุณี คือภิกษุณีรูปอื่น.
     ที่ชื่อว่า ห้องพัก ได้แก่ อาคารที่เรียกว่าติดบานประตู.
     บทว่า ให้ คือให้ด้วยตนเอง.
     บทว่า โกรธ ขัดใจ คือ ไม่พอใจ แค้นใจ เจ็บใจ.
     บทว่า ฉุดคร่าเอง ความว่า จับในห้องแล้วคร่าออกมาหน้ามุข ต้องอาบัติปาจิตตีย์ จับ

ที่หน้ามุขแล้วคร่าออกมาข้างนอก ต ้องอาบัติปาจิตตีย์ จับฉุดมาครั้งเดียวให้ก้าวพ้นประตูแม้มาก
ก็ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
     บทว่า ให้ฉุดคร่า คือ สั่งผู้อื่น ต้องอาบัติทุกกฏ. สั่งครั้งเดียว ผู้รับสั่งให้ก้าวพ้น
ประตูแม้มาก ก็ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
          บทภาชนีย์
          ติกะปาจิตตีย์
     [๒๗๔] อุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าอุปสัมบัน ให้ห้องพัก แล้วโกรธ ขัดใจ ฉุดคร่า
เองก็ดี ให้ฉุดคร่าก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
     อุปสัมบัน ภิกษุณีสงสัย ให้ห้องพักแล้ว โกรธ ขัดใจ ฉุดคร่าเองก็ดี ให้ฉุดคร่าก็ดี
ต้องอาบัติปาจิตตีย์.          อุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าอนุปสัมบัน ให้ห้องพักแล้ว โกรธ ขัดใจ ฉุดคร่าเองก็ดี
ให้ฉุดคร่าก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
--- อัฏฐกะทุกกฏ
     ขนเองก็ดี ให้ขนก็ดี ซึ่งบริขารของเขา ต้องอาบัติทุกกฏ.
     ฉุดคร่าเองก็ดี ให้ฉุดคร่าก็ดี จากสถานที่ไม่มีบานประตู ต้องอาบัติทุกกฏ.
     ขนเองก็ดี ให้ขนก็ดี ซึ่งบริขารของเขา ต้องอาบัติทุกกฏ.
     ฉุดคร่าเองก็ดี ให้ฉุดคร่าก็ดี ซึ่งอนุปสัมบัน จากสถานที่มีบานประตูหรือจากสถานที่ไม่มี
บานประตู ต้องอาบัติทุกกฏ.
     ขนเองก็ดี ให้ขนก็ดี ซึ่งบริขารของเขา ต้องอาบัติทุกกฏ.
     อนุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่า อุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ.
     อนุปสัมบัน ภิกษุณีสงสัย ต้องอาบัติทุกกฏ.
     อนุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ.
          อนาปัตติวาร
     [๒๗๕] ฉุดคร่าเองหรือใช้ผู้อื่นฉุดคร่าซึ่งภิกษุณีอลัชชี ขนเองหรือใช้ผู้อื่นขนซึ่งบริขาร
ของเขา ๑ ฉุดคร่าเองหรือใช้ผู้อื่นฉุดคร่าซึ่งภิกษุณีวิกลจริต ขนเองหรือใช้ผู้อื่นขนซึ่งบริขารของ
เขา ๑ ...  ซึ่งภิกษุณีผู้ก่อความบาดหมาง ...    ...  ซึ่งภิกษุณีผู้ก่อการทะเลาะ ...    ...  ซึ่งภิกษุณีผู้ก่อ
การวิวาท  ...    ...  ซึ่งภิกษุณีผู้ก่อการอื้อฉาว ...    ... ซึ่งภิกษุณีผู้ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์  ...    ... ซึ่ง
อันเตวาสีนี หรือสัทธิวิหารินีผู้ประพฤติไม่ชอบ ... ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกา ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
          ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๕ จบ.
          _______________________

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘