พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒ หน้า 156-160

                                                            หน้าที่ ๑๕๖

                                                                กรรมวาจาสมมติ
                ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึง
สมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่รักษาเรือนคลัง นี้เป็นญัตติ.
                ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์สมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่รักษา
เรือนคลัง การสมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่รักษาเรือนคลัง ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้น
พึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด.
                สงฆ์สมมติ ภิกษุมีชื่อนี้ ให้เป็นเจ้าหน้าที่รักษาเรือนคลังแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้น
จึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้.
                                พระพุทธบัญญัติห้ามย้ายเจ้าหน้าที่รักษาเรือนคลัง
                [๑๔๕] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์ย้ายเจ้าหน้าที่รักษาเรือนคลัง ภิกษุทั้งหลาย
กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึง
ย้ายเจ้าหน้าที่ผู้รักษาเรือนคลัง รูปใดย้าย ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                                องค์ของเจ้าหน้าที่ผู้แจกจีวร
                [๑๔๖] ก็โดยสมัยนั้นแล จีวรในเรือนคลังของสงฆ์มีมาก ภิกษุทั้งหลายกราบทูล
เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สงฆ์
ผู้อยู่พร้อมหน้าแจก.
                สมัยต่อมา สงฆ์ทั้งปวงกำลังแจกจีวรได้ส่งเสียงอื้ออึง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้น
แด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติภิกษุ
ผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นเจ้าหน้าที่แจกจีวร คือ:-
                ๑. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความชอบพอ
                ๒. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความเกลียดชัง
                ๓. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความงมงาย
                ๔. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความกลัว และ
                ๕. รู้จักจีวรจำนวนที่แจกแล้ว และยังมิได้แจก


                                                            หน้าที่ ๑๕๗

                                                                                วิธีสมมติ
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล สงฆ์พึงสมมติอย่างนี้
                สงฆ์พึงขอร้องภิกษุก่อน ครั้นแล้วภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบ
ด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
                                                                กรรมวาจาสมมติ
                ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่ แล้วสงฆ์พึงสมมติ
ภิกษุชื่อนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่แจกจีวร นี้เป็นญัตติ.
                ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์สมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่แจกจีวร
การสมมติภิกษุมีชื่อนี้เป็นเจ้าหน้าที่แจกจีวร ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบ
แก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด.
                สงฆ์สมมติภิกษุชื่อนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่แจกจีวรแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง
ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้
                ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเจ้าหน้าที่แจกจีวร ได้มีความปริวิตกดังนี้ว่า ควรแจกจีวร
อย่างไรหนอ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสแนะวิธีแจกว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้คัดเลือกผ้าก่อน แล้วตีราคาคิดถัวกัน นับภิกษุ ผูกผ้าเป็นมัดๆ
แล้วตั้งส่วนจีวรไว้.
                ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเจ้าหน้าที่แจกจีวร ได้มีความปริวิตกว่า พึงให้ส่วนจีวรแก่
สามเณรอย่างไรหนอ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้มอบส่วนกึ่งหนึ่งให้แก่พวกสามเณร.
                สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งปรารถนาจะรีบเดินทางไปกับส่วนของตน ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูล
เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้มอบ
ส่วนของตนแก่ภิกษุผู้รีบเดินทางไป.


                                                            หน้าที่ ๑๕๘

                สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่ง ปรารถนาจะรีบเดินทางไปกับส่วนพิเศษ ภิกษุทั้งหลายกราบ
ทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้
มอบส่วนพิเศษในเมื่อให้สิ่งทดแทนสมกัน.
                ครั้งนั้น ภิกษุเจ้าหน้าที่แจกจีวรคิดว่า พึงให้ส่วนจีวรอย่างไรหนอ คือ พึงให้ตามลำดับ
ภิกษุผู้มา หรือพึงให้ตามลำดับภิกษุผู้แก่พรรษา จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มี
พระภาคตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมยอมส่วนที่บกพร่อง แล้วทำการ
จับสลาก.
                                                พระพุทธานุญาตน้ำย้อมเป็นต้น
                [๑๔๗] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายย้อมจีวรด้วยโคมัยบ้าง ด้วยดินแดงบ้าง
จีวรมีสีคล้ำ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำย้อม ๖ อย่าง คือ น้ำย้อมเกิดแต่รากหรือเง่า ๑ น้ำย้อมเกิดแต่
ต้นไม้ ๑ น้ำย้อมเกิดแต่เปลือกไม้ ๑ น้ำย้อมเกิดแต่ใบไม้ ๑ น้ำย้อมเกิดแต่ดอกไม้ ๑ น้ำย้อม
เกิดแต่ผลไม้ ๑.
                สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายย้อมจีวรด้วยน้ำย้อมที่เย็น จีวรมีกลิ่นสาบ ภิกษุทั้งหลาย
กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
หม้อย้อมขนาดเล็กเพื่อต้มน้ำย้อม.
                น้ำย้อมล้นหม้อ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค
ตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ผูกตะกร้อกันล้น.
                สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายไม่รู้ว่าน้ำย้อมต้มสุกแล้ว หรือยังไม่สุก จึงกราบทูลเรื่องนั้น
แด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้หยดหยาด
น้ำลงในน้ำ หรือหลังเล็บ.
                สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายยกหม้อน้ำย้อมลง ทำหม้อกลิ้งไป หม้อแตก ภิกษุทั้งหลาย
จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตกระบวยตักน้ำย้อมอันเป็นภาชนะมีด้าม.


                                                            หน้าที่ ๑๕๙

                สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายไม่มีภาชนะสำหรับย้อม จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตอ่างสำหรับย้อม หม้อสำหรับย้อม.
                สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายขยำจีวรในถาดบ้าง ในบาตรบ้าง จีวรขาดปริ ภิกษุทั้งหลาย
จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตรางสำหรับย้อม.
                สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายตากจีวรบนพื้นดิน จีวรเปื้อนฝุ่น ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูล
เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเครื่อง
รองทำด้วยหญ้า.
                เครื่องรองทำด้วยหญ้าถูกปลวกกัด ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตราวจีวร สายระเดียง.
                ภิกษุทั้งหลายตากจีวรตอนกลาง น้ำย้อมหยดออกทั้งสองชาย ภิกษุทั้งหลายกราบทูล
เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ผูก
มุมจีวรไว้.
                มุมจีวรชำรุด ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัส
อนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตด้ายผูกมุมจีวร.
                น้ำย้อมหยดออกชายเดียว ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มี
พระภาคตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ย้อมจีวรพลิกกลับไปกลับมา แต่เมื่อ
หยาดน้ำยังหยดไม่ขาดสาย อย่าหลีกไป.
                สมัยต่อมา จีวรเป็นผ้าเนื้อแข็ง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้จุ่มลงในน้ำ.
                สมัยต่อมา จีวรเป็นผ้ากระด้าง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทุบด้วยฝ่ามือ.
                                                พระพุทธบัญญัติห้ามใช้จีวรที่ไม่ตัด
                [๑๔๘] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์ใช้จีวรที่ไม่ได้ตัด ใช้จีวรที่ย้อมน้ำฝาด
มีสีเหมือนงาช้าง ประชาชนจึงพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนา ภิกษุทั้งหลายกราบทูล


                                                            หน้าที่ ๑๖๐

เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้จีวร
ที่มิได้ตัด รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ.
                                                                พระพุทธบัญชาให้แต่งจีวร
                [๑๔๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครราชคฤห์ตามพระพุทธาภิรมย์
แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินไปทางทักขิณาคิรีชนบท พระองค์ทอดพระเนตรเห็นนาของชาวมคธ
ซึ่งเขาพูนดินขึ้นเป็นคันนาสี่เหลี่ยม พูนคันนายาวทั้งด้านยาวและด้านกว้าง พูนคันนาคั่นใน
ระหว่างๆ ด้วยคันนาสั้นๆ พูนคันนาเชื่อมกันดังทาง ๔ แพร่ง ตามที่ซึ่งคันนากับคันนาผ่านตัด
กันไป ครั้นแล้ว รับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า อานนท์เธอเห็นนาของชาวมคธ ซึ่งเขาพูนดิน
ขึ้นเป็นคันนาสี่เหลี่ยมพูนคันนายาวทั้งด้านยาวและด้านกว้าง พูนคันนาคั่นในระหว่างๆ ด้วยคันนา
สั้นๆ พูนคันนาเชื่อมกันทาง ๔ แพร่ง ตามที่ซึ่งคันนากับคันนาผ่านตัดกันไปหรือไม่?
                อา. เห็นตามพระพุทธดำรัส พระพุทธเจ้าข้า.
                ภ. เธอสามารถแต่งจีวรของภิกษุทั้งหลายให้มีรูปอย่างนั้นได้หรือไม่?
                อา. สามารถ พระพุทธเจ้าข้า.
                ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ทักขิณาคิรีชนบทตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จ
กลับมาพระนครราชคฤห์อีก ครั้งนั้นท่านพระอานนท์แต่งจีวรสำหรับภิกษุหลายรูป ครั้นแล้ว
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคได้กราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงทอดพระเนตรจีวรที่ข้าพระ-
พุทธเจ้าแต่งแล้ว พระพุทธเจ้าข้า.
                                                ตรัสสรรเสริญท่านพระอานนท์
                ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ
แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานนท์เป็นคนฉลาด อานนท์
ได้ซาบซึ้งถึงเนื้อความแห่งถ้อยคำที่เรากล่าวย่อได้โดยกว้างขวาง อานนท์ทำผ้ากุสิก็ได้ ทำผ้าชื่อ
อัฑฒกุสิก็ได้ ทำผ้าชื่อมณฑลก็ได้ ทำผ้าชื่ออัฑฒมณฑลก็ได้ ทำผ้าชื่อวิวัฏฏะก็ได้ ทำผ้าชื่อ
อนุวิวัฏฏะก็ได้ ทำผ้าชื่อคีเวยยกะก็ได้ ทำผ้าชื่อชังเฆยยกะก็ได้ และทำผ้าชื่อพาหันตะก็ได้
จีวรจักเป็นผ้าที่ตัดแล้ว เศร้าหมองด้วยศัสตรา สมควรแก่สมณะ และพวกศัตรูไม่ต้องการ
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าสังฆาฏิตัด ผ้าอุตราสงค์ตัด ผ้าอันตรวาสกตัด.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘